เศรษฐกิจหมุนเวียน สร้างวิถีเกษตรกรรมยั่งยืน

ท่ามกลางแสงแดดอุ่นในยามสายต้นเดือนพฤศจิกายน ชาวบ้านหนองแซง และหมู่บ้านใกล้เคียง เริ่มเดินทางมาจัดเตรียมสถานที่สำหรับงานพิธีลงแขกเกี่ยวข้าวในทุ่งนาสาธิตภายในศูนย์การเรียนรู้เกษตรและแปลงนาสาธิต โรงไฟฟ้าหนองแซง ตำบลหนองกบ อำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี

โดยปกติช่วงเวลานี้คือฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตของชาวนา หลังปักกล้าดำไปเมื่อฤดูฝน จวบจนเข้าสู่ฤดูหนาว ทุ่งข้าวเปลี่ยนสีจากเขียวสดกลายเป็นน้ำตาลทอง พร้อมกับน้ำในท้องนาที่เหือดแห้งตามฤดู เมื่อน้ำแห้ง ข้าวสุกเต็มไปทั่วทั้งทุ่ง ชาวนาจะเริ่มหาฤกษ์ดีในการเก็บเกี่ยว แล้วจึงชักชวนเพื่อนบ้านมาช่วยกันลงแขก เก็บพืชพรรณนำไปเก็บไว้บริโภค และรักษาไว้ทำพันธุ์ในฤดูกาลต่อไป เหล่านี้เป็นวิถีปฏิบัติมาช้านานของชาวนาที่มีประเพณีและวัฒนธรรมผูกพันกับข้าว ที่ถือว่าเป็นอาหารหลักหล่อเลี้ยงชีวิต และเศรษฐกิจในครัวเรือนของชาวนาไทยมายาวนาน


ด้วยวิถีที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน การทำพิธีเกี่ยวกับข้าวอาจเลือนหายไปบ้างตามกาลเวลา จากเดิมที่ต้องพึ่งพิงธรรมชาติเป็นหลักในการทำเกษตร เมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาท การใช้แรงงานคนและวัวควายแปรเปลี่ยนเป็นเครื่องจักรเพื่อความสะดวกมากขึ้น พิธีกรรมบางอย่างจึงไม่ได้นำมาสานต่อ คงเหลือเพียงบางพิธีที่คงมีการสืบสานเอาไว้ให้เป็นขวัญและกำลังใจ อีกนัยหนึ่งคือการขอขมาและแสดงความขอบคุณแก่แม่โพสพ เทพธิดาแห่งข้าว ผู้บันดาลความอุดมสมบูรณ์ และอิ่มหนำแก่มวลมนุษย์

“แม่นางโพสพเอ้ย…วันนี้วันดี จะมาเชิญแม่นางโพสพไปเข้าลาน ให้ค้ำคูนลูกหลานที่เชิญมาและผู้คนที่นี่ ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข มั่งมีศรีสุข ทำนาข้าวก็ขอให้ได้ต้นละหม้อ กอละเกวียน เด้อ…”

เสียงแม่หมอผู้ทำพิธีดังไปทั่วบริเวณ บอกกล่าวให้ผู้ร่วมงานรับทราบว่าพิธีสู่ขวัญข้าวกำลังเริ่มขึ้นแล้ว อีกนัยหนึ่งยังเป็นการกล่าวเชื้อเชิญแม่โพสพเข้าสู่ลานนวด เพื่อมอบเมล็ดข้าวให้กลายเป็นอาหารหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนต่อไป

 

หลังแม่หมอกล่าวจบ ก็ลงเกี่ยวข้าวเอาฤกษ์เป็นกอแรก ข้าวในรวงอุดมไปด้วยเมล็ดเต่งตึงสีเหลืองทองบ่งบอกถึงความอุดมของน้ำและแร่ธาตุในดิน จากนั้นจึงบรรจงวางมัดข้าวลงบนกระบุงที่มีเครื่องปรุง ของหวาน และผลไม้บรรจุอยู่เต็มหาบ พาดด้วยผ้าทอผืนสวย เพื่อมอบเป็นของรับขวัญแก่แม่โพสพ ก่อนจะหาบเข้าสู่ลาน ตามด้วยเจ้าหน้าที่จากโรงไฟฟ้าหนองแซงถือเสาตาแฮกเดินเข้าสู่ลานพิธี และนำไปปักไว้คู่กับลอมข้าว จากนั้นจึงนำข้าวที่เกี่ยวมาผูกติดไว้ เพื่อให้ผีตาแฮกช่วยรักษาพันธุ์ข้าวให้ปลอดภัยจนกว่าจะถึงฤดูกาลทำนาครั้งต่อไป

พิธีกรรมเกี่ยวกับข้าวและผืนนาอันรุ่มรวยเหล่านี้ นับวันยิ่งจะเลือนหายไป อาจเพราะการทำนาในปัจจุบันไม่จำเป็นต้องพึ่งพิงธรรมชาติเพียงอย่างเดียวเหมือนในอดีต ประกอบกับขาดผู้สืบทอดด้านการทำพิธีกรรม จึงทำให้บางพื้นที่อาจไม่ได้ประกอบพิธีเหล่านี้แล้ว แต่ที่บ้านหนองกบ อำเภอหนองแซง การสืบสานภูมิปัญญาและวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบ้านยังดำเนินควบคู่ไปกับการทำเกษตรสมัยใหม่ โดยการสนับสนุนจาก Gulf Energy Development หรือ GULF ผู้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซง ที่มีจุดมุ่งหมายคือการทำธุรกิจควบคู่ไปกับการสนับสนุนชุมชน

กิจกรรม “สืบสานวิถีชาวนาไทย ร่วมใจลงแขกเกี่ยวข้าว” ในครั้งนี้ ที่ GULF ให้การสนับสนุนและจัดร่วมกับชาวบ้านมาตลอดหลายปี ก็เป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นที่จะทำให้โรงไฟฟ้าและวิถีเกษตรชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน ผ่าน “ศูนย์การเรียนรู้เกษตรและแปลงนาสาธิต” เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และโครงการต้นแบบในการทำเกษตรอินทรีย์ การแปรรูปผลผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่า และใช้พลังงานสะอาด เพื่อให้ชุมชนสร้างรายได้ด้วยตนเอง มีความอยู่ดีกินดี ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อแก่การประกอบอาชีพ การอยู่อาศัย และมีคุณภาพชีวิตที่ดี

หลังแม่หมอสู่ขวัญข้าวมาขึ้นลานเรียบร้อย จากนั้นก็เป็นการลงแขกเกี่ยวข้าว ซึ่งเป็นอีกวัฒนธรรมที่อยู่คู่ชาวนาไทยมาเนิ่นนาน โดยในกิจกรรมครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากคุณดุรงค์ฤทธิ์ ศิริวัฒนพันธ์ ปลัดจังหวัดสระบุรี เดินทางมาเป็นประธานในพิธี ร่วมด้วยผู้บริหารจาก GULF นำโดยคุณธนญ ตันติสุนทร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจระบบโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ พร้อมด้วยคุณญาณิศา วัฒนคำนวณ ผู้อำนวยการด้านการบริหารสายงานสื่อสารองค์กร และเจ้าหน้าที่จาก GULF ร่วมกันลงเกี่ยวข้าวจำนวน 9 กอ เพื่อเอาฤกษ์

ก่อนจะมาช่วยกันนวดข้าวร่วมกับนักเรียนจากโรงเรียนใกล้เคียง ตัวแทนชุมชน และเจ้าหน้าที่โรงไฟฟ้าที่มาร่วมแรงร่วมใจกันสืบสานประเพณีดั้งเดิมของชาวนาให้คงอยู่

บนพื้นที่ 42 ไร่ รอบโรงไฟฟ้าหนองแซง ได้รับการจัดสรรให้เป็น “ศูนย์การเรียนรู้เกษตรและแปลงนาสาธิต” เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน บนวิถีเกษตรกรรม ดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี 2558 ถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 8 ปีแล้ว

ภายในศูนย์การเรียนรู้ฯ แบ่งเป็นแปลงนาสาธิต และแหล่งเรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์บนพื้นที่ 12 ไร่ ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมวิถีชุมชน สร้างให้เป็นต้นแบบของเศรษฐกิจหมุนเวียนที่มีการวางแผน และออกแบบให้นำทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ ด้วยแนวคิด Zero Waste กำจัดขยะที่มีให้เหลือน้อยที่สุด

“ตั้งแต่เริ่มการก่อสร้างโรงไฟฟ้าหนองแซง GULF เล็งเห็นแล้วว่าพื้นที่โดยรอบเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ชาวบ้านมีอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก จึงมุ่งมั่นที่จะทำให้โรงไฟฟ้าอยู่ร่วมกับวิถีเกษตรกรรมของชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นที่มาของการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เกษตรและแปลงนาสาธิต เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และโครงการต้นแบบการทำเกษตรอินทรีย์แบบยั่งยืน รวมทั้งมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้ศูนย์การเรียนรู้ฯ แห่งนี้เป็นต้นแบบของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)”

คุณธนญ ตันติสุนทร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจระบบโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ บอกถึงก้าวต่อไปของศูนย์การเรียนรู้ฯ ที่ไม่เพียงส่งเสริมวิถีดั้งเดิมของชุมชนเท่านั้น แต่ยังต้องช่วยลดมลพิษ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

โดยเฉพาะปัญหาผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 ที่เพิ่มสูงขึ้นจากภาคการเกษตรที่มักจะมีการเผาตอซังข้าว ซึ่งเป็นสาเหตุของฝุ่นควันและการเกิดก๊าซเรือนกระจก ทางศูนย์การเรียนรู้ฯ จึงทดลองและหาวิธีการแก้ปัญหาเหล่านี้ กระทั่งพบว่าวิธีแบบเกษตรอินทรีย์จะช่วยแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน อีกทั้งการกำจัดขยะจากการเกษตรให้เหลือน้อยที่สุด จนไม่มีขยะเหลือเลย ตามแนวคิด Zero Waste ถือเป็นอีกแนวทางปฏิบัติที่ศูนย์การเรียนรู้ฯ พยายามให้ความรู้ผ่านการลงมือทำจริง และชักชวนชาวบ้านในชุมชนมาเรียนรู้ร่วมกัน

ด้วยวิสัยทัศน์เหล่านี้ จึงนำมาสู่การวางเป้าหมาย 4 ข้อที่ GULF ต้องการผลักดันให้เกิดขึ้นจริงผ่านการทำงานของศูนย์การเรียนรู้ฯ

ข้อแรก คือ ให้ความรู้ในการหมักตอข้าวแทนการเผานา โดยใช้วิถีเกษตรอินทรีย์เป็นตัวนำ เพื่อนำเสนอให้ชาวบ้านเห็นว่าการทำนาแบบเคมีร้อยเปอร์เซ็นต์ ต้องลงทุนเยอะ กับค่าปุ๋ยและยาฆ่าแมลง แต่ขายแล้วอาจไม่คุ้มกับราคาที่ต้องจ่าย พร้อมทั้งชักชวนให้ใช้วิถีเกษตรแบบอินทรีย์ ด้วยการสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่าง และชักชวนชาวบ้านมาร่วมทดลองผ่านกิจกรรมที่ศูนย์การเรียนรู้ฯ จัดขึ้น อาทิ การหมักนา การเลี้ยงไส้เดือน การกำจัดเศษวัสดุและกิ่งไม้ใบไม้ด้วยจุลินทรีย์ แทนการเผาที่จะก่อให้เกิดมลพิษ

เป้าหมายข้อต่อมาที่ทำสำเร็จไปตั้งแต่สามปีแรกของการก่อตั้งโรงไฟฟ้าหนองแซงคือการ เพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อให้ต้นไม้ช่วยคั่นระหว่างโรงไฟฟ้าและหมู่บ้าน เป็นแบริเออร์ธรรมชาติ ที่ให้ประโยชน์ทั้งความสมบูรณ์ของผืนดิน รักษาความชุ่มชื้น เป็นแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร และทำให้เกิดระบบนิเวศน์สมบูรณ์ในพื้นที่

ข้อที่สามคือการ ช่วยสนับสนุนผลิตภัณฑ์ของกลุ่มชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นชาวนา การก่อตั้งวิสาหกิจชุมชน อย่างกลุ่มรักสุขภาพและสมุนไพร กลุ่มแม่ค้าในตลาดที่ขายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร อาทิ กล้วย ปลาร้าทำเอง ผักสด ไก่เนื้อ ฯลฯ ให้แก่ลูกค้า ซึ่งก็คือพนักงานโรงไฟฟ้าที่พักอาศัยในพื้นที่นั่นเอง

ข้อสุดท้าย คือ การสร้างอาชีพ ด้วยการนำผลผลิตทางการเกษตรไปแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า และให้แนวทางสร้างอาชีพเกษตรอินทรีย์ที่ยั่งยืนแก่ชุมชน ที่ศูนย์การเรียนรู้ฯ นั้นมีผลผลิตไข่อินทรีย์จากแม่ไก่อารมณ์ดี หากชาวบ้านนำวิธีการเลี้ยงไปต่อยอด ก็จะเป็นการสร้างรายได้แก่ครัวเรือนอีกทางหนึ่ง

จุดเด่นของไก่อารมณ์ดีของที่นี่ ไม่เพียงสด สะอาด ให้รสชาติดี ยังอุดมประโยชน์ และปลอดภัย ด้วยวิธีการเลี้ยงแบบอินทรีย์แท้ 100% ทั้งยังเป็นการลดต้นทุน ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และเป็นการทำเกษตรแบบยั่งยืน โดยการใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบในศูนย์การเรียนรู้ฯ หมุนเวียนให้เกิดประโยชน์สูงสุด

เริ่มจากการใช้ประโยชน์จากข้าวในแปลงนาสาธิต เมื่อทำนาและแปรรูปข้าวเสร็จเรียบร้อย จะมีส่วนที่เหลือจากการทำนา เช่น แกลบ ปลายข้าว ข้าวหัก เศษข้าว ข้าวเปลือก ฟาง โจทย์คือทำอย่างไรโดยไม่ต้องทำลาย หรือปล่อยอินทรีย์สารเหล่านี้ให้เสียเปล่า ดังนั้นฟางจึงถูกนำไปใช้หมักนา ส่วนข้าวเปลือกก็นำไปเลี้ยงไก่ แล้วทดลองปลูกหญ้าหวานอิสราเอลควบคู่ไปด้วย เพื่อนำมาเป็นอาหารเลี้ยงไก่เพิ่มเติม

ส่วนเศษข้าวที่ได้จะนำไปต้มเพื่อนำไปเลี้ยงหนอนแมลงทหารดำที่ให้โปรตีนสูง และนำหนอนระยะดักแด้มาเลี้ยงไก่อีกที สำหรับขี้ไก่และปุ๋ยอินทรีย์จากหนอน จะถูกรวบรวมแล้วนำไปใส่แปลงผัก แปลงข้าว บำรุงต้นไม้อีกครั้งหนึ่ง เป็นการนำร่องสู่การทำเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจร

โดยหนึ่งในปัญหาที่ GULF เล็งเห็นถึงความสำคัญ คือผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะจากภาคการเกษตรที่มักจะมีการเผาตอซังข้าว ซึ่งเป็นสาเหตุของฝุ่นควันและการเกิดก๊าซเรือนกระจก

วิธีการที่ทางศูนย์การเรียนรู้ฯ ทดลองใช้และได้ผลดีคือการทำนาข้าวตอที่ 2 แทน โดยใช้จุลินทรีย์มาช่วยย่อยสลายตอข้าวเก่าจนกลายเป็นปุ๋ยสำหรับปลูกข้าวรอบใหม่ ช่วยให้ได้ทั้งปุ๋ยบำรุงพืชและดิน ทั้งยังช่วยกำจัดขยะจากการเกษตรให้เหลือน้อยที่สุด จนไม่มีขยะเหลือเลย ตามแนวคิด Zero Waste ที่ถือเป็นแนวทางปฏิบัติภายในศูนย์การเรียนรู้ฯ

นอกจากนี้ในอนาคต GULF ยังมีแผนนำพลังงานสะอาดอย่างโซลาร์เซลล์มาใช้ในการบริหารจัดการระบบของศูนย์การเรียนรู้ฯ อย่างครบวงจรมากขึ้น เพื่อให้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่นำองค์ความรู้การทำเกษตรอย่างยั่งยืนมาเผยแพร่แก่ชุมชน และผู้สนใจที่แวะเวียนเข้ามาท่องเที่ยวศึกษาดูงานภายในศูนย์การเรียนรู้ฯ

โดยมี คุณเชน – ชรัณ ตรัยพรรณ นักวิชาการเกษตรประจำ ศูนย์การเรียนรู้เกษตรและแปลงนาสาธิต โรงไฟฟ้าหนองแซง คอยดูแลพื้นที่และกิจกรรมภายในศูนย์การเรียนรู้ฯ ไม่ว่าจะเป็นแปลงนา แปลงผัก และการทำเกษตรแบบอินทรีย์ รวมทั้งรับหน้าที่สานความสัมพันธ์และนำองค์ความรู้ต่างๆ จากศูนย์การเรียนรู้ฯ ไปถ่ายทอดและสาธิตให้กับชาวบ้านในชุมชน

เขาเล่าให้ฟังว่าจากการคลุกคลีกับชาวบ้านในพื้นที่ ตัวเขาเองพบว่าสิ่งที่ดึงดูดให้ชาวบ้านในชุมชนรอบโรงไฟฟ้ามาร่วมกิจกรรม และเรียนรู้การเกษตรอินทรีย์ไปกับศูนย์การเรียนรู้ฯ คือ อาหาร ถ้าชาวบ้านชิมแล้วชอบ กินแล้วถูกปาก ความสนใจก็จะเกิดขึ้น อย่างปีที่แล้ว เขาทดลองทำเมนูสลัดโรลจากดอกไม้กินได้ให้ชาวบ้านชิม ความแปลกใหม่ และรสชาติถูกใจ พาให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกันมาเรียนรู้เพิ่มเติม ไม่เพียงได้เมนูใหม่กลับบ้าน แต่ยังสามารถนำไปต่อยอดเพื่อสร้างอาชีพได้ด้วย

“แปลงเกษตรสาธิตจะเป็นแหล่งเรียนรู้และสร้างอาชีพให้ชาวบ้านได้ อยากให้ชาวบ้านมาศึกษา และนำไปสร้างเป็นผลผลิตทางเกษตรออกจำหน่าย โดยมีเป้าหมายคือวางแนวทางสร้างอาชีพการทำเกษตรอินทรีย์ที่ยั่งยืนแก่ชุมชน”

นอกจากกิจกรรมเกี่ยวข้าว นวดข้าว สีข้าว และทำข้าวเม่าแล้ว ในวันงานยังมีซุ้มอาหารจากผลผลิตในศูนย์การเรียนรู้ฯ มาให้ผู้ร่วมงาน ทั้งผู้บริหารและพนักงานกัลฟ์ ชาวบ้านจากหมู่บ้านรอบๆ โรงไฟฟ้า ตัวแทนชุมชน และนักเรียนจากโรงเรียนใกล้เคียง มาร่วมชิมอาหารกันอย่างคึกคัก 

โดยมีเมนูน่าสนใจ อาทิ ไอติมข้าวหอมจากข้าวกล้องมรกต ที่เป็นผลผลิตจากศูนย์การเรียนรู้ฯ พร้อมบอกวิธีการทำเสร็จสรรพ ให้ชุมชนสามารถนำไปประยุกต์ต่อยอดเป็นสินค้าออกจำหน่ายได้เลย ซึ่งถ้าอยากให้อร่อยยิ่งขึ้นต้องลองกินคู่โรยด้วยซีเรียลข้าวไรซ์เบอร์รี่กรุบกรอบ ซึ่งเป็นอีกผลิตภัณฑ์ที่ทางศูนย์การเรียนรู้ฯ พัฒนาขึ้นมาเพื่อเพิ่มมูลค่าให้ข้าว และถ่ายทอดให้ชาวบ้านได้เรียนรู้และนำไปประกอบอาชีพต่อไป

 อีกสองเมนูที่หอมชวนชิมคือข้าวจี่ชุบไข่ไก่อารมณ์ดี ที่นำข้าวเหนียวมาปั้นเป็นก้อน แล้วชุบด้วยไข่ไก่เนื้อเนียน ย่างบนเตาถ่านหอมๆ และข้าวเม่าทำจากข้าวเหนียวเขี้ยวงูที่มาจากแปลงนาสาธิตเช่นกัน

คุณรัตนาภรณ์ ไทยกล้า ตัวแทนชุมชนรอบโรงไฟฟ้าหนองแซง หนึ่งในเกษตรกรที่เดินทางมาร่วมกิจกรรมด้วย เล่าให้ฟังว่าตัวเองมีอาชีพทำนาเช่นกัน แต่ก็สนใจที่จะเข้าร่วมเรียนรู้กับกิจกรรมที่ศูนย์การเรียนรู้ฯ จัดอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นการทำปุ๋ยหมัก ข้าวอินทรีย์ การกำจัดขยะจากการเกษตร การเข้ามาส่งเสริมของ GULF ทำให้เสริมทักษะช่วยให้มีช่องทางรายได้เพิ่มขึ้น และยังสร้างงานแก่คนในพื้นที่อีกด้วย


“ชาวบ้านเมื่อก่อนนี้ จะเอากิ่งไม้ ใบไม้แห้ง ไปจุดไฟเผาทิ้ง มันก็เกิดมลพิษ แล้วที่นี่ทำนาปรังกันทั้งปี พอจะปลูกข้าวรอบใหม่ก็จะเผานาก่อน แต่ก่อนทำนาปีละครั้งยังไม่เท่าไหร่ แต่ตอนนี้ทำนากันตลอดปี ก็มีควันพิษอยู่ตลอดปี พอมีปัญหาแบบนี้ทางเจ้าหน้าที่โรงไฟฟ้าเขาก็หาทางช่วยเหลือว่าจะทำยังไงให้กำจัดพวกเศษใบไม้ เศษฟาง แบบไม่ต้องเผา เจ้าหน้าที่เขาก็แนะนำให้เอามาทำปุ๋ยหมัก แล้วก็สาธิตให้ดูว่าทำยังไง เอาใบไม้มากองรวมกันนะ แล้วใส่จุลินทรีย์ลงไปก็จะช่วยย่อยกลายเป็นปุ๋ย แล้วเอาไปใส่ต้นไม้ ไปใส่ในนาได้ ช่วยลดมลพิษด้วย แล้วก็ประหยัดค่าปุ๋ยด้วย 

“รู้สึกว่าการเข้ามาของ GULF ชาวบ้านได้ประโยชน์ ความเป็นอยู่ของชุมชนเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น หนึ่งเลยคือเรื่องสุขภาพ อีกอย่างก็คือช่วยพัฒนาความรู้การเกษตร ทั้งทำปุ๋ยหมัก เพาะปลูกกล้า ทำข้าวนาโยน ปลูกผัก เลี้ยงไก่ มาหัดให้ชาวบ้านทำเกษตรแบบใหม่ๆ แล้วก็เอาไปแปรรูปสร้างรายได้ให้ครอบครัว”

การมาร่วมกิจกรรมในวันนี้ จึงเหมือนการดูงานเพิ่มเติมว่าผลผลิตจากแปลงนา และเกษตรอินทรีย์สามารถต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อะไรได้อีกบ้าง เพื่อนำไปสร้างรายได้เพิ่มเติมแก่ครอบครัว โดยได้พูดถึงกิจกรรมลงแขกเกี่ยวข้าวด้วยว่า ตอนนี้บางบ้านก็ยังทำพิธีเหล่านี้อยู่ แต่บางบ้านก็ไม่ได้ทำแล้ว การฟื้นฟูประเพณีเหล่านี้ขึ้นมาก็เป็นเรื่องน่ายินดี 

เช่นเดียวกับ คุณนิคม สังวาลย์วัฒนายิ่ง คณะกรรมการการมีส่วนร่วมและสิ่งแวดล้อมโรงไฟฟ้าหนองแซง ที่มักเดินทางมาร่วมกิจกรรมของศูนย์การเรียนรู้ฯ อยู่เสมอ เขาเล่าว่า หลังเกษียณอายุจากการทำงาน ตัวเองไม่ได้ทำนาเป็นอาชีพ ได้มองหางานอดิเรก และคิดว่าการทำเกษตรที่ศูนย์การเรียนรู้ฯ ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะในฐานะตัวแทนชุมชนก็ต้องมาติดตามการทำงานของโรงไฟฟ้าอยู่แล้ว และเมื่อได้มาร่วมกิจกรรม และเห็นความตั้งใจที่จะส่งเสริมอาชีพของคนในชุมชน ก็เกิดความสนใจและเข้าร่วมมาตลอด 

“อย่างกรณีของผมที่เป็นคณะกรรมการการมีส่วนร่วมและสิ่งแวดล้อมโรงไฟฟ้าหนองแซง ก็จะต้องเข้ามาดูแลอยู่แล้ว เมื่อมาดูการทำงานที่ศูนย์การเรียนรู้ฯ ก็เห็นว่าน่าสนใจ สามารถต่อยอดให้เป็นรายได้กับชาวบ้านได้ ตลอดการดำเนินการมา 8 ปี ผมคิดว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่โรงไฟฟ้าหนองแซงได้เปิดกว้างจัดทำศูนย์การเรียนรู้ฯ ให้ชาวบ้านเข้ามาเรียนรู้และอบรม เพื่อนำไปสร้างอาชีพต่อไป อย่างการเลี้ยงไก่ เลี้ยงไส้เดือน ทำนาข้าวอินทรีย์ แล้วไม่ใช่แค่สอนเฉยๆ แต่ยังทำให้ดูเป็นตัวอย่างว่าเกษตรอินทรีย์สามารถทำได้จริงๆ และมีความเป็นไปได้อะไรบ้างในการทำเกษตรแบบนี้”

ศูนย์การเรียนรู้เกษตรและแปลงนาสาธิต โรงไฟฟ้าหนองแซง เปิดให้ชุมชน และผู้สนใจเข้ามาศึกษาดูงาน เรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์ ชมแปลงนาสาธิต รวมทั้งแปลงผัก และการเลี้ยงสัตว์ต่างๆ เพื่อถ่ายทอดความรู้และต่อยอดให้เป็นโครงการต้นแบบของเศรษฐกิจหมุนเวียนด้านการเกษตร รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร และบูรณาการความรู้ทางเกษตรร่วมกับชุมชนอย่างยั่งยืน หากสนใจเยี่ยมชม และดูข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ GULF ผ่านเว็บไซต์ www.gulf.co.th/th/ หรือเฟซบุ๊ก Gulf SPARK | Bangkok

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.