โจทย์ที่น่าสนใจของการเปลี่ยนผ่านสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ใช่แค่การขับเคลื่อนจากภาครัฐผ่านการออกกฏเกณฑ์ต่างๆในการบังคับใช้เท่านั้น ภาคเอกชนเองก็ต้องปรับตัว เปลี่ยนวิธีคิดในการพัฒนาสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและคาร์บอนต่ำด้วย จากนั้นจึงจะเกิดเครือข่ายของผู้บริโภคที่เชื่อมโยงเข้าหากันและสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมได้
เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์ของ Pipper Standard ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่พัฒนาจากงานวิจัยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสับปะรด จากจุดเริ่มต้นที่เป็นปัญหาอย่างโรคภูมิแพ้ของผู้เป็นสามี ‘ปีเตอร์ เวียนแมน’ ที่แก้อย่างไรก็ไม่หาย จนคุณ ‘ศิริลักษณ์ ณรงค์ตะณุพล’ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิเควเตอร์ เพียวเนเจอร์ จำกัด ต้องลุกขึ้นหาทางออก ศึกษาค้นคว้าจนทั้งคู่สามารถสร้างธุรกิจใหม่ขึ้นมาและมีผลตอบรับที่ดีทีเดียว
จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่าแต่ละปีเกษตรกรสามารถเพาะปลูกสับปะรดและเก็บเกี่ยวได้ถึงเกือบ 2 ล้านตัน โดย 70% ของผลผลิตที่ได้มาจากภาคกลาง รองลงมาคือภาคเหนือ ภาคอีสานและภาคใต้ตามลำดับ ถือว่าประเทศไทยมีศักยภาพด้านอุตสาหกรรมเกษตร หากมีภาคเอกชนเข้ามาช่วยต่อยอดและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ก็จะเป็นประโยชน์มหาศาลและยกระดับชีวิตของเศรษฐกิจฐานรากได้
หลังจากลองผิดลองถูก แต่ไม่หยุดลอง จึงทำให้ Pipper Standard สร้างนวัตกรรมและจดสิทธิบัตรในกว่า 30 ประเทศทั่วโลก ด้วยความตั้งใจในการลดสารปนเปื้อนจากผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดในสิ่งแวดล้อม และนี่คือเรื่องราวของผู้ประกอบการไทยที่เรายินดีจะเล่าให้ฟัง
คือปีเตอร์เขาเป็นภูมิแพ้ค่ะ เป็นทั้งภูมิแพ้อากาศ ทั้งไซนัส แต่ตัวดิฉันปกติดี จะว่าไปก็ไม่ได้เข้าใจหัวอกของคนเป็นภูมิแพ้เท่าไหร่ในตอนแรก จนมีอยู่ช่วงหนึ่งเขาเป็นผื่นคัน แพ้เยอะมาก เป็นอยู่สองถึงสามเดือน พยายามหาต้นตอของสาเหตุว่ามาจากอะไร จนพบคำตอบว่ามาจากน้ำยาปรับผ้านุ่มที่ขายทั่วไปตามท้องตลาดนี่ล่ะค่ะ
ทีแรกเราก็ไปซื้อผลิตภัณฑ์พื้นบ้านที่เขาทำจากสารธรรมชาติมาใช้ เพราะเป็นสินค้าที่พอหาซื้อได้เอง แต่ก็มีข้อจำกัดเรื่องการควบคุมภาพและประสิทธิภาพที่แตกต่างกัน ก็ยังไม่ลงตัว เราทั้งคู่อ่านหนังสือกันเยอะมาก ปีเตอร์เองเขาก็เรียนจบจาก MIT มา มีพื้นฐานเรื่องการวิจัยอยู่พอสมควร พอค้นหาไปสักพักก็พบความน่าสนใจของการหมักผลไม้ที่สามารถนำมาใช้เป็นสารทำความสะอาดได้ เราก็หมักกันทั้งมะนาว ส้ม กระเจี๊ยบ มะขาม กระเทียมเราก็ยังหมักเลย สุดท้ายก็มาลงตัวที่สับปะรดนี่ล่ะค่ะ
เราก็คิดโจทย์กันว่าถ้าเราใช้น้ำหมักแล้วใส่สารธรรมชาติอื่นเข้าไปด้วย ทำอย่างไรประสิทธิภาพการทำความสะอาดถึงจะเทียบเท่ากับผลิตภัณฑ์เคมีทั่วไปตามท้องตลาด ไม่ว่าจะคราบเลือด คราบดิน คราบเหงื่อ หรืออะไรก็ตาม ต้องซักให้ออก จึงต้องนำมาทดสอบผ่านกระบวนการห้องแล็บจนได้ผลที่น่าพอใจ เราไปจดสิทธิบัตรทั่วโลกเลยนะคะ ทั้งที่อเมริกา ยุโรป จีน อินเดีย และประเทศไทยของเราด้วย น้ำยาของเราได้รับรางวัลจากเวทีต่างๆ ล่าสุดก็ได้รางวัล Agri Plus Award 2019 โดยสถาบันส่งเสริมสินค้าเกษตรนวัตกรรม กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ค่ะ
ผลิตภัณฑ์ชุดแรกที่เราทำขายก่อนก็คือ น้ำยาซักผ้ากับผ้ายาปรับผ้านุ่มค่ะ คือแรก ๆ เราก็ไปออกบูธสินค้าทั่วไปก่อน สร้างการรับรู้และประสบการณ์ให้กับลูกค้า เพราะว่าคนไม่รู้จักกลิ่น หลายคนก็ประหลาดใจว่านี่ทำจากสับปะรดเหรอ เราใส่พวกน้ำมันหอมระเหยเข้าไปด้วย เพื่อให้กลิ่นหอมอย่างเป็นธรรมชาติ เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น จนลูกค้าบางคนบอกว่ากลิ่นเหมือนผลิตภัณฑ์สปาเลย (หัวเราะ)
แต่ปีแรกนี่เราขายได้น้อยมากเลยนะ คือเราขายเข้าห้างใหญ่ใหญ่ เขาก็จะมีขั้นตอนวิธีการเลือกของของเขา มันไม่ง่ายเลย ก็คิดว่าต้องเจาะกลุ่มเด็กๆช่วงอายุ 1-6 ปี ที่ภูมิคุ้มกันของเขายังไม่แข็งแรง ควรหลีกเลี่ยงสารเคมีให้มากที่สุด ดังนั้นสินค้าเราเลยเป็นสินค้าสำหรับแม่และเด็ก ซึ่งบรรดาคุณแม่จะห่วงและใส่ใจลูกมาก จากนั้นธุรกิจก็เติบโตขึ้นๆ จนเราเริ่มขยายไลน์ของสินค้าเพิ่มไปสู่น้ำยาขจัดคราบอเนกประสงค์และตัวอื่นๆตามมา
เนื่องจากเราทำน้ำหมักเองแล้วส่งต่อเข้าโรงงานรับจ้างผลิต เรารับซื้อสับปะรดจากชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียง โรงงานจะอยู่ที่นครสวรรค์ ส่วนใหญ่ก็จะรับผลผลิตจากที่นั่นและจังหวัดใกล้เคียง อย่างพิษณุโลก หรืออุตรดิตถ์ ซึ่งมีเยอะมากนำมาทำ เนื่องจากสับปะรดปลูกง่ายในประเทศไทย เป็นพืชเศรษฐกิจ เราส่งออกสับปะรดสูงสุดระดับ Top 3 ของโลกเลยนะคะ ราคาที่เรารับซื้อเราก็ให้ตามราคาตลาดด้วย
ยากค่ะ จากจากเดิมที่ต่างคนต่างทํางานของตัวเองกัน แต่พอมาเป็นหุ้นส่วนธุรกิจกันแล้วดิฉันเลยเข้าใจที่หลายต่อหลายคนที่เขาต้องเลิกกันเพราะว่าทํางานด้วยกันนี่ล่ะค่ะ (หัวเราะ) คือต่างคนก็ต่างความคิดแล้วพอเป็นบริษัทเล็กๆ แล้ว มันเป็นอะไรที่ยากมาก เราก็ต้องอดทนอดกลั้นเหมือนกัน พยายามเปิดใจรับฟังสิ่งที่เขาพูด
ต้องบอกก่อนว่าเราให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่ามากที่สุด ต้นทางคือเราไปซื้อสินค้าตรงจากเกษตรกรในราคาที่ยุติธรรม เขาก็ยินดีขายให้เรา รายได้ครัวเรือนเขาก็ดีขึ้น พอเอามาผลิต กากสับปะรดเราไม่ทิ้ง เอาไปทำเป็นอาหารสัตว์เนื่องจากมีโปรไบโอติกส์เยอะมาก เพื่อให้ของเสียที่เกิดจากการผลิตมีน้อยที่สุด สินค้าของเราเองสามารถย่อยสลายได้ในเวลา 28 วันเท่านั้น นอกจากนี้บรรจุภัณฑ์ของเราทุกขวดย่อยสลายได้ตามตามธรรมชาติ ลดปัญหาด้านขยะ ถึงแม้เราจะเป็นธุรกิจขนาดเล็ก แต่ก็คิดละเอียดมากในทุกจุด ทำอย่างไรจึงจะรบกวนสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ตอนแรกคิดจะทำเป็นขสดแก้วด้วยซ้ำแต่เราก็ต้องดูความเป็นจริงด้วย เลยเลือกใช้ขวดที่นำไปรีไซเคิลได้ ทาง Pipper Standard เราก็มีโครงการ ข. ขวด พิพเพอร์ มารีไซเคิลเป็นปีที่ 3 แล้ว รับคืนจากผู้บริโภค แต่ต้องบอกก่อนว่าไม่ใช่เอาขวดไปบรรจุใหม่นะคะ แต่เป็นการส่งเข้าโรงงานเพื่อทำเป็นเม็ดพลาสติกใหม่แล้วเอาไปขึ้นรูปอีกทีค่ะ
พูดตรงๆ คือ ตัวดิฉันเองก็ลองผิดลองถูกมานะคะ พอมาเป็นผู้ประกอบการเอง เราต้องรู้ทุกอย่างทั้งห่วงโซ่อุปทาน การผลิต การตลาด ต้องทำเองเป็นหมด คือทางภาครัฐเขากอยากสนับสนุนผู้ประกอบการที่ทำเรื่องพวกนี้นะคะ คิดว่าควรมีการแชร์หรืออบรมเพื่อสอนผู้ประกอบการหรือคนที่สนใจทำธุรกิจด้านนี้ให้เขามีองค์ความรู้ ไม่ต้องเสียเวลาลองผิดลองถูกเยอะ แต่ละคนก็มีพื้นฐานความรู้ไม่เหมือนกัน ก็จะได้ช่วยกันดูว่าเขาขาดตรงไหน จะได้ช่วยกัน อย่างน้อยเขาก็จะได้แนวทางการทำธุรกิจกลับไป
คิดว่าเราต้องเริ่มจากคนใกล้ตัวก่อนค่ะ คนในครอบครัวนี่ล่ะหรือคนในออฟฟิศตัวเอง ช่วยกันบอกให้เขาใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ทำได้ตั้งแต่เรื่องเล็กอย่างดื่มน้ำจากขวดไม่หมด แทนที่จะเททิ้ง ก็เอาไปรดน้ำต้นไม้ได้ เริ่มจากสิ่งเล็กๆจนวงกว้างมากขึ้น นอกจากนี้ผู้ประกอบการก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค ซึ่งบ้านเรายังขาดเครือข่ายผู้บริโภคที่เป็นปากเป็นเสียง มีออำนาจต่อรองแบบที่ต่างประเทศมี ก็ต้องให้ความรู้และค่อยๆเปลี่ยนไปด้วยกัน
ดิฉันคิดว่าคุณแม่ทั้งหลายควรภูมิใจในตัวเองนะคะ เพราะเราต้องดูแลคนอื่น ทั้งลูกและสามี คิดดูสิคะ พวกเธอคือคนที่เลือกซื้อสินค้าเข้ามาในบ้านให้คนที่รักใช้กัน สุขภาพของคนในบ้านจะดีหรือไม่ดี ก็มาจากการเลือกของคุณแม่ทั้งหลาย ถ้าใส่ใจเรื่องการบริโภคสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผลิตจากกระบวนการที่ดีและยั่งยืน นอกจากช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการแล้วยังค่อยๆ เปลี่ยนพฤติกรรมของคนในบ้านให้เขาคุ้นชินกับสินค้าเหล่านี้ไปด้วยค่ะ
เรื่อง มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล
ภาพ สหรัฐ ลิ้มเจริญ