ออกเดินทาง เรียนรู้ เพื่อรัก พิทักษ์ช้าง และดงไผ่ใหญ่ แห่งผืนป่าตะวันตก

เพียง 150 กิโลเมตรจากกรุงเทพมหานคร เราก็ได้พบกับผืนป่าตะวันตก มรดกโลกของไทยที่เป็นแหล่งอาศัยที่สำคัญของสัตว์ใหญ่คู่บ้านเมืองไทยอย่าง “ช้าง” และอาหารที่สำคัญของมันคือใบไผ่

พิทักษ์ช้าง – ผืนป่าตะวันตกของประเทศไทย โดยเฉพาะในจังหวัดกาญจนบุรี เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยที่สำคัญของช้างไทย ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญต่อวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของไทย 

ป่าเหล่านี้ไม่เพียงแต่ให้ที่อยู่อาศัยแก่ช้างเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งของความหลากหลายทางชีวภาพ และมีบทบาทสำคัญในการควบคุมสภาพอากาศและรักษาความสมดุลของระบบนิเวศ การอนุรักษ์ผืนป่าเหล่านี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยให้ช้างไทยและสัตว์ป่าอื่นๆ มีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมและปลอดภัย 

มีงานอนุรักษ์มากมายในผืนป่าตะวันตกที่ทำโดยกลุ่มคนและองค์กรที่มีใจรักในธรรมชาติ ทั้งที่เป็นองค์กรที่ทำงานด้านธรรมชาติโดยตรง และองค์กรที่ไม่ได้ทำงานด้านนี้ แต่มีใจอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ธรรมชาติ ผืนผ่า สัตว์ป่า และสังคมให้ดีขึ้น ในฐานะที่พวกเขาเองก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม 

ผม, ที่ทำงานในฐานะนักเล่าเรื่องคนหนึ่ง ได้ออกเดินทางมายังผืนป่าตะวันตก ในส่วนของจังหวัดกาญจนบุรี ร่วมกับเพื่อนร่วมวิขาชีพเดียวกันหลายสิบชีวิต โดยมีตัวตั้งตัวตีในการเดินทางใหญ่ครั้งนี้เป็นองค์กร 2 หน่วยงาน นั่นคือ คุณอากิระ ซากาอิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไซโก (ประเทศไทย) จำกัด และทีมงานชาวไทยของเขาทั้งหมด กับ ศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษาประเทศไทย (Environmental Education Centre Thailand; EEC Thailand) ซึ่งมี อเล็กซ์ เรนเดลล์ ที่สังคมคุ้นเคยเขาจากการเป็นเป็นดารา-นักแสดง แต่ในครั้งนี้ เขาถอดบทบาทนั้น และร่วมเดินทางมาในฐานะ ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษา (EEC Thailand และ Brand Friend ของ ไซโก (ประเทศไทย) อเล็กซ์มาเป็นวิทยากรบรรยายและผู้นำการเดินทางด้วยใบหน้าที่ไร้การแต่งเติมเมื่อครั้งอยู่ต่อหน้ากล้อง 

จากการชักชวนขององค์กรทั้งสอง การเดินทางครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อร่วมมาทำกิจกรรมเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในโครงการอนุรักษ์ช้างไทย และป่าไผ่ ซึ่งสอดคล้องกับคอลเลกชันนาฬิกา 2 คอลเลกชันที่ได้รับแรงบันดาลใจทั้งจาก ช้างและป่าไผ่

อเล็กซ์ เรนเดลล์ ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษา (EEC Thailand) และ Brand Friend ของ ไซโก (ประเทศไทย) ในฐานะผู้นำการเดินทางในครั้งนี้ อธิบายเรื่องลักษณะของมูลช้างที่มาจากช้างที่ป่วยผิดปกติ
พลายบุญชู ช้างบ้านที่ป่วยและกำลังรับการรักษาที่โรงพยาบาลสัตว์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ. นครปฐม

เริ่มต้นด้วยการศึกษาเรียนรู้การทำงานของ นักอนุรักษ์ช้างและสัตว์ป่าที่โรงพยาบาลสัตว์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ. นครปฐม ด้วยการเยี่ยมชมการทำงานของหน่วยงาน โดยมี อ.สพ.ญ.ดร.สุภาเพ็ญ ศรีพิบูลย์ อาจารย์สัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาล เป็นผู้ให้ข้อมูล 

โรงพยาบาลแห่งนี้รับรักษาช้างที่มาจากเขตภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก โรงพยาบาลแห่งนี้รักษาช้างป่าโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ส่วนช้างเลี้ยงก็คิดตามกำลังเงินของควาญเจ้าของช้าง และใช้กองทุนสนับสนุนช่วยเหลือช้างป่าเป็นค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่ง ในครั้งนี้ ทางบริษัท ไซโก (ประเทศไทย) ได้มีการมอบเวชภัณฑ์ในการรักษาช้าง และสัตว์ป่า เพื่อเป็นการสนับสนุนการทำงานของโรงพยาบาลอีกด้วย

อ.สพ.ญ.ดร.สุภาเพ็ญ ศรีพิบูลย์ อาจารย์สัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาล ผู้ให้ข้อมูล

จากนครปฐม เรามุ่งสู่จุดหมายหลักที่กาญจนบุรี  โดยเริ่มจากที่ ปางช้างไทรโยคที่ย้อนไปเมื่อราว 30 ปีก่อน ปางช้างแห่งนี้ได้เลี้ยงช้างเพื่อการบริการนักท่องเที่ยว เช่น ขี่ช้าง และโชว์ช้างเต็มรูปแบบ 

แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน แนวความคิดเรื่องการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น จึงปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการโดยให้ช้างมีชีวิตตามธรรมชาติในปางช้างแห่งนี้ แล้วให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเรียนรู้พฤติกรรมตามความเป็นจริงของพวกมัน ประหนึ่งเป็นสวนสัตว์เปิด เช่นเดียวกับผมและผู้ร่วมเดินทางในครั้งนี้ นอกจากนี้ ทุกคนในทริปได้มีโอกาส Energy Food ให้กับช้างสูงอายุที่มักมีปัญหาเรื่องการเคี้ยวและย่อยอาหาร ด้วยการนำกล้วยสุกมาบดให้ละเอียดผสมกับยาสารพัดประโยชน์ในธรรมชาติของช้าง นั่นคือ มะขามผสมกับรำข้าว ปั้นเป็นก้อนกลมๆ แล้วนำไปให้ช้างที่อยู่ในปางนั้นรับประทานจากมากที่เราปั้นอาหารนี้ให้พวกมันด้วยตัวเอง 

กิจกรรมในวันที่สอง ผู้ร่วมเดินทางหมดได้เข้าสู่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาน้ำพุ เพื่อสำรวจธรรมชาติของผืนป่าสลักพระ ผืนป่าตะวันตกอันเป็นแหล่งอาศัยของช้าง และสัตว์น้อยใหญ่ รวมถึงเรียนรู้ถึงคุณประโยชน์ของป่าไผ่ที่มีต่อสัตว์ป่า ระบบนิเวศ และชุมชน นำโดย คุณเสรี นาคบุญ หัวหน้าศูนย์ศึกษาธรรมชาติ และสัตว์ป่าเขาน้ำพุ จ.กาญจนบุรี

คุณเสรี นาคบุญ หัวหน้าศูนย์ศึกษาธรรมชาติ และสัตว์ป่าเขาน้ำพุ จ.กาญจนบุรี อธิบายระบบนิเวศและความสำคัญของผืนป่าสลักพระ จ. กาญจนบุรี ให้ผู้ร่วมเดินทาง

ในกิจกรรมนี้ พวกเราได้ทำกิจกรรมที่คาดไม่ถึง นั่นคือ การสวมถุงมือเพื่อ คุ้ยเขี่ยมูลช้าง ที่เหมือนว่ามันเพิ่งจะถ่ายทิ้งไว้และจากไปก่อนเรามาถึงไม่นาน แสดงให้เห็นว่าผืนป่าสลักพระแห่งนี้เป็นแหล่งอาศัยสำคัญของช้างป่าที่แท้จริง โดยวิทยากรจากศูนย์ EEC และศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาน้ำพุได้ชี้ชวนให้เห็นถึงเศษซากหญ้าและใบไม้จำนวนมากที่อยู่ในมูลช้าง ปุ๋ยชั้นดีที่ทำให้ต้นไม้ในผืนป่าเจริญงอกงาม และ ด้วงขี้ช้างด้วงมูลสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ที่มักอยู่ในกองมูลช้าง ผมจึงมีโอกาสเห็นมันในมูลช้างด้วยตาตัวเอง แสดงให้เห็นว่าช้าง (รวมไปถึงมูลของมัน) มีความสำคัญต่อระบบนิเวศของผืนป่าแห่งนี้มากเพียงใด หลังจากนั้น เรารวมตัวกันที่กอไผ่ขนาดใหญ่ในเขตป่าสลักพระ เพื่อเรียนรู้ถึงคุณประโยชน์ของป่าไผ่ที่มีต่อสัตว์ป่า ระบบนิเวศ และชุมชนโดยรอบแห่งนี้

ก่อนจากผืนป่าปิดท้ายโครงการ ผมได้ร่วมมือกับทุกคนในการเดินทางนี้ ร่วมส่งมอบ “เรือนเวลา” เรือนนอนที่ปรับปรุงใหม่ ด้วยกิจกรรมทาสีและทำความสะอาดโรงนอน ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทีมผู้พิทักษ์ป่าและสัตว์ป่า ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาน้ำพุ  และ นักเรียนจาก โรงเรียนชุมชนบ้านท่ากระดาน และโรงเรียนบ้านหม่องกระแทะ ซึ่งเป็นโรงเรียนจากชุมชนที่อยู่รายรอบผืนป่าสลักพระ พร้อมส่งมอบเครื่องนอนให้กับทางศูนย์ฯ สำหรับอำนวยความสะดวกสบายในการเข้ามาศึกษาในศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้

ก่อนจบการเล่าเรื่องราวของการเดินทางในครั้งนี้ ผมขอยกใจความคำพูดของคุณอากิระ ซากาอิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไซโก (ประเทศไทย) ที่กล่าวว่าองค์กรของเขา “ได้ขับเคลื่อนเป้าหมายเรื่องความยั่งยืนมาเป็นปีที่ 7 ผมรู้สึกดีใจที่ทุกคนได้มาเข้าร่วมกิจกรรมของเราในวันนี้ ผมอยากให้ทุกท่านนำองค์ความรู้และประสบการณ์ส่งต่อให้กับสังคมในวงกว้างต่อไป ผมเชื่อมั่นว่าทุกคนมีพลังในการขับเคลื่อนสังคมให้เคลื่อนไปข้างหน้าด้วยความยั่งยืน”

อากิระ ซากาอิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไซโก (ประเทศไทย)

ผมจึงขอนำคำพูดและความตั้งใจของเขามาถ่ายทอดให้ทุกท่านฟัง และหวังว่าเรื่องราวการเดินทางในครั้งนี้ และแรงบันดาลใจในการกิจกรรมการอนุรักษ์ที่เกิดขึ้น อาจจะให้คุณๆ ได้อยากออกเดินทางไปสัมผัสช้างไทยของบ้านเองเรา และออกไปสัมผัสความสวยงามของผืนป่าตะวันตกบ้านเราซักครั้งหนึ่ง

เรื่อง เกียรติศักดิ์ หมื่นเอ 

ภาพ กรานต์ชนก บุญบำรุง

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.