เราอาจต้องหนีไปใต้ดินหรือย้ายถิ่นไปดาวดวงอื่น แล้วเราควรทำอย่างไร? มองอนาคตผ่านวิธีคิด ‘ดร.การดี เลียวไพโรจน์’ นักอนาคตศาสตร์ จาก Future Tales Labs

“ไม่มีใครทำธุรกิจบนโลกที่ตายแล้ว” ถึงเวลาที่การพัฒนาต้องไม่เอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง

โลกในวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร? โลกจะเดือดจนเราไม่อาจรอดหรือไม่?

คงไม่มีใครให้คำตอบที่แน่นอนได้ แต่ถ้าถามว่าโลกจะเปลี่ยนไปในทิศทางใด ผู้ที่เหมาะจะตอบคำถามมากที่สุดคือนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย และทีมผู้มองการณ์ไกล (Foresight) จากชุดข้อมูลที่ถูกบริหารจัดการเป็นระบบนี่ล่ะ

Future Tales Lab เป็นส่วนหนึ่งของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำ MQDC ทำหน้าที่ในศึกษา ค้นคว้า รวบรวมและเรียงร้อยออกมาเป็นองค์ความรู้ที่จำเป็น ไม่เพียงกับสังคมเมืองและการพัฒนาเมืองเท่านั้น สิ่งที่องค์กรนี้พูดยังเป็นเรื่องที่มนุษยชาติควรจะหันมาฟังด้วย

ครั้งหนึ่ง ผู้เขียนเคยได้คุยกับ ดร.การดี เลียวไพโรจน์ Chief Foresight and Digital Assets Officer ของ Future Tales Lab เธอเล่าว่าโลกกำลังเจอกับสภาพอากาศที่รุนแรงสุดขั้วจากภาวะโลกร้อนที่ไม่มีทีท่าจะทุเลาลงได้เลย ทางเลือกของมนุษย์ในวันข้างหน้าอาจจะมีแค่สองทางคือ การสร้างเมืองใหม่ใต้ดินเพื่อหนีจากอากาศที่ไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้อีกต่อไป หรือ การย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่ดาวดวงอื่น

มันจะเป็นจริงในสักวัน เพียงแต่จะเป็นจริงเมื่อไหร่เท่านั้นเอง

กลับมาคุยกันอีกครั้งในปี 2024 หลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในมหานครดูไบที่ไม่เคยมีใครเคยจินตนาการเรื่องนี้มาก่อน รวมทั้งอากาศร้อนที่สุดเท่าที่เคยพบเจอในประเทศไทยเมื่อเดือนเมษายนที่เพิ่งผ่านพ้นไป ประชาชนทั่วไป ธุรกิจ รัฐบาล และองค์กรต่างๆ ทำอะไรได้บ้างเพื่อทำให้สถานการณ์ดีขึ้นหรืออย่างน้อยก็ไม่ควรจะแย่ลงกว่านี้

นี่คือคำตอบ

คิดว่าโลกของเราจะแตกหรือยังครับ?

คือถ้าถามว่าโลกจะแตกเป็นเสี่ยงๆ ทางกายภาพเลยเนี่ย คงไม่ได้เห็นภาพขนาดนั้นหรอกค่ะ แต่ถ้าอยู่ไม่ได้และอยู่ลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ จนคนต้องต่อสู้เพื่อแย่งชิงทรัพยากรกันเนี่ย เรื่องนี้จะหนักมากขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ ทีนี้ถ้าคนต่อสู้กันมากขึ้น ใช้อาวุธต่างๆ มันก็อาจทำให้วิถีชีวิตเดิมแบบที่เราเคยอยู่ มันอยู่ไม่ได้แล้ว 

มีคลิปอันนึงชื่อ 90 seconds to midnight จำลองเหตุการณ์ว่า ถ้าเกิดสงครามนิวเคลียร์แล้วชาติมหาอำนาจเปิดฉากยิงขีปนาวุธใส่กันรอบโลกเนี่ย มันจะเกิดเขึ้นเร็วมากด้วยเทคโนโลยี แล้วทำให้ฝุ่นละอองขนาดใหญ่ปกคลุมทั่วชั้นบรรยากาศ แสงแดดส่องลงมาไม่ถึง อุณหภูมิโลกร้อนขึ้นและเย็นลงแบบเฉียบพลัน เหมือนในหนังเลย นั่นจะถือเป็นหายนะของมนุษยชาติ 

ฟังดูเหมือนสงครามจะน่ากลัวกว่าภาวะโลกร้อนอีก?

ต้องบอกว่าทั้งคู่เลยค่ะ ทั้งสองอย่างเหมือนกันตรงที่เกิดจากฝีมือของมนุษย์ เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เรารู้มาตั้งนานแล้วแต่เราไม่ทำอะไร ส่วนสงครามก็คือการแย่งทรัพยากรกันนั่นแหละ ลองนึกว่าถ้าประเทศแถบเส้นศูนย์สูตรไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ ทำการเกษตรไม่ได้ ก็ต้องย้ายถิ่นฐานไปในที่ของคนอื่น เป็นการย้ายถิ่นฐานแบบไม่เต็มใจ สงครามก็เกิดจากอะไรแบบนี้ ทั้งการแย่งน้ำมัน การใช้เทคโนโลยี และเรื่องความปลอดภัยอื่นๆ  ถามว่าทั้งสองอย่างเกี่ยวกันไหม เกี่ยวกันแน่นอน 

แล้วที่ ดร.อ้อ บอกว่าถ้าเราไม่ลงไปอยู่ใต้ดิน ก็จะย้ายไปอยู่ดาวดวงอื่น แนวโน้มไหนจะมีโอกาสเป็นจริงมากกว่ากัน?

คิดว่าจะเกิดขึ้นทั้งสองอย่างพร้อมๆ กันค่ะ คิดว่าเกิดแน่ๆ  มันไม่ใช่เรื่องการเลือกระหว่าง A กับ B ค่ะ อย่างการลงไปอยู่ใต้ดินที่จีนก็มีทำแล้ว จริงๆ เพื่อหนีอากาศร้อนจัด นั่นขนาดบ้านเขา 37 องศาเซลเซียส เขาบอกว่าร้อนจัดแล้วนะคะ (หัวเราะ) เขาคิดทำเป็นเมืองจริงจังเลย แต่ถ้าอย่างบ้านเราก็ต้องมาดูเรื่องปริมาณน้ำ ความชื้น เงื่อนไขไม่เหมือนกัน อย่างประเทศไทย ยังคิดว่าเรามีทางรอดได้ มาช่วยกันปลูกต้นไม้ก่อน ใช้วิธีคิด Nature Positive ที่ยึดธรรมชาติเป็นหลักก่อน เรายังโชคดีที่เราไม่ได้อยู่ในพื้นที่ทะเลทราย น้ำท่วม หรือธารน้ำแข็งละลาย เรายังโชคดีก็จริง แต่เราต้องแก้ไขปัญหาด้วย

อย่างประเทศไทย ปีนี้เราเจอกับอากาศที่ร้อนแบบไม่เคยเป็นมาก่อน คิดว่ามันเกิดอะไรขึ้น? 

ถ้าบอกว่าปีนี้ร้อนแล้ว อาจเป็นเรื่องตลกร้ายก็ได้นะคะ ถ้าจะบอกว่าปีนี้อาจเป็นปีที่เย็นที่สุดแล้ว เมื่อเรามองไปในอนาคต น่ากลัวค่ะ น่าสงสารรุ่นลูกและเด็กๆ ที่จะเกิดมา อย่างสมัยเรายังเด็ก ช่วงเดือนพฤศจิกายนเป็นหน้าหนาว เราก็เอาเสื้อหนาวมาใส่ แต่ทุกวันนี้เขาไม่รูจักหน้าหนาวแล้วว่าเป็นแบบไหน อุณหภูมิของประเทศไทยสูงทำลายสถิติหลายพื้นที่ บ้านเราอุณหภูมิสูงขึ้น 4-5 องศาเซลเซียส ร้อนมากเลยนะ และแนวโน้มมีแต่จะร้อนขึ้นเรื่อยๆ แล้วพอร้อนขึ้น ความชื้นในอากาศสูง ฝนก็จะตกหนักในฤดูฝนเกินกว่าที่ภาคการเกษตรของเราจะรองรับได้  จากนั้นก็จะมีผลกับการไหลเวียนของอากาศ ซึ่งก็จะตามมาด้วยฝุ่น PM2.5 จะเห็นว่ามันเกี่ยวกันหมดเลย อากาศเวลาร้อนก็จะร้อนมาก เวลาฝนตกก็จะตกหนักมาก นี่คือสภาพอากาศรุนแรงสุดขั้ว ซึ่งจะเห็นชัดเจนมากขึ้น ถ้าเราไม่ได้เตรียมตัวไว้ก็จะเจอกับภัยพิบัติทุกครั้งไป

เราต้องยอมรับว่าเราจะมองหาแต่วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมไม่ได้แล้วค่ะ มาหวังว่าเดี๋ยวปีหน้าจะดีขึ้น มันคงไม่ใช่ อย่างโครงสร้างพื้นฐานทั้งหลายที่เรามี เราสร้างบนพื้นฐานของค่าเฉลี่ยในอดีต แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตมันไม่ใช่แบบนั้นแล้ว แนวโน้มจะเป็นแบบถ้าไม่น้อยไปเลยก็คือร้อนจัด และจะเยอะไปเลยก็คือฝนตกน้ำท่วม สุดท้ายต้องกลับมาถามว่าเราจัดการเรื่องโครงสร้างพื้นฐานดีพอแล้วหรือยัง

แล้วการแก้ไขอย่างเป็นระบบเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศควรทำอย่างไร?

วันนี้เรายังใช้ระบบที่ใครเต็มใจทำก็ทำ แต่จริงๆแล้วมันควรมองเป็นเรื่องความเสี่ยงและเกิดการบังคับใช้ได้แล้ว อย่างภัยพิบัติเป็นสิ่งที่เราต้องเตรียมพร้อมรับมือเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ การแก้ไขจึงเป็นลักษณะโครงสร้างมากกว่าการแก้ไขหรือบรรเทาทุกข์เฉพาะหน้า วันนี้เทคโนโลยีพอจะช่วยได้ระดับหนึ่ง ขึ้นกับการวางโครงสร้างพื้นฐานว่าเราจริงจังกันมากขนาดไหน 

สิ่งที่พวกเราผิดพลาดมาตลอดคือ คิดโดยเอามนุษย์เป็นตัวตั้งหรือ Human Positive เอาความสะดวกสบายเป็นตัวตั้ง แต่ตอนนี้ในทางสถาปัตยกรรมเริ่มนำวิธีคิด Nature Positive หรือเอาธรรมชาติเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักก่อน จากนั้นค่อยใส่ชีวิตมนุษย์เข้าไป อย่างเมื่อก่อนเรามีป่า มีภูเขา เราก็โค่นต้นไม้และก่อสร้าง แล้วค่อยมาขุดบ่อน้ำ ปลูกต้นไม้เติม มันเป็นวิธีคิดแบบดั้งเดิม มาวันนี้เราต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม แต่ออกแบบอย่างชาญฉลาดว่าเราจะไปอยู่กับธรรมชาติที่เขาสมดุลแล้วอย่างกลมกลืนได้อย่างไร นี่เป็นระบบคิดที่จะมีมากขึ้น จะปรับมาเป็นกฏหมายยังได้เลยค่ะ เราต้องอยู่กับธรรมชาติให้ได้ ไม่ใช่บังคับธรรมชาติให้มาอยู่กับเรา

แต่ก็ไม่ง่ายเลยในเมื่อธุรกิจต่างๆ มุ่งหารายได้ และสร้างผลกำไร มองอย่างไร?

ต้องกลับมาถามว่ากำไรที่แท้จริงคืออะไร? ก็ต้องคิดจากต้นทุนที่เราออกไป หักล้างกับรายได้ที่เข้ามา เราจะวัดต้นทุนจากมุมมองปัจจุบันไม่ได้นะ เท่านั้นไม่พอ ต้องวัดจากต้นทุนที่ลูกหลานเราในอนาคตเขาสละความเป็นอยู่ที่ดีให้กับเราคิดว่าเป็นมูลค่าปัจจุบันด้วย แนวคิดนี้จับใจค่ะ เราจะวัดความสำเร็จแค่ภาพของปัจจุบันไม่ได้ ซ้ำร้ายกว่านั้น ผลประโยชน์ในปัจจุบันเราเห็นแต่แค่มิติของเงิน ส่วนสิ่งที่ประเมินเป็นตัวเงินได้ยาก เราก็ไม่เอามานับ ทั้งที่เราเอาทรัพยากรของลูกหลานในอนาคตมาใช้หาผลประโยชน์ทางการเงินในปัจจุบันของเรา แล้วเราจะไม่ชดเชยกลับไปให้พวกเขาหรือคะ

อากาศมันจะร้อนไปถึงขนาดไหน?

ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย อากาศจะร้อน 1.5 องศาเซลเซียสไปเรื่อยๆ แต่จะร้อนขนาดเผาไหม้กลางแสงแดดเลยไหม ก็คงไม่ แต่ระบบนิเวศรายรอบจะล่มสลายก่อน แล้วเราจะอยู่ยากมากขึ้นเรื่อยๆ อากาศร้อนไม่ได้ทำให้เราแค่เหงื่อออกอย่างเดียว มันทำให้สิ่งแวดล้อมค่อยๆ ดับสูญไปเรื่อยๆ พอมันเสียสมดุลไป ก็เกิดผลกระทบอื่นตามมา ความหลากหลายทางชีวภาพมีความสำคัญมากค่ะ สิ่งมีชีวิตที่หายไป 500 – 600 สปีชีส์ในช่วงที่ผ่านมาเนี่ย เราไม่รู้หรอกว่ามันมีผลกระทบอะไร เพราะเราก็ยังเลี้ยงหมาเลี้ยงแมวอยู่ในบ้านได้ แต่จริงๆแล้ว มันทำให้ป่าเสีpสมดุลและส่งผลกระทบกลับมาที่เราอยู่ดี

ประชาชนและภาครัฐร่วมมือกันทำแก้ไขปัญหานี้อย่างไรดี?

เริ่มที่ผู้บริโภคอย่างเราๆ ต้องใช้อย่างมีความรับผิดชอบ ต้องมีสำนึกร่วมกัน นอกจากนี้ที่ทำได้เลยคือปลูกต้นไม้ค่ะ ปลูกกันเยอะๆ เลย ช่วยกันปลูกป่าขึ้นมาเพราะต้นไม้มีประโยชน์มาก ดีต่อน้ำ ดินและอากาศ นี่คือระดับบุคลลนะ

แต่ถ้าเป็นภาพใหญ่มากกว่านี้เราต้องการอะไรอีก เราต้องการความเข้มแข็งของนโยบายที่ให้ความสำคัญกับธรรมชาติเป็นเรื่องแรกของประเทศ สิ่งที่เกิดขึ้นมาโดยตลอดคือผู้นำทั่วโลกมองว่านี่เป็นปัญหาของอนาคต (Future’s problems) ไม่ใช่ของวันนี้ ก็เลยไม่เร่งแก้ไขปัญหา คือมันลึกไปถึงกรอบวิธีคิดเลย จริงๆเราต้องการกฏหมายที่ชัดเจนด้วยซ้ำว่าใครทำผิด ควรได้รับโทษอย่างไร มีทั้งส่วนที่ห้ามและส่วนที่สนับสนุนค่ะ

เทคโนโลยีด้านภูมิอากาศ (Climate Technology) ทุกวันนี้พัฒนาไปขนาดไหนแล้ว?

มีทำเยอะมากเลยค่ะ ทั้งการดูดซับคาร์บอนจากอากาศกลับเข้ามาแล้วเก็บไว้ใต้ดินหรือเอาไปใช้ทำประโยชน์อย่างอื่น อย่างที่ไมโครซอฟต์ก็มีลงทุนทำเรื่องนี้อยู่ หรือวัสดุก่อสร้างที่สามารถดูดซับคาร์บอนได้ด้วยตัวมันเอง หรืออย่างที่จีนก็มีแล้วที่ด้านนอกของตึกสามารถกรองอากาศไปในตัวได้ด้วย ซึ่งธุรกิจขนาดใหญ่ในบ้านเราก็เริ่มนำมาปรับใช้กันมาขึ้นแล้ว 

ถ้าเราแก้ไขปัญหาโลกร้อนด้วยอัตราเร่งแบบทุกวันนี้ จะทันตามเป้าหมายที่ประกาศไว้หรือเปล่า?

ไม่ทันค่ะ คือแค่ลองดูจากข้อตกลงปารีสเราก็ทำไม่ทันตามเป้าแล้ว วันนี้จึงต้องช่วยกันคิดว่าทำยังไงดี ต้องเปลี่ยนตั้งแต่วิธีคิดก่อน จากนั้นมาดูว่าเทคโนโลยีที่จะช่วยเปลี่ยนกลับหรือฟื้นคืนสภาพภูมิอากาศจะทำอย่างไรเพื่อสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ เราต้องการเทคโนโลยีที่สร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว ทำแบบค่อยเป็นค่อยไปได้ยากมาก อีกอันคือเรื่องกลไกทางการเงิน คนที่อินเขาก็จะอินมากนะคะ เขาเชื่อว่าเรื่องความยั่งยืนถือเป็นต้นทางของทุกอย่าง จะมาบอกว่าเศรษฐกิจเป็นแบบนี้แล้วนโบยายด้านสภาพภูมิอากาศต้องปรับตัวเข้ามา แบบนี้เขาไม่คุยด้วยเลย เขามองว่าต้องตั้งต้นก่อนเลยว่าจะทำให้โลกยั่งยืนได้อย่างไร จากนั้นค่อยปรับเศรษฐกิจให้หมุนเปลี่ยนตามเงื่อนไขของโลกต่างหาก เพราะเขาเชื่อว่าต่อให้เรารวย แต่เราก็ไม่สามารถทำธุรกิจบนโลกที่ตายแล้วได้ค่ะ ต้องคิดแบบนี้ คือมองว่ามหาภัยพิบัติเป็นตัวตั้งแล้วออกแบบระบบที่สอดคล้องกันมา ไม่ใช่มองเศรษฐกิจเป็นตัวตั้งแล้วมองเรื่องหายนะเป็นตัวแถม ซึ่งมันไม่ใช่

แล้ว Future Tales Lab จะทำอะไรต่อไปอีก 5 หรือ 10 ปีข้างหน้าในวันที่โลกเปราะบางแบบนี้?

เรายังทำงานวิจัยต่อไปค่ะ เรื่องอนาคตศาสตร์เราต้องตรวจสอบผลลัพธ์ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ งานวิจัยที่เราเคยทำเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ทุกวันนี้เราก็มาดูว่ามันมีเปลี่ยนแปลงทั้งเรื่องทิศทางและระยะเวลาอย่างไรบ้าง วันนี้เรามีทักษะ เครื่องมือ และพันธมิตรมากพอที่จะไปมากกว่างานวิจัยแล้ว ก็จะเริ่มก้าวสู่การให้คำปรึกษาในรูปแบบ Future Proof Organization ให้กับองค์กรอื่นๆ มากขึ้น เราพร้อมที่จะแชร์เพื่อช่วยกันทำโลกใบนี้ให้น่าอยู่ไปด้วยกัน อยากบอกว่าเราหมดหวังไม่ได้นะคะ มันคือเรื่องของมนุษยชาติและเป็นอนาคตของคนที่เรารักที่จะเติบโตไปวันข้างหน้า สิ่งที่ดีที่สุดคือเราต้องสำนึกว่าอะไรที่เราทำพลาดในช่วงที่ผ่านมาและลงมือแก้ไข ปรับปรุง ทำในส่วนที่เราทำได้และชวนคนอื่นมาทำด้วยค่ะ

เรื่อง มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล

ภาพ ศุภกร ศรีสกุล


อ่านเพิ่มเติม: “สินค้ารักโลก ถ้าไม่สวยคนก็ไม่ซื้อ” แฟชั่นและยั่งยืนในแบบ‘ประวรา เอครพานิช’ แห่งบูติคนิวซิตี้

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.