‘เคน เฮ็ก’ เมื่อคลาวด์เป็นมิตรกับโลก กับเบื้องหลัง AWS สู่เทคโนโลยีพลังงานสะอาด

สัมภาษณ์พิเศษ เคน เฮ็ก ผู้อำนวยการด้านพลังงานและนโยบายสิ่งแวดล้อม ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่นของ AWS  ถึงการขับเคลื่อนเทคโนโลยีเพื่อพลังงานสะอาด

ทุกวันนี้โลกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีข้อมูลที่ลื่นไหลเร็วเกินกว่าที่เราจะจินตนาการได้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงจากแบบดั้งเดิมไปสู่คลาวด์คอมพิวติ้งมากขึ้น ซึ่งช่วยลดต้นทุนให้กับองค์กรในการบริหารจัดการฐานข้อมูลขนาดใหญ่ด้วยตนเอง ยิ่งเข้าสู่ยุคปัญญาประดิษฐ์ด้วยแล้ว ระบบประมวลผลและโครงสร้างพื้นฐานที่ดีจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก จนแทบจะใช้เป็นตัวชี้วัดความได้เปรียบเสียเปรียบในการแข่งขันได้เลย

เราเริ่มได้ยินข่าวเรื่องการลงทุนในศูนย์บริการข้อมูลขนาดใหญ่หรือเดต้าเซ็นเตอร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนกันมากขึ้น เดิมนั้นสิงคโปร์แทบจะเป็นพื้นที่เดียวที่บริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลายจะลงทุนสร้างเดต้าเซ็นเตอร์เนื่องจากมีความพร้อมที่มากที่สุดในละแวกนี้ แต่เมื่อเกิดการขยายตัวของเศรฐกิจดิจิทัลมากขึ้น ทั้งอีคอมเมิร์ซรวมทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ ทำให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่มองเห็นโอกาสในอินโดมีเซีย มาเลซีย รวมถึงประเทศไทยที่มีข้อได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์

แอมะซอน เว็บ เซอร์วิส (Amazon Web Services) หรือ AWS เป็นหนึ่งในแขนขาสำคัญของบริษัทเทคโนโลยีแอมะซอน ผู้ให้บริการระบบคลาวด์และเดต้าเซ็นเตอร์ เพิ่งประกาศลงทุนในประเทศไทยด้วยเม็ดเงิน 1.9 แสนล้านบาทภายในปี 2581 ไปเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา รวมทั้งประกาศยกระดับกรุงเทพมหานครเป็นสำนักงานระดับภูมิภาคอีกด้วย แม้รายละเอียดการลงทุนจะยังไม่ชัดเจนนัก แต่ก็เรียกเสียงฮือฮาให้วงการธุรกิจได้ไม่น้อย

เป็นที่ทราบดีว่าระบบคลาวด์และเดต้าเซ็นเตอร์ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าและพลังงานมหาศาล  โดยคาดว่าพื้นที่ 1 ตารางเมตรในเดต้าเซ็นเตอร์จะใช้พลังงานมากถึง 1,000 กิโลวัตต์ชั่วโมง หรือ 10 เท่าของการใช้งานเฉลี่ยของครัวเรือนอเมริกัน โดยเฉพาะตู้สำหรับใส่อุปกรณ์หรือตู้แร็คที่มีความร้อนและต้องใช้พลังงานสูงในการรักษาอุณภูมิให้เย็นลง ถ้าอย่างนั้น การทำธุรกิจนี้จะเกี่ยวข้องหรือมีส่วนร่วมเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้อย่างไร?

เทคโนโลยีคือคำตอบที่ดีที่สุดสำหรับเรื่องนี้ และ National Geographic ภาษาไทย ได้นั่งคุยกับ ‘เคน เฮก’ ผู้อำนวยการด้านพลังงานและนโยบายสิ่งแวดล้อม ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่นของ AWS ซึ่งมักปรากฏตัวด้วยเสื้อฮาวายหรือเสื้อลายดอกจนเป็นเอกลักษณ์และยินดีเล่าเรื่องโซลูชั่นที่น่าสนใจให้เราเข้าใจว่า เรื่องความยั่งยืนไม่ได้มองได้เพียงมิติของการลงทุน ก่อสร้าง ปลูกป่า หรือทำอะไรใหญ่โตกับทรัพยากรทางธรรมชาติเท่านั้น หากแต่การจัดการที่ดีจากเทคโนโลยีที่ดีขึ้น ก็ช่วยทำให้การทำงานและโลกใบนี้ดีขึ้นได้

ทำไมคุณถึงชอบใส่เสื้อลายดอกล่ะครับ?

ผมใส่แบบนี้ตลอดเลยครับ เพราะพื้นเพผมเป็นคนฮาวาย เรามีทะเลที่สวยงาม มีวัฒนธรรม มีป่าร้อนชื้นใกล้ทะเล มันเป็นภาพจำของฮาวายนะครับสำหรับดอกไม้สีสดใส ใบไม้ขนาดใหญ่ ผมรักฮาวายมาก พอมาทำงานที่ AWS ผมก็ประจำอยู่ที่ญี่ปุ่น ดูธุรกิจในเอเชียแปซิฟิก ก็เป็นโลกฝั่งตะวันออกด้วย ผมว่าเสื้อลายดอกนี่เหมาะมากๆเลยกับสิ่งทีผมทำอยู่ครับ

เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือ AWS สามารถบรรลุเป้าหมายการใช้พลังงานทดแทน 100% ในปี 2023 เร็วกว่าเป้าหมาย 2030 ถึง 7 ปี คุณทำได้อย่างไร?

เราประกาศเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2021และตั้งใจจะใช้พลังงานทดแทนร้อยเปอร์เซ็นต์ให้ได้ครับ สุดท้ายก็ทำสำเร็จในปี 2023 ผมคิดว่ามันเป็นผลของความตั้งใจของพวกเราที่อยากทำให้มันเกิดขึ้นจริงๆ เรามีหลักคิดการทำงานอยู่หลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือการใช้ประโยชน์ขนาดขนาดและระดับของธุรกิจที่เรามีเพื่อสร้างความรับผิดชอบต่อสังคม เราเป็นองค์กรที่ซื้อพลังงานทดแทนเยอะที่สุดในโลกติดต่อกันมาสี่ปีแล้ว โดยส่วนใหญ่ของพลังงานที่เราใช้ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมครับ อย่างในเอเชียแปซิฟิกที่อาเซียนเอง ตอนปี 2022 มีการจัดประชุมประเทศขนาดใหญ่ 20 ประเทศหรือ G20 ที่อินโดนีเซีย เราประกาศเป็นองค์กรเอกชนแรกที่เข้าซื้อพลังงานทดแทนโดยตรงจากหน่วยงานกลางของอินโดนีเซียเลย เราพัฒนา 4 โครงการโซลาร์ขนาดใหญ่สำหรับการผลิตไฟฟ้าถึง 210 เมกะวัตต์

ถ้าถามว่าทำไมเราไม่ทำธุรกิจด้านพลังงานเองเลย ต้องบอกว่าเราทำหลายอย่างแล้วครับ เราไม่ใช่บริษัทพลังงาน ไม่ได้สร้างพลังงานเองครับ เราลงทุนกับเจเนอรัล อีเลคทริคหรือ GE เขาทำเรื่องพลังงานลมเยอะ คนเก่งๆในธุรกิจนี้มีเต็มไปหมด เราเองก็ได้ใช้เทคโนโลยีคลาวด์ไปช่วยต่อยอดการบริหารจัดการพลังงานของเขาด้วย หรืออย่างในสิงคโปร์เราทำงานกับกับบริษัทพลังงานท้องถิ่นในการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ ทำข้อตกลงการซื้อขายพลังงานระยะยาว (Long Term Power Purchase Agreement) กันเลย เพื่อให้เขามั่นใจ ลงทุนและบำรุงรักษาหน่วยธุรกิจพลังงานทดแทนที่ป้อนมาให้เราโดยตรง AWSก็ได้คาร์บอนเครดิตจากเรื่องนี้ด้วยเพราะเป็นพลังงานสะอาด จึงเป็นปัจจัยหนึ่งให้เราบรรลุเป้าหมายเรื่องพลังงานทดแทนมาได้ อย่างในประเทศไทย เราไม่สามารถทำข้อตกลงได้เหมือนกับอินโดนีเซียครับ ก็ขึ้นกับบริบทของแต่ละประเทศที่แตกต่างกันออกไป

เรารู้กันดีว่าเดต้าเซนเตอร์ใช้พลังงานเยอะมาก แล้ว AWSจะทำเรื่องนี้ให้ยั่งยืนได้อย่างไรกัน?

ต้องบอกก่อนครับว่าไม่ใช่เดต้าเซ็นเตอร์ทุกที่ที่ทำงานเหมือนกันนะครับ การบริหารจัดการด้านพลังงานก็แตกต่างกัน มีรายงานประจำปี 2023ที่เราเพิ่งเผยแพร่ชี้วัดว่าระบบของAWSเราบริหารจัดการพลังงานได้ดีและยังสามารถตอบสนองกับความต้องการของลูกค้าได้ทันท่วงทีด้วย ลองคิดดูสิครับตอนนี้กลายเป็นว่าค่าใช้จ่ายด้านไอทีถึง 85% ใช้ไปกับเรื่องเดต้าเซ็นเตอร์ ยิ่งบริษัทที่เขาทำของเขาเองก็ลงทุนมหาศาล ผมเชื่อว่ายังมีโอกาสของระบบคลาวด์อีกมากซึ่งมีการพิสูจน์ชัดเจนว่าการทำงานด้วยระบบคลาวด์นั้นประหยัดพลังงานได้มากกว่ากรณีที่องค์กรลงทุนทำเดต้าเซ็นเตอร์ของตัวเอง ซึ่งลูกค้าที่ย้ายมาใช้โซลูชั่นนี้แทบจะลดการปล่อยคาร์บอนได้เกือบทั้งหมดเลย

แนวคิดหลักของเราคือเรื่องการประหยัดพลังงานตลอดทั้งกระบวนการ เราเชื่อว่าจะทำให้ดีกว่าเดิมได้อีก อย่างชิปประมวลผลที่เราใช้ เราทำให้ประสิทธิภาพดีขึ้น ประมวลผลดีขึ้นถึง30% มีความจำเพิ่มได้อีก 75% รองรับกับการพัฒนาเอไอที่ใช้พลังงานเยอะมาก ชิปที่ดีที่จึงต้องจัดการพลังงานให้ได้ดีที่สุด  นอกจากนี้ยังมีเรื่อง ‘เซิฟเวอร์ซอมบี้’ เป็นศัพท์ที่เรารู้กัน ซึ่งไม่เกิดประโยชน์อะไรกับระบบแล้วแต่ก็ใช้พลังงานอยู่ เรามีระบบเซ็นเซอร์ตรวจจับเรื่องนี้ด้วยและต้องเข้าไปเปลี่ยนมันได้ทันที ไม่ต้องรอรอบการซ่อมบำรุงถัดไป ซึ่งช่วยประหยัดไปได้มากไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีพัดลมที่เราใช้ทำความเย็นช่วยลดการใช้พลังงานได้ถึง 20% หรือการใช้ขนาดแบตเตอรี่ที่เล็กลงสำหรับตู้แร็คช่วยลดการสูญเสียของกระบวนการแปลงพลังงานได้มากกว่า 35% ทุกอย่างถูกคิดและออกแบบมาหมดครับ

อย่างเรื่องปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง (Generative AI)นี่ต้องใช้การประมวลผลมาก AWS คิดเรื่องความยั่งยืนที่ฝังทั้ง ‘ในระบบคลาวด์’ ของเราเองและ ‘สิ่งที่ผ่านระบบคลาวด์’ ออกไป เราต้องทำให้โครงสร้างพื้นฐานของเราลดการปล่อยคาร์บอนลงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ส่วนที่อยู่ในคลาวด์มันมีเทคโนโลยีเยอะมาก สิ่งที่เราทำคือช่วยออกแบบสถาปัตยกรรมระบบสำหรับให้ลูกค้าที่พัฒนาโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (Large Language Model) ที่เหมาะสมกับลูกค้าเพื่อช่วยพวกเขาประหยัดเงินลงุทนเข้าคู่กับการใช้งานฮาร์ดแวร์ที่เหมาะสม ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราใช้เครื่องซักผ้าซักถุงเท้าแค่ข้างเดียว มันก็ไม่ประหยัดซักเท่าไหร่ เปลืองพลังงานด้วย ซึ่งจริงๆแล้วระบบเดต้าเซ็นเตอร์ทั่วไปจะใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงได้ 10-15% ของที่มีทั้งหมดเท่านั้นเอง

เรายังใช้เอไอเรื่องพลังงานทดแทนด้วยนะครับ ตัวอย่างหนึ่งคือโครงการในรัฐแคลิฟอเนีย สหรัฐอเมริกา เราใช้พลังงานจากแสงแดดเป็นหลัก พอผู้คนกลับมาบ้านช่วงเย็น เขาก็จะเปิดไฟ ใช้ไฟกัน เราลงทุนในโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ให้จัดการระบบโดยอัตโนมัติในการบริหารการกักเก็บพลังงานให้ได้ประโยชน์สูงที่สุด ทำให้ลดการปล่อยคาร์บอนลงได้มากในโครงข่ายระบบสายส่งไฟฟ้า

AWS ตั้งใจกับการลงทุนที่ประเทศไทยนะครับเพราะเรารู้ว่าระบบคลาวด์จะสำคัญมากขึ้นกับลูกค้าไทย ที่นี่มีอาคารมากกว่า 1 แสนแห่งที่ใช้ระบบจัดการพลังงานด้วยปัญญาประดิษฐ์อยู่โดยเฉพาะในภาคโรงงาน ผมถือเป็นเรื่องที่ดีครับและหวังว่าเทคโนโลยีคลาวด์ที่จะเข้าไปสนับสนุนการทำงานเหล่านี้ให้ดีขึ้น

นอกจากการจัดการไฟฟ้า คุณจัดการทรัพยากรน้ำอย่างไร?

การบริหารจัดการน้ำสำคัญมากครับ เพราะเป็นการทำความเย็นให้กับทั้งระบบ ลดความร้อนของเครื่องลง โดยเราใช้ลมเย็นเป่าเข้าไปช่วยลดอุณหภูมิ  เป็นการใช้น้ำจากแหล่งชุมชนที่มีเดต้าเซ็นเตอร์ของเราอยู่ เป้าหมายใหญ่ที่เราตั้งไว้ก็คือ ภายในปี2030 เราจะคืนกลับน้ำให้กลับชุมชนให้ได้มากกว่าที่เราใช้ไป เรื่องนี้ทำได้นะครับ เราต้องทำงานร่วมกับรัฐบาล ผลักดันเรื่องการรีไซเคิลน้ำ ผมไม่เห็นด้วยที่เราต้องเอาน้ำที่ดื่มกินได้มาใช้โดยเปล่าประโยชน์ พวกน้ำที่ใช้ในการชะล้างทั้งหลายเราควรกรอง ทำให้สะอาดและเอากลับมาใช้ใหม่ได้ ไม่ควรเอาน้ำที่ดื่มได้มาใช้ ที่สิงคโปร์เขาก้ทำเรื่องนี้กันซึ่งเดต้าเซ็นเตอร์ของเราที่นั่นใช้น้ำ 100 เปอร์เซ็นต์จากการรีไซเคิลน้ำ หน้าที่ของผมก็คือการผลักดันนโยบายจของเราในการทำงานร่วมกับภาครัฐและเอกชนเพื่อทำสิ่งเหล่านี้นี่ล่ะครับ เราทำงานกันหนักมากทั้งที่อินเดียและอินโดนีเซียเราช่วยให้ครัวเรือนถึง 7 แสนบ้านสามารถเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาดได้ ซึ่งเป็นผลของเป้าหมายเรื่องการรีไซเคิลน้ำและคืนกลับน้ำสู่ชุมชนของเราครับ

ร่วมมือทำงานกับองค์กรอื่นอย่างไรได้บ้าง?

เราใช้เครื่องมือมากมายในการทำธุีกิจ ที่พูดไปไม่ใช่แค่การตั้งเป้าหมาย แต่เรามีการตรวจสอบผลลัพธ์อย่างเป็นระบบด้วย ทั้งเรื่องรอยเท้าคาร์บอน(Carbon Footprint)และการจัดการน้ำ ในปี 2019 พอเราตั้งเป้าหมายหมายเรื่องคาร์บอนเป็นศูนย์ เราก็ประกาศสิ่งที่เรียกว่า ‘คำมั่นสัญญาด้านสภาพอากาศ’ (Climate Pledge) ขึ้นมา  เราชวนบริษัทอีกกว่า 500 แห่งมาทำงานร่วมกัน จนเกิดโซลูชั่นเพื่อการบริหารจัดการด้านพลังงานที่มีประสิทธิภาพ ลดการปล่อยคาร์บอนและเกิดองค์ความรู้ที่แบ่งปันกันได้ในเครือข่ายของเรา

ถ้าดูจากภาพใหญ่ ธุรกิจของแอมะซอน เราส่งสินค้าไปทั่วโลกโดยขยายธุรกิจไปพร้อมกับการผลักดันเรื่องลดมลพิษระหว่างการขนส่งลง  เราเริ่มใช้จักรยานไฟฟ้าแทนรถยนต์ จะว่าไปตอนนี้เรามียานพาหนะที่เป็นรถไฟฟ้าขนส่งมากกว่า 1 แสนคันแล้ว อย่างปีที่แล้วเราลดระยะเวลาการขนส่งทางน้ำได้ถึง 10% ซึ่งช่วยประหยัดทั้งต้นทุนการขนส่งและพลังงานที่ใช้ในการเดินเรือ ในอเมริกาเองเรามีกองทุนด้านสภาพอากาศด้วยงบประมาณถึง 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อการลงทุนในเทคโนโลยีอนาคตในการลดคาร์บอนโดยตรง

เทคโนโลยีกับการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศจะทำงานด้วยกันอย่างไร?

เทคโนโลยีช่วยได้มากครับ อย่างเอไอถือเป็นโซลูชั่นที่ยอดเยี่ยม เห็นได้จากการใช้เอไอในการจัดการด้านพลังงานให้เกิดประสิทธิภาพที่ดีที่สุด ประหยัดพลังงานมากที่สุด องค์กรต่างๆก็ต้องมีเครื่องมือในการผลักดันเรื่องความยั่งยืนของธุรกิจเขาด้วย ตัวอย่างที่ดีคือ Netflix ธุรกิจของพวกเราอยู่บนระบบคลาวด์แทบทั้งหมดเลย มีจำนวนผู้ใช้งานมหาศาลจากทั่วทุกมุมโลก การที่เขาตัดสินใจใช้เทคโนโลยีคลาวด์และเดต้าเซ็นเตอร์มันช่วยทำให้พวกเขาลดการปล่อยมลพิษได้มากถึง 78% ใน 2022เลยนะครับ  เรื่องเทคโนโลยีและความยั่งยืนจึงไม่ใช่แค่เรื่องประหยัดต้นทุน แต่ต้องลดคาร์บอนไปในตัวด้วย

นอกจากมุมผู้บริหารแล้ว ในฐานะพลเมืองโลกคนหนึ่ง เราจะทำให้โลกดีกว่านี้ได้อย่างไร?

เราทุกคนควรใส่ใจเรื่องคาร์บอนกันนะครับ และจำเป็นต้องมีเครื่องมือที่เหมาะสมด้วย ทำให้มันเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ประชาชนอย่างเราเองก็สามารถลดการใช้พลาสติกลง เวลาเดินทางก็ควรออกแรงเดินให้มากขึ้นกว่าการขับรถ ที่ญี่ปุ่นรถไฟเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ดีมากในการขนส่งผู้คนเข้าออกเมือง ประหยัด มีประสิทธิภาพดีกว่าการขับรถกันเยอะๆ ก็เหมือนกันระบบคลาดว์นี่ล่ะครับ เราทำให้มันทำงานด้วยความเร็วสูง ประสิทธิภาพสูงด้วย ก็ดีกับทุกคน (หัวเราะ)

เรื่อง : มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล

ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล


อ่านเพิ่มเติม : เราอาจต้องหนีไปใต้ดินหรือย้ายถิ่นไปดาวดวงอื่น แล้วเราควรทำอย่างไร? มองอนาคตผ่านวิธีคิด ‘ดร.การดี เลียวไพโรจน์’ นักอนาคตศาสตร์ จาก Future Tales Labs

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.