BETTER COMMUNITY ร่วมสร้างชุมชนเป็นมิตรและยั่งยืน ในงาน Sustainability Expo 2024

“เติมแรงบันดาลใจ จุดประกายให้ชุมชนน่าอยู่

ในโซน BETTER COMMUNITY  งาน Sustainability Expo 2024”

 

เมื่อได้ยินคำว่า “ชุมชนที่ยั่งยืน” ภาพในหัวของใครหลายคนอาจนึกถึงหมู่บ้านที่มีต้นไม้เยอะ ๆ มีธรรมชาติที่อุดมสมบรูณ์ ไร้ซึ่งตึกสูงหรือถนนหนทางที่เต็มไปด้วยการสัญจร แต่นิทรรศการ Sustainability Expo 2024 ในโซน BETTER COMMUNITY ทำให้เราเห็นมิติของชุมชนที่เป็นมิตรและยั่งยืนแบบรอบด้าน ไม่ใช่แค่ชุมชนที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม แต่มนุษย์ในเมืองใหญ่ ก็มีชุมชนที่ยังยืนได้ ผ่านกิจกรรมสนุก ๆ เช่น การชิมกาแฟดริป ชมหนังสั้น วาดภาพดอกไม้ใบหญ้า พาเด็ก ๆ มาส่องนก และเดินชมอาร์ตแกลลอรี่

กิจกรรมเหล่านี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของโซน BETTER COMMUNITY ชวนทุกคนมาสำรวจว่า เมืองที่เราอยู่ประกอบด้วยกลุ่มคนใดบ้าง ที่ดูแลเมืองมาอย่างต่อเนื่องและพวกเขาทำด้วยวิธีการใด โดยเครือข่ายความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรภาครัฐ เอกชน หรือบุคคลทั่วไปรวมกว่า 50 แห่ง ร่วมกันเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ใน Gathering Space กิจกรรมในสนามชวนคิด เปิดวงสนทนาเล็ก ๆ แบบเป็นกันเอง แต่เต็มไปด้วยแขกรับเชิญที่น่าสนใจ พร้อมมาแชร์ประสบการณ์ และมุมมองที่มีต่อการออกแบบชุมชน ภายใต้หัวข้อสนทนาที่หลากหลาย

ตัวอย่างหัวข้อสนทนา เช่น “คน ปลุก ย่าน: Neighborhood Rejuvenators” ร่วมถอดบทเรียนความสำเร็จที่ทำให้ย่านต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานคร กลายเป็นจุดสนใจ ดึงจุดเด่นของชุมชนขึ้นมาสร้างอัตลักษณ์ได้ โดยมีผู้ร่วมพูดคุย มากประสบการณ์อย่าง คุณเดือนเพ็ญ จุ้ยประชา จากเพจ  Urban Creatures คุณเกียรติวัฒน์ ศรีจันทร์วันเพ็ญ นายกสมาคมกลุ่ม MADE IN SONGWAT คุณบดินทร์ บำบัดนรภัย จากบ้านและสวน Explorers Club รวมไปถึงกลุ่มบริษัทบริทัศน์บางกอกและกลุ่มคนรุ่นใหม่ขับเคลื่อนย่านธนบุรี 

นอกจากนี้ยังมีหัวข้อสนทนาอื่น ๆ ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เช่น “เมืองปลอดภัย เดินได้ เข็นดี City that cares” “อาหาร สร้างชุมชน เชื่อมคน เปลี่ยนโลก” “Smart Farmer: เกษตรกรยุคใหม่ทันเทคโนโลยี เข้าใจโลก(เดือด)” “Coffee talk Series: เรื่องเล่าจากยอดดอยสู่กาแฟเมือง” รวมไปถึง Workshop จากวิทยากรมากฝีมือ ภายใต้หัวข้อ “เมื่อฉันเป็นนักมานุษยวิทยาบอร์ดเกม เครื่องมือ 7 ชิ้น สำรวจชุมชน” “ตรวจสุขภาพต้นไม้ของเมือง @ ทะเลสาบ สวนเบญฯ” ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมการสนทนาและ เข้าร่วม Worpshop ได้ฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย

ความน่าสนใจของโซน BETTER COMMUNITY ไม่ได้มีแค่วงสนทนาและเวิร์คช็อปข้างต้นเท่านั้น แต่ยังมีส่วนจัดแสดงและไฮไลท์กิจกรรมสร้างสรรค์ กระจายอยู่ตาม 4 โซนนิทรรศการ ดังนี้

เริ่มต้นสำรวจกันที่โซน Learning Society จุดประกายจากแนวคิดเมืองแห่งการเรียนรู้ของ UNESCO ที่มุ่งเน้นการเปิดพื้นที่การเรียนรู้แบบไม่มีสิ้นสุด และสร้างเครือข่ายสังคมเชื่อมต่อกัน จากทุกภาคส่วน เพื่อร่วมแบ่งปันข้อมูลและถ่ายทอดประสบการณ์ไปด้วยกัน เมื่อทุกคนในชุมชนเข้าถึงการเรียนรู้ได้ ท้ายที่สุดก็จะเกิดการสร้างมูลค่าและโอกาสให้กับคนในพื้นที่ได้มี คุณภาพชีวิตที่ดี ควบคู่ไปกับการเติบโตของเมืองอย่างยั่งยืน

โซน Learning Society นำเสนอหน่วยงานหลายภาคส่วน ที่ช่วยกันสร้าง Learning Society ให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย ทั้งองค์กรชั้นนำอย่าง  GISTDA ที่ทำงานด้านการประยุกต์ใช้ข้อมูลดาวเทียมเพื่อการวางแผนทรัพยากร หรือ นวนุรักษ์ แพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับบริหารจัดการข้อมูลวัฒนธรรมและความหลากหลายทางชีวภาพ บันทึกทั้งข้อมูลโบราณวัตถุ ใบลาน จดหมายเหตุ ประเพณีวิถีชีวิต เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีชุมชน 

ส่วนกิจกรรมที่น่าสนใจในโซนนี้ เอาใจคนรักการทำงานศิลปะ เปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมนิทรรศการได้เข้าร่วม “Workshop วาดภาพพืช” โดยชมรมพฤกษศิลปินไทย THBA Society ร่วมกันเรียนรู้หนึ่งในวิธีบันทึกข้อมูลทางพฤกษศาสตร์ นอกจากจะได้รับความเพลิดเพลินแล้ว ยังได้ตระหนักถึงคุณค่าของพืชที่มีมีประโยชน์กับระบบนิเวศ เรียนรู้ที่จะปกป้องแหล่งที่อยู่ของพืช และสร้างฐานความรู้ทางพฤกษศาสตร์ที่จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนต่อไปในอนาคต

ขยับเข้ามาจากมุม Workshop วาดภาพพืช ผู้เข้าชมนิทรรศการจะถูกดึงดูดสายตาด้วยต้นไม้จำลองขนาดใหญ่ ที่อยู่ในโซน Caring City เมืองที่ใส่ใจ นำเสนอแนวคิดเมืองที่ออกแบบเพื่อให้ทุกชีวิตปลอดภัยและทุกคนสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยต้นไม้ขนาดใหญ่นี้สะท้อนการทำงานของ BIG TREES PROJECT องค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ทำงานเรื่องการสำรวจต้นไม้ในเขตเมืองมาอย่างต่อเนื่อง เราได้เรียนรู้วิธีการดูแลต้นไม้ที่ถูกต้อง หรือจะทำกิจกรรมหยิบกล้องส่องหานก กับสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย เพื่อเรียนรู้ชนิดของนกที่อยู่ในเมืองร่วมกับมนุษย์ รวมถึงนกป่าที่กำลังถูกคุกคามในปัจจุบัน 

โซน Caring City ยังมีการจำลองสวนขนาดย่อม อนุญาตให้ผู้ชมนิทรรศการใช้งานสวนเล็ก ๆ นี้ได้จริง ผ่านการย่ำพื้นหิน ดิน ทราย แบบต่าง ๆ เพื่อสัมผัสวัสดุที่นำมาปูพื้นสวนได้ด้วยปลายเท้าของเราเอง เป็นไอเดียเก๋ ๆ จาก We! Park หน่วยงานที่มุ่งเน้นการพัฒนาพื้นที่ธรรมชาติกลางเมืองใหญ่ เช่นการสร้างสวนส่วนรวมในย่านชุมชน ตลอดจนให้ความรู้แก่นักทำสวนของภาครัฐ

อีกหนึ่งโซนที่น่าสนใจและยิ่งใกล้ตัวเราเข้ามาอีก คือโซน Community Shapes  มุ่งเน้นการสร้างสังคมยั่งยืน ผ่านนักลงมือทำที่ใส่ใจชุมชนและสิ่งแวดล้อม กระตุ้นให้เราตระหนักถึงการสร้างเมืองที่เป็นมิตรต่อการใช้ชีวิตสำหรับทุกคน กิจกรรมแรกคือ “เมืองเดินได้ เข็นดี” ภายใต้การทำงานของ ขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ Transportation For All ซึ่งบนผนังสีขาวขนาดใหญ่จะเต็มไปด้วยคำถามวัดความรู้เกี่ยวกับการสัญจรของผู้พิการและผู้ใช้วีลแชร์ เช่น ความลาดชันของทางสาธารณะที่เหมาะสมกับผู้ใช้วีลแชร์ ควรมีความชันอยู่ที่กี่องศา ความกว้างขั้นต่ำของทางสัญจรที่รถวีลแชร์ผ่านได้กว้างเท่าไหร่ และผู้เข้าชมนิทรรศการสามารถนำคำตอบในกล่องมาแปะได้ ถือเป็นการเล่นเกมตอบคำถามไปพร้อมกับการเรียนรู้เกี่ยวกับ การสัญจรของผู้ใช้วีลแชร์

Bangkok Lab City ศูนย์การทดลองเมืองกรุงเทพมหานคร เป็นอีกหนึ่งมุมในโซน Community Shapes ที่ผู้เข้าชมนิทรรศการไม่ควรพลาด เพราะเป็นโครงการที่เปรียบเสมือนห้องทดลองของกรุงเทพมหานคร เพื่อแก้ปัญหาเมืองในด้านต่าง ๆ แม้บางเรื่องจะเป็นปัญหาเล็กน้อยของผู้คนบางกลุ่ม แต่ก็ไม่ถูกมองข้าม เช่น การทดลองเปลี่ยนสีเสื้อวินมอเตอร์ไซค์เป็นโทนเย็น เพื่อให้รู้สึกถึงความปลอดภัยและความเป็นมิตรมากขึ้น ไปจนถึงการออกแบบศาลารอรถเมล์ ให้เป็นมิตรต่อคนพิการและผู้สูงอายุ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีมุมสำรวจความคิดเห็น ต่อประเด็นการสร้างห้องน้ำแบบ All Gender เพื่อนำไปปรับปรุงการสร้างห้องน้ำสาธารณะสำหรับทุกเพศ โดยกลุ่มห้องน้ำสบายใจ การให้ความสำคัญกับแสงยามค่ำคืน ของ ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมการส่องสว่าง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า หรือประเด็นการส่งเสริมการเดินทางเท้า ผ่านโครงการเดินสนุก 15 นาทีด้วยเดต้าเมือง ภายใต้การทำงานของ มิตรเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยศิลปากร

ปิดท้ายกันด้วยโซน  Art-Driven City เมืองที่ขับเคลื่อนด้วยศิลปะและวัฒนธรรม สร้างโอกาสและอาชีพสำหรับคนรุ่นใหม่ ที่จัดบรรยากาศเป็นอาร์ตแกลเลอรี่เล็ก ๆ จัดแสดงภาพศิลปะจากชุมชน ควบคู่ไปกับตัวอย่างโครงการและหน่วยงานที่สนับสนุนเมืองขับเคลื่อนด้วยศิลปะและวัฒนธรรม อาทิ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่  BABF สร้างสรรค์ เทศกาลศิลปะร่วมสมัย โดยจัดขึ้นทุก 2 ปี กระจายตัวแบ่งพื้นที่สาธารณะ  ทั้งวัด อาคารรองรับกิจกรรม พื้นที่อนุรักษ์ ทั่วกรุงเทพมหานคร หรือ การจัดเทศกาลงานออกแบบ Design Week จากหลากหลายหน่วยงาน เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ให้แข็งแรงขึ้น

แนวคิดเมืองที่ขับเคลื่อนด้วยศิลปะ ยังให้ความสำคัญกับรูปแบบสถาปัตยกรรมที่เชื่อมโยงกับการใช้ชีวิตของคนในเมืองด้วย โดยเล่าผ่านโครงการ “ กรุงเทพฯ-เวนิส: เล่าอัตลักษณ์เมืองพี่เมืองน้องผ่านภาพถ่าย” จากความร่วมมือของ Photo Momo และ room ที่สะท้อนให้เห็นถึงความคล้ายและความต่างของวิถีชีวิตผู้คนกับสายน้ำของทั้งสองเมือง สถาปัตยกรรมเก่าแก่ ที่ตั้งอยู่ริมน้ำ เมื่อกรุงเทพมหานครมีวัด วัดพระแก้ว เวนิสก็มี Basillica di San Marco ทั้งสองเมืองจะพัฒนาไปอย่างไร จึงสามารถรองรับการเติบโตของเมือง และรักษามรดกเก่าแก่ของโลกเอาไว้ได้อย่างลงตัว

หากอยากชมนิทรรศการในโซน BETTER COMMUNITY ทั้งหมดอย่างช้า ๆ และใช้เวลาค่อย ๆ ซึมซับประเด็นที่น่าสนใจไปทีละจุด ต้องบอกว่าอาจเหนื่อยจนคอแห้ง โชคดีที่ในโซนนี้ มีมุมคาเฟ่เล็ก ๆ แต่ที่มาที่ไปไม่ธรรมดา เพราะเราจะได้ดื่มกาแฟของ SCHOOL COFFEE คาเฟ่และโรงคั่วเมล็ดกาแฟจากเชียงใหม่ ความพิเศษคือทางร้านให้ความสำคัญกับการพัฒนากาแฟร่วมกับเกษตรกรในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะทางภาคเหนือ ตั้งแต่ขั้นตอนการปลูก การผลิต การพัฒนาสายพันธุ์ และนำเสนอความโดดเด่นเมล็ดกาแฟของแต่ละพื้นที่ ระหว่างที่จิบกาแฟอยู่นั้น ก็สามารถอ่านข้อมูล ทำความรู้จักกับนักพัฒนากาแฟเจ๋ง ๆ ที่มีใจรักกาแฟระดับสายเลือด!

สำหรับใครที่อยากเข้ามาสัมผัสบรรยากาศโซน BETTER COMMUNITY ซึ่งถือเป็นโซนที่มีสีสันและกิจกรรมอัดแน่นมากที่สุด สามารถเข้าชมงานได้ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย ที่งาน SUSTAINABILITY EXPO 2024 : GOOD BALANCE, BETTER WORLD “พอเพียง ยั่งยืน เพื่อโลก” ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (QSNCC) เวลา 10:00 – 20:00 น. ตั้งแต่วันนี้จนถึง 6 ตุลาคม 2567 หรือติดตามรายละเอียดได้ที่ www.sustainabilityexpo.com

เรื่อง

ปิยมาส วงพลาดิสัย


อ่านเพิ่มเติม : Better world ศิลปะสะท้อนความยั่งยืนสู่สมดุลโลก

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.