Smart farmer เกษตรกรยุคใหม่ ทันเทคโนโลยี เข้าใจโลก (เดือด)

ท่ามกลางสภาพอากาศที่แปรปรวน และอุณหภูมิโลกที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภาคการเกษตรของไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ ปรากฏการณ์เอลนีโญที่ทวีความรุนแรงในช่วง 1-3 ปีที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อผลผลิตทางการเกษตรของประเทศ

ในปี 2566 นับได้ว่าเป็นปีที่เกิดภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี อันเนื่องมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญและ Indian Ocean Dipole (ความแปรปรวนของอุณหภูมิผิวน้ำทะเลในมหาสมุทรอินเดีย) ส่งผลให้พืชเศรษฐกิจหลักอย่างข้าว อ้อย และมันสำปะหลังได้รับความเสียหายอย่างหนัก ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่าผลผลิตทางการเกษตรอาจลดลงถึง 2.2% – 6.5% คิดเป็นมูลค่าความเสียหายมหาศาลถึง 53,000 ล้านบาท

เสวนา “Smart farmer เกษตรกรยุคใหม่ ทันเทคโนโลยี เข้าใจโลก (เดือด)” ซึ่งจัดขึ้นที่โซน Better Community ในงาน Sustainability Expo 2024 เชิญวิทยากรจาก GISTDA และฟาร์มลุงรีย์มาพูดคุยร่วมกัน

ไม่เพียงแต่เกษตรกรเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แม้แต่ประชาชนทั่วไปก็สามารถรับรู้ถึงความร้อนที่ผิดปกติได้อย่างชัดเจน อุณหภูมิที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของผู้คน ทั้งการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นเพื่อคลายร้อน ปัญหาสุขภาพที่เกิดจากความร้อน และการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศในพื้นที่เมือง

ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ เทคโนโลยีกำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยเหลือภาคการเกษตรไทย ดร.ศิริกุล หุตะเสวี หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจการเกษตรและภูมิสังคม (GISTDA) เล่าถึงการนำเทคโนโลยีอวกาศมาใช้ในการติดตามและประเมินสถานการณ์ทางการเกษตร

GISTDA ใช้ดาวเทียมในการติดตามทรัพยากรของประเทศ โดยเฉพาะในภาคการเกษตร สามารถติดตามพื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิด ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา และปาล์มน้ำมัน นอกจากนี้ยังติดตามการเจริญเติบโตได้ เพราะมีการถ่ายภาพทุก ๆ 5 วัน ซึ่งจะทำให้รู้ว่าพืชโตไปแค่ไหนแล้ว และสามารถใช้คาดการณ์ผลผลิต และวันเก็บเกี่ยวได้อีกด้วย

ดร.ศิริกุล หุตะเสวี หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจการเกษตรและภูมิสังคม (GISTDA)

ดร.ศิริกุล อธิบายว่า “ดาวเทียมสามารถเก็บข้อมูลที่ตามนุษย์มองไม่เห็น นักวิทยาศาสตร์นำข้อมูลนี้มาวิเคราะห์เพื่อประเมินสุขภาพของพืช โดยใช้ดัชนีที่บ่งบอกความเขียวของพืช ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถนำมาใช้ในการวิเคราะห์การเจริญเติบโตของพืช ความอุดมสมบูรณ์ของดิน และสภาพแวดล้อมอื่นๆ ได้”

ล่าสุด GISTDA ได้พัฒนาแอปพลิเคชัน “Dragonfly” หรือ “แมลงปอ” ที่รวบรวมข้อมูลจากดาวเทียมมาใช้ประโยชน์สำหรับเกษตรกร โดยสามารถให้ข้อมูลแปลงเกษตรที่มีขนาดเล็กสุด 2 ไร่ขึ้นไป แอปพลิเคชันนี้สามารถแนะนำการใส่ปุ๋ย ให้ข้อมูลสภาพอากาศ และแจ้งเตือนภัยน้ำท่วม ช่วยให้เกษตรกรสามารถวางแผนและจัดการพื้นที่เพาะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การนำเทคโนโลยีมาใช้ในภาคเกษตรยังมีความท้าทาย โดยเฉพาะในแง่ของการทำความเข้าใจและการยอมรับจากเกษตรกร ดร.ศิริกุล เล่าว่า “เราต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจกับเกษตรกรว่าเครื่องมือเหล่านี้มีประโยชน์อย่างไร เราใช้วิธีถือกระดาษพรินท์ไปทุกวัน เราไปอาทิตย์เว้นอาทิตย์ แล้วไปดูที่แปลงกันว่าที่แปลงมันเป็นประมาณนี้ไหม ตรงนี้ต้นไม้มันไม่ค่อยสมบูรณ์ต้นเล็ก เราก็ชี้ให้ดูในภาพก่อนแล้วก็บอกว่าที่แปลงมันก็เป็นแบบนั้นใช่ไหม ไปหลายครั้ง เขาถึงได้เชื่อว่า เรามองเห็นจริง ๆ จากข้างนอก แม้ว่าออฟฟิศ หรือตัวเราจะอยู่กรุงเทพฯ ก็ตาม”

ในขณะที่เทคโนโลยีอวกาศกำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญ การผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่นก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม คุณชารีย์ บุญญวินิจ หรือ ‘ลุงรีย์’ ผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรในเมือง (Urban Farming) มองว่าการนำเทคโนโลยีมาใช้ต้องคำนึงถึงบริบทและความเชื่อของชุมชนด้วย

ลุงรีย์อธิบายว่า “เราต้องเข้าใจวิถีชีวิตและความเชื่อของชุมชนก่อน เกษตรกรสนใจข้อมูลเกี่ยวกับสภาพอากาศและภัยธรรมชาติ แต่เราต้องนำเสนอในรูปแบบที่เข้าใจง่ายและสอดคล้องกับวิธีคิดของพวกเขา”

ลุงรีย์เล่าถึงประสบการณ์การไปเยี่ยมชมชุมชนเกษตรกรรมแบบดั้งเดิม “ผมเคยไปหมู่บ้านปกาเกอะญอ ที่บ้านห้วยหินลาดใน ตอนนั้นเขาบอกว่าตรงนี้เผาไม้ทำลายป่า แต่ตอนเข้าไปก็ไม่มีนะ เขียวขจีเลย เขาทำปลูกพืชหมุนเวียน (Rotating Farm) มีการเผาอยู่จริง แต่เพื่อระงับไฟป่า และกระตุ้นคาร์บอนให้เกิดขึ้น แล้วก็มีพื้นที่สีเขียวอยู่ 80% ตลอดเวลา” ประสบการณ์นี้ทำให้ลุงรีย์ตระหนักว่าไม่มีวิธีการทำเกษตรแบบใดที่ดีที่สุด แต่ขึ้นอยู่กับบริบทและสภาพแวดล้อมของแต่ละพื้นที่

คุณชารีย์ บุญญวินิจ หรือ ‘ลุงรีย์’ ผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรในเมือง (Urban Farming) นำเห็ดที่เขาเพาะมาจัดแสดงใน Better Community ด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ ลุงรีย์ยังแบ่งปันเรื่องราวการทำเกษตรแบบยั่งยืนของตนเอง โดยเฉพาะการเลี้ยงไส้เดือนเพื่อจัดการขยะอาหารและสร้างปุ๋ยอินทรีย์ “ผมเลี้ยงไส้เดือน จัดการขยะอาหาร ผมมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน (Purpose) ก็คือโคตรขี้เสียดาย คือจริงๆ ไม่ได้ขยันขนาดนี้ แต่ว่าความงกไม่ยอมให้ขยะอาหารมันกลายเป็นเสียไป” จากจุดเริ่มต้นนี้ ลุงรีย์ได้พัฒนาวิธีการปลูกเห็ดที่ใช้ไส้เดือนในการช่วยรักษาความชื้นและกระจายเชื้อเห็ด ทำให้สามารถลดการใช้แรงงานและทรัพยากรลงได้อย่างมาก

ในแง่ของการใช้เทคโนโลยี ลุงรีย์แนะนำว่าควรมีการ “ซิงโครไนซ์” ข้อมูลจากเทคโนโลยีกับภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อให้เกษตรกรเข้าใจและยอมรับได้ง่ายขึ้น “ถ้าเป็นผมจะไปหาพ่อหมอที่น่าเชื่อถือที่สุดในหมู่บ้าน แล้วก็ซิงโครไนซ์ข้อมูลชุดนี้จากดาวเทียมไปรวมกับข้อมูลพ่อหมอที่ชอบดูดาวดูทำนาย ทำนายเดือนอะไรต่างๆ คนชอบช่วยแบบนั้น จริงๆ เขาอยากฟังแบบนี้ เขาไม่ได้อยากฟังค่าทศนิยมศูนย์”

“ถ้าคุณจะเป็นเกษตรกร ผมทํามาแล้ว 10 ปีคุณจะไปปลูกผักพรุ่งนี้เลย เราเท่ากัน” ลุงรีย์ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างการเป็นเกษตรกรในประเทศไทยกับต่างประเทศ โดยเปรียบเทียบกับอาชีพอื่น เช่น นักบิน ที่ต้องผ่านการฝึกอบรมและมีใบอนุญาต ในขณะที่การเป็นเกษตรกรในไทยไม่มีข้อจำกัดในการเริ่มต้น ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย

ดร.ศิริกุลเสริมว่าในบางประเทศ เช่น สวิตเซอร์แลนด์ การเป็นเกษตรกรต้องผ่านการสอบและได้รับใบอนุญาต โดยเฉพาะหากต้องการรับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล ลุงรีย์เล่าเพิ่มเติมถึงประสบการณ์ในอังกฤษ ที่มีระบบการจ่ายเงินสนับสนุนให้เกษตรกรเพื่อรักษาพื้นที่สีเขียวอีกด้วย

แม้ว่าระบบของไทยจะเปิดกว้างกว่า แต่ทั้งสองท่านเห็นพ้องกันว่า เกษตรกรควรมีความรู้พื้นฐานที่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปุ๋ย การจัดการน้ำ หรือเทคนิคการเพาะปลูกต่างๆ ลุงรีย์ย้ำว่า “เทคโนโลยีช่วยได้ 80% ที่เหลือต้องดูบริบทแวดล้อม ชุมชน และภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วย” ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการผสมผสานความรู้สมัยใหม่กับภูมิปัญญาดั้งเดิมในการทำเกษตรยุคปัจจุบัน

นอกจากนี้ ลุงรีย์ยังเน้นถึงความสำคัญของการเข้าใจตลาดและการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิต เล่าถึงประสบการณ์การปลูกเห็ดของตน “ผมเพาะเห็ดบิวตี้คลีนมัชรูมได้ตั้งแต่ 7 ปีที่แล้ว คนชอบมากเลย ชอบถ่ายรูป แต่ไม่กิน กลัวตาย ผมใช้เวลาอีก 3 ปี มาบอกว่าหัวเห็ดหน้าตา รสชาติเหมือนไก่ ก้านเห็ดมีผิวลอกมาเหมือนปลา ตัวเห็ดเหมือนปลาหมึก” การเข้าใจผลิตภัณฑ์ของตนเองอย่างลึกซึ้งทำให้ลุงรีย์สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและตลาดเฉพาะสำหรับผลิตภัณฑ์ของตนได้

ทั้งลุงรีย์ และดร.ศิริกุล เห็นพ้องกันว่า การใช้เทคโนโลยีอย่างชาญฉลาดสามารถช่วยลดความเสี่ยง และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำเกษตรได้ ตั้งแต่การเลือกพื้นที่เพาะปลูก การจัดการน้ำ การวางแผนการลงทุน ไปจนถึงการวางแผนผลผลิตให้ตรงกับความต้องการของตลาด ดร.ศิริกุล ยกตัวอย่างการใช้ข้อมูลจากดาวเทียมในการติดตามสถานการณ์น้ำท่วม ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการทำประกันภัยพืชผลและวางแผนการเพาะปลูกได้

นอกจากนี้ GISTDA ยังมีแผนพัฒนาเครื่องมือใหม่ๆ เพื่อสร้างความยั่งยืนในภาคเกษตร เช่น ระบบคะแนนเครดิตสำหรับเกษตรกร ที่อาจเชื่อมโยงกับสถาบันการเงินในอนาคต และมาตรการจูงใจให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนวิธีการทำเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น การลดการเผาในพื้นที่เกษตร

ลุงรีย์เน้นย้ำเพิ่มเติมถึงความสำคัญของการสร้างความสมดุลระหว่างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมว่า “เรื่องผลประโยชน์เป็นเรื่องที่ชัดเจนมาก เรื่องคนเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจ เงินในกระเป๋าเรา สอดคล้องกับเรื่องคน แล้วก็สอดคล้องกับเรื่องสิ่งแวดล้อม 3 ขานี้ ผมย้ำอยู่เสมอว่า มันจะทำให้เกิดความยั่งยืนที่ทำได้นาน”

ท้ายที่สุด ลุงรีย์ทิ้งท้ายด้วยแนวคิดเรื่องการเรียนรู้และการปรับตัว โดยเฉพาะในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว “รู้ให้หมดสำคัญไหม แล้วลืมให้หมด รู้ให้หมดทุกเทคโนโลยี ผมก็อยากรู้ แต่ผมศึกษาให้เสร็จ ผมลืมให้หมดเลย แล้วต้องมาดูสิว่า ใครจะเป็นคนควรพูดเรื่องเทคโนโลยีให้มันไพเราะในอีกแบบ ถ้าเราไม่ติดตำรา เราจะเป็นนักปรับตัว หรือว่าเป็นปลาเปลี่ยนที่รอดในทุกยุคสมัย”

แนวคิดนี้สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบันที่เกษตรกรต้องเผชิญกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการแข่งขันในตลาด การเป็น ‘นักปรับตัว’ จึงเป็นทักษะสำคัญที่จะช่วยให้เกษตรกรสามารถนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสมกับบริบทของตนเอง ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความยั่งยืนให้กับภาคเกษตรไทยในระยะยาว

เรื่อง วิภาภรณ์ สุภาพันธ์

ภาพถ่าย อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม


อ่านเพิ่มเติม เติมแรงบันดาลใจ จุดประกายให้ชุมชนน่าอยู่ในโซน BETTER COMMUNITY 

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.