ขณะหมอบอยู่บนพื้นโคลนในคูหาถํ้าขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศจีน เราไม่ได้ยินเสียงอะไรนอกจากเสียงลมหายใจของตัวเองและเสียงนํ้าหยดติ๋ง ๆ อยู่ไกล ๆ เรามองไม่เห็นอะไรนอกจากความว่างเปล่า แต่เมื่อเปิดจอแล็ปท็อปคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกับเครื่องสแกนเลเซอร์ ถํ้าหงเหมย์กุยก็เผยตัวออกมา เราล่องลอยขึ้นสู่เพดานถํ้าซึ่งก่อตัวเหมือนซุ้มโค้งของมหาวิหารสูง 290 เมตรเหนือพื้นโคลนแตกระแหงที่หมอบคุดคู้กันอยู่เพื่อหลบลำแสงของเครื่องสแกน เราโผบินอยู่เหนือทะเลสาบ ก่อนจะลงจอดบนชายหาดอีกฝั่งที่อยู่ไกลออกไป
ภาพดิจิทัลของถํ้าเหมือนจริงยิ่งกว่าของจริงเสียอีก ถํ้าจริง ๆ นั้นมืดอย่างที่สุด ในคูหาใหญ่ห้องหนึ่ง แม้แต่ไฟฉายคาดศีรษะแอลอีดีรุ่นใหม่ยังส่องไปข้างหน้าหรือข้างบนได้แค่ราว 50 เมตร ไม่มากกว่านั้นแน่ หมอกหรือความว่างเปล่ากลืนกินแม้แต่ลำแสงเจิดจ้าที่สุด เป็นเรื่องธรรมดาที่เราย่อมอยากเห็นมากกว่านั้น
ความอยากเห็นอะไรมากกว่านั้นนี่เองที่ดึงดูดให้แอนดี อีวิส มายังภาคใต้ของจีนเมื่อกว่า 30 ปีก่อน ในประเทศที่ยังถือว่าค่อนข้างปิดแห่งนี้ คือแหล่งรวมของภูมิประเทศแปลกตาราวกับหลุดมาจากโลกอื่นซึ่งเรียกกันว่า คาสต์ (karst) ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก อันประกอบไปด้วยหลุมยุบ เสาหิน ป่าหินที่มียอดแหลม และห้วยมุด [ธารนํ้าที่มุดหายไปใต้ดินทางหลุมยุบ แล้วออกจากพื้นดินเกิดเป็นธารนํ้าขึ้นใหม่] ซึ่งก่อตัวขึ้นมานานหลายศตวรรษ เมื่อนํ้าฝนละลายชั้นหินดานซึ่งมักเป็นหินปูน และสิ่งที่ซุกซ่อนอยู่ภายในและภายใต้
ภูมิทัศน์ภูเขาอันเขียวชอุ่มที่มักปรากฏในภาพวาดดั้งเดิมของจีน คือเถื่อนถํ้าที่ยังไม่เคยมีการสำรวจหรือบันทึกมาก่อน กระจุกตัวกันอยู่อย่างหนาแน่นที่สุดในโลก
นั่นยังเป็นเหตุผลเดียวกับที่ทำให้อีวิสกลับมาประเทศจีนอีกครั้ง คราวนี้เขาแบกถุงกันนํ้าใบเก่าสมบุกสมบันใส่อุปกรณ์สำรวจถํ้า ได้แก่ แล็ปท็อปคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่ แบตเตอรี่ และเครื่องสแกนเลเซอร์สามมิติ เทคโนโลยีสามารถจับภาพสิ่งที่ตามนุษย์ไม่อาจมองเห็นได้ภายในถํ้าแผนการของเขาคือใช้เวลาหนึ่งเดือนในคูหาถํ้าขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอย่างน้อยสามแห่ง เปิดเครื่องสแกน แล้ววัดขนาดถํ้าเหล่านี้อย่างแม่นยำเป็นครั้งแรก
อีวิสเป็นชายชาวอังกฤษผมหงอกขาวในวัยปลาย 60 เขามักได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นผู้ค้นพบเส้นทางหรือดินแดน คิดเป็นระยะทางยาวไกลกว่าใคร ๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่ การสำรวจที่เขาเป็นผู้นำสามารถบันทึกทางเดินใหม่ ๆ ในถํ้าได้ถึง 530 กิโลเมตร และยังไม่หยุดอยู่แค่นั้น
อีวิสซึ่งปัจจุบันเป็นประธานสมาคมสำรวจถํ้าแห่งอังกฤษ มาประเทศจีนครั้งแรกเมื่อปี 1982 การไปเยือนเมืองหลวงของภูมิประเทศแบบคาสต์ ได้แก่ เมืองกุ้ยหลินทางภาคตะวันออกเฉียงใต้อันชุ่มชื้นของประเทศ เป็นการหยุดพักช่วงสั้น ๆ ระหว่างทางกลับบ้านหลังการสำรวจในประเทศอินโดนีเซีย ในเวลานั้น เมืองที่โอบล้อมไปด้วยยอดเขาแห่งนี้และเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงที่อยู่รอบ ๆ ช่างแตกต่างจากในปัจจุบัน นั่นคือ มีจักรยานมากมาย แต่หารถยนต์ได้น้อยมาก ชาวไร่ชาวนาใส่ชุดทำงานสีนํ้าเงิน และคนของรัฐบาลคอยตามประกบชาวต่างชาติ อีวิสกับคู่หูของเขาทิ้งโปรแกรมท่องเที่ยวส่วนใหญ่เพื่อไปพบกับเจ้าหน้าที่ที่สถาบันธรณีวิทยาคาสต์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่นำพานักสำรวจถํ้าชาวอังกฤษและชาวจีนหลายต่อหลายคนไปสู่โลกหินปูนใต้พิภพตลอดสามทศวรรษต่อมา
ครั้งนี้อีวิสมากุ้ยหลินพร้อมกับทีมนักสำรวจถํ้านานาชาติ 10 ชีวิต พอมาถึงเราก็พบกับเสียงอึกทึกของรถแท็กซี่และรถจักรยานยนต์ในเมืองที่ขยายตัวจนมีประชากรถึงราวหนึ่งล้านคน ประเทศจีนโฉมใหม่ซึ่งมีทางด่วนหลายสายศูนย์การค้าหรูหรา และยอดเขาน้อยใหญ่ที่กลายเป็นเหมืองหินเพื่อตอบสนองการก่อสร้างที่เฟื่องฟู ทั้งหมดล้วนช่างน่าพิศวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับสมาชิกสองคนในทีมคือ ริชาร์ด วอลเตอร์ส และปีเตอร์ สมาร์ต ผู้เคยมากุ้ยหลินกับอีวิสระหว่างปี 1985 ถึง 1986 ในการสำรวจครั้งแรกจากกว่า 20 ครั้งของการบุกเบิกโครงการสำรวจถํ้าในประเทศจีน (China Caves Project)
ทั้งคู่ยังไม่เคยกลับมาอีกเลยจนกระทั่งครั้งนี้วอลเตอร์ส นักธุรกิจโทรคมนาคม จะช่วยควบคุมเครื่องสแกนร่วมกับดานีเอลา ปานี นักธรณีศาสตร์ ซึ่งที่ผ่านมามีส่วนร่วมในการค้นพบซากเรืออับปางสมัยสงครามโลกครั้งที่สองในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และช่วยฝึกนักบินอวกาศในถํ้าบนเกาะซาร์ดิเนียซึ่งเป็นบ้านเกิดของเธอ ส่วนสมาร์ตเป็นนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญที่เชี่ยวชาญเรื่องคาสต์และเกษียณอายุจากมหาวิทยาลัยบริสตอลเมื่อปี 2009 เขาตื่นเต้นไปกับนวัตกรรมอย่างเครื่องสแกนเลเซอร์ ขณะเดินทางจากกุ้ยหลินไปทางตะวันตกสู่กลุ่มคูหาถํ้าขนาดใหญ่ เราพบว่าคำบรรยายภูมิประเทศของสมาร์ตยังคงใช้ได้อย่างเหมาะเจาะ แม้ว่าประเทศจีนสมัยใหม่จะเปลี่ยนแปลงไปมากเพียงใดก็ตาม เขาบอกว่า “มองจากด้านบนแล้วดูเหมือนแผงไข่ยังไงยังงั้นเลยครับ”
เมื่อพิจารณาจากพื้นที่ ถํ้าหงเหมย์กุย ซึ่งเป็นคูหาถํ้าแห่งแรกที่เราวางแผนจะสแกน น่าจะมีขนาดพอ ๆกับสนามฟุตบอลแปดสนาม ถํ้านี้อยู่ในอันดับที่แปดของรายชื่อคูหาถํ้าขนาดใหญ่ที่สุดของโลกประจำปี 2012 ตามหลังคู่แข่งในมาเลเซีย สเปน โอมาน เบลีซ และที่อื่น ๆ ในประเทศจีน แต่จะอยู่ในอันดับใดถ้าวัดจากปริมาตร นี่เป็นคำถามที่เราหวังจะได้คำตอบจากการใช้เครื่องสแกนสามมิติ ฐานปฏิบัติการของเราในช่วงแรกของการสำรวจนี้ไม่ใช่แคมป์ ใต้ดิน แต่เป็นโรงแรมเก่าแก่ขนาดใหญ่ ในอำเภอเล่อเย่ซึ่งมีประชากร 5,000 คนตอนที่โครงการสำรวจถํ้าในประเทศจีนมาเยือนครั้งแรก ปัจจุบันเมืองนี้มีประชากรมากกว่าเดิมหลายเท่า และมีนักท่องเที่ยวปีละกว่า 160,000 คนมาเยี่ยมชมต้าฉือเหวย์เทียนเคิง หลุมยุบกว้าง 610 เมตร ลึก 610 เมตร ซึ่งนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันธรณีวิทยาคาสต์รู้จักเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1998 และโครงการสำรวจถํ้าในประเทศจีนได้ทำการสำรวจในอีกสองปีต่อมา ภาพถ่ายของอีวิสภาพหนึ่งยังจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น
การเดินทางไปยังถํ้าหงเหมย์กุยในแต่ละวัน เราต้องขับรถไปยังลานจอดรถที่อยู่ไม่ไกลจากเมือง เพื่อเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดป้องกัน สวมสายรัด หมวกนิรภัย และไฟฉายคาดศีรษะ จากนั้นเดินต่ออีกหนึ่งหรือสองนาทีเข้าสู่ที่โล่งบนไหล่เขาที่ปกคลุมด้วยผืนป่า เมื่อเดินผ่านแทงก์นํ้าคอนกรีตที่ชาวบ้านใช้รองนํ้าซึ่งหยดลงมาจากหลังคาถํ้าที่ยื่นออกมา ถํ้าก็เริ่มเย็น สูงชัน และมืดลงอย่างรวดเร็ว ในไม่ช้าเราก็เหมือนหลุดมาอยู่ในอีกโลกหนึ่ง
การโรยตัวลงมาด้วยเชือกสองช่วงสั้น ๆ น่าจะอยู่ที่ 5 เมตรและ 15 เมตร ได้รับการจัดเตรียมโดยนักไต่ถํ้าฝีมือดีที่สุดสองคนในทีม ได้แก่ ทิม แอลเลน และมาร์ก ริชาร์ดสัน นอกเหนือจากนั้นแล้ว เราต้องเดินเท้า การไต่ลงช่วงแรกของผมกินเวลาเกือบหนึ่งชั่วโมง ผมตามเจน แอลเลน ภรรยาของทิม ผู้เป็นนักไต่ถํ้ามากประสบการณ์อีกคนหนึ่ง ลงไปตามบันไดของสระนํ้าที่สะท้อนแสงจากไฟฉายคาดศีรษะ เข้าสู่ทางเดินลักษณะคล้ายท่อซึ่งพื้นผิวดูเหมือนกับแม่นํ้าโคลน และบางครั้งก็ดูเหมือนจะเป็นอย่างนั้นจริง ๆ เสียด้วย
ความรู้สึกเมื่อเข้าสู่คูหาถํ้าหงเหมย์กุยมีทั้งงุนงงและคุ้นเคย ผมเห็นถึงความใหญ่โตมโหฬารได้ ไม่ยาก เพราะมองเห็นอะไรได้ไม่มากนัก แสงไฟฉายของผมไม่อาจสะท้อนจากเพดานหรือผนังถํ้าอีกต่อไป อนุภาคฝุ่นละอองล่องลอยอยู่ในอากาศ แม้แต่ลมก็ไม่อาจพัดมาถึงบริเวณนี้ ก้อนหินมนใหญ่ขนาดพอ ๆ กับรถบรรทุกหล่นลงมาอยู่บนพื้นจากที่ไหนสักแห่งที่อยู่สูงขึ้นไปมาก แรงกระแทกส่งให้พื้นโคลนกระจายออกเป็นแอ่งรูปวงแหวน ทีมงานตั้งชื่อหินก้อนนี้ว่า ”อุกกาบาต„ ตรงไหนสักแห่งไกลออกไปอีกด้านหนึ่งของคูหา ส่วนจะไกลแค่ไหนยากที่จะรู้แน่ชัด มีลำแสงวูบวาบจากไฟฉายคาดศีรษะของใครบางคน เมื่อผมเริ่มปีนขึ้นไปตามทางลาดเอียงที่เต็มไปด้วยเศษหิน ประสบการณ์นี้ก็ดูเหมือนจะคุ้นเคยขึ้นมา ทางลาดเอียงนี้กว้างใหญ่มาก ผมปีนขึ้นไปได้อย่างช้า ๆ ภูมิประเทศช่างยากลำบากจนรู้สึกราวกับกำลังปีนเขาอยู่ในคํ่าคืนไร้ดาว
ด้วยรูปร่างที่ไม่ธรรมดาของถํ้า จึงยากที่จะชี้ชัดลงไปได้ว่า แต่ละคูหาสิ้นสุดตรงไหน จะลากเส้นกั้นแบ่งตรงจุดใด อะไรเป็นตัวกำหนดว่านี่คือคูหาถํ้า และนั่นเป็นแค่ทางเดิน คำถามเกี่ยวกับการให้คำจำกัดความนี้จะเป็นที่ถกเถียงในหมู่สมาชิกทีมสำรวจต่อไป เพราะหนึ่งในเป้าหมายสุดท้ายของการสแกนสามมิติ คือการจัดอันดับคูหาถํ้าขนาดใหญ่ที่สุดของโลกตามปริมาตรนั้น จะเป็นไปไม่ได้เลยหากนักสำรวจถํ้าตกลงกันไม่ได้เรื่องคำจำกัดความ
คูหาถํ้าขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เรารู้จัก คือถํ้าซาราวักในประเทศมาเลเซีย ซึ่งอีวิสกับนักไต่ถํ้าอีกสองคนค้นพบเมื่อปี 1980 และช่วยสแกนถํ้าแห่งนั้นเมื่อปี 2011 ปริมาตร โดยประมาณที่ได้คือ 9.57 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อผมตามทีมสแกนทัน พวกเขาอยู่ตรงบริเวณโคลนแห้ง ๆ ใกล้กับ “อุกกาบาต” ไม่ไกลจากริมทะเลสาบและผนังหินปูนสูงชันที่นำไปสู่เพดานถํ้าซึ่งซ่อนตัวอยู่ จุดนี้คือหนึ่งใน 17 สถานีสแกนในถํ้าหงเหมย์กุย เครื่องสแกนจะส่งสัญญาณเลเซอร์ออกมาเป็นชุด ๆ แล้ววัดระยะทางโดยคำนวณว่าสัญญาณใช้เวลานานเท่าใดจึงจะสะท้อนกลับมา ระยะทางสามารถกำหนดได้ง่าย ๆ โดยยึดหลักความเร็วแสง เครื่องสแกนรุ่นที่เราใช้คือ รีเกิล วีแซด-400 (Riegl VZ-400) เป็นรูปทรงกระบอกโลหะขนาดประมาณศีรษะมนุษย์หนัก 9.5 กิโลกรัม ยังไม่รวมแบตเตอรี่หนักสี่กิโลกรัมสองก้อน ขาตั้ง แล็ปท็อปคอมพิวเตอร์ และสายไฟ เมื่อเดินเครื่อง มันจะตั้งอยู่ในระดับสายตา หมุนได้รอบ 360 องศา และวัดระยะทุกสิ่งทุกอย่างในรัศมี 610 เมตรด้วยความเร็ว 122,000 ครั้งต่อวินาที
ในการตั้งสถานีสแกน วอลเตอร์สใช้เครื่องมือวัดระดับขนาดพกพาเพื่อให้แน่ใจว่าขาตั้งเครื่องวางได้ในแนวระนาบกับพื้นถํ้า กำหนดตำแหน่งเครื่องสแกนด้วยเข็มทิศ แล้วหยิบแล็ปท็อปคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ส่งให้ปานี อีวิสยืนอยู่ใกล้ ๆ พวกเขาต่อสายอีเทอร์เน็ตสีฟ้าอมเขียวเข้ากับแล็ปท็อปคอมพิวเตอร์ กดปุ่มเปิดเครื่องสแกนเลเซอร์ ทันใดนั้นมันก็มีชีวิตขึ้นมา ส่วนหัวของเครื่องหมุนไปรอบ ๆ อย่างเงียบ ๆ ขณะที่ทั้งทีมดูเหมือนพร้อมใจกันกลั้นหายใจ
สามนาทีต่อมา ผลก็ปรากฏบนแล็ปท็อปคอมพิวเตอร์ของปานี แผนภาพดิจิทัลเป็นสีขาวดำและมีความคมชัดตํ่า แต่ก็ช่างน่าทึ่ง ณ ที่นั้น ขณะที่เรานั่งคุดคู้อยู่บนพื้นโคลนท่ามกลางความมืด จ้องมองไปยังจอภาพสว่างจ้า ปานีก็พาเราบินเข้าสู่ถํ้าเสมือนจริง และในที่สุดผมก็มองเห็นว่าตัวเองอยู่ตรงไหน เป็นประสบการณ์ที่เหมือนถอดจิตออกจากร่างเลยทีเดียว
ขณะการสำรวจดำเนินต่อไปในคูหาถํ้าขนาดใหญ่อีกสองแห่ง ได้แก่ ถํ้าเหมียวและถํ้าที่ถาน เราก็ตระหนักว่าถํ้าหงเหมย์กุยเป็นถํ้าที่แปลกด้วยเหตุผลอื่นนอกเหนือจากขนาดของมัน ในการสำรวจครั้งแรกโดยนักไต่ถํ้าชาวต่างชาติเมื่อปี 2001 ถํ้าดังกล่าวไม่มีรอยเท้ามนุษย์เหยียบยํ่าเลยจนกระทั่งพวกเขาไปถึง บางทีอาจเป็นเพราะหน้าผาสองแห่งตรงปากถํ้านั่นเองที่ทำให้ชาวบ้านถอดใจ
ก่อนหน้านี้ระหว่างทางไปยังถํ้าหงเหมย์กุย เราแวะที่อำเภอเฟิ่งชานซึ่งอยู่ห่างจากเมืองกุ้ยหลินไปทางตะวันตกราวแปดชั่วโมงทางรถยนต์ และเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานธรณีเล่อเย่เฟิ่งชานขนาด 930 ตารางกิโลเมตรที่เพิ่งจัดตั้งขึ้น ที่นี่มีถํ้าขนาดใหญ่ชื่อชวานหลงเหยียนซึ่งทางเทศบาลใช้เป็นพื้นที่สาธารณะ ภายในมีถนนกว้างสองเลน พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง และสนามกีฬา
ชอง โบตัซซี นักสำรวจถํ้าชาวฝรั่งเศส, อีวิส และสมาร์ต แสดงผลการสแกนคร่าว ๆ ของถํ้าในท้องถิ่นให้เจ้าหน้าที่ระดับภูมิภาคคนหนึ่งในเฟิ่งชานดู เขานึกสงสัยขึ้นมาทันทีว่า พวกเขาจะบอกได้หรือไม่ว่ามีพื้นที่ส่วนใดของถํ้าที่ไม่มั่นคง อีวิสซึ่งประสบความสำเร็จในการเป็นนักสำรวจถํ้าส่วนหนึ่งมาจากการที่เขารู้จักเจรจาต่อรองกับทางราชการ จับนํ้าเสียงที่สื่อถึงความต้องการใช้ประโยชน์ของเจ้าหน้าที่ผู้นั้นได้ “ครับ แน่นอนครับ” เขาตอบ ขณะที่สมาร์ตเสริมว่า “คุณสามารถกั้นเชือกในบริเวณที่อันตรายได้เลยครับ นักท่องเที่ยวจะได้เดินอยู่บนเส้นทางที่ปลอดภัย” ความเฟื่องฟูของกิจกรรมท่องเที่ยวในภูมิภาคคาสต์เป็นเรื่องที่มีความสำคัญลำดับต้น ๆ ของผู้คนและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น โดยได้แรงกระตุ้นจากการเติบโตของชนชั้นกลางชาวจีนและความถวิลหาภูมิทัศน์อันเป็นเอกลักษณ์เก่าแก่
ในอำเภอเฟิ่งชาน เราเห็นหลายครอบครัวสวมเสื้อชูชีพสีส้ม นั่งอยู่ในเรือที่มีคนถ่อล่องไปตามแม่นํ้าสีเขียวแกมนํ้าเงิน คนถ่อเรือส่งเสียงตะโกนโหวกเหวกขณะผ่านหินย้อยในถํ้าเพดานตํ่า อุทยานแห่งชาติจื่อหยุนเก๋อทูเหอชวานต้งที่อยู่ห่างออกไปทางเหนือสิบชั่วโมงทางรถยนต์ กลายเป็นแหล่งดึงดูดนักปีนเขาไปแล้ว เมื่อเราเดินทางจากอำเภอเล่อเย่และถํ้าหงเหมย์กุยไปถึงที่นั่น คนงานกำลังขุดเจาะทางเดินเท้าสำหรับนักท่องเที่ยวเข้าไปในผนังสูงของถํ้าเยี่ยนจื่อ ซึ่งได้ชื่อตามนกนางแอ่นที่มาทำรังอยู่บนผนังถํ้า ทางเดินนำไปสู่ลิฟต์ตัวใหม่ ในเก๋อทู เราสแกนสิ่งที่เชื่อกันว่าเป็นคูหาถํ้าขนาดใหญ่อันดับสองของโลกโดยวัดจากพื้นที่ นั่นคือถํ้าเหมียวซึ่งมีขนาดใหญ่เท่ากับสนามฟุตบอล 19 สนาม
ก่อนจะขับรถจากเก๋อทูลงใต้ไปยังถํ้าที่ถานอันเป็นจุดหมายสุดท้ายในการสแกนของเรา ไมเคิล วอร์เนอร์ สมาชิกชาวอเมริกันในทีมสำรวจ พยายามทำความเข้าใจสิ่งที่เรากำลังทำกันอยู่ที่นี่ เขาตั้งข้อสังเกตว่า ถํ้าทุกแห่งที่เราไปเคยมีคนไปเยือนมาก่อนแล้ว ดังนั้นนี่จึงไม่ใช่การค้นพบ “การสำรวจเป็นเพียงการบันทึกบางสิ่งบางอย่างเป็นครั้งแรก” วอร์เนอร์ตัดสิน “และการสแกนเลเซอร์ก็เป็นวิธีดีที่สุดเท่าที่เรามีเพื่อบันทึกรายละเอียดของถํ้า”
หากจะมีถํ้าในอุดมคติสักถํ้าสำหรับศาสตร์แขนงใหม่ในการสแกนเลเซอร์พื้นที่ใต้พิภพ ก็คงเป็นถํ้าที่ถานนี้เอง ตรงใจกลางของคูหาถํ้าขนาดมหึมา มีทางลาดเอียงปกคลุมไปด้วยเศษหินและเต็มไปด้วยแอ่งนํ้าที่ค่อย ๆ ไต่ระดับขึ้นไปยังหินงอกแฝดสูง 15 เมตรที่ตั้งอยู่บนยอดสูงสุดของภูเขาใต้ดิน
เมื่อวางเครื่องสแกนลงบนยอดของหินงอกต้นใหญ่ทางด้านขวา คุณจะมองเห็นถํ้าที่ถานซึ่งมีพื้นที่ราว 50,000 ตารางเมตรหรือมากกว่า 30 ไร่ ใหญ่กว่าถํ้าหงเหมย์กุยเล็กน้อย ได้เกือบทั้งหมดในการหมุน 360 องศาเพียงรอบเดียว เหนือยอดของหินงอกนี้ขึ้นไปยังมีหินงอกอื่น ๆ อีก บางแห่งก่อตัวในลักษณะแปลกประหลาดเหมือนหัวจระเข้มีฟัน แล้วยังมีทะเลสาบใต้ดินซึ่งแห้งผากกลายเป็นพื้นโคลนแตกระแหงขณะที่เราอยู่ที่นั่น
เมื่อเราทั้งหมดกลับขึ้นมาสู่โลกเบื้องบนในสภาพเนื้อตัวมอมแมมและอ่อนล้าเต็มที เราคิดว่าการสำรวจเสร็จสิ้นลงแล้ว แต่อีวิสมีเรื่องให้เราประหลาดใจในวันก่อนนั่งเครื่องบินกลับบ้าน นั่นคือการล่องเรือผ่านภูมิประเทศแบบคาสต์ไปตามแม่นํ้าหลี โดยจะแวะพักที่ถํ้าซึ่งทีมของเขาเป็นผู้เข้าไปสำรวจเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1985 เขาเองเคยล่องเรือไปตามลำนํ้าสายนี้ในปี 1982 ตอนนั้นมีเรือล่องแม่นํ้าเพียงไม่กี่สิบลำ ทุกวันนี้อาจมีถึงวันละสองสามร้อยลำ แต่ละลำบรรทุกนักท่องเที่ยวร่วมร้อยคน และคนหลายพันก็ออกันอยู่ในถํ้ามงกุฎ
แม่นํ้าหลียังคงงดงาม แต่หลังจากไปเยือนถํ้าที่ถานมาแล้ว ถํ้ามงกุฎกลับกลายเป็นสิ่งที่น่ากระอักกระอ่วนใจ เราถูกต้อนเข้าไปสู่ทางเข้าเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 20 คน แต่ละกลุ่มเดินตามมัคคุเทศก์ที่ถือไมโครโฟนกับลำโพงพกพาพลางตะโกนเสียงดังเพื่อให้กลบเสียงมัคคุเทศก์คนอื่นหินงอกและแอ่งนํ้าภายในถํ้าประดับประดาด้วยไฟสีเขียว แดง และม่วง ในถํ้ามีทางเดินและราวจับ ในบางคูหามีแผงขายของที่ระลึกราคาถูก ทางเดินถํ้าช่วงหนึ่งติดตั้งลิฟต์แก้ว มัคคุเทศก์เร่งให้เราไปต่อแถวรอรถไฟใต้ดินซึ่งจะพาเราไปยังแถวเพื่อรอลงเรือที่จะล่องไปตามทางเหมือนรถไฟเหาะใต้ดินและข้ามสะพานเหนือแม่นํ้าใต้ดิน
อีวิสเดินตามหลังคนอื่น ๆ ในกลุ่ม และถ่ายภาพทุกสิ่งทุกอย่างไว้ ครั้งหนึ่งเขาเคยอยู่ตามลำพังในถํ้ามงกุฎเพื่อทำแผนที่และสำรวจทางเดินที่ซุกซ่อนอยู่ “นี่มันน่าสับสนไหมครับ” ผมถามอีวิส “ไม่หรอก” เขาตอบ เวลานี้นักท่องเที่ยวพากันหยิบกล้องของตัวเองออกมา ถ่ายภาพทุกซอกทุกมุมของถํ้ามงกุฎที่มองเห็นอยู่ในแสงเทียม จะว่าไปก็เป็นการสำรวจแบบหนึ่งเช่นกัน สำหรับอีวิส คงไม่มีอะไรเป็นธรรมดาของโลกมากไปกว่านี้อีกแล้ว
เรื่อง แมกเคนซี ฟังก์
ภาพถ่าย คาร์สเทน ปีเตอร์
อ่านเพิ่มเติม