“พอเลยอุ้งตีนสุนัขไปแล้ว ระวังไดโนเสาร์ด้วยนะ” เสียงหนึ่งดังขึ้นมาในความมืด ผมจำสำเนียงห้วนๆแบบทหารอังกฤษของโจนาทาน ซิมส์ได้ แต่ไม่รู้ว่าเขาพูดถึงอะไรอยู่ แสงไฟฉายบนหมวกผมสาดไปเจอเขานั่งอยู่เพียงลำพังในความมืดข้างผนังถ้ำ “ไปต่อเลยพวก” ซิมส์ร้องบอก “ขอนั่งพักเท้าก่อน” เราสองคนไต่เชือกข้ามแม่น้ำราวเทือง แม่น้ำใต้ดินที่ส่งเสียงกึกก้องกัมปนาท และไต่หินปูนที่คมราวใบมีดสูงหกเมตรขึ้นไปยังตลิ่งทราย ผมไปต่อเพียงลำพังโดยเดินตามลำแสงจากไฟฉายคาดศีรษะไปตามรอยเท้าที่มีอายุหนึ่งปีของถ้ำหลวงในเวียดนาม
ย้อนหลังไปเมื่อฤดูใบไม้ผลิปี 2009 ซิมส์เป็นหนึ่งในสมาชิกของคณะสำรวจชุดแรกที่เข้าไปยังถ้ำฮังซึนดึง หรือ “ถ้ำภูเขาแม่น้ำ” ในพื้นที่อันห่างไกลของเวียดนามตอนกลางถ้ำที่เร้นกายอยู่ในอุทยานแห่งชาติฟองญาแกบังอันขรุขระ ใกล้พรมแดนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวแห่งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายถ้ำ 150 แห่งหรือราวๆนั้นในทิวเขาอันนัม ในจำนวนนี้มีหลายแห่งยังไม่ได้รับการสำรวจ
ระหว่างการเดินทางสำรวจครั้งแรกนั้น ทีมงานสามารถเดินสำรวจถ้ำฮังซึนดึงได้สี่กิโลเมตร ก่อนที่กำแพงแร่แคลไซต์ซึ่งปกคลุมไปด้วยโคลนเลนสูง 60 เมตรจะสกัดกั้นพวกเขาไว้ คณะสำรวจตั้งชื่อให้กำแพงแห่งนี้ว่า “กำแพงเมืองเวียดนาม” เหนือกำแพงขึ้นไป พวกเขาพอมองเห็นช่องเปิดและแสงรางๆ แต่ไม่รู้ว่าอีกด้านหนึ่งมีอะไรอยู่ หนึ่งปีให้หลัง คณะสำรวจซึ่งประกอบไปด้วยนักสำรวจถ้ำเดนตายชาวอังกฤษเจ็ดคน นักวิทยาศาสตร์สองสามคน และทีมลูกหาบ จึงย้อนกลับมาที่ถ้ำนี้อีกครั้งเพื่อปีนกำแพงดังกล่าว และหากทำได้พวกเขาจะวัดขนาดทางเดิน และถ้าเป็นไปได้ก็จะเดินทางต่อไปให้สุดปลายถ้ำ
ทางเดินหายวับไปต่อหน้าต่อตาผม จะเห็นก็แต่กองหินก้อนใหญ่เท่าตึกที่ร่วงหล่นจากเพดานลงมากองอยู่บนพื้นถ้ำ ผมหันกลับไปดู แต่ความกว้างใหญ่ไพศาลของถ้ำก็กลืนกินแสงจากไฟฉายอันเล็กจ้อยบนศีรษะผมไปหมด ราวกับว่าผมกำลังแหงนหน้ามองท้องฟ้ายามราตรีอันมืดมิดไม่มีแม้กระทั่งแสงดาว มีคนบอกว่าคูหาที่ผมอยู่นี้ใหญ่พอจะจอดเครื่องบินโบอิ้ง 747 ได้ทั้งลำ
ผมปิดไฟฉายเพื่อจะได้สัมผัสถึงความมืดอันลึกล้ำ ในตอนแรกยังไม่มีอะไร แต่พอรูม่านตาเริ่มปรับตัวได้ ผมก็ต้องแปลกใจที่ได้เห็นแสงประหลาดรางๆอยู่เบื้องหน้า ผมค่อยๆ เดินผ่านกองเศษหิน และเกือบจะวิ่งด้วยความตื่นเต้นตามด้วยเดินขึ้นไปตามเนินสูงชัน เลี้ยวตรงเนินสันราวกับอยู่บนเชิงเขา และหยุดกึกอยู่ตรงนั้น แสงแดดลำมหึมาส่องทะลุลงมาในถ้ำราวกับน้ำตก รูบนเพดานที่แสงตกผ่านลงมานั้นใหญ่โตอย่างเหลือเชื่ออย่างน้อยๆ ก็น่าจะกว้างถึง 90 เมตร แสงที่เจาะทะลวงลึกลงมาในถ้ำเผยให้เห็นขนาดอันน่าตื่นตะลึงของถ้ำฮังซึนดึงเป็นครั้งแรก ทางเดินนั้นอาจกว้างถึง 90 เมตร เพดานสูงเกือบ 240 เมตร คูหากว้างพอจะบรรจุตึกสูง 40 ชั้นได้ทั้งช่วงตึก แล้วยังมีเมฆบางๆลอยเรี่ยอยู่ใกล้เพดานถ้ำด้วย
ลำแสงจากด้านบนเผยให้เห็นแท่งแคลไซต์บนพื้นถ้ำที่สูงทะมึนกว่า 60 เมตร ปกคลุมไปด้วยเฟิร์น ต้นปาล์ม และแมกไม้น้อยใหญ่แบบเดียวกับที่พบเห็นได้กลางป่า หินย้อย (stalactite) ห้อยอยู่รอบๆขอบช่องแสงขนาดมหึมา เถาวัลย์ระโยงระยางอยู่เหนือพื้นถ้ำสองสามร้อยเมตร นกนางแอ่นโฉบผ่านลำแสงอาทิตย์แพรวพราย
โจนาทาน ซิมส์ ตามมาสมทบกับผม ระหว่างจุดที่เรายืนอยู่กับทางเดินอาบแสงอาทิตย์เบื้องหน้ามีหินงอกรูปร่างคล้ายอุ้งตีนสุนัขตั้งตระหง่าน “จะเรียกว่าหัตถ์แห่งพระเจ้า (Hand of God) ก็ฟังดูเฉิ่มไปหน่อย” โจนาทานพูดพลางชี้ไปที่หินงอก “เรียกว่า
อุ้งตีนสุนัข (Hand of Dog) ท่าจะดีนะ ว่าไหม” โจนาทานเล่าว่า “ครั้งแรกที่พวกเรามาถึงแอ่งหินปูนที่ถล่มลงมาตรงช่องแสงนั้น ผมอยู่กับนักสำรวจถ้ำอีกคนเราต่างก็มีลูกชายอายุสี่ขวบ เลยเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องไดโนเสาร์ไปโดยปริยาย ภาพที่เห็นชวนให้นึกถึงฉากในเรื่อง เดอะลอสต์เวิลด์ ไม่มีผิด ตอนคู่หูผมออกสำรวจไปทางลำแสงนั่น ผมหยอกเขาว่า ‘ระวังไดโนเสาร์ (Watch out for Dinosaurs) นะเพื่อน “ชื่อนี้ก็เลยติดปากมาตั้งแต่นั้น”
(อ่านต่อหน้า 2)
เมื่อ 20 ปีก่อน เฮาเวิร์ด ลิมเบิร์ต หัวหน้าคณะสำรวจพร้อมด้วยเด็บ ผู้เป็นภรรยา เป็นนักสำรวจถ้ำรายแรกๆ ที่มาเยือนเวียดนามนับตั้งแต่ทศวรรษ 1970 ในยุคนั้นถ้ำของเวียดนามมีชื่อเสียงเลื่องลือ แต่ยังไม่เคยมีใครสำรวจ ในปี 1941 โฮจิมินห์วางแผนปฏิวัติต่อต้านญี่ปุ่นและฝรั่งเศสในถ้ำปักโบทางตอนเหนือของฮานอย
และในช่วงสงครามเวียดนาม ชาวเวียดนามหลายพันคนได้อาศัยถ้ำเหล่านี้หลบภัยจากการทิ้งระเบิดปูพรมของอเมริกา คู่สามีภรรยาลิมเบิร์ตซึ่งเป็นนักสำรวจถ้ำผู้คร่ำหวอดจากหุบเขายอร์กเชียร์ทางตอนเหนือของอังกฤษ ได้ติดต่อกับมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์แห่งฮานอยและเมื่อได้รับใบอนุญาตปึกใหญ่แล้ว พวกเขาก็วางแผนและเตรียมการสำหรับการเดินทางสำรวจในปี 1990 ตั้งแต่นั้นมา
ทั้งคู่เดินทางมาเวียดนาม 13 ครั้ง และไม่เพียงค้นพบถ้ำแม่น้ำ (river cave) ที่ยาวที่สุดแห่งหนึ่งในโลก อันได้แก่ ถ้ำฮังเครียาว 19 กิโลเมตรไม่ไกลจากถ้ำฮังซึนดึง แต่ยังได้ช่วยชาวเวียดนามก่อตั้งอุทยานแห่งชาติฟองญาเเกบังขนาดพื้นที่ 857.5 ตารางกิโลเมตร ซึ่งต่อมาได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกเมื่อปี 2003 นักท่องเที่ยวปีละราว 250,000 คน ผู้นำรายได้เป็นกอบเป็นกำมาสู่ชาวบ้านในท้องถิ่นต่างหวังจะได้เชยชมถ้ำฮังฟองญาที่มีชื่อเดียวกับอุทยานแห่งนี้
ความรกชัฏของป่าอาจทำให้สองสามีภรรยาลิมเบิร์ตหาถ้ำไม่พบหากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากชาวบ้านในพื้นที่ “คุณคานห์อยู่กับเรามาตั้งแต่ต้นเลยนะ” เฮาเวิร์ดเล่าให้ฟังพลางพยักพเยิดไปทางชายร่างผอมคนหนึ่งที่นั่งสูบบุหรี่อยู่ข้างกองไฟ พวกเรานั่งยองๆรอบกองไฟด้านในทางเข้าสู่ฮังเเอน ซึ่งเป็นทางเดินยาวหนึ่งกิโลเมตรครึ่งใต้เทือกเขาที่นำไปสู่โลกลี้ลับ “ถ้าไม่มีเขา เราก็คงทำไม่สำเร็จ” เฮาเวิร์ดบอก ครอบครัวของคานห์อาศัยอยู่ในหมู่บ้านใกล้ๆ พ่อของเขาถูกสังหารในสงคราม คานห์จึงต้องหาเลี้ยงชีพด้วยตัวเองในป่าตั้งแต่ยังเด็ก เขาออกล่าสัตว์ไปทั่วพื้นที่ใกล้ชายแดนแถบนี้ โดยอาศัยถ้ำเป็นที่หลบฝนและลูกระเบิด
เฮาเวิร์ดเล่าว่า “เราเดินทางเข้ามาสำรวจถึงสามครั้งกว่าจะเจอถ้ำฮังซึนดึง คานห์เคยเจอทางเข้าเมื่อตอนเป็นเด็ก แต่เขาลืมไปแล้วว่าอยู่ตรงไหน เขาเพิ่งหามันเจออีกครั้งเมื่อปีที่แล้วนี่เองครับ”
ใต้พื้นดินในภูมิภาคแถบนี้ของเวียดนามคือชั้นหินปูนขนาดใหญ่ ถ้ำฮังซึนดึงก่อตัวขึ้นเมื่อสองถึงห้าล้านปีก่อนเมื่อน้ำจากแม่น้ำไหลผ่านโพรงหินปูนตามแนวรอยเลื่อนและกัดเซาะจนเกิดเป็นอุโมงค์ขนาดใหญ่ใต้ทิวเขา ตรงบริเวณที่หินปูนค่อนข้างอ่อน เพดานจึงถล่มลงมากลายเป็นหลุมยุบ (sinkhole) ทำให้เกิดเป็นช่องแสงขนาดมหึมา
เมื่อเฮาเวิร์ดและเด็บได้เห็นพื้นที่ขนาดมหึมานี้เป็นครั้งแรก พวกเขาก็มั่นใจว่าได้ค้นพบถ้ำขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเข้าแล้ว และอาจจะถูกของพวกเขา เพราะยังมีถ้ำที่ยาวกว่าฮังซึนดึงอยู่ นั่นคือระบบถ้ำแมมมอทในรัฐเคนทักกีที่ยาวรวมกันถึง 590 กิโลเมตรเป็นผู้ครองสถิติ และยังมีถ้ำที่ลึกกว่าอีกด้วย นั่นคือถ้ำครูเบราโวโรนยา หรือ “ถ้ำอีกา” ในเทือกเขาคอเคซัสตะวันตกของจอร์เจีย ซึ่งลึกถึง 2,191 เมตร แต่หากพูดถึงทางเดินขนาดยักษ์แล้ว คงมีถ้ำเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่จะเทียบเทียมฮังซึนดึงได้ ถ้ำนี้มีความยาวกว่า 4 กิโลเมตร มีทางเดินต่อเนื่องที่กว้างถึง 90 เมตร และบางจุดสูงเกือบ 200 เมตร
หลังจากป่ายปีน ถูลู่ถูกัง และคืบคลานกันมานานห้าวันเต็มๆ คณะของเรายังเดินสำรวจถ้ำได้เพียงครึ่งทางเท่านั้น เมื่อนับนักสำรวจถ้ำ นักวิทยาศาสตร์ ทีมถ่ายทำภาพยนตร์และภาพนิ่ง รวมทั้งลูกหาบทั้งหมดแล้ว คณะของเรามีอยู่ด้วยกันกว่า 20 ชีวิต ซึ่งนั่นดูจะทำให้พวกเราทำงานได้ช้าลงนอกจากนั้น การเดินทางก็เริ่มอันตรายมากขึ้น เมื่อเราไต่ผ่านกองหินในจุดที่เรียกว่า “ระวังไดโนเสาร์” การก้าวพลาดเพียงก้าวเดียวบนหินลื่นๆอาจหมายถึงการร่วงลงไปถึง 30 เมตร
พอไปถึงช่องแสงถัดมาที่มีชื่อว่า “สวนอีแดม” (Garden of Edam) พวกเราพบว่ามันมีขนาดใหญ่โตกว่าช่องแสงแรกมาก ด้านล่างเป็นกองเศษหินขนาดเท่าภูเขาอีกกอง ปกคลุมไปด้วยผืนป่าซึ่งมีทั้งต้นไม้สูง 30 เมตร เถาวัลย์ และต้นตำแย ถึงตอนนี้เวลาและเสบียงของเราเริ่มร่อยหรอลงเฮาเวิร์ดจึงตัดสินใจว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องส่งทีมล่วงหน้าไปยัง “กำแพงเมืองเวียดนาม” เพื่อดูว่าจะบุกต่อกันได้หรือไม่
กำแพงที่ว่านี้อยู่ห่างออกไปกว่าหนึ่งกิโลเมตรครึ่งตรงสุดทางเดินรูปร่างเหมือนตัววี (V) ด้านล่างเป็นคูน้ำลึกครึ่งเมตรแล้วยังมีกำแพงโคลนเหนียวหนืดสูง 12 เมตรขนาบอยู่ทั้งสองข้าง เป็นไปไม่ได้เลยที่จะเดินฝ่าคูนั้นไปโดยไม่หกล้มหน้าคะมำ ถ้าเดินไปถึงกำแพงได้ เนื้อตัวเราคงเปรอะเปื้อนไปด้วยโคลนเหนียวเหนอะหนะ นักสำรวจถ้ำตั้งชื่อทางเดินนี้ว่า พัสเชนเดล (Passchendaele) ตามชื่อสมรภูมิการสู้รบในสนามเพลาะสมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
การปีนกำแพงโคลนสูง 60 เมตรที่ยื่นออกมานั้นต้องอาศัยเทคนิคและมีความเสี่ยงสูง เราจึงต้องใช้ “คนบ้า” ให้ถูกประเภท โชคดีที่เฮาเวิร์ดเป็นคนเลือกแกเร็ท “สวีนี” ซีเวลล์ และเฮาเวิร์ด คลาร์ก เป็นทัพหน้า ทั้งคู่สำรวจปล่องถ้ำหินปูนที่อันตรายที่สุดในอังกฤษมาด้วยกันถึง 20 ปี
วันแรกตรงฐานกำแพง ขณะที่คลาร์กง่วนกับการผูกเชือกยึดตัวเองไว้ สวีนีก็เริ่มไต่ขึ้นไปอย่างไม่สะทกสะท้านพร้อมกับเจาะรูตามผนังรูแล้วรูเล่า แต่รูเกือบทั้งหมดกลวงเกินกว่าที่จะยึดตะปูเกลียวสำหรับแขวนเชือกของพวกเขาได้ ตลอด 12 ชั่วโมงทั้งคู่สบถไม่หยุดปาก แต่ไม่มีใครเอ่ยปากถึงอันตรายที่แท้จริงของภารกิจนี้ นั่นคือถ้าตะปูเกลียวยาว 15 เซนติเมตรหลุดออกมาสักตัว เชือกที่สวีนีห้อยโตงเตงอยู่ก็จะคลายออก แล้วกระชากเอาตะปูเกลียวตัวอื่นๆให้หลุดตามออกมาเร็วพอๆ กับการรูดซิป และเขาคงไม่วายร่วงลงมาตาย
(อ่านต่อหน้า 3)
ในวันที่สองของการปีน หลังจากตั้งค่ายค้างแรมชั่วคราวที่ฐานกำแพง สวีนีก็กลับขึ้นไปยังจุดเดิมที่เขาปีนได้เมื่อวานโดยมีคลาร์กผูกเชือกเข้ากับตัวเองอีกครั้ง ไม่ช้าเสียงสว่านก็ดังกระหึ่มท่ามกลางความมืดมิด สวีนีอยู่สูงจนเราเห็นเพียงแสงสลัวจากไฟฉายคาดศีรษะของเขา พอถึงเวลาบ่าย สองโมงในถ้ำอันมืดมิดชั่วนาตาปีนี้ หลังจากเจาะรูและปีนป่ายขึ้นไปร่วม 20 ชั่วโมง สวีนีก็หายตัวไปหลังกำแพง สองสามนาทีต่อมาเราก็ได้ยินเสียงดังว่า “โว้ววววววว!!”
คลาร์กไต่เชือกตามขึ้นไป แล้วตะโกนลงมาถามผม “ว่าไง นายจะขึ้นมารึเปล่า!” บนยอด “กำแพงเมืองเวียดนาม” เราเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์จริงๆ และพากันโห่ร้องด้วยความดีใจ คณะสำรวจที่เหลือเล่าให้เราฟังในภายหลังว่า พวกเขาได้ยินเสียงร้องโหวกเหวกของพวกเราไกลออกไปกว่าหนึ่งกิโลเมตรในถ้ำ การวัดจากยอดกำแพงในเวลาต่อมาเผยให้ทราบว่าระยะจากพื้นของพัสเชนเดลถึงเพดานถ้ำนั้นมีความสูงเกือบ 200 เมตร และตอนนี้ก็มีเพียงเราสามคนเท่านั้นที่กำลังสำรวจอยู่ ไม่เคยมีมนุษย์หน้าไหนย่างกรายมาถึงที่นี่มาก่อน เราโรยตัวลงทางด้านหลังของกำแพง และเริ่มไต่ขึ้นไปตามขั้นบันไดหินมุ่งหน้าสู่ทางออก
“มาดูอะไรนี่สิ!” คลาร์กร้องเรียกเสียงดังลั่นขณะคุกเข่าอยู่ข้างๆ สระน้ำที่แห้งผาก สวีนีกับผมตามเข้าไปสมทบ สิ่งที่เรืองรองอยู่ในสระด้วยแสงจากไฟฉายคาดศีรษะของเราคือไข่มุกถ้ำ (cave pearl) นั่นเอง
ไข่มุกถ้ำก่อตัวขึ้นเมื่อน้ำที่หยดลงมาจากเพดานกระทบกับพื้นหินปูน ทำให้เศษหินชิ้นเล็กๆกระเด็นขึ้นมา เศษหินเล็กกระจิริดนั้นจะกลิ้งกลอกไปมาในร่องหินทุกครั้งที่น้ำหยดลงมากระทบ หลายพันปีต่อมา ไข่มุกจากแร่แคลไซต์ที่มีรูปร่างเกือบกลมเกลี้ยงก็ก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างขึ้น
ไข่มุกถ้ำเป็นของหายาก และในถ้ำส่วนใหญ่มักมีขนาดไม่เกินลูกหิน แต่ไข่มุกถ้ำที่นี่มีขนาดเท่ากับลูกเบสบอล ใหญ่กว่าที่นักสำรวจถ้ำเคยเห็นมาทั้งหมด (ขนาดใหญ่โตผิดธรรมชาติของพวกมันอาจเกิดจากระยะทางยาวไกลที่หยดน้ำตกลงมาจากเพดาน)
“ข้าพเจ้าขอขนานนามทางเดินแห่งนี้ว่า เพิร์ลฮาร์เบอร์” คลาร์กประกาศก้องยี่สิบกว่านาทีต่อมา พวกเราก็ตะเกียกตะกายขึ้นมา
และออกจากถ้ำ ผืนป่ากำลังชุ่มฉ่ำจากสายฝนที่โปรยปรายลงมา เราบุกป่าฝ่าดงออกมาไกลจนเห็นเส้นขอบฟ้า และพบว่านี่ไม่ใช่ช่องแสงอีกช่องหนึ่ง แต่เราค้นพบสุดปลายถ้ำฮังซึนดึงเข้าแล้ว สวีนีกับคลาร์กถ่อมตัวเกินกว่าจะอวดอ้างว่าพวกเราเพิ่งเสร็จสิ้นภารกิจการสำรวจทางเดินในถ้ำที่น่าจะได้ชื่อว่าเป็นถ้ำใหญ่ที่สุดในโลกเป็นครั้งแรก
เรื่อง มาร์ก เจนกินส์
ภาพถ่าย คาร์สเทน ปีเตอร์
อ่านเพิ่มเติม