ลุย ถ้ำหลวง ฮังซึนดึง ดินแดนไร้การสำรวจแห่งเวียดนาม

ถ้ำหลวง ในเวียดนามที่แสนลึกล้ำยากหยั่งถึง

“พอเลยอุ้งตีนสุนัขไปแล้ว ระวังไดโนเสาร์ด้วยนะ” เสียงหนึ่งดังขึ้นมาในความมืด ผมจำสำเนียงห้วนๆแบบทหารอังกฤษของโจนาทาน ซิมส์ได้ แต่ไม่รู้ว่าเขาพูดถึงอะไรอยู่ แสงไฟฉายบนหมวกผมสาดไปเจอเขานั่งอยู่เพียงลำพังในความมืดข้างผนังถ้ำ “ไปต่อเลยพวก” ซิมส์ร้องบอก “ขอนั่งพักเท้าก่อน” เราสองคนไต่เชือกข้ามแม่น้ำราวเทือง แม่น้ำใต้ดินที่ส่งเสียงกึกก้องกัมปนาท และไต่หินปูนที่คมราวใบมีดสูงหกเมตรขึ้นไปยังตลิ่งทราย ผมไปต่อเพียงลำพังโดยเดินตามลำแสงจากไฟฉายคาดศีรษะไปตามรอยเท้าที่มีอายุหนึ่งปีของถ้ำหลวงในเวียดนาม

ย้อนหลังไปเมื่อฤดูใบไม้ผลิปี 2009 ซิมส์เป็นหนึ่งในสมาชิกของคณะสำรวจชุดแรกที่เข้าไปยังถ้ำฮังซึนดึง หรือ “ถ้ำภูเขาแม่น้ำ” ในพื้นที่อันห่างไกลของเวียดนามตอนกลางถ้ำที่เร้นกายอยู่ในอุทยานแห่งชาติฟองญาแกบังอันขรุขระ ใกล้พรมแดนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวแห่งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายถ้ำ 150 แห่งหรือราวๆนั้นในทิวเขาอันนัม ในจำนวนนี้มีหลายแห่งยังไม่ได้รับการสำรวจ

พงไพรกลางเถื่อนถ้ำอย่างนั้นหรือ เพดานถ้ำที่ถล่มลงเมื่อนานมาแล้วในถ้ำฮังซึนดึงทำให้แสงแดดสาดส่องลงมาได้ พืชพรรณหนาทึบจึงเกิดขึ้นตามมา ขณะที่ “สวีนี” ซีเวลล์ ไต่ขึ้นสู่พื้นดินเบื้องบน นักสำรวจถ้ำด้านล่างต้องลุยป่าฝ่าดงผ่านบริเวณที่พวกเขาตั้งชื่อล้อเลียนว่า สวนอีแดม (Garden of Edam)

ระหว่างการเดินทางสำรวจครั้งแรกนั้น ทีมงานสามารถเดินสำรวจถ้ำฮังซึนดึงได้สี่กิโลเมตร ก่อนที่กำแพงแร่แคลไซต์ซึ่งปกคลุมไปด้วยโคลนเลนสูง 60 เมตรจะสกัดกั้นพวกเขาไว้ คณะสำรวจตั้งชื่อให้กำแพงแห่งนี้ว่า “กำแพงเมืองเวียดนาม” เหนือกำแพงขึ้นไป พวกเขาพอมองเห็นช่องเปิดและแสงรางๆ แต่ไม่รู้ว่าอีกด้านหนึ่งมีอะไรอยู่ หนึ่งปีให้หลัง คณะสำรวจซึ่งประกอบไปด้วยนักสำรวจถ้ำเดนตายชาวอังกฤษเจ็ดคน นักวิทยาศาสตร์สองสามคน และทีมลูกหาบ จึงย้อนกลับมาที่ถ้ำนี้อีกครั้งเพื่อปีนกำแพงดังกล่าว และหากทำได้พวกเขาจะวัดขนาดทางเดิน และถ้าเป็นไปได้ก็จะเดินทางต่อไปให้สุดปลายถ้ำ

ทางเดินหายวับไปต่อหน้าต่อตาผม จะเห็นก็แต่กองหินก้อนใหญ่เท่าตึกที่ร่วงหล่นจากเพดานลงมากองอยู่บนพื้นถ้ำ ผมหันกลับไปดู แต่ความกว้างใหญ่ไพศาลของถ้ำก็กลืนกินแสงจากไฟฉายอันเล็กจ้อยบนศีรษะผมไปหมด ราวกับว่าผมกำลังแหงนหน้ามองท้องฟ้ายามราตรีอันมืดมิดไม่มีแม้กระทั่งแสงดาว มีคนบอกว่าคูหาที่ผมอยู่นี้ใหญ่พอจะจอดเครื่องบินโบอิ้ง 747 ได้ทั้งลำ

เสาหินพอก (flowstone) ต้นมหึมาตั้งตระหง่านอยู่เหนือนักสำรวจที่แหวกว่ายอยู่ในน้ำลึกของถ้ำฮังเเคน ซึ่งเป็นหนึ่งในถ้ำใหม่ 20 แห่งที่ค้นพบในเวียดนามเมื่อปีที่แล้ว

ผมปิดไฟฉายเพื่อจะได้สัมผัสถึงความมืดอันลึกล้ำ ในตอนแรกยังไม่มีอะไร แต่พอรูม่านตาเริ่มปรับตัวได้ ผมก็ต้องแปลกใจที่ได้เห็นแสงประหลาดรางๆอยู่เบื้องหน้า ผมค่อยๆ เดินผ่านกองเศษหิน และเกือบจะวิ่งด้วยความตื่นเต้นตามด้วยเดินขึ้นไปตามเนินสูงชัน เลี้ยวตรงเนินสันราวกับอยู่บนเชิงเขา และหยุดกึกอยู่ตรงนั้น แสงแดดลำมหึมาส่องทะลุลงมาในถ้ำราวกับน้ำตก รูบนเพดานที่แสงตกผ่านลงมานั้นใหญ่โตอย่างเหลือเชื่ออย่างน้อยๆ ก็น่าจะกว้างถึง 90 เมตร แสงที่เจาะทะลวงลึกลงมาในถ้ำเผยให้เห็นขนาดอันน่าตื่นตะลึงของถ้ำฮังซึนดึงเป็นครั้งแรก ทางเดินนั้นอาจกว้างถึง 90 เมตร เพดานสูงเกือบ 240 เมตร คูหากว้างพอจะบรรจุตึกสูง 40 ชั้นได้ทั้งช่วงตึก แล้วยังมีเมฆบางๆลอยเรี่ยอยู่ใกล้เพดานถ้ำด้วย

ลำแสงจากด้านบนเผยให้เห็นแท่งแคลไซต์บนพื้นถ้ำที่สูงทะมึนกว่า 60 เมตร ปกคลุมไปด้วยเฟิร์น ต้นปาล์ม และแมกไม้น้อยใหญ่แบบเดียวกับที่พบเห็นได้กลางป่า หินย้อย (stalactite) ห้อยอยู่รอบๆขอบช่องแสงขนาดมหึมา เถาวัลย์ระโยงระยางอยู่เหนือพื้นถ้ำสองสามร้อยเมตร นกนางแอ่นโฉบผ่านลำแสงอาทิตย์แพรวพราย

ม่านหมอกล่องลอยผ่านเนินเขาในอุทยานแห่งชาติฟองญา-เเกบัง เมื่อปี 2001 รัฐบาลเวียดนามได้กันพื้นที่ 857.5 ตารางกิโลเมตรของอุทยานเพื่อคุ้มครองระบบถ้ำขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในทวีปเอเชีย ในช่วงสงครามเวียดนาม ทหารเวียดนามเหนือหรือเวียดกงอาศัยเถื่อนถ้ำเหล่านี้เป็นที่หลบภัยจากการโจมตีทางอากาศของสหรัฐฯ

โจนาทาน ซิมส์ ตามมาสมทบกับผม ระหว่างจุดที่เรายืนอยู่กับทางเดินอาบแสงอาทิตย์เบื้องหน้ามีหินงอกรูปร่างคล้ายอุ้งตีนสุนัขตั้งตระหง่าน “จะเรียกว่าหัตถ์แห่งพระเจ้า (Hand of God) ก็ฟังดูเฉิ่มไปหน่อย” โจนาทานพูดพลางชี้ไปที่หินงอก “เรียกว่า

อุ้งตีนสุนัข (Hand of Dog) ท่าจะดีนะ ว่าไหม” โจนาทานเล่าว่า “ครั้งแรกที่พวกเรามาถึงแอ่งหินปูนที่ถล่มลงมาตรงช่องแสงนั้น ผมอยู่กับนักสำรวจถ้ำอีกคนเราต่างก็มีลูกชายอายุสี่ขวบ เลยเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องไดโนเสาร์ไปโดยปริยาย ภาพที่เห็นชวนให้นึกถึงฉากในเรื่อง เดอะลอสต์เวิลด์ ไม่มีผิด ตอนคู่หูผมออกสำรวจไปทางลำแสงนั่น ผมหยอกเขาว่า ‘ระวังไดโนเสาร์ (Watch out for Dinosaurs) นะเพื่อน “ชื่อนี้ก็เลยติดปากมาตั้งแต่นั้น”

(อ่านต่อหน้า 2)

หินขนาดใหญ่ที่มีมอสส์จับจนลื่นและการตกลงมาจากความสูงสิบเมตร คือความท้าทายที่นักเขียน มาร์ก เจนกินส์ ต้องเผชิญตรงปากถ้ำฮังซึนดึงที่ซ่อนตัวอยู่กลางป่า เขาบอกว่า “แม้ถ้ำเหล่านี้จะใหญ่โตมโหฬาร แต่เอาเข้าจริงคุณมองไม่เห็นมันหรอกครับ จนกว่าจะไปอยู่ข้างหน้านั่นแหละ”

เมื่อ 20 ปีก่อน เฮาเวิร์ด ลิมเบิร์ต หัวหน้าคณะสำรวจพร้อมด้วยเด็บ ผู้เป็นภรรยา เป็นนักสำรวจถ้ำรายแรกๆ ที่มาเยือนเวียดนามนับตั้งแต่ทศวรรษ 1970 ในยุคนั้นถ้ำของเวียดนามมีชื่อเสียงเลื่องลือ แต่ยังไม่เคยมีใครสำรวจ ในปี 1941 โฮจิมินห์วางแผนปฏิวัติต่อต้านญี่ปุ่นและฝรั่งเศสในถ้ำปักโบทางตอนเหนือของฮานอย

และในช่วงสงครามเวียดนาม ชาวเวียดนามหลายพันคนได้อาศัยถ้ำเหล่านี้หลบภัยจากการทิ้งระเบิดปูพรมของอเมริกา คู่สามีภรรยาลิมเบิร์ตซึ่งเป็นนักสำรวจถ้ำผู้คร่ำหวอดจากหุบเขายอร์กเชียร์ทางตอนเหนือของอังกฤษ ได้ติดต่อกับมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์แห่งฮานอยและเมื่อได้รับใบอนุญาตปึกใหญ่แล้ว พวกเขาก็วางแผนและเตรียมการสำหรับการเดินทางสำรวจในปี 1990 ตั้งแต่นั้นมา

ทั้งคู่เดินทางมาเวียดนาม 13 ครั้ง และไม่เพียงค้นพบถ้ำแม่น้ำ (river cave) ที่ยาวที่สุดแห่งหนึ่งในโลก อันได้แก่ ถ้ำฮังเครียาว 19 กิโลเมตรไม่ไกลจากถ้ำฮังซึนดึง แต่ยังได้ช่วยชาวเวียดนามก่อตั้งอุทยานแห่งชาติฟองญาเเกบังขนาดพื้นที่ 857.5 ตารางกิโลเมตร ซึ่งต่อมาได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกเมื่อปี 2003 นักท่องเที่ยวปีละราว 250,000 คน ผู้นำรายได้เป็นกอบเป็นกำมาสู่ชาวบ้านในท้องถิ่นต่างหวังจะได้เชยชมถ้ำฮังฟองญาที่มีชื่อเดียวกับอุทยานแห่งนี้

ในถ้ำลึงคอนนักสำรวจถ้ำไต่ลงมาตามช่องแสง

ความรกชัฏของป่าอาจทำให้สองสามีภรรยาลิมเบิร์ตหาถ้ำไม่พบหากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากชาวบ้านในพื้นที่ “คุณคานห์อยู่กับเรามาตั้งแต่ต้นเลยนะ” เฮาเวิร์ดเล่าให้ฟังพลางพยักพเยิดไปทางชายร่างผอมคนหนึ่งที่นั่งสูบบุหรี่อยู่ข้างกองไฟ พวกเรานั่งยองๆรอบกองไฟด้านในทางเข้าสู่ฮังเเอน ซึ่งเป็นทางเดินยาวหนึ่งกิโลเมตรครึ่งใต้เทือกเขาที่นำไปสู่โลกลี้ลับ “ถ้าไม่มีเขา เราก็คงทำไม่สำเร็จ” เฮาเวิร์ดบอก ครอบครัวของคานห์อาศัยอยู่ในหมู่บ้านใกล้ๆ พ่อของเขาถูกสังหารในสงคราม คานห์จึงต้องหาเลี้ยงชีพด้วยตัวเองในป่าตั้งแต่ยังเด็ก เขาออกล่าสัตว์ไปทั่วพื้นที่ใกล้ชายแดนแถบนี้ โดยอาศัยถ้ำเป็นที่หลบฝนและลูกระเบิด

เฮาเวิร์ดเล่าว่า “เราเดินทางเข้ามาสำรวจถึงสามครั้งกว่าจะเจอถ้ำฮังซึนดึง คานห์เคยเจอทางเข้าเมื่อตอนเป็นเด็ก แต่เขาลืมไปแล้วว่าอยู่ตรงไหน เขาเพิ่งหามันเจออีกครั้งเมื่อปีที่แล้วนี่เองครับ”

ใต้พื้นดินในภูมิภาคแถบนี้ของเวียดนามคือชั้นหินปูนขนาดใหญ่ ถ้ำฮังซึนดึงก่อตัวขึ้นเมื่อสองถึงห้าล้านปีก่อนเมื่อน้ำจากแม่น้ำไหลผ่านโพรงหินปูนตามแนวรอยเลื่อนและกัดเซาะจนเกิดเป็นอุโมงค์ขนาดใหญ่ใต้ทิวเขา ตรงบริเวณที่หินปูนค่อนข้างอ่อน เพดานจึงถล่มลงมากลายเป็นหลุมยุบ (sinkhole) ทำให้เกิดเป็นช่องแสงขนาดมหึมา

เด็บและเฮาเวิร์ด ลิมเบิร์ต หัวหน้าคณะสำรวจ นำทางผ่านภูมิประเทศที่ถูกสลักเสลาภายในถ้ำฮังซึนดึงไปตามเขาวงกตที่ปกคลุมไปด้วยตะไคร่น้ำ ทางลดหลั่นเป็นขั้นๆนี้ก่อตัวขึ้นเมื่อน้ำที่อุดมไปด้วยแร่แคลไซต์ไหลเอ่อล้นสระ

เมื่อเฮาเวิร์ดและเด็บได้เห็นพื้นที่ขนาดมหึมานี้เป็นครั้งแรก พวกเขาก็มั่นใจว่าได้ค้นพบถ้ำขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเข้าแล้ว และอาจจะถูกของพวกเขา เพราะยังมีถ้ำที่ยาวกว่าฮังซึนดึงอยู่ นั่นคือระบบถ้ำแมมมอทในรัฐเคนทักกีที่ยาวรวมกันถึง 590 กิโลเมตรเป็นผู้ครองสถิติ และยังมีถ้ำที่ลึกกว่าอีกด้วย นั่นคือถ้ำครูเบราโวโรนยา หรือ “ถ้ำอีกา” ในเทือกเขาคอเคซัสตะวันตกของจอร์เจีย ซึ่งลึกถึง 2,191 เมตร แต่หากพูดถึงทางเดินขนาดยักษ์แล้ว คงมีถ้ำเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่จะเทียบเทียมฮังซึนดึงได้ ถ้ำนี้มีความยาวกว่า 4 กิโลเมตร มีทางเดินต่อเนื่องที่กว้างถึง 90 เมตร และบางจุดสูงเกือบ 200 เมตร

หลังจากป่ายปีน ถูลู่ถูกัง และคืบคลานกันมานานห้าวันเต็มๆ คณะของเรายังเดินสำรวจถ้ำได้เพียงครึ่งทางเท่านั้น เมื่อนับนักสำรวจถ้ำ นักวิทยาศาสตร์ ทีมถ่ายทำภาพยนตร์และภาพนิ่ง รวมทั้งลูกหาบทั้งหมดแล้ว คณะของเรามีอยู่ด้วยกันกว่า 20 ชีวิต ซึ่งนั่นดูจะทำให้พวกเราทำงานได้ช้าลงนอกจากนั้น การเดินทางก็เริ่มอันตรายมากขึ้น เมื่อเราไต่ผ่านกองหินในจุดที่เรียกว่า “ระวังไดโนเสาร์” การก้าวพลาดเพียงก้าวเดียวบนหินลื่นๆอาจหมายถึงการร่วงลงไปถึง 30 เมตร

พอไปถึงช่องแสงถัดมาที่มีชื่อว่า “สวนอีแดม” (Garden of Edam) พวกเราพบว่ามันมีขนาดใหญ่โตกว่าช่องแสงแรกมาก ด้านล่างเป็นกองเศษหินขนาดเท่าภูเขาอีกกอง ปกคลุมไปด้วยผืนป่าซึ่งมีทั้งต้นไม้สูง 30 เมตร เถาวัลย์ และต้นตำแย ถึงตอนนี้เวลาและเสบียงของเราเริ่มร่อยหรอลงเฮาเวิร์ดจึงตัดสินใจว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องส่งทีมล่วงหน้าไปยัง “กำแพงเมืองเวียดนาม” เพื่อดูว่าจะบุกต่อกันได้หรือไม่

กำแพงที่ว่านี้อยู่ห่างออกไปกว่าหนึ่งกิโลเมตรครึ่งตรงสุดทางเดินรูปร่างเหมือนตัววี (V) ด้านล่างเป็นคูน้ำลึกครึ่งเมตรแล้วยังมีกำแพงโคลนเหนียวหนืดสูง 12 เมตรขนาบอยู่ทั้งสองข้าง เป็นไปไม่ได้เลยที่จะเดินฝ่าคูนั้นไปโดยไม่หกล้มหน้าคะมำ ถ้าเดินไปถึงกำแพงได้ เนื้อตัวเราคงเปรอะเปื้อนไปด้วยโคลนเหนียวเหนอะหนะ นักสำรวจถ้ำตั้งชื่อทางเดินนี้ว่า พัสเชนเดล (Passchendaele) ตามชื่อสมรภูมิการสู้รบในสนามเพลาะสมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

ชีวิตแตกหน่องอกงามภายในคูหาที่มีแสงแดดสาดส่องลงมาจากด้านบนของถ้ำฮังซึนดึง ช่างเป็นโลกที่แตกต่างจากถ้ำอันคับแคบ เวิ้งว้าง และมืดมิดที่นักสำรวจถ้ำคุ้นเคย เฟิร์นและพืชพรรณอื่นๆเข้ายึดเกาะทำนบหินปูน

การปีนกำแพงโคลนสูง 60 เมตรที่ยื่นออกมานั้นต้องอาศัยเทคนิคและมีความเสี่ยงสูง เราจึงต้องใช้ “คนบ้า” ให้ถูกประเภท โชคดีที่เฮาเวิร์ดเป็นคนเลือกแกเร็ท “สวีนี” ซีเวลล์ และเฮาเวิร์ด คลาร์ก เป็นทัพหน้า ทั้งคู่สำรวจปล่องถ้ำหินปูนที่อันตรายที่สุดในอังกฤษมาด้วยกันถึง 20 ปี

วันแรกตรงฐานกำแพง ขณะที่คลาร์กง่วนกับการผูกเชือกยึดตัวเองไว้ สวีนีก็เริ่มไต่ขึ้นไปอย่างไม่สะทกสะท้านพร้อมกับเจาะรูตามผนังรูแล้วรูเล่า แต่รูเกือบทั้งหมดกลวงเกินกว่าที่จะยึดตะปูเกลียวสำหรับแขวนเชือกของพวกเขาได้ ตลอด 12 ชั่วโมงทั้งคู่สบถไม่หยุดปาก แต่ไม่มีใครเอ่ยปากถึงอันตรายที่แท้จริงของภารกิจนี้ นั่นคือถ้าตะปูเกลียวยาว 15 เซนติเมตรหลุดออกมาสักตัว เชือกที่สวีนีห้อยโตงเตงอยู่ก็จะคลายออก แล้วกระชากเอาตะปูเกลียวตัวอื่นๆให้หลุดตามออกมาเร็วพอๆ กับการรูดซิป และเขาคงไม่วายร่วงลงมาตาย

(อ่านต่อหน้า 3)

ไข่มุกถ้ำหายากซึ่งตามปกติแล้วมีขนาดเท่ากับเหรียญสลึง เรียงรายอยู่ในแอ่งน้ำลดหลั่นเป็นชั้นๆที่น้ำแห้งเหือดไปแล้วใกล้กับ “สวนอีแดม” ในถ้ำฮังซึนดึง ก้อนหินทรงกลมที่มีขนาดใหญ่ผิดปกติเหล่านี้ก่อตัวขึ้นทีละหยดๆ ผ่านกาลเวลาหลายร้อยปี เมื่อผลึกแคลไซต์ที่หลงเหลืออยู่หลังจากน้ำแห้งเกาะตัวเคลือบเม็ดทรายเป็นชั้นๆ

ในวันที่สองของการปีน หลังจากตั้งค่ายค้างแรมชั่วคราวที่ฐานกำแพง สวีนีก็กลับขึ้นไปยังจุดเดิมที่เขาปีนได้เมื่อวานโดยมีคลาร์กผูกเชือกเข้ากับตัวเองอีกครั้ง ไม่ช้าเสียงสว่านก็ดังกระหึ่มท่ามกลางความมืดมิด สวีนีอยู่สูงจนเราเห็นเพียงแสงสลัวจากไฟฉายคาดศีรษะของเขา พอถึงเวลาบ่าย สองโมงในถ้ำอันมืดมิดชั่วนาตาปีนี้ หลังจากเจาะรูและปีนป่ายขึ้นไปร่วม 20 ชั่วโมง สวีนีก็หายตัวไปหลังกำแพง  สองสามนาทีต่อมาเราก็ได้ยินเสียงดังว่า “โว้ววววววว!!”

คลาร์กไต่เชือกตามขึ้นไป แล้วตะโกนลงมาถามผม “ว่าไง นายจะขึ้นมารึเปล่า!” บนยอด “กำแพงเมืองเวียดนาม” เราเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์จริงๆ และพากันโห่ร้องด้วยความดีใจ คณะสำรวจที่เหลือเล่าให้เราฟังในภายหลังว่า พวกเขาได้ยินเสียงร้องโหวกเหวกของพวกเราไกลออกไปกว่าหนึ่งกิโลเมตรในถ้ำ การวัดจากยอดกำแพงในเวลาต่อมาเผยให้ทราบว่าระยะจากพื้นของพัสเชนเดลถึงเพดานถ้ำนั้นมีความสูงเกือบ 200 เมตร และตอนนี้ก็มีเพียงเราสามคนเท่านั้นที่กำลังสำรวจอยู่ ไม่เคยมีมนุษย์หน้าไหนย่างกรายมาถึงที่นี่มาก่อน เราโรยตัวลงทางด้านหลังของกำแพง และเริ่มไต่ขึ้นไปตามขั้นบันไดหินมุ่งหน้าสู่ทางออก

ในฤดูแล้งตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนเมษายน นักสำรวจถ้ำสามารถสำรวจถ้ำฮังเเคนที่มีสระน้ำไม่ลึกนักได้อย่างปลอดภัย แต่เมื่อเข้าสู่ฤดูมรสุม แม่น้ำใต้ดินจะเอ่อท้นท่วมทางเดินจนไม่สามารถเข้าไปในถ้ำได้

“มาดูอะไรนี่สิ!” คลาร์กร้องเรียกเสียงดังลั่นขณะคุกเข่าอยู่ข้างๆ สระน้ำที่แห้งผาก สวีนีกับผมตามเข้าไปสมทบ สิ่งที่เรืองรองอยู่ในสระด้วยแสงจากไฟฉายคาดศีรษะของเราคือไข่มุกถ้ำ (cave pearl) นั่นเอง

ไข่มุกถ้ำก่อตัวขึ้นเมื่อน้ำที่หยดลงมาจากเพดานกระทบกับพื้นหินปูน ทำให้เศษหินชิ้นเล็กๆกระเด็นขึ้นมา เศษหินเล็กกระจิริดนั้นจะกลิ้งกลอกไปมาในร่องหินทุกครั้งที่น้ำหยดลงมากระทบ หลายพันปีต่อมา ไข่มุกจากแร่แคลไซต์ที่มีรูปร่างเกือบกลมเกลี้ยงก็ก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างขึ้น

ไข่มุกถ้ำเป็นของหายาก และในถ้ำส่วนใหญ่มักมีขนาดไม่เกินลูกหิน แต่ไข่มุกถ้ำที่นี่มีขนาดเท่ากับลูกเบสบอล   ใหญ่กว่าที่นักสำรวจถ้ำเคยเห็นมาทั้งหมด (ขนาดใหญ่โตผิดธรรมชาติของพวกมันอาจเกิดจากระยะทางยาวไกลที่หยดน้ำตกลงมาจากเพดาน)

หมวดหินส่องประกายอยู่ใต้ช่องแสงภายในถ้ำฮังซึนดึงราวกับปราสาทบนเนินเขา พายุเพิ่งจะเติมน้ำจนเต็มสระส่งสัญญาณว่าฤดูแห่งการสำรวจกำลังจะสิ้นสุดลง

“ข้าพเจ้าขอขนานนามทางเดินแห่งนี้ว่า เพิร์ลฮาร์เบอร์” คลาร์กประกาศก้องยี่สิบกว่านาทีต่อมา พวกเราก็ตะเกียกตะกายขึ้นมา

และออกจากถ้ำ ผืนป่ากำลังชุ่มฉ่ำจากสายฝนที่โปรยปรายลงมา เราบุกป่าฝ่าดงออกมาไกลจนเห็นเส้นขอบฟ้า และพบว่านี่ไม่ใช่ช่องแสงอีกช่องหนึ่ง แต่เราค้นพบสุดปลายถ้ำฮังซึนดึงเข้าแล้ว สวีนีกับคลาร์กถ่อมตัวเกินกว่าจะอวดอ้างว่าพวกเราเพิ่งเสร็จสิ้นภารกิจการสำรวจทางเดินในถ้ำที่น่าจะได้ชื่อว่าเป็นถ้ำใหญ่ที่สุดในโลกเป็นครั้งแรก

เรื่อง มาร์ก เจนกินส์

ภาพถ่าย คาร์สเทน ปีเตอร์

 

อ่านเพิ่มเติม

สำรวจถ้ำในอาณาจักรศิลาแดนมังกร

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.