วัฒนธรรมใหม่ของ การเดินป่า ที่ยั่งยืน

Fjallraven Thailand Trail 2019 วัฒนธรรมใหม่ของ การเดินป่า ที่ยั่งยืน

แต่ละคนมีเหตุผลในการเดินทางต่างกัน แต่ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่าทุกการเดินทางมักได้ประสบการณ์ และความทรงจำติดตัวกลับมาด้วยเสมอ การเดินทางของผมครั้งนี้ถือว่าพิเศษกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะเป็นครั้งแรกที่ต้องเดินเท้าในระยะทางที่ทั้งไกลและลำบาก เต็มไปด้วยความเหนื่อยล้า ขณะเดินก็พร่ำบ่นรำพึงกับใจตัวเองว่าจะเดินหน้าต่อหรือพอแค่ตรงนี้

ผมได้รับคำชวนแกมท้าทายจากน้องผู้เป็นนายที่รักว่า “พี่ไปเดินป่ากัน”  แม้จะเป็นสิ่งที่ไม่เคยลองสัมผัสมาก่อน แต่มีหรือที่ผมจะปฏิเสธ เลยตกปากรับคำ “ไปครับ” หลังจากนั้นข้อมูลการจัดงาน เวลา การเตรียมตัวและความพร้อมทุกอย่างก็ถูกส่งเข้ามาไม่ขาดสาย กับน้ำหนักเป้ 18 กิโลกรัม ที่ต้องแบกเองตลอดเส้นทางที่เดิน งานที่ว่าก็คือ Fjallraven Thailand Trail 2019 ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 แล้วในประเทศไทย กับเส้นทางเดินป่าระยะไกลชุมชนขุนน้ำเงา ระยะทางโดยประมาณ 50 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินเท้าตั้งแต่ วันที่ 19 – 23 มกราคม 2561 รวมเวลาทั้งหมด 4 คืน 5 วัน

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จัก Fjallraven กันก่อนว่าคืออะไร

Fjallraven คือแบรนด์เสื้อผ้าและอุปกรณ์เอ๊าต์ดอร์จากประเทศสวีเดนที่เริ่มผลิตมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1960 โดยชายที่ชื่อว่า Ake Nordin ตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา Fjallraven มีเป้าหมายที่จะสร้างวัฒนธรรมการใช้ชีวิตกลางแจ้ง โดยสนับสนุนให้ทุกคนได้ออกไปสัมผัสธรรมชาติ จึงได้เกิดกิจกรรมหนึ่งที่ Fjallraven จัดเป็นประจำอย่างต่อเนื่องมานับสิบปี โดยไม่เกี่ยวข้องกับการขายสินค้าของตัวเองเลย นั่นก็คือการเดิน Trekking ระยะทางไกล 110 กิโลเมตร บนเส้นทางที่มีชื่อว่า Kungsladen ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศสวีเดน โดยใช้ชื่อกิจกรรมว่า “Fjallraven Classic”

          Fjallraven Classic เป็นมากกว่าการเดินป่า แต่เป็นการสร้างวัฒนธรรมและส่งผ่านสิ่งดีๆจากรุ่นสู่รุ่น มุ่งเน้นให้ผู้คนพึ่งพาตนเอง ชื่นชมธรรมชาติแบบไม่เร่งรีบ และเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ตลอดเส้นทาง 110 กิโลเมตรมีคนเดินนับพันคน แต่สิ่งที่ไม่เห็นเลยตลอดทางคือ “ขยะ” ทั้งที่ตลอดเส้นทางนั้นไม่มีถังขยะเลยสักใบเดียว คนที่ร่วมเดินสามารถแวะพักกางเต็นท์ตรงไหนก็ได้ตลอดเส้นทาง แต่ทุกครั้งที่เก็บเต็นท์และสัมภาระ พื้นที่นั้นจะต้องเรียบร้อยและสะอาดตาราวกับว่าไม่เคยมีใครพักตรงนี้มาก่อน นั่นจึงเป็นที่มาของคำว่า leave no trace

จากวัฒนธรรมการใช้ชีวิตกลางแจ้งที่ดีงามนี้จึงเกิดเป็นแรงบันดาลใจให้ทีมผู้จัดงาน Fjallraven Thailand Trail อยากทำให้เกิดขึ้นที่ประเทศไทยบ้าง วัฒนธรรมที่ว่ามีดังนี้

การพึ่งพาตนเอง ระหว่างการเดินป่าเราต้องแบกของเองทุกชิ้น โดยไม่มีลูกหาบ ทุกครั้งที่จะหยิบของลงเป้ต้องคิดทบทวนถึงความจำเป็น เราจะได้เรียนรู้ว่าอะไรคือสิ่งจำเป็นในการใช้ชีวิตในธรรมชาติกับการใช้ชีวิตจริง เมื่อเดินป่าจบเราก็จะพบความภูมิใจที่รออยู่เบื้องหน้า และการเดินป่าครั้งต่อไปจะไม่ใช่เรื่องยากอีก

การรักษาธรรมชาติให้คงอยู่ ทุกคนล้วนอยากชื่นชมความงามของธรรมชาติ นี่จึงเป็นเหตุผลให้เราออกไปเดินป่า และการที่ผู้คนจำนวนมากเข้าไปเที่ยวชมความงามของธรรมชาติ สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องช่วยกันรักษาธรรมชาติให้คงอยู่เมื่อเราเดินผ่านไปแล้ว โดยไม่ทิ้งขยะแม้แต่ชิ้นเดียวบนเส้นทางที่เดิน ของเสียจากร่างกายต้องถูกฝังและกลบให้ถูกวิธี ส่วนขยะที่นำเข้าไปนั้นจะต้องนำออกมาทิ้งในที่ที่มีการจัดการขยะที่เหมาะสม

ให้เกียรติผู้ร่วมทาง ทุกคนที่ร่วมเดินป่าอาจมาจากต่างชาติ ต่างภาษา ต่างบทบาทและฐานะ แต่ในป่าทุกคนเท่าเทียมกัน และเป็นผู้ที่มีรสนิยมการใช้ชีวิตกลางแจ้งแบบเดียวกัน เมื่อเรามองผ่านความแตกต่างของผู้ร่วมเดินทาง ให้เกียรติเพื่อนร่วมทาง เมื่อนั้นคุณก็จะได้รับเกียรติและการยอมรับเช่นกัน

Fjallraven Thailand Trail เป็นการเดินป่าระยะทางไกลที่จะพาคุณไปตามเส้นทางเก่าแก่ที่มีความยาวกว่า 50 กิโลเมตร เป็นเส้นทางข้ามสันเขาที่เชื่อมต่อของหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงซึ่งใช้เดินไปเยี่ยมญาติและแลกเปลี่ยนของกินของใช้กัน ปัจจุบันมีถนนหนทางที่สะดวกขึ้น แม้ว่าจะอ้อมไปไกลกว่า แต่สามารถไปมาหาสู่กันได้ด้วยรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ ทำให้เส้นทางเดินนี้ถูกปล่อยให้รกร้างจนถูกหลงลืม ตลอด 4 วันของการเดินทางคุณจะได้สัมผัสความงามของธรรมชาติในแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อนที่ระดับความสูงตั้งแต่ 900 – 1,700 เมตรจากระดับทะเล

เหตุและผลของการเริ่มต้นเดินป่าอย่างยั่งยืน

พวกเราเริ่มต้นเดินเท้าจาก “แม่ปะ” หมู่บ้านที่อาศัยอยู่ร่วมกับธรรมชาติเป็นหนึ่งเดียว แต่เดิมชาวกะเหรี่ยงในหมู่บ้านนี้จะทำนาเพียงแค่ให้มีข้าวกินทั้งปี ส่วนของสดหาได้จากป่าเขา เมื่อของที่ได้จากธรรมชาติเหลือจึงค่อยต่อแพไม้ไผ่ล่องไปขายให้หมู่บ้านที่อยู่ติดถนนเบื้องล่าง ดูเหมือนว่าเงินไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับพวกเขานัก แต่เมื่อวันที่ความเจริญเข้ามา เงินตรากลายเป็นสิ่งจำเป็น การปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ไร่ข้าวโพด จึงเป็นทางเลือกของชาวบ้าน แต่ผลที่ตามมาคือสภาพดินที่แย่ลง ป่าไม้หายไปเพราะการถางพื้นที่เพื่อทำการเกษตร น้ำที่เคยใสสะอาดก็ขุ่นมัว สัตว์น้ำหายไป เหลือไว้แต่เพียงลมหายใจของชาวบ้านที่รอความหวังว่าวันหนึ่งธรรมชาติจะดีขึ้น แต่ความหวังไม่ได้สูญสิ้น เมื่อโครงการพัฒนาป่าไม้ตามแนวพระราชดำริได้พยายามเข้ามาสร้างทางเลือกในการทำกินร่วมกับป่าหลายโครงการ เช่น การปลูกบุก ปลูกกาแฟใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ หรือการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ซึ่งเป็นตัวอย่างของการสร้างรายได้ให้ชาวบ้านโดยที่ป่าก็ยังคงอยู่ได้ต่อไปอย่างยั่งยืน นี่จึงเป็นที่มาของเส้นทางที่ใช้เดินเท้าเข้าป่าในครั้งนี้

อ่านต่อหน้า 2 รายละเอียดเส้นทางเดินป่าระยะไกลชุมชนขุนน้ำเงา

ระยะทางโดยประมาณ 50 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินเท้าตั้งแต่ วันที่ 19 – 23 มกราคม 2561 รวมเวลาทั้งหมด 4 คืน 5 วัน

เส้นทางการเดินป่าวันที่ 1 – 3 (บางส่วน)

คลิกที่ภาพเพื่อชมภาพขนาดใหญ่

เส้นทางเดินวันที่ 1 จากแม่ปะสู่จอลือคี ระยะทาง 9 กิโลเมตร 

เริ่มต้นที่ระดับความสูง 900 เมตรจากระดับทะเล เส้นทางนี้จะพาเราขึ้นไปสู่ทุ่งหญ้าสีทอง ณ จุด Check Point ที่ 1 “จอลือคี” ที่ระดับความสูง 1,200 เมตรจากระดับทะเล ซึ่งมองเห็นวิวทะเลหมอกได้360 องศา เราได้เห็นต้นน้ำที่ชายขอบตามซอกเขาที่ยังคงอุดมสมบูรณ์และหล่อเลี้ยงทุกสรรพสิ่งที่อยู่เบื้องล่าง ซึ่งทำให้ได้รู้ว่าแหล่งต้นน้ำนั้นถูกทำลายได้ง่ายเพียงใด นอกจากนี้ยังมีทะเลหมอกและจุดชมวิวชื่อว่า “ม่อนกองข้าว” ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่เงาให้ได้ชื่นชมและซึบซับความทรงจำที่น่าประทับใจ

บางช่วงของเส้นทางอาจจะทำให้รู้สึกเหนื่อยไปบ้าง แต่การ trekking ครั้งนี้ก็ได้การสนับสนุนที่ดีจากเพื่อนร่วมทาง

เส้นทางเดินวันที่ 2  จากจอลือคีสู่ดอยธง 8 กิโลเมตร

พาเราเดินไปตามสันเขาที่เป็นสันปันน้ำแบ่งน้ำฝนและเป็นต้นน้ำของแม่น้ำสายสำคัญสองสาย คือ สำคัญสองสาย คือ แม่น้ำแม่เงาและแม่น้ำแม่ตื่น เราได้เห็นผืนป่าเล็กๆในหุบเขาและวิวแบบพาโนรามาที่ความสูง 1,650 เมตรจากระดับทะเล สัมผัสอากาศเย็นที่อุณหภูมิเลขตัวเดียวที่ “ดอยธง” ซึ่งเป็นจุดที่สูงที่สุดของเส้นทางและอากาศก็เย็นที่สุดด้วย

ผู้เข้าร่วมทริป เดินไต่สันเขาช่วงเส้นทางจากจอลือคีมุ่งหน้าสู่ดอยธง

เส้นทางเดินป่าวันที่ 3 (บางส่วน) – 4 

คลิกที่ภาพเพื่อชมภาพขนาดใหญ่

เส้นทางวันที่ 3 จากดอยธงสู่หมื่อหะคี 19 กิโลเมตร 

        จากดอยธงสู่หมื่อหะคี หมู่บ้านไกลปืนเที่ยงที่แสนกันดาร เป็นเส้นทางที่เราเดินเท้าไกลที่สุดในโปรแกรมนี้ มีระยะทางถึง 19 กิโลเมตร ที่ระดับความสูง 930 เมตรจากระดับทะเล ที่ “หมื่อหะคี” มีจุดชมดวงอาทิตย์ตกดินที่สวยงามไม่แพ้สองจุดที่เดินผ่านมา ซึ่งในภาษากะเหรี่ยง แปลว่า “ดินแดนแห่งอาทิตย์อัสดง” ไกด์ท้องถิ่นบอกเราขำๆว่านี่อาจไม่ใช่ดินแดนที่ดวงอาทิตย์ตกดินสวยที่สุด แต่เป็นเพราะว่ากว่าจะเดินทางมาถึงที่นี่ดวงอาทิตย์ก็ตกดินไปนานมากแล้ว ที่นี่ทำให้เราได้เห็นวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่อยู่ร่วมกับป่าได้อย่างกลมกลืน ที่สำคัญยังมีกาแฟรสชาติดีให้ชิมอีกด้วย

ผู้ร่วมเดินทางท่านหนึ่งยืนพักบนเส้นทางสู่หมื่อหะคี เพื่อชมทิวทัศน์ของขุนเขาที่ทอดตัวอยู่เบื้องหน้า
จุดชมวิวโรงเรียนบ้านแม่หาด

เส้นทางวันที่ 4 จากหมื่อหะคีสู่สบโขง 13 กิโลเมตร

          จากหมื่อหะคีเราจะเดินผ่านป่าและนาบนดอยของชาวบ้านลดระดับความสูงสู่หมู่บ้านริมน้ำที่สบโขง ซึ่งเป็นภาษาเหนือ “สบ” แปลว่า มาพบประสบกัน พอมาใช้กับแม่น้ำจึงหมายถึงแม่น้ำโขงมาพบกับแม่น้ำสายอื่น หรือการเป็นจุดสิ้นสุดของแม่น้ำโขงและเป็นจุดเริ่มต้นของแม่น้ำเงานั่นเอง

ผ่านจากหมู่บ้านของชาวเขาออกมา พวกเราก็เดินลัดเลาะทางน้ำ และผ่านผื่นป่าเขียวชอุ่ม

ถือเป็นเส้นชัยของการเดินป่าในครั้งนี้ ตลอดเส้นทางเดินจะเห็นร่องน้ำที่ไหลผ่านตามซอกเขา เห็นลำธารเล็กๆ จนใหญ่ขึ้นกลายเป็นแม่น้ำเงาที่ใสเป็นกระจก เป็นแหล่งรวมอาหารและความอุดมสมบูรณ์ของทุกสรรพสิ่ง เรามาแวะพักที่จุดสิ้นสุดการเดินป่าที่โรงเรียนชื่อ “ล่องแพวิทยา” ซึ่งมีเรื่องเล่าว่า เมื่อสิบกว่าปีที่แล้วยังไม่มีถนนตัดมาถึงหมู่บ้านนี้ ถนนที่ใกล้ที่สุดคือหมู่บ้านอุ้มโล๊ะซึ่งอยู่ห่างจากสบโขงไป 12 กิโลเมตร จะสัญจรได้ก็เฉพาะหน้าแล้งเท่านั้น เวลาที่ครูมาสอนเด็กๆในหมู่บ้านต้องเดินเท้ามาจากหมู่บ้านอุ้มโล๊ะ เวลาสอนเสร็จก็ต่อแพล่องกลับไปตามแม่น้ำเงา ที่จุดนี้เราจึงมีโอกาสได้ลองนั่งแพล่องแก่งไปตามลำน้ำ บอกเลยว่าเป็นประสบการณ์ที่ตื่นเต้นเร้าใจดีจริงๆครับ

หลังเดินป่าจนจบครบทุกสถานีแล้ว ผมก็ได้เรียนรู้ว่า “จริงๆแล้วเราไม่ได้พิชิตอะไรเลย” เพราะเส้นทางนี้ชาวบ้านก็ใช้เป็นประจำอยู่แล้ว ภูเขาก็ยังอยู่อย่างนั้น แต่สิ่งที่ทำให้ผมภูมิใจคือการได้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาให้เกิดการเดินป่าอย่างยั่งยืนและอยากให้หลายคนทำตาม การอนุรักษ์ธรรมชาติไม่ใช่การห้ามไม่ให้คนมาสัมผัสธรรมชาติ แต่เป็นการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน การที่ชาวบ้านได้ผลตอบแทนเป็นเงินจากป่าที่พวกเขาใช้ประโยชน์และอยู่อาศัยร่วมกันมาช้านาน ก็จะยิ่งทำให้พวกเขาตั้งใจดูแลรักษาป่าไว้ให้นักท่องเที่ยวได้มาชื่นชมความงามต่อไป

ขยะทุกชิ้นที่เรานำติดตัวไปก่อนเดินทาง ทุกคนต้องรับผิดชอบโดยการนำออกมาทิ้งยังจุดสุดท้ายที่มีการจัดเตรียมไว้

การเดินป่าในครั้งนี้ไม่มีการแข่งขันเอาชนะกัน ไม่มีการจับเวลา แต่เป็นการให้ความรู้ความเข้าใจแก่มนุษย์ในเรื่องการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน ที่สำคัญคือการได้เอาชนะใจตัวเอง สำหรับผมแล้วนี่เป็นอีกหนึ่งประสบการณ์และควาทรงจำดีๆที่ผมจะไม่มีวันลืมเลยครับ สำหรับผู้สนใจอยากเดินทางไปสัมผัสวิถีชีวิตแบบนี้บ้าง เข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

เส้นทางเดินป่าระยะไกลชุมชนขุนน้ำเงา

และสำหรับคนที่มีความพร้อมทั้งอุปกรณ์และร่างกายสามารถไปเดินต่อได้ที่งาน Fjallraven classic ซึ่งจะมีการจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี สามารถเข้าไปรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://classic.fjallraven.com/ แต่ถ้าใกล้บ้านเราที่สุดจะมีจัดขึ้นที่ HONGKONG ในเดือนตุลาคมนี้

ภาพถ่ายโดย Samsung Galaxy S9

เรื่อง: ไตรรัตน์ ทรงเผ่า

ภาพ: ณัฐวัฒน์ ส่องแสง,ไตรรัตน์ ทรงเผ่า

ขอขอบคุณ Fjallraven Thailand Trail, Thailand outdoor และมูลนิธิธรรมชาติไม่จำกัด

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.