เยือนมัสยิดอันงดงามที่สุดในโลก

เยือนมัสยิดอันงดงามที่สุดในโลก

ประชากรราวหนึ่งในสี่ของโลกเป็นชาวมุสลิม มัสยิด ซึ่งมาจากภาษาอาหรับ (masjid มัสญิด) เป็นศาสนสถานของชาวมุสลิมที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรม และยังทำหน้าที่อื่นๆ เช่น เป็นศูนย์กลางของชุมชนที่สอนหนังสือ หรือสถานที่จัดงานในช่วงวันสำคัญและวันหยุด อย่างเช่นในช่วงรอมฎอน (เราะมะฎอน) เป็นต้น

มัสยิดในอดีตอาจไม่ได้ดูสวยงามตระการตาอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน อย่างเช่น มัสยิดชีคซาเญดในอาบูดาบี มัสยิดแห่งแรกของโลกคือบ้านของนบีมุฮัมมัดในเมืองเมดีนา โดยที่ท่านนบีมุฮัมมัดจะยืนอยู่เบื้องหน้ากำแพงในลานบ้าน ซึ่งหันหน้าไปทางนครเมกกะ และจะแสดงธรรมต่อเหล่าศิษยานุศิษย์ที่มารวมตัวกันเพื่อฟังคำสอน

นับจากนั้นมา การเผยแผ่ของศาสนาอิสลามจากตะวันออกกลางก็ทำให้มัสยิดผุดขึ้นทั่วโลก โดยมีการออกแบบที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ทว่านักเดินทางจะพบลักษณะร่วมกันบางประการ เช่น โถงละหมาดที่มีที่อาบน้ำละหมาด มิห์รอบหรือชุมทิศรูปครึ่งวงกลมที่หันไปทางทิศของเมกกะ หออะซานซึ่งใช้ประกาศหรือเรียกให้มารวมตัวกันที่มัสยิดเพื่อละหมาด และซุ้มประตูรูปโดม

ตั้งแต่นครทิมบักตูไปจนถึงกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ศาสนสถานอันงดงามตระการตาเหล่านี้เป็นหลักฐานของเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และเหตุการณ์ทางศาสนาอันอัศจรรย์ โดยเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นมุสลิมและเป็นจุดหมายปลายทางของอิสลามิกชน เราขอเชิญชวนนักเดินทางผู้สำรวจข้ามทวีปไปยังประเทศต่างๆทั่วโลกให้ไปเยือนมัสยิดเหล่านี้ในการเดินทางครั้งต่อไปของคุณ

มัสยิดสุลต่านอะห์มัด หรือมัสยิดสีน้ำเงิน (Sultan Ahmed Mosque)

มัสยิดที่สร้างขึ้นในศตวรรษที่สิบเจ็ดแห่งนี้ เป็นอาคารที่งดงามและถ่ายภาพขึ้นที่สุดของนครอิสตันบูล และได้นามมาจากกระเบื้องสีน้ำเงินที่ตกแต่งภายในมัสยิดภาพถ่าย Keith Arnold, Getty Images

มัสยิดนาซีรอัลมุลก์ (Nasir Al Molk Mosque)

กระจกสีซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่พบเห็นบ่อยนักในมัสยิด ประดับประดาอยู่บนบานหน้าต่างของสุเหร่านาซีรอัลมุลก์ ในเมืองชีราซของประเทศอิหร่าน และส่องลวดลายหลากสีสันตกกระทบพรมเปอร์เซียเบื้องล่าง
ภาพถ่าย Richard I’Anson, Getty Images

มัสยิดอิสติกลัล (Istiqlal Mosque)

ในช่วงที่มีการก่อสร้างมัสยิดอิสติกลัลในกรุงจาการ์ตาในช่วงปลายศตวรรษที่ยี่สิบ หออะซานและยอดโดมของมัสยิดแห่งนี้ถือว่าล้ำยุค เพราะดูเป็น “อาหรับ” มากเกินไปสำหรับชาวมุสลิมท้องถิ่น ตามธรรมเนียมเดิมแล้ว มัสยิดแบบชวาจะต้องมีหลังคาสามชั้น
ภาพถ่าย Dasril Roszandi, Anadolu Agency/Getty Images

มัสยิดจามา (Jama Masjid Mosque)

ด้านนอกของมัสยิดจามาของอินเดียสร้างจากหินทรายสีแดงและหินอ่อน เป็นการรำลึกถึงอาณาจักรโมกุล ซึ่งได้รับอิทธิพลจากจักรวรรดิเปอร์เซีย
ภาพถ่าย Zheng Huansong, Xinhua/Redux

มัสยิดชีคซาเญด (Shaikh Zayed Grand Mosque)

สุเหร่าหลวง (Grand Mosque) ขนาดใหญ่ของอาบูดาบี รองรับผู้มาสักการะได้กว่า 40,000 คน ทั้งในโถงละหมาดและสนามหญ้า พรมเปอร์เซียผืนใหญ่ที่สุดในโลกปูพื้นภายใต้โคมไฟระย้าประดับคริสตัลของสวารอฟสกี ซึ่งนำเข้าจากเยอรมนี
ภาพถ่าย Lutz Jaekel, laif/Redux

มัสยิดสุลต่านฮัสซัน (Sultan Hassan Mosque)

มัสยิดที่ทำหน้าที่เป็นทั้งโรงเรียนและมัสยิดมานานกว่า 300 ปีแห่งนี้ในกรุงไคโร เป็นต้นแบบของมัสยิดที่ผู้เชี่ยวชาญจะยกมาพูดถึงในด้านปรัชญาอิสลาม
ภาพถ่าย Getty Images

มัสยิดชาห์ (Shah Mosque)

ลักษณะหนึ่งที่เป็นที่เชิดหน้าชูตาที่สุดของสุเหร่าหลวงแห่งเมืองอิสฟาฮานของอิหร่านแห่งนี้ คือการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งในช่วงสิบศตวรรษที่ผ่านมา และเป็นตัวแทนของศิลปะและสถาปัตยกรรมแบบอิสลามที่มีขนบยาวนานนับพันปี
ภาพถ่าย Getty Images

มัสยิดแห่งชาติมาเลเซีย (National Mosque of Malaysia)

หลังคาของมัสยิดแห่งชาติมาเลเซียที่สร้างขึ้นในกรุงกัวลาลัมเปอร์ในช่วงปลายศตวรรษที่ยี่สิบ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากด้านใต้ของร่มที่กางออก
ภาพถ่าย Manan Vatsyayana, Getty Images

มัสยิดเมืองการศึกษา (Education City Mosque)

มัสยิดแห่งนี้ในกรุงโดฮามีเสาห้าต้น ซึ่งสื่อถึงรุก่น (หลักปฏิบัติ) อิสลามห้าประการ อันได้แก่ 1.การกล่าวปฏิญาณตน 2.การละหมาด 3.การถือศีลอด 4.การจ่ายซะกาต 5.การประกอบพิธีฮัจญ์ และสลักเสลาคำสอนจากคัมภีร์อัลกุรอานอย่างงดงาม
ภาพถ่าย Bonnie Jo Mount, The Washington Post/Getty Images

มัสยิดกษัตริย์ฮัสซันที่สอง (Hassan II Mosque)

หออะซานสูง 213 เมตรของมุสยิดกษัติรย์ฮัสซันที่สอง เป็นหออะซานที่สูงที่สุดในโลก โดยถือเป็นสัญลักษณ์ของคาซาบลังกาพอๆกับที่ตึกเอมไพร์สเตตเป็นสัญลักษณ์ของมหานครนิวยอร์ก
ภาพถ่าย Wolfgang Kaehler, Getty Images

มัสยิดอิบนุตูลุน (Ibn Tulun Mosque)

มัสยิดอันงามสง่าแห่งนี้ เป็นหนึ่งในมัสยิดที่ได้รับการบำรุงรักษาไว้อย่างดีที่สุดของอียิปต์ และสร้างด้วยอิฐแดงในปี ค.ศ. 876 โดยผู้ครองนครชาวเติร์กที่ปกครองอียิปต์และซีเรีย
ภาพถ่าย Michel Setboun, Getty Images

มัสยิดซูเลย์มานีเย หรือมัสยิดสุไลมาน (Suleymaniye Mosque)

มัสยิดของจักรวรรดิออตโตมัน อย่างเช่นมัสยิดสุไลมานแห่งนี้ สร้างขึ้นมาเพื่อประชันกับโบสถ์อายาโซเฟีย ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวหลักของเมือง
ภาพถ่าย nimon_t, Getty Images

ศูนย์อิสลามในวอชิงตัน ดี.ซี. (Islamic Center in Washington D.C.)

ศูนย์อิสลามในวอชิงตัน ดี.ซี. ได้รับการยกย่องในฐานะสถาปัตยกรรมที่ผมสผสานแนวทางและอิทธิพลทางวัฒนธรรมหลากหลายเข้าด้วยกัน โดยเฉพาะจากอิหร่าน อียิปต์ และตุรกี
ภาพถ่าย Getty Images

มัสยิดชาห์ไฟซาล หรือมัสยิดอัลไฟซาล (Shah Faisal Mosque)

มัสยิดที่สร้างขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 1970 ในกรุงอิสลามาบัดแห่งนี้ เป็นมัสยิดสมัยใหม่ที่ปฏิบัติตามแนวทางของนิกายซุนนี แต่ยังประกอบศาสนพิธีของหลายนิกายในโลกมุสลิม
ภาพถ่าย Shahid Khan, Alamy Stock Photo

มัสยิดใหญ่ในไครูวาน (มัสยิดซิดีอักบัร์ – Great Mosque in Kairouan)

เมืองไครูวานของตูนิเซียเป็นเมืองอิสลามแห่งแรกในทวีปแอฟริกาเหนือและเป็นหนึ่งในนครศักสิทธิ์สี่แห่งของชาวมุสลิม (นอกเหนือไปจากมักกะฮ์ มะดีนะฮ์  และเยรูซาเล็ม) มัสยิดใหญ่ของที่นี่เลื่องชื่อเพราะสถาปัตยกรรมแบบอิสลามที่สร้างตามแบบบ้านของศาสดามุฮัมมัดในเมืองมะดีนะฮ์ ซึ่งถือว่าเป็นมัสยิดแห่งแรกของโลก
ภาพถ่าย Ron Watts, Getty Images

อ่านเพิ่มเติม

เมืองไทยในอดีต : ศรัทธาและศาสนา

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.