เอเวอเรสต์มาราธอน รายการวิ่งบนเส้นทางที่สูงที่สุดในโลก

ช่วงปลายเดือนพฤษภาคมของทุกปี นักวิ่งเทรลจากทั่วโลกมารวมตัวกันในรายการ เอเวอเรสต์มาราธอน

วันที่ 29 พฤษภาคม 1953 เป็นวันที่ Tenzing Norgay Sherpa และ Sir Edmund Hillary มนุษย์คู่แรกที่พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ได้สำเร็จ และในวันเดียวกันของทุกปี เพื่อเป็นการรำลึกถึงผู้พิชิตทั้งสองคนจึงเกิดรายการวิ่ง Tenzing Hillary Everest Marathon หรือที่รู้จักโดยทั่วไปในนาม เอเวอเรสต์มาราธอน เพื่อรำลึกถึงความกล้าหาญและความสำเร็จนี้ โดยในปี 2019 เป็นการจัดการแข่งขันครั้งที่ 17 และมีคนไทยเข้าร่วมการแข่งขันเพียงคนเดียว

รายละเอียด Everest Marathon

คุณพิพัฒน์ ละเอียดอ่อน ชาวไทยเพียงคนเดียวที่ร่วมรายการวิ่งเอเวอเรสต์มาราธอนในปีนี้ เล่าว่า ผู้เข้าแข่งขันทุกคนต้องเดินขึ้นไปยังจุดปล่อยตัวบนเอเวอเรสต์เบสแคมป์ ที่ความสูงประมาณ 5,300 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ซึ่งนับเป็นเสน่ห์ของรายการนี้ ที่ผ่านมามีคนไทยเข้าร่วมรายการเพียง 1-2 คน

สภาพภูมิประเทศและสภาพภูมิอากาศที่สุดขั้วเป็นสิ่งท้าทายนักวิ่งทุกคน ที่ผ่านมานักวิ่งจากนานาชาติไม่เคยชนะคนท้องถิ่นหรือเชอร์ปาได้เลย ทางผู้จัดงานจึงแบ่งประเภทการแข่งขันเป็นรุ่นคนท้องถิ่น และรุ่นนานาชาติ ในปีนี้มีนักวิ่งจากทั่วโลกเข้าร่วมประมาณ 140 คน และคนเนปาลประมาณ 60-70 คน

ภาพถ่าย: Aayush Bista

วันที่ 15 พฤษภาคม นักวิ่งทุกคนไปรวมตัวกันที่กรุงกาฐมาณฑุ แต่ละคนประสบการณ์ล้วนโชกโชน บางคนผ่านสนามวิ่งมาราธอนมากว่าร้อยสนาม แต่สำหรับบนเส้นทางวิ่งที่สูงที่สุดในโลกแห่งนี้ ไม่ใช่ใครๆ ก็ผ่านไปได้

มอเตอร์ไซค์ทริปบบนเส้นทางที่สุดในโลก

วันที่ 16 พฤษภาคม คณะนักวิ่งทุกคนออกเดินทางจากกาฐมานฑุไปยังเมืองลุกลา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการเดินขึ้นเขาไปยังเอเวอเรสต์เบสแคมป์ คุณพิพัฒน์เล่าและเสริมว่า ทุกคนได้รับอนุญาตให้นำสัมภาระติดตัวไปได้เพียงคนละ 15 กิโลกรัม ในตอนที่จัดกระเป๋า ผมต้องคัดเอาเฉพาะ “สิ่งสำคัญ” ที่ “สำคัญที่สุด” โดยมีกระเป๋า Day Pack ที่ติดตัวเราหนึ่งใบ ส่วนกระเป๋าใบใหญ่ ผู้จัดงานทำหน้าที่ขนถ่ายให้เรา

ภาพถ่าย: พิพัฒน์ ละเอียดอ่อน
ภาพถ่าย: พิพัฒน์ ละเอียดอ่อน

ทุกวันที่ต้องอยู่บนเส้นทางเดินไต่ไปบนเทือกเขาสูงชัน แพทย์สนามจำเป็นต้องตรวจร่างกาย เพื่อให้มั่นใจว่านักวิ่งทุกคนพร้อมที่จะทำการวิ่งเมื่อเดินทางไปจุดปล่อยตัว และเมื่อแพทย์ประเมินว่า ร่างกายของคุณไม่พร้อม คุณก็จำเป็นต้องยุติการเดินทางของคุณไว้เพียงเท่านี้

ก่อนหน้านี้มีนักวิ่งบางคนพยายามฝืนคำสั่งของแพทย์ และได้รับอันตรายจากการแข่งขัน ปีนี้จึงเข้มงวดเป็นพิเศษ” คุณพิพัฒน์บอก การแข่งขันรายการนี้ คุณต้องเตรียมตัวมาดีมาก ซ้อมวิ่งล่วงหน้ามาหลายเดือนก่อนสมัครเข้าร่วมแข่งขัน ชายวัยกลางคนร่างกายสูงใหญ่เล่าให้เราฟังด้วยสายตาเป็นประกาย ในขณะที่เขาอยู่เมืองไทย เขาจำเป็นต้องวางแผนการซ้อมอย่างดี และมีเป้าหมายที่ชัดเจน รวมถึงซ้อมวิ่งด้วยการใส่หน้ากากที่จำกัดปริมาณออกซิเจน เป็นการจำลองสภาพอากาศที่จะพบเจอในวันแข่งจริง

ภาพถ่าย: เจียรยุทธ์ รัตนศิริกุลเดช

เส้นทางนี้ไม่ใช่แค่การไปวิ่ง แต่ระหว่างทางที่เดินขึ้นไป เราได้เรียนรู้ เราได้พบประสบการณ์ และเราได้แบ่งปันกับเพื่อนร่วมทีมทุกคน” เขาเล่า “เป็นสิ่งที่หาไม่ได้จากสนามอื่น” ช่วงเวลาตลอด 19 คืน 20 วัน นักวิ่งถูกแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อย กลุ่มละประมาณ 25 – 30 คน และอยู่ในกลุ่มเดิมจนจบการแข่งขัน นักวิ่งในทีมเดียวกันจึงได้แบ่งปันประสบกาณ์ที่แต่ละคนไปพบเจอมาจากสนามอื่นๆ นอกเหนือจากนั้น ยังได้ร่วมมือกันในโครงการ Clean Everest ที่ช่วยกันเก็บขยะที่ถูกทิ้งอยู่บนเส้นทางเดิน รวมระยะเวลาในการเดินขึ้นไปยังจุดปล่อยตัวทั้งหมด 12 วัน

ภาพถ่าย: พิพัฒน์ ละเอียดอ่อน
ภาพถ่าย: พิพัฒน์ ละเอียดอ่อน

วันที่ 27 พฤษภาคม คือวันที่นักวิ่งทุกคนเดินทางไปถึงเบสแคมป์ แพทย์สนามตรวจร่างกายทุกคนโดยละเอียดอีกครั้ง และมีเวลาพักเพื่อให้ร่างกายปรับสภาพหนึ่งวัน

วันที่ 29 พฤษภาคม เป็นวันปล่อยตัวนักวิ่งทุกคน โดยเส้นทางเป็นการวิ่งขึ้นลงบนเขากลับลงมายังด้านล่าง แข่งกับเวลาที่กำหนด ที่จุดระยะทาง 32 กิโลเมตร ถือเป็นจุด Cut off นักวิ่งท่านใดที่ผ่านจุดนี้หลังเวลา 16.00 น. จะต้องนอนพักที่จุดนี้ และออกวิ่งอีกครั้งตอน 6 โมงเช้า โดยถูกปรับเวลาไปสามชั่วโมง มีบางท่านที่ไม่ผ่านจุดนี้ นักวิ่งส่วนใหญ่ผ่านประสบการณ์ในการวิ่งเทรลสนามใหญ่ๆ มาทั่วโลก พิชิตยอดเขาสูงมาแล้วหลายสนาม และสนามนี้ถือเป็นหนึ่งในสนามในฝันของนักวิ่งเทรลหลายคน

ภาพถ่าย: Aayush Bista

อ่านต่อหน้า 2 

ก่อนหน้านี้ คุณพิพัฒน์ประสบปัญหาด้านสุขภาพในด้านต่างๆ จนถึงจุดเปลี่ยนที่ต้องลุกขึ้นมารักษาสุขภาพ เพราะอยากเห็นโลกให้มากกว่านี้ จึงเริ่มมาให้ความสนใจกับการดูแลสุขภาพด้วยการออกกำลังกาย ในช่วงแรก คุณพิพัฒน์เลือกการออกกำลังกายด้วยการปั่นจักรยาน และหันมาสนใจการวิ่งอย่างจริงจัง จนกระทั่งตอนนี้ปัญหาด้านสุขภาพไม่ใช่อุปสรรคอีกต่อไป “ในช่วงแรก ก็เริ่มจากการวิ่งระยะใกล้ๆ แล้วก็กำหนดเป้าหมายเพิ่มระยะขึ้นเรื่อยๆ ” คุณพิพัฒน์เล่าและเสริมว่า “รายการแรกที่ลองวิ่งคือ สิงคโปร์ฮาล์ฟมาราธอน ตอนนั้นคิดแค่ว่าได้ไปเที่ยวพร้อมกับไปวิ่ง

ภาพถ่าย: เจียรยุทธ์ รัตนศิริกุลเดช

หลังจากนั้น เขาคือหนึ่งในคนไทยที่ร่วมรายการ โตเกียวมาราธอน ก่อนการวิ่งในสนามจริง คุณพิพัฒน์วางแผนซ้อมอย่างเป็นระบบ กำหนดเป้าหมายในการซ้อมแต่ละวัน เพราะถือเป็นการวิ่งมาราธอนครั้งแรก หลังจากจบการแข่งขัน เขาก็พบว่าตัวเองทำได้ และได้พบกับความสนุกในการร่วมรายการวิ่ง จนกระทั่งวันหนึ่งที่คุณพิพัฒน์จำเป็นต้องวิ่งร่วมวิ่งเทรลที่จังหวัดเชียงใหม่ เพราะเพื่อนที่สมัครรายการวิ่งเกิดอาการบาดเจ็บที่ขา ซึ่งครั้งนั้นนับเป็นครั้งแรกที่คุณพิพัฒน์ได้พบกับประสบการณ์ในการวิ่งเทรลเป็นครั้งแรก และครั้งต่อๆ มา คุณพิพัฒน์จึงมองหาสนามใหม่ๆ ที่จะพาตัวเองออกไปวิ่ง และพบกันเรื่องราวที่รอเขาอยู่ระหว่างทาง

ภาพถ่าย: เจียรยุทธ์ รัตนศิริกุลเดช

ถ้าเรามีเป้าหมาย เราจะมองหาวิธีการ” คุณพิพัฒน์บอกกับเราและยกตัวอย่างว่า “ถ้าคุณอยากวิ่งให้ได้ 10 กิโลเมตร คุณก็จะไปหาว่า วิธีการวิ่งให้ได้ 10 กิโลเมตร ต้องทำอย่างไร ต้องซ้อมอย่างไร” ความสำคัญในการออกกำลังกายทุกชนิดคือ “ความสม่ำเสมอ” ต้องดูความเหมาะสมและความพร้อมของร่างกาย ทุกคนสามารถออกไปวิ่งได้ การออกกำลังกายได้มากกว่าแค่ร่างกายแข็งแรง แต่ยังเป็นการใช้เวลากับตัวเอง และหยุดพักความคิดจากสิ่งอื่นๆ ที่เราพบเจอมาตลอดทั้งวัน

ภาพถ่าย: เจียรยุทธ์ รัตนศิริกุลเดช

ในอนาคต คุณพิพัฒน์เล่าว่า อาจร่วมรายการวิ่งระยะทาง 100 ไมล์ ที่เทือกเขามงบล็อง (Mont Blanc) ซึ่งเป็นเส้นทางที่มีทัศนียภาพสวยมาก แต่ระยะเวลาที่กำหนดคือต้องวิ่งให้ถึงเส้นชัยภายในเวลา 30-40 ชั่วโมง เราก็ต้องซ้อม ถ้าอยากสำเร็จก็ต้องซ้อม และต้องชัดเจนว่าเราจะไปให้ได้ ในตอนท้ายคุณพิพัฒน์ทิ้งท้ายว่า ก็คงต้องแลกมาด้วยเหงื่อ และความเหนื่อยล้า แต่ถ้าเราไม่ชัดเจน แล้วเราจะถึงเส้นชัยได้อย่างไร

เรื่อง นภัทรดนัย ตามคำบอกเล่าของ พิพัฒน์ ละเอียดอ่อน

ภาพถ่าย พิพัฒน์ ละเอียดอ่อน, Aayush Bista และเจียรยุทธ์ รัตนศิริกุลเดช


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ: ภาพการผจญภัยของนักสำรวจเหล่านี้คือแรงบันดาลใจ

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.