งานวิ่งเทรลโคลัมเบีย 2019 : คำบอกเล่าจากสนามจริง

Columbia Trail Masters 2019
พิชิต งานวิ่งเทรลโคลัมเบีย สุดหฤโหดในวันที่อายุสวนทางกับเรี่ยวแรง

คำบอกเล่าจากผู้เข้าร่วม งานวิ่งเทรลโคลัมเบีย 2019

เมื่อตัวเลขอายุบ่งบอกถึงการอยู่มานานในระดับหนึ่งบนโลกใบนี้ คุณเคยคิดถึงสิ่งใดบ้างที่อยากทำ และชาตินี้ไม่มีวันทำ ผมเชื่อว่าหลายคนก็คงคิดนะครับ บางคนคิดจะทำแต่อาจไม่ได้ทำเพราะว่ากายสังขาร ไม่เอื้ออำนวยให้ทำได้อย่างเมื่อก่อน ฉะนั้นเมื่อคิดอยากทำอะไรแล้วก็ควรทำเลยครับ อย่าพูดแต่คำว่า “เดี๋ยวก่อน” เพราะถ้าบ่อยเข้ามันก็จะไม่ได้ทำ คุณจะมานั่งเสียใจเสียดายในภายหลัง

แล้วผมล่ะอยากทำอะไร ให้บอกตามตรงผมเองก็ยังไม่รู้ว่าจริงๆแล้วอยากทำอะไร แต่มีกิจกรรมหนึ่งที่ผมชอบ นั่นคือการเดินและวิ่ง วันนี้ผมเดินผมวิ่งได้ระยะทางแค่นี้ พรุ่งนี้ผมก็อยากเพิ่มระยะทางให้มากขึ้นกว่าเดิม นี่คือสิ่งที่ผมฝันว่าจะต้องเพิ่มระยะทางให้กิจกรรมของตัวเอง แล้วที่ไม่อยากทำล่ะ มีครับ อะไรก็ได้ที่อยู่ในที่สูงๆ เช่น กระโดดร่ม รถไฟเหาะตีลังกา ผมไม่ได้กลัวความสูงและความเร็วนะครับ แค่ไม่ชอบทำอะไรที่ควบคุมไม่ได้เท่านั้นเอง

ทิวทัศน์ระหว่างทางวิ่ง ผู้เข้าแข่งขันหลายคนหยุดชมทัศนีภาพอันสวยงาม

ผมเริ่มหลงใหลในการเดินและวิ่งมาได้ 5 ปีแล้ว เนื่องจากเห็นกายหยาบของตัวเองแล้วรับไม่ได้ จึงต้องหาทางลดขนาดพุงและแขนขาให้เล็กลง โดยส่วนตัวเป็นคนไม่เล่นกีฬาทุกชนิด ย้ำครับว่าทุกชนิดเลย การต้องมาเริ่มต้นทำในสิ่งที่ไม่เคยอยู่ในหัวเลยตอนอายุสี่สิบกว่ามันก็ยากเหมือนกันนะ จนมาพบแสงสว่างจากการเดินและวิ่ง ครูดิน – สถาวร จันทร์ผ่องศรี อดีตนักวิ่งมาราธอนทีมชาติไทยกล่าวไว้ว่า “คุณเดินได้ คุณก็วิ่งได้” จริงอย่างครูดินว่า เดินได้ก็วิ่งได้ ผมเริ่มจากเดิน เดิน และเดินจนร่างกายและใจพร้อมบอกว่าวิ่งเถอะ ผมจึงวิ่งตั้งแต่บัดนั้น จากน้ำหนัก 80 กิโลกรัมเมื่อ 5 ปีก่อน ปัจจุบันลงมาเหลือ 62 กิโลกรัม ไม่ขึ้นไม่ลง กินอาหารทุกมื้อ แต่กินได้น้อยลง และหันมาใส่ใจในเรื่องการกินมากขึ้น นี่คือผลพลอยได้สำหรับคนออกกำลังกาย

เมื่อต้นปีที่ผ่านมาผมมีโอกาสท้าทายตัวเองด้วยการเดินป่าระยะทาง 50 กิโลเมตร ผ่านการขึ้นเขาลงเขา น้ำท่าไม่ได้อาบ เข้าห้องน้ำก็ต้องใช้วิธีขุดหลุมเอา แบกเป้ที่มีน้ำหนัก 18 กิโลกรัมไว้กับตัวตลอดเวลา เรียกว่าเดินกันเป็นตัวสล็อตเลยครับ ฮา… เดินเร็วก็ไม่ได้ เดินช้าไปก็ไม่ดีเพราะจะถึงที่หมายมืดเกินไปในแต่ละวัน พอผ่านมาได้แบบไม่บอบช้ำ จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการท้าทายตัวเองอีกครั้งว่าคราวหน้าจะลงวิ่งเทรล 50 กิโลเมตรให้ได้ เพราะเมื่อเราท้าทายการเดินแล้ว ทำไมเราจะท้าทายการวิ่งไม่ได้

บรรยากาศก่อนการปล่อยตัว

และแล้ววันที่ผมรอก็มาถึง ผมได้ลงวิ่งท้าทายตัวเองอีกครั้งกับงานวิ่งเทรล Columbia Trail Masters 2019 ซึ่งปีนี้จัดเป็นปีที่ 19 แล้วกับการผจญภัยในป่าอย่างเต็มรูปแบบ ผมวิ่งเทรลมาสองครั้งแล้ว ครั้งนี้เป็นครั้งที่สาม ผมชอบเพราะว่าทุกครั้งที่เหนื่อยล้า แต่เมื่อมองเห็นสีเขียวและความสดชื่นของต้นไม้ใบหญ้าผมเชื่อว่าอย่างน้อยก็ช่วยเยียวยาความเหนื่อยล้าได้ระดับหนึ่ง

ต้องบอกก่อนว่าสนามวิ่งเทรลครั้งนี้เป็นสนามที่ 15 จัดขึ้นที่สวนละไม จังหวัดระยอง บางช่วงบางจุดโหดมากครับ ถึงขนาดว่าบางคนเห็นแล้วร้องขอเดินกลับบ้านกันเลยทีเดียว แล้วคุณคิดดูนักวิ่งหลายคนมากันเป็นกลุ่ม มากับครอบครัว มากับคนรัก กำลังใจก็จะดีกว่าคนอื่น ในขณะที่ผมมาตัวคนเดียวแบบเหงาๆ แต่ก็เพราะอยากรู้ว่าผมจะทำอะไรด้วยตัวคนเดียวได้ไหม สุดท้ายก็ทำได้นี่ไม่ตายหรอกเธอ ฮา… แต่ตอนจะเริ่มต้นวิ่งนี่สิใจเต้น คิดเยอะว่าจะทำได้ไหมทำได้หรือเปล่า

ทิวทัศน์มุมสูงจากสนามวิ่งสวนละไม จังหวัดระยอง

เมื่อสัญญาณปล่อยตัวนักวิ่งในเวลา 6.15 น. เริ่มขึ้น บรรดานักวิ่งเริ่มทยอยออกจากจุดสตาร์ท บนใบหน้าเต็มไปด้วยรอยยิ้มสดใส ส่วนผมเดินเรื่อยๆ คนเยอะมากวิ่งไปก็เสียพลังงานเปล่าๆ เมื่อถึงจุดขึ้นเขาลูกแรก คนข้างๆที่วิ่งมาด้วยกันถึงกับร้องบอกว่า “ผมกลับแล้วนะไปนอนรอที่เส้นชัยก่อน” จุดนี้โหดจริงๆครับ สมัยที่เริ่มวิ่งแรกๆ ในสมองจะมีเพลงอยู่สองเพลงของพี่เบิร์ด ธงไชย คือ “ฉันมาทำอะไร” กับ “กลับไม่ได้ไปไม่ถึง” อยู่ตลอดทาง ถามตัวเอง บ่นด่าตัวเอง แต่ปีนี้กลับไม่มีสองเพลงนี้อยู่ในหัวเลย นั่นเป็นเพราะว่าเรารู้ว่าจุดหมายของเราคืออะไร มีคนบอกเอาไว้ว่า “จุดหมายไม่สำคัญเท่าระหว่างทาง”

ผมว่าจริงๆแล้วจุดหมายเป็นตัวตั้งต้นให้เราไปให้ถึงต่างหาก ส่วนเรื่องระหว่างทางเป็นประสบการณ์ที่ต้องเก็บเกี่ยว ทั้งสองสิ่งจึงสำคัญไม่แพ้กัน ระหว่างทางกว่าจะถึง 50 กิโลเมตร ร่างกายผมสอนให้รู้ว่าตอนไหนต้องกินน้ำ ซึ่งกินมากไปก็บวมน้ำ ตอนไหนต้องกินเกลือแร่ และตอนไหนต้องกินโปรตีน และถ้ากินไม่สมดุลกันอาจทำให้ไตวายได้ อันนี้ต้องศึกษาเยอะๆ ครับ เส้นทางวิ่งสอนให้ร่างกายรู้ว่าต้องวิ่งแบบไหนไม่ให้เจ็บหัวเข่า ต้องใช้ไม้เท้าแบบไหนในการก้าวย่างแต่ละก้าว

บางจุดที่เราวิ่งผ่านเป็นสวนยางพารา

นี่คือเรื่องราวระหว่างทางที่เราได้เจอ หิวก็หิวแต่กินไม่ได้ กินได้เพียงแค่ snack bar ที่เหมือนอาหารนก กินทีละน้อยเคี้ยวให้ละเอียดแล้วค่อยๆ กลืนเพื่อเพิ่มพลังงาน แล้วเวลาพลังงานหมดเป็นอย่างไร คำตอบคือคุณจะง่วงมาก อยากหลับเลย ผมเองนี่หลับตาวิ่งเลย ตอนแรกไม่รู้ว่านี่คืออาการของร่างกายขาดพลังงาน ผมใช้วิธีกินเจลให้พลังงานแล้วจิบน้ำตาม เพื่อให้ดูดซึมเข้าเส้นเลือดได้เร็วที่สุด ได้ผลครับ แต่มันจะอยู่กับเราได้ไม่เกินครึ่งชั่วโมงก็หมดอีกแล้ว ตลอดระยะทาง 50 กิโลเมตรกับเวลา 11.30 ชั่วโมง ได้สอนให้ผมรู้ว่านอกจากจุดหมายเป็นตัวตั้ง ประสบการณ์ระหว่างทางเป็นตัวเสริม เป้าหมายที่ตั้งไว้เป็นสิ่งที่ต้องทำให้สำเร็จ

จุดเข้าเส้นชัย

ไม่ว่าคุณจะโดนคัตออฟหรือไม่ก็ตาม และยิ่งในวันที่อายุกับระยะทางสวนทางกับเรี่ยวแรงแล้ว เมื่อเราทำได้ตามเป้าหมาย ผมก็ถือว่านี่เป็นสิ่งที่สวยงามที่สุดของชีวิต

ข้อมูลงาน โคลัมเบียเทรล มาสเตอร์ 2019 


ขอขอบคุณ
คุณฐาปน วงศ์ไพบูลย์วัฒน รองประธานกรรมการ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ แบรนด์โคลัมเบีย

เรื่องและภาพ: ไตรรัตน์ ทรงเผ่า

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : นักวิ่งจากประเทศไทยเพียงหนึ่ง ในรายการ Everest Marathon 2019 

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.