ซาปา เมืองในสายหมอกกลางหุบเขาของเวียดนาม ไม่เพียงขึ้นชื่อในเรื่องธรรมชาติอันสวยสดงดงาม ที่นี่ยังเป็นแหล่งเพาะปลูก “ชะโก” เครื่องเทศที่สร้างรายได้งามให้แก่คนในท้องถิ่น
————————————————
จู่ๆ คนแปลกหน้าสะพายปืนอัดลมยาวก็โผล่มาตรงที่ผมกับหล่างยืนอยู่กลางหุบเขา
“สวัสดีค่ะ พวกเราหลงทาง” หล่างบอกไป เธอสวมเสื้อพื้นถิ่นทอมือคลุมกางเกงยืดและรองเท้าบู๊ตยาง “เห็นญาติๆ ฉันไหม มีผู้ชายเจ็ดคน ผู้หญิงสองคน” เธอเอ่ยถาม
กว่าจะมาถึงตรงนี้ได้ เราใช้เวลาหนึ่งวันเต็มกับการขี่มอเตอร์ไซค์ไปตามช่องเขาขรุขระ ลุยข้ามแม่น้ำสูงถึงเข่า เดินลัดเลาะขึ้นเขาไปตามเส้นทางคดเคี้ยว ตอนนี้เราใกล้ถึงจุดหมายแล้ว นั่นคือป่าชะโกหรือกระวานดำ (black cardamom) ซึ่งอยู่บนยอดเขาใกล้ๆ นั้น แต่เราหาเส้นทางที่จะพาตัดออกไปไม่เจอ “เยือง” ผู้เป็นสามีของหล่างจึงเพิ่งแยกออกไปเดินหาเมื่อครู่นี้
ปรากฏว่าหล่างกับคนแปลกหน้าผู้นั้นมาจากหมู่บ้านเดียวกัน ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากอุทยานแห่งชาติฮหว่างเลียน เขาทำไร่ชะโกในอุทยานนี้มาหลายปีแล้ว
เราเดินเข้าเขตอุทยานซึ่งประกอบด้วยเทือกเขาขรุขระและหุบเขาลดหลั่นใกล้ชายแดนเวียดนาม-จีน เพื่อไปดูการเก็บฝักชะโกในป่า หย่างทิหล่างกับเหวียนยันห์เยือง เป็นมัคคุเทศก์เดินป่าในเมือง ซาปา ที่อยู่ใกล้ๆ ผมผูกมิตรกับทั้งสองเมื่อหลายปีก่อนระหว่างใช้ชีวิตอยู่ในฮานอย ครอบครัวของหล่างปลูกชะโกในเทือกเขาฮหว่างเลียนมาตั้งแต่ทศวรรษ 1990 ปีนี้ โจ น้องชายของเธอรับหน้าที่นำสมาชิกในครอบครัวไปเก็บชะโกประจำปี
เขาตกลงยินยอมให้ผมติดสอยห้อยตามไปด้วย
ชะโกหรือ ถาวกว๋าในภาษาเวียดนาม ขึ้นอยู่ตามริมลำห้วยในป่าบนพื้นที่สูง ใต้เรือนยอดของต้นไม้สูงๆ ชะโกแห้งใช้เป็นเครื่องเทศปรุงรสเฝอหรือก๋วยเตี๋ยวญวนที่กินกันอย่างแพร่หลาย รวมทั้งอาหารยอดนิยมอื่นๆ อีกหลายอย่าง
ถาวกว๋าถูกขายให้กับพ่อค้าคนกลางชาวจีนเป็นหลัก และใช้เป็นส่วนผสมในยาแผนโบราณเพื่อบรรเทาอาการท้องผูกและความเจ็บป่วยอื่นๆ หลายปีที่ผ่านมา ความต้องการในตลาดจีนที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ซาปากลายเป็นศูนย์กลางการค้าขายชะโกที่สำคัญ
ก่อนหน้านั้น ผมนั่งรถไฟสายตะวันตกเฉียงเหนือจากฮานอยไปยังชายแดนจีน เมื่อไปถึงหล่าวกาย เมืองชายแดนเวียดนามในเช้าวันรุ่งขึ้น ผมก็ต่อรถแท็กซี่ไปทางตะวันตกอีกหนึ่งชั่วโมงมุ่งหน้าสู่เมืองซาปา ตั้งอยู่ท่ามกลางนาข้าวขั้นบันไดและป่าเมฆคลุมในเวียดนาม การเพาะปลูกในพื้นที่สูงเช่นนี้ไม่ใช่สิ่งที่คนเวียดนามพื้นราบทำกัน แต่เป็นชาวบ้านชาติพันธุ์กลุ่มน้อย 53 กลุ่มที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการในเวียดนาม
ครอบครัวของหล่างมาจากกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง และอาศัยอยู่ในต๋าวันหมู่บ้านนอกเมืองซาปาซึ่งในช่วงหลายปีหลังมานี้พลอยได้รับอานิสงส์จากความคึกคักของกิจกรรมท่องเที่ยวแบบเดินป่าในซาปาด้วย
เส้นทางสู่ไร่ชะโกคดเคี้ยวไต่สูงขึ้นไปท่ามกลางพุ่มไม้หนามสูงท่วมเอวที่ข่วนแข้งขาของผม เราไต่ขึ้นไปเกือบถึงระดับ 2,150 เมตรแล้ว หลังออกเดินทางตอนเช้าที่ระดับราวครึ่งหนึ่งของความสูงดังกล่าว
เรามาถึงแคมป์ที่พักราวช่วงตะวันตกดิน และกล่าวทักทายโจที่ขึ้นมาล่วงหน้าเพื่อตั้งแคมป์ก่อน ผมหยุดพักครู่หนึ่งเพื่อซึมซับทิวทัศน์ที่เห็น ต้นชะโกเป็นร้อยๆ สูงราวสามเมตร แต่ละต้นมีใบหนาสีเขียวสดขนาดและรูปทรงคล้ายใบกล้วย ใบของมันดูพลิ้วไหวเหมือนระลอกคลื่นในราวป่า ไล่ระไปตามแนวลำห้วย
แคมป์ข้างลำห้วยของเราสร้างขึ้นง่ายๆ ประกอบด้วยผ้าใบสีน้ำเงินผืนยักษ์ค้ำด้วยเสาไม้ไผ่เหนือคันดินที่พ่อของหล่างเคยขุดจากด้านข้างเขามาก่อไว้ ภายในคันดินผมเห็นกองไฟกองหนึ่งกับใบถาวกว๋าแห้งปูเป็นที่นอน ตรงนี้แหละที่เราจะใช้เป็นที่กิน นอน และคั่วฝักชะโกตลอดสองวันข้างหน้า
การเก็บชะโกเริ่มในเช้าวันรุ่งขึ้น หลังอาหารเช้าที่ประกอบด้วยข้าว กาแฟสำเร็จรูป และแผ่นหมูเค็มมันย่องที่ย่างบนกองไฟ ไร่ชะโกซึ่งรวมแล้วมีทั้งสิ้น 2,100 ต้นตามที่พ่อของหล่างบอก แยกเป็นสองผืนบนสองฟากหุบเขา โจแบ่งกลุ่มเป็นสองทีม จากนั้นพวกเขาก็เริ่มปีนป่ายขึ้นไปตามลำห้วยเป็นแนวขนานกันทั้งสองฝั่ง ชาวไร่แต่ละคนพกมีดพร้ากันคนละด้ามโดยหน้าที่พื้นฐานคือ ระหว่างเก็บลูกชะโกสดผลสีแดงจากโคนต้นก็จะถางกอพืชรอบๆ ไปด้วย เพื่อให้ต้นชะโกมีพื้นที่เติบโตและออกดอกออกผลก่อนจะถึงเวลาเก็บเกี่ยวในปีหน้า ถ้าไม่เจอลมฟ้าอากาศแปรปรวนเสียก่อน
บ่ายคล้อย พวกเราเดินกลับมาที่แคมป์อย่างอ่อนล้า แล้วก่อไฟกองใหญ่พอจะคั่วและรมควันชะโกสดกองสูงเท่าตู้เย็นสองสามกองได้ ผมเฝ้าสังเกตฝักชะโกสองสามฝักเปลี่ยนจากสีแดงลูกกวาดไปเป็นสีกาแฟพร้อมโชยกลิ่นสมุนไพรฉุนแรง การคั่วฝักชะโกถือเป็นขั้นตอนสำคัญ เพราะช่วยให้น้ำหนักลดลงได้มาก ทำให้การลำเลียงผลผลิตลงจากเขาทำได้ง่ายขึ้น
พวกชาวไร่เปิดเรียว ขวดหนึ่ง ซึ่งเทียบได้กับเหล้าเถื่อนแบบเวียดนาม เพื่อฉลองการเก็บเกี่ยวที่ดูเป็นกอบเป็นกำอย่างน่าประทับใจ เหล้าถูกเทและผลัดกันดื่ม จนท้ายที่สุดพวกเราก็คอพับหลับไปข้างกองไฟ
ผลผลิตจากการเก็บเกี่ยวชะโกราว 350 กิโลกรัมของโจมีมูลค่าเกือบ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ (60,000 บาท) ตามราคาตลาดขณะนั้น หรือเกือบเท่ากับค่าจ้างรายปีของคนเวียดนามเลยทีเดียว
แต่เรายังต้องเดินทางอีกไกล ข้ามห้วยน้ำลำธารและช่องเขาที่เราข้ามขึ้นมา แต่คราวนี้แบกผลผลิตล้ำค่ากลับไปด้วย
เรื่อง ไมค์ ไอฟส์
ภาพถ่าย เอียน เทห์
***อ่านสารคดีฉบับเต็มได้ในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2563
สารคดีแนะนำ