ย้อนรอยเส้นทางเหนือกาลเวลาใน อิตาลี

ในแคว้นปุลยา ประเทศ อิตาลี และภูมิภาคทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์อื่นๆ ทั่วโลก
การอพยพเคลื่อนย้ายสัตว์ตามฤดูกาลยังคงเป็น
ธรรมเนียมปฏิบัติของชุมชนท้องถิ่น

เดือนมิถุนายนของทุกปี นุนซีโอ มาร์เชลลี จะต้อนฝูงแกะ 1,300 ตัวของเขา และออกจากบ้านใกล้หมู่บ้านยุคกลางชื่อ อันเวร์ซาเดลยิอาบรุซซี ในเทือกเขาแอปเพนไนน์ทางตอนกลางของ อิตาลี  ในการเดินเป็นระยะทางราว 50 กิโลเมตรตลอดสามวัน  มาร์เชลลีวัย 65 ปี และคนเลี้ยงแกะจำนวนหนึ่ง รวมถึงแขกผู้มาเยือนสองสามคนที่สนใจวิถีชีวิตดั้งเดิมของผู้คนในภูมิภาคแถบนี้ จะต้อนแกะไปยังทุ่งหญ้าบนเขาสูงเหนือไร่ของมาร์เชลลี

เส้นทางจากไร่ไปยังทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ฤดูร้อนทอดตามรอย ตรัตตูโร (tratturo) ภาษาอิตาลีที่ใช้เรียกเส้นทางซึ่งเกิดจากการอพยพตามฤดูกาลเหล่านี้ที่ดำเนินสืบมากว่า 2,300 ปี  หลังผ่านถนนปูหินในอันเวร์ซามาแล้ว ขบวนแกะกับคนต้อนจะเริ่มเดินขึ้นเนิน  สัญจรคดเคี้ยวไปมาผ่านทุ่งดอกไม้ป่า หมู่ต้นบีชและป่าสนเก่าแก่ ไปจนถึงหมู่บ้านหินทรุดโทรม เมื่อถึงบ่ายของวันที่สาม พวกเขาก็เดินทางขึ้นไปถึงที่ราบสูง ณ ระดับ 2,000 เมตร ใต้ยอดเขามอนเตเกรโคที่ยังมีหิมะห่มคลุม

ฝูงวัวราว 300 ตัวเดินทางเข้าไปยังกัสโตปีญญาโนในช่วงวันท้ายๆ ของการเดินทางของครอบครัวโกลันตูอาโน

แม้จะห่างจากโรมเพียง 150 กิโลเมตร ที่ราบสูงแห่งนี้กลับให้ความรู้สึกเหมือนโลกที่ถูกลืม ผึ้งหึ่งบินตอมออริกาโนและไทม์ป่า อินทรีและเหยี่ยวโผบินบนท้องฟ้าสีครามเหนือแอปเพนไนน์  สมุนไพรหลายร้อยชนิด หญ้า และดอกไม้ป่านานาพันธุ์งอกงามขึ้นที่นี่ นี่คือสถานที่ที่เมื่อมาเยือนแล้วคุณจะไม่อยากจากไป

แต่มาร์เชลลียังมีงานที่ฟาร์มต้องกลับไปสะสาง  เพราะเขายังเปิดให้บริการ อะกรีตูริสโม (การท่องเที่ยวเชิงเกษตร) ด้วย  โดยมีห้องแบบบ้านไร่ให้นักท่องเที่ยวเข้าพัก  ดังนั้น หลังกินมื้อเที่ยงเป็นการฉลองซึ่งมีอาหารพื้นเมืองของแคว้นอาบรุซโซอย่างสตูว์แกะ หรือ ปันกอตโต และซุปขนมปังกับผัก ทุกคนก็นั่งรถตู้กลับไปยังอันเวร์ซา

ทุกคนจะกลับไปยังฟาร์ม ยกเว้นแกะซึ่งจะอยู่บนยอดเขาต่อไป บนที่ดินสาธารณะที่มาร์เชลลีเช่าจากเมืองสกันโนใกล้เขตอุทยานแห่งชาติอาบรุซโซ ลาซิโอ และโมลีเซ ตลอดช่วงฤดูร้อนไปจนถึงต้นฤดูใบไม้ร่วง เพื่อให้พวกมันและเล็มพืชพรรณเขียวชอุ่มบนทุ่งหญ้า คนเลี้ยงแกะจะอยู่ที่นั่นต่อเช่นกัน โดยมีสุนัขพันธุ์อาบรุซโซมัสติฟฟ์คอยคุ้มกันฝูงแกะจากหมาป่า หมี และสัตว์นักล่าอื่นๆ

พอถึงเดือนพฤศจิกายน มาร์เชลลีและคนเลี้ยงแกะของเขา รวมถึงนักท่องเที่ยวที่ฟาร์มท่องเที่ยวเชิงเกษตรสองสามคน จะฝ่าอากาศหนาวเหน็บของปลายฤดูใบไม้ร่วง เดินย้อนรอยเส้นทางเดิมเพื่อต้อนแกะกลับบ้าน พวกเขาทำแบบเดิมซ้ำๆ กันเป็นประจำทุกปี

สุนัขต้อนแกะพันธุ์อาบรุซโซดูแลฝูงแกะระหว่างงานแสดงแกะประจำปีในฟอนเตเวตีกา

การอพยพปีละสองครั้งนี้มีชื่อเรียก และในวันที่ 11 ธันวาคม ปี 2009 องค์การยูเนสโกได้ประกาศให้ธรรมเนียมปฏิบัตินี้เป็นองค์ประกอบสำคัญของวัฒนธรรมมนุษย์  สิ่งที่เรียกว่า ทรานส์ฮิวแมนซ์ (transhumance) นี้มีรากศัพท์จากคำในภาษาลาตินว่า ทรานส์  หรือ “ข้าม” และ ฮูมุส หรือ “โลก” ได้แก่การอพยพเคลื่อนย้ายคนและปศุสัตว์ไปและกลับจากแหล่งและเล็มหญ้าในฤดูร้อนและฤดูหนาว เป็นวิถีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาหลายพันปีในกลุ่มวัฒนธรรมเร่ร่อนเลี้ยงสัตว์ (pastoral culture) ในทุกทวีปที่มีมนุษย์อาศัยอยู่

แนวทางปฏิบัตินิยมที่ยึดประโยชน์เป็นที่ตั้งและขับเคลื่อนด้วยความจำเป็นนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Intangible Cultural Heritage of Humanity) ขององค์การยูเนสโก ซึ่งมีดนตรีแนวเรกเกของจาเมกา การเต้นแทงโกแบบอาร์เจนตินา และโขนของไทยรวมอยู่ด้วย

แกะและแพะเป็นสัตว์ชนิดแรกๆ ที่มนุษย์นำมาเลี้ยงในฐานะปศุสัตว์เมื่อราว 10,000 ปีก่อน หลักฐานของการต้อนสัตว์ตามฤดูกาลย้อนไปถึงช่วงเวลาดังกล่าว  การหาอายุจากคาร์บอนกัมมันตรังสีจากโครงการขุดค้นทางโบราณคดีเมื่อปี 1963 ระบุว่า หุบขาฮูไลลานทางตอนกลางของเทือกเขาซาร์กอสในอิหร่าน เป็นชุมชนแรกๆ ที่ชนเลี้ยงสัตว์เร่ร่อนตามฤดูกาลเข้ามาตั้งถิ่นฐานเมื่อราว 7,050 ปีก่อนคริสตกาล  การขุดค้นอีกครั้งในหุบเขาออดทางใต้ของฝรั่งเศส เผยให้เห็นหลักฐานของการเคลื่อนย้ายแพะกับแกะในภูมิภาคแถบนั้นเริ่มตั้งแต่ราว 4,500 ปีก่อนคริสตกาล

การอพยพเคลื่อนย้ายคนและสัตว์ตามฤดูกาลมักเกิดขึ้นระหว่างพื้นที่ที่อยู่สูงกว่าและต่ำกว่า และระหว่างละติจูดสูงกว่าและต่ำกว่า และใช้ได้กับปศุสัตว์ทุกชนิด บนที่ราบสูงทีเกรย์ในเอธิโอเปีย คนเลี้ยงสัตว์จะเคลื่อนย้ายวัว แกะ และแพะ ส่วนในภูฏานและเนปาล ชาวบ้านจะไล่ต้อนสัตว์อย่างจามรี ควาย และวัว

ชาวไร่บางส่วนในแถบตะวันตกของสหรัฐฯ ยังคงเคลื่อนย้ายสัตว์ตามฤดูกาลเช่นกัน ผู้คนใช้ฉนวนปศุสัตว์ (livestock corridor) สายหนึ่งที่เรียกว่า เส้นทางต้อนสัตว์กรีนริเวอร์ดริฟต์ในไวโอมิงกันมานานกว่าร้อยปี และเส้นทางนี้ก็ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งชาติ  ทุกปีเมื่อถึงฤดูใบไม้ผลิ  โคบาลจะต้อนปศุสัตว์ไปตาม “เส้นทาง” หรือ “ดริฟต์” จากพื้นที่และเล็มหญ้าที่จัดสรรไว้ในทะเลทรายทางตะวันตกของรัฐไวโอมิง ไปยังทุ่งหญ้าฤดูร้อนที่อยู่สูงขึ้นไปในเขตป่าแห่งชาติบริดเจอร์-ทีทอน การเดินทางเป็นระยะทางเกือบหนึ่งร้อยกิโลเมตรนี้ใช้เวลาสามสัปดาห์จึงไปถึงจุดหมาย

การเดินทางของครอบครัวโกลันตูโอโนไปและกลับจากทุ่งหญ้าฤดูร้อนและฤดูหนาว เป็นส่วนหนึ่งของธรรมเนียมปฏิบัติของหลายชุมชนทั่วโลก เมื่อไม่นานมานี้ องค์การยูเนสโกยอมรับความสำคัญทางวัฒนธรรมของวิถีเก่าแก่ที่เรียกว่า ทรานส์ฮิวแมนซ์ (Transhumance)

ไม่ว่าที่ใดที่ผู้คนยึดวิถีทรานส์ฮิวแมนซ์  ภูมิทัศน์ที่นั่นค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป  ตลอดหลายพันปีที่ผ่านมา แท่นบูชา โบสถ์ โรงแรม และสุดท้ายก็หมู่บ้าน เริ่มก่อร่างขึ้นใกล้เส้นทางต้อนสัตว์ต่างๆ ในแคว้นโมลีเซ เมืองเซปีนุมอันเก่าแก่พัฒนาขึ้นตามเส้นทางหลัก หรือ ตรัตตูรี สายหนึ่งของอิตาลี ว่ากันว่าเมืองนี้ได้ชื่อตามคำกิริยาในภาษาลาติน เซปีเร แปลว่า “ล้อมรั้ว” มาจากคอกมีกำแพงกั้นสำหรับแกะ บนประตูเมืองบานหนึ่ง จารึกที่มีอายุย้อนไปถึง ค.ศ. 160 ระบุห้ามชาวเมืองทำร้ายคนเลี้ยงแกะที่เดินผ่านตรัตตูโรเข้ามา

เราต้องขอบคุณวัฒนธรรมทรานส์ฮิวแมนซ์ที่ให้กำเนิดการร้องเพลงแบบโยเดลและเครื่องเป่าอัลเพนฮอร์นตลอดจนเพลงพื้นบ้าน บทกวี งานเลี้ยงฉลอง และเทศกาลอีกนับไม่ถ้วน  เดือนตุลาคมของทุกปีในกรุงมาดริด เมืองหลวงของสเปน  ในเทศกาลเฟียสตาเดลาตรัสอูมันเซีย จะมีการต้อนแกะราวสองพันตัวผ่านใจกลางเมืองหลวงของสเปน เมื่อคนต้อนแกะและฝูงสัตว์ไปถึงศูนย์กลางเมืองแล้ว พวกเขาจะไปรวมตัวกันที่ปลาซาเดซีเบเลส ซึ่งมีรูปปั้นและน้ำพุยุคนีโอคลาสสิก และจ่ายเงินให้พ่อเมืองซึ่งนั่งอยู่เหนือกลุ่มคนดูเป็นจำนวน 50 มาราเบดิสอัลมิยาร์ หรือค่าธรรมเนียมที่เริ่มเรียกเก็บเมื่อ ค.ศ. 1418 ต่อแกะหนึ่งพัน (มิยาร์) หัว

ผลวิจัยเผยว่า ตั้งแต่สเปนไปจนถึงทุ่งหญ้าในป่าหนาวของนอร์เวย์ เส้นทางทรานส์ฮิวแมนซ์ช่วยค้ำจุนความหลากหลายทางชีวภาพเอาไว้ โดยเชื่อมโยงทุ่งหญ้ากับผืนป่า ซึ่งบ่อยครั้งพบได้ในภูมิภาคที่ถูกตัดแบ่งจากการพัฒนาและการทำเกษตรอย่างเข้มข้น  วิถีอันเก่าแก่นี้ยังสร้างฉนวนอพยพให้สัตว์ป่า เช่นเดียวกับถิ่นอาศัยให้สรรพสัตว์และพืชพรรณ


อ่านเรื่องราวแบบสมบูรณ์ได้ในนติยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนพฤษภาคม 2563

สามารถสั่งซื้อได้ตามลิงก์นี้ https://www.naiin.com/product/detail/503828

 

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.