เนปาลมิพรากจาก กุมารี

เทพธิดา กุมารี – เทวนารีผู้ยังมีลมหายใจ

กุมารี ของชาวเนปาล

ในห้องกว้างสัก 2 ตารางเมตร มีแสงสว่างจากหลอดไฟพอประมาณ ผสานกับแสงจากลำเทียนที่ตั้งปะปนกับจานชามที่ใส่เครื่องเซ่น ประเภทขนม ผลไม้ ระเกะระกะอยู่บนพื้นอันเกลื่อนกล่นด้วยเมล็ดข้าว กลีบดอกไม้ ผงสีแดง ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของเครื่องเซ่นสังเวยบูชาเทพเจ้า เหมือนอย่างที่เราเห็นจนชินตาตามเทวสถานมากมายในประเทศนี้ – เนปาล ซึ่งตามธรรมเนียมจะมิได้ประดิษฐานเทวรูปไว้บนหิ้งสูง แต่จะประทับวางเทวรูปไว้กับพื้น ประหนึ่งให้ท่านได้สัมผัสพื้นโลก

ต่างกันก็ตรงที่เทวรูปเบื้องหน้าผมขณะนี้ มิได้สร้างจากศิลาจำหลัก หรือเครื่องสำริดขัดเป็นมันวาวแบบที่เคยเห็น แต่เป็นเด็กหญิงวัยราว 11-12 ปี ในชุดสีแดงเพลิง ใบหน้ามีจุดเด่นที่การเขียนขอบตาดำ และลากเส้นที่หางตาตวัดยาวไปจนถึงไรผม นั่งสงบนิ่งบนบัลลังก์ไม้แกะสลักรูปพญานาคเกี่ยวกระหวัด

เหนือสิ่งอื่นใด เธอยังมีชีวิต มีเลือดเนื้อและมีลมหายใจ เป็นที่เคารพสักการะ ในฐานะร่างประทับทรงของเทพนารีผู้คุ้มครองเมือง นามว่า “ตะเลจูภวานี” เธอจึงถูกเรียกขานว่าเป็น “เทพธิดากุมารี” หรือเทวนารีผู้ยังมีลมหายใจ (Living Goddess)

 

ผมก้มลงกราบเธอด้วยอาการประหม่า ขณะที่เธอทอดสายตานิ่งและเฉย ก่อนจะใช้นิ้วหยิบผงสีและเมล็ดข้าวมาเจิมที่กลางหน้าผากของผมอย่างรวดเร็ว แทนความหมายว่าเทพนารีองค์นี้ได้ประทานพรให้ โดยไม่ต้องเปล่งเสียงกล่าวมนตราใดๆ ออกมาแม้แต่คำเดียว นี่เป็นครั้งแรกในชีวิต ที่ได้เข้าใกล้ชิดสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวเนปาลแห่งเมืองลลิตาปูร์คารพนับถือสูงสุด แม้เธอจะมีความสำคัญเป็นอันดับสอง รองจากกุมารีหลวงแห่งนครกาฐมาณฑุ แต่เป็นที่ทราบกันดีว่ากฎระเบียบในวังกุมารีหลวงนั้นเข้มงวด จนยากที่ใครจะเข้าถึงองค์อย่างใกล้ชิดเช่นนี้ได้ นอกจากไปยืนเฝ้าคอยให้ท่านปรากฏองค์ที่ช่องพระแกลของพระราชวัง เพียงชั่วประเดี๋ยวประด๋าว

ชาวหุบเขากาฐมาณฑุ ทั้งฮินดูและพุทธ มีความเชื่อร่วมกันว่า “ตะเลจูภวานี” คือเทพนารีผู้ปกปักรักษาหุบเขานี้ให้ร่มเย็นเป็นสุข ตามตำนานเล่าขานว่า เมื่อราว 300 ปีก่อน องค์ตะเลจูฯ เคยปรากฏพระองค์ในร่างเทพธิดาผู้เลอโฉม ลงมาเล่นสกากับกษัตริย์ราชวงศ์มัลละอยู่เนือง ๆ จนราตรีหนึ่ง กษัตริย์เกิดอารมณ์ปรารถนาถึงขั้นแตะเนื้อต้องตัวองค์ตะเลจูฯ ยังความเดือดดาลให้เทพธิดาถึงขั้นไม่ปรากฏองค์ให้เห็นอีก แต่จะมาประทับในร่างทรงที่เป็นเด็กหญิงพรหมจารี มีสถานะเป็นเทพธิดาที่มีลมหายใจ ให้ทุกคนกราบไหว้บูชา

ลลิตาปูร์ หนึ่งในเมืองมรดกโลกแห่งหุบเขากาฐมาณฑุ

โดยกระบวนการค้นหาว่าเด็กหญิงคนไหนคือร่างทรง เริ่มจากผู้เชี่ยวชาญจากสำนักพระราชวัง คัดเลือกเด็กหญิงอายุ 4-5 ขวบ จากตระกูลศากยะ ต้นวงศ์พระพุทธเจ้า ด้วยเชื่อว่าเป็นตระกูลที่สืบเชื้อสายบริสุทธิ์ เพราะมีประเพณีเคร่งครัดที่จะไม่แต่งงานข้ามสกุล เด็กหญิงที่ได้รับการคัดเลือกต้องมีคุณลักษณะครบ 32 ประการ เช่น สุขภาพสมบูรณ์ ผิวพรรณเกลี้ยงเกลา ผมดำ ตาดำ ฟันเรียบติดกันและมีสีขาวเงางาม ลิ้นเล็กได้รูป ลำคอกลมกลึงดั่งหอยสังข์ ไม่มีกลิ่นตัว ฯลฯ

จากนั้นก็จะนำเด็กหญิงไปทดสอบ ให้นั่งในห้องมืดที่มีหัวควายที่เพิ่งผ่านพิธีบูชายัญประดับอยู่โดยรอบ และมีคนสวมหน้ากากปีศาจออกมาร่ายรำ ส่งเสียงโหยหวนน่าสะพรึงกลัว เพื่อพิสูจน์ว่าเธอคือองค์ตะเลจู ที่ไม่มีอะไรจะมาหลอกหลอนได้ หากเด็กหญิงมีความสงบเยือกเย็น ไม่หวาดกลัวจนร่ำไห้ เธอจะได้ไปเลือกเสื้อผ้าและเครื่องประดับของกุมารีองค์ก่อนให้ถูกต้อง

กุมารีหลวงแห่งกาฐมาณฑุในวันที่ได้ออกจากวัง ช่วงเทศกาลอินทรฉัตรา เดือนกันยายน

แล้วครั้นเมื่อโหราจารย์ตรวจสอบโดยละเอียดว่าเธอมีดวงชะตาสมพงษ์กับพระชะตาแห่งพระราชา เธอจะได้รับการแต่งตั้งเป็น “เทพธิดากุมารี” และจะต้องย้ายมาประทับ ณ วังกุมารี ภายในจัตุรัสพระราชวังกาฐมาณฑุ เพื่อจะได้รับการเคารพสักการะจากประชาชนในฐานะ “ตะเลจูภวานี” ที่มีลมหายใจ ตราบจนกระทั่งถึงวาระที่มีประจำเดือน หรือมีอุบัติเหตุอันเป็นเหตุให้พระโลหิตหลั่ง จึงจะพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งโดยเฉลี่ยแต่ละคนจะเป็นกุมารีอยู่ราว 7-8 ปี

คลื่นคนเนปาลที่ปรารถนาจะได้เข้าเฝ้าเทพธิดากุมารี

ในขณะที่กุมารีแห่งเมืองลลิตาปูร์ มีระเบียบให้ประทับอยู่ที่บ้านได้ และได้ออกไปร่วมงานเทศกาลสำคัญของเมืองปีละหลายๆ ครั้ง (กุมารีหลวงได้ออกนอกวังปีละแค่ 3 วันในเทศกาลอินทรฉัตรา) โดยกุมารีองค์ที่ผมได้คารวะ มีอายุสิบขวบ เกิดในตระกูลนักบวชแห่งศาสนาพุทธนิกายวัชรยาน เธอมีชื่อว่า “อนิตา วัชราจารย์” ซึ่งหากดูจากรูปที่ถ่ายไว้ในวันรับตำแหน่ง นับว่ามีหน้าตาและผิวพรรณดี ต้องตรงกับคุณสมบัติของผู้ที่คู่ควรเป็นเทพธิดากุมารี ต่างกับที่ผมเห็นองค์จริง ซึ่งจะทรงนิ่ง ไม่ยิ้ม ไม่สบตา ตามสถานะที่เป็นเทพให้คนกราบไหว้

เคยมีองค์กรสิทธิมนุษยชน กล่าวหาว่าธรรมเนียมความเชื่อเรื่องกุมารี นำมาซึ่งการละเมิดสิทธิเด็ก แต่ได้รับคำอธิบายว่า ปัจจุบัน กุมารีได้เรียนหนังสือในระหว่างดำรงตำแหน่ง หากเจ็บไข้มีหมอรักษา ดีกว่าแต่ก่อนมาก ครอบครัวกุมารีเองก็ถือเป็นเกียรติยศของวงษ์ตระกูล ที่สำคัญ เป็นความเชื่อถือศรัทธาของชาวเนปาลมานาน

กุมารีกลายเป็นภาพลักษณ์หนึ่งของเนปาลในสายตาชาวโลก
เทวสถานตะเลจูภวานี ใจกลางกรุงกาฐมาณฑุ

แม้แต่รัฐบาลที่มีเสียงข้างมากมาจากพรรคคอมมิวนิสต์ (กลุ่มนิยมลัทธิเหมา) เคยมี พยายามยกเลิกตำแหน่งนี้ หลังจากใช้เสียงข้างมาก ออกกฎหมายยกเลิกระบอบกษัตริย์ของเนปาลสำเร็จในปี 2551 แต่ที่สุดก็ต้องยอมเปลี่ยนท่าที เมื่อมีเสียงต่อต้านจากชาวเนปาล ที่ยังมีความเชื่ออยู่มากว่า บ้านเมืองจะระส่ำระสาย หากไร้สิ้นซึ่งกุมารี จนมีคำกล่าวว่า เด็ดดอกไม้สะเทือนดวงดาว เด็ดกุมารีหนาวสะท้านทั้งหิมาลัย

 

เรื่องและภาพถ่าย: ธีรภาพ โลหิตกุล

ภาพเปิดจากสารคดีฉบับเดือนมิถุนายน ปี 2015 โดย   


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : นักล่าน้ำผึ้งคนสุดท้าย

เมาลิ ธัน ปีนบันไดเชือกสูงกว่า 30 เมตรไปยังรางวัลที่รออยู่ นั่นคือรังผึ้งอุดมไปด้วยน้ำผึ้งเมาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ควันจากหญ้าแห้งติดไฟทำให้ผึ้งสับสนและอาจช่วยให้เมาลิถูกผึ้งต่อยน้อยลง ด้วยความสูงขนาดนี้ความผิดพลาดแม้เพียงเล็กน้อยอาจหมายถึงความตาย
© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.