ครั้งแรกที่ไปเยือนดินแดนแถบเทือกเขาหิมาลัยนั่นคือเมืองเลห์ แคว้นลาดัก ทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย ที่นี่ถูกขนานนามว่าทิเบตน้อย ธงมนต์ ถูกผูกตรึงอยู่ในหลายที่ พบได้ทั้งศาสนสถาน พื้นที่เปลี่ยวร้างบนภูเขาสูง เหนือแม่น้ำ บนต้นไม้ใหญ่ และบนสะพาน ธงมนต์สะบัดไหวไม่เคยหยุดนิ่งยกเว้นในช่วงฤดูกาลหนาวที่หิมะปกคลุม ช่วงนั้นผืนผ้าแห่งธงมนต์จะผูกนิ่งแต่ยังคงสีสันตัดกับหิมะสีขาวเฝ้ารอฤดูกาลใหม่ที่จะได้สะบัดปลิวอีกครั้ง
เมื่อได้เห็นธงมนต์ในหลายสถานที่ก็อดไม่ได้ที่จะสอบถามคนท้องถิ่นถึงความเป็นมา และได้คำตอบว่านั่นคือธงมนต์ ธงมนตรา หรือธงมนตราธวัช ตัวแทนความศรัทธา ความหวัง และคำขอพรจากผู้ที่นำผ้าหลากสีไปผูกไว้ ทุกครั้งที่ธงมนต์สะบัดปลิว ผู้คนบนเทือกเขาหิมาลัยเชื่อว่า นั่นคือบทสวดมนต์ที่พวกเขาได้เขียนไว้บนผืนผ้า กำลังเปล่งบทสวดดังตามแรงปลิวของสายลมแห่งเทือกเขาหิมาลัย
ในสมัยก่อนพุทธกาล ประวัติของธงมนต์ได้กำเนิดขึ้นแถบเทือกเขาหิมาลัยในทิเบต ในยุคนั้น ชาวบ้านใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ ไม่มีการสัญจรและการเข้าถึงสาธารณูปโภคอื่นใด เครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจได้ถูกกำหนดขึ้นโดยนักบวชในลัทธิบอน ที่ยังคงบูชาภูติผีวิญญาณ ธงมนต์ในยุคแรกถูกย้อมสีด้วยสีธรรมชาติกำหนดขึ้นจากธาตุทั้งห้า นั่นคือ ดิน น้ำ ลม ไฟ และอากาศธาตุ เพื่อใช้เป็นเครื่องปัดเป่ายามเจ็บไข้ได้ป่วย ขอพรยามมีความสุข และเป็นสัญลักษณ์ของความเคารพต่อธรรมชาติ เพื่อให้ภูติผีวิญญาณคุ้มครอง
ต่อมาในช่วงพุทธศตวรรษที่สิบสอง สมัยกษัตริย์ซงซัน กัมโปแห่งทิเบต ได้รับอิทธิพลศาสนาพุทธนิกายมหายาน จึงมีการผสมผสานระหว่างความเชื่อดั้งเดิมและศาสนาพุทธในยุคนั้น มีการส่งพระนักบวชไปศึกษาที่ประเทศอินเดียและเริ่มเรียนภาษาสันสกฤตซึ่งเป็นภาษาที่อยู่ในคัมภีร์ศาสนาพุทธ เมื่อพระนักบวชกลับมาจึงเริ่มเขียนบทสวดเป็นภาษาสันสกฤตลงบนธงมนต์ และมีการเขียนบทสวดสืบทอดกันต่อมา ถึงแม้ในปัจจุบัน ศาสนาพุทธนิกายมหายานเปลี่ยนเป็นนิกายวัชรยานแล้ว แต่ธงมนต์ยังคงสานต่อเรื่องความศรัทธาต่อมาไม่ต่างจากอดีต
ดั้งเดิม ธงมนต์มีอยู่ 5 สีที่มีนัยยะถึงธาตุทั้ง 5 นั่นคือสีขาวที่มีความหมายถึงธาตุลม สีแดงที่หมายถึงธาตุไฟ สีฟ้าหรือสีน้ำเงินคืออากาศธาตุ สีเขียวหมายถึงธาตุน้ำ และสีเหลืองหมายถึงธาตุดิน แม้นัยยะบางตำราอาจนิยามต่างออกไป แต่ก็ยังยึดธาตุทั้ง 5 เป็นพื้นฐาน ขึ้นอยู่กับตำราหรือความหมายที่มีผู้แปลเขียนขึ้นมา นอกจากนี้ยังมีคำบอกเล่าจากรุ่นสู่รุ่นของผู้คนแถบเทือกเขาหิมาลัย
ธาตุทั้ง 5 มีความหมายไม่เฉพาะแต่กับผู้คนในแถบนี้ แต่ยังมีความหมายกับชาวเอเชียเป็นวงกว้าง นั่นเพราะธาตุทั้ง 5 ประกอบรวมขึ้นหมายรวมถึงธรรมชาติ ร่างกายมนุษย์เองก็ประกอบด้วยธาตุทั้ง 5 การเคารพต่อธรรมชาติเป็นวิถีของชาวเอเชียไม่ว่าผู้คนจะมีความเชื่อในรูปแบบใด โดยเฉพาะผู้คนแถบเทือกเขาหิมาลัยที่ได้รับอิทธิพลของศาสนาพุทธ ซึ่งปัจจุบันนับถือนิกายวัชรยานที่ยังมีวิถีชีวิตเรียบง่าย ไม่ปรุงแต่ง และนอบน้อมต่อธรรมชาติ
เดิมทีความเชื่อในการเขียนคาถาไว้ในธงมนต์มีความแตกต่างกันบ้างในรายละเอียด ในทิเบตเชื่อว่าการเขียนคาถาบทสวดไว้ในธงมนต์ ทุกครั้งที่สายลมพัดสะบัดปลิวคาถาในธงมนต์จะพร่ำสวดเพื่อขอพรจากสวรรค์ เมื่อผู้คนเห็นธงมนต์หมายถึงสัญลักษณ์แห่งการปลอบประโลมให้กำลังใจเหมือนได้รับพรจากสวรรค์ ส่วนความเชื่อในแคว้นลาดัก ประเทศอินเดีย หรือชาวเนปาลเชื่อว่า เมื่อสายลมพัดให้ธงสะบัดปลิว บทสวดขอพรจะนำพรไปสู่ผู้คน เปรียบเหมือนสายลมนำความสุข สุขภาพ และอำนวยพรให้แก่ผู้คน
เมื่อเวลาผ่านไปธงมนต์ได้ถูกตีความเพิ่มขึ้นในเรื่องความโชคดี ร่ำรวย ชัยชนะ แม้กระทั่งช่วยให้สุขภาพดี หายขาดจากโรคภัยทั้งปวง อ้างจากหลักฐานพบว่า การวาดรูปสัญลักษณ์ประดับในธงมนต์ เรียกว่าธงลังตา มีความหมายให้เกิดความโชคดี ร่ำรวย สัญลักษณ์ธงลังตาจะมีม้าลมที่บรรทุกอัญมณีมากมายอยู่บนหลังวาดไว้กลางผืนธง มุมทั้ง 4 ด้านของผืนธงมีรูปครุฑ มังกร เสือ และสิงโตหิมะ ในช่วงที่ทิเบตมีปัญหาเรื่องการสู้รบทั้งระหว่างชนเผ่าและการสู้รบกับจีน ได้มีการสร้างธงแห่งชัยชนะขึ้นมาเพื่ออำนวยพร สร้างขวัญและกำลังใจให้ประชาชนและนักรบ ธงชนิดนี้ยังใช้เป็นธงนำทัพอีกด้วย ส่วนความหมายที่เพิ่มมาอีกคือเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพ การขอให้อายุยืนยาว ซึ่งธงกลุ่มนี้จะมีคาถาที่เขียนกำกับเป็นภาษาสันสกฤตไว้
ในเรื่องของบทสวดที่เขียนกำกับไว้ที่ธงมนต์มักมีเพียงไม่กี่บทสวด ทั้งหมดเป็นการระลึกถึงพระพุทธเจ้าเพื่อขอความสว่างทางปัญญาให้ตัวเอง ชำระล้างความมัวหมองของจิตใจ การเขียนบทสวดมนต์กำกับในธงมนต์ครั้งแรกเริ่มจากพระเขียนกำกับไว้บนธงทีละผืน ซึ่งก็เหมือนกับการเขียนคาถาซ้ำๆ ให้สมาธิตั้งมั่นอยู่กับบทสวดซ้ำๆ ต่อมามีการใช้แกะแม่พิมพ์บนวัสดุไม้เพื่อให้พิมพ์บทสวดบนธงมนต์ได้มากขึ้น ปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นแม่พิมพ์โลหะตามกาลเวลา
ธงมนต์ 5 สีไม่เพียงแต่ผ่านกาลเวลามายาวนานเท่านั้น ยังผ่านสงครามและการถูกทำลายมาหลายครั้ง ทั้งจากสงครามที่จีนเข้ายึดทิเบต รัสเซียเข้ายึดพื้นที่ในไซบีเรีย ร่องรอยบางบทของธงมนต์หล่นหายไปตามนั้น แต่ร่องรอยที่เหลือยังถักทอเหนียวแน่นมาจนปัจจุบัน ทุกวันขึ้นปีใหม่ ธงมนต์ผืนใหม่ที่ได้เขียนบทสวดบนผืนธงทั้ง 5 สีจะถูกผูกไว้ในที่ลมพัดผ่านทั้งในศาสนสถาน สะพาน ภูเขา แม่น้ำ หรือในสถานที่ชุมชนโดยไม่นำธงผืนเก่าออก ทุกปี ธง 5 สีจะถูกผูกซ้ำๆ จนบางสถานที่เต็มไปด้วยธงผืนเก่าขาดวิ่น หรือสีจืดจาง มีนัยยะให้ระลึกว่าทุกอย่างในโลกนี้ย่อมเสื่อมสลายไปกับกาลเวลา ร่างกายของคนเราก็เช่นกัน เมื่อยังมีชีวิตอยู่ก็ให้ตั้งอยู่ในความศรัทธา เคารพต่อธรรมชาติให้มาก และยอมรับในเรื่องที่ว่าร่างกายเราจะเสื่อมไปในที่สุด
ใช่ว่าธงมนต์แถบเทือกเขาหิมาลัยจะหมายถึงเรื่องเล่าเมื่อวันวานเท่านั้น ในปัจจุบัน ธงมนต์เหล่านี้ยังได้ผสานเข้ากับสภาพแวดล้อมของผู้คนในแถบเทือกเขาหิมาลัยทั้งในตลาด สถานีขนส่ง หรือแม้กระทั่งหน้าบ้านเรือน ความศรัทธายังได้ขยายออกไปจากการผสมผสานวัฒนธรรมทั้งจากการแต่งงาน หรือแม้จากการรวมอาณานิคม ดังที่เราอาจได้เห็นธงมนต์สะบัดปลิวในพื้นที่อื่น เช่น แคว้นไซบีเรีย ในประเทศรัสเซีย หรือแม้แต่ความเชื่อมโยงของศาสนาพุทธต่างนิกายที่มีธงมนต์ประดับในเขตศาสนสถาน
เรื่องและภาพถ่าย : แก้ว การะบุหนิง