หลังการปลดล็อกสถานการณ์โควิด – 19 เราเห็นภาพผู้คนแสวงหาสถานที่ผ่อนคลายความเครียด ผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่หลายสถานที่เที่ยวมีการคัดกรองอย่างเข้มงวด บางแห่งต้องจองผ่านแอพพลิเคชั่น ขาลุยแบบผมไม่ค่อยสันทัดสักเท่าไร พอนัดเพื่อนพ้องร่วมอุดมการณ์ได้ สถานที่แรกที่พวกเราขอไปเที่ยวปลดล็อกก็คือการไปตามหาหัวใจที่ “ปิตุ๊โกล”
ปิตุ๊โกลตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่กลอง – ป่าอุ้มผาง และเป็นเขตป่าชุมชนบ้านกุยเลอตอ หมู่ที่ 5 ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในความดูแลของชุมชน ผมและทีมเดินทางจากกรุงเทพฯดั้นด้นไปไกลกว่าเจ็ดร้อยกิโลเมตร โดยเฉพาะเมื่อใช้เส้นทางจากตากมาอุ้มผาง ระหว่างทางเราเห็นวิวสวยงามตลอดทาง แต่อาจเพราะเดินทางในช่วงฤดูฝนและไม่ชินเส้นทาง จึงต้องขับรถกันอย่างช้าๆและมีสติ เผลอนิดเดียวอาจประสบอุบัติเหตุกันได้เลย
เส้นทางเดินมีทุกรูปแบบ
อย่างที่บอกไปว่านี่เป็นการเดินทางตามหาหัวใจ ซึ่งหัวใจที่ว่าก็คือ น้ำตกรูปหัวใจที่มีชื่อว่า “ปิตุ๊โกล” นั่นเอง จุดเริ่มเดินของเราอยู่ที่หมู่บ้านกุยเลอตอ โดยเข้าไปติดต่อเจ้าหน้าที่ตรงจุดรวมพลเพื่อจ่ายค่าเข้าพื้นที่เสียไปคนละ 20 บาทเป็นค่าจัดการขยะ จากนั้นก็เดินกันยาวๆ 4.4 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินประมาณ 2-3 ชั่วโมง ก็ถึงจุดพักกางเต็นท์ ซึ่งขอบอกว่าเป็นการกางเต็นท์ที่เปียกที่สุดในชีวิต เพราะมีฝนโปรยลงมาตลอดทาง แม้จะเปียกปอนไปตามๆกัน แต่มันก็ให้ความรู้สึกสดชื่นมากทีเดียว ขอเตือนอีกอย่างว่ามาเดินป่าดิบแบบนี้ ผมเจอบุ้งเยอะมากๆ ต้องเดินระวังกันหน่อย หากไปโดนตัวบุ้งเข้าจะคันเอาได้นะครับ
จุดพักแรมกลางทาง
ตื่นเช้ารับวันใหม่อย่างสดใส ผมและทีมก็มุ่งหน้าเดินไปหาน้ำตกกัน เรามีผู้นำทางเป็นชาวบ้าน เดินไปประมาณเกือบ 1.4 กิโลเมตร เส้นทางตลอดสองข้างเขียวสดงดงามเหมือนย้อมสีด้วยฟิลเตอร์อย่างไรอย่างนั้น ผมเองเป็นภูมิแพ้ มาเจออากาศและบรรยากาศแบบนี้ทำเอาอาการภูมิแพ้ทุเลาไปทันตาเลย นี่ละมั้งครับที่เรียกว่าป่าบำบัด
สำหรับเส้นทางการเดินป่าที่นี่ถือว่าโหดพอสมควร มีทั้งปีนทั้งป่าย หากเป็นนักเดินป่ามือใหม่ต้องใช้เวลากันหน่อย จากที่พูดคุยกับชาวบ้านทราบมาว่า ชาวบ้านละแวกนี้รู้จักน้ำตกปิตุ๊โกลในชื่อ “น้ำตกรูปหัวใจ” กระทั่งน้ำตกแห่งนี้เริ่มเป็นที่รู้จักและมีนักท่องเที่ยวมาเพิ่มมากขึ้น ชาวบ้านและหน่วยงานราชการในพื้นที่จึงหารือกันว่าควรตั้งชื่อให้เป็นทางการกว่านี้หน่อย ก็เลยได้ชื่อว่าน้ำตกปิตุ๊โกล ซึ่งถือเป็นน้ำตกที่สูงที่สุดในประเทศไทย มีความสูงประมาณ 500 เมตร
จากน้ำตกรูปหัวใจเราแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งกลับที่พักเพื่อทำอาหาร ส่วนอีกกลุ่มเดินขึ้นไปชมวิวที่ดอยสามหมื่น โดยต้องเดินทางต่อไปอีกประมาณ 2.678 กิโลเมตร ซึ่งนักท่องเที่ยวจะรู้จักในชื่อ “ดอยมะม่วงสามหมื่น” ผมลองถามชาวบ้านว่าทำไมถึงใช้ชื่อนี้ ปรากฏว่าชาวบ้านงงครับ (ฮา) มีเรื่องเล่าหลายกระแส โดยชาวบ้านละแวกนี้จะรู้จักแต่ชื่อดอยสามหมื่น เขาไม่รู้ว่ามะม่วงมาจากไหนและทุกวันนี้ก็ยังไม่รู้ที่มาของชื่อดอยมะม่วงสามหมื่น ขณะที่บางกระแสก็บอกว่าพอเดินไปถึงด้านบนสุดแล้วมองลงมาเหมือนผลมะม่วง ผมก็เลยขอเรียกชื่อโดยยึดตามที่ชาวบ้านเรียกละกัน
ระหว่างทางขึ้นดอยสามหมื่นจะผ่านจุดรับสัญญาณโทรศัพท์ที่ความสูง 1,247 เมตร โดยระหว่างที่อยู่ในป่าจะไม่มีสัญญาณโทรศัพท์นะครับ ใครอยากโทร.ต้องปีนขึ้นมาบนนี้ ความตั้งใจของทีมที่สองจบลงที่ตรงนี้เพราะคำนวณเวลาและระยะทางแล้วกว่าจะกลับถึงที่พัก ฟ้ามืดแน่นอน เราเลยนั่งรับลมรับฝนกันที่จุดรับสัญญาณโทรศัพท์ อีกอย่างการไปดอยสามหมื่นนั้นต่อให้กายพร้อม ใจพร้อม แต่ธรรมชาติไม่พร้อม ก็อย่าฝืน เพราะตอนนั้นหมอกลงหนักมาก บดบังทัศนียภาพไปหมด เราเลยตัดสินใจลงกัน
การมาเดินป่าตามหาน้ำตกรูปหัวใจปิตุ๊โกลก็เป็นอันสำเร็จ น้ำตกแห่งนี้มีความสวยงามมาก เป็นเส้นทางเดินป่าที่เหมาะกับผู้ผ่านการเดินป่ามาบ้างแล้ว เส้นทางมีอันตรายบ้าง หรือหากใครไม่มีประสบการณ์ก็อาจมาได้แต่ต้องใช้เวลามากหน่อย และอุปกรณ์ช่วยเดินต้องครบ อีกอย่างคุณต้องยอมรับสภาพความเป็นจริงในป่า เพราะเข้าแล้วไม่สามารถเดินออกได้เหมือนออกจากบ้าน ดังนั้นจึงต้องเตรียมใจรับมือกับการผจญภัยในดินแดนที่ไม่คุ้นเคย
สำหรับการเดินทาง ใครต้องการประหยัดเวลา อาจนั่งเครื่องบินมาลงที่สนามบินแม่สอด แล้วหารถสองแถวหรือรถประจำทางไปอำเภออุ้มผาง ผมและทีมเลือกขับรถจากกรุงเทพฯไปนอนที่แม่สอดก่อน แล้วขับจากแม่สอดไปจอดที่อุ้มผาง ที่นี่มีโฮมสเตย์ท้องถิ่นบริการรับฝากรถ เส้นทางจากแม่สอดไปอุ้มผางต้องผ่านถึง 1,219 โค้ง ใครไม่แน่จริงมีเมาโค้งแน่นอน จากอุ้มผางเราเช่ารถสองแถวไปหมู่บ้านกุยเลอตออีกประมาณ 70 กิโลเมตร คนรถจะเป็นผู้จัดการทุกอย่างให้ อยู่ที่ว่าคุณจ้างเขาแบบไหน ส่วนผมได้พี่แบ๊คเป็นคนขับและจัดการเรื่องการเดินป่าให้ พี่เขานิสัยดี ไว้ใจได้ คุยสนุก ใครสนใจลองโทร.ติดต่อตามหมายเลขที่ให้ไว้ด้านล่างได้เลยครับ
เมื่ออยู่จุดรับสัญญาณโทรศัพท์ที่ความสูง 1,247 เมตร คุ้มค่าที่ขึ้นมา
คุณแบ๊ค โทรศัพท์ 08-9860-5070
ขอขอบคุณ
คุณอำนาจ ฉัตรชัยเจนกุล เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ผู้จัดทำแผนที่เส้นทางเดินป่า
เรื่องและภาพภ่าย ไตรรัตน์ ทรงเผ่า
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : เส้นทางเดินป่าดอยหลวง-ดอยหนอก จังหวัดพะเยา