เส้นทางกองทัพบนหลังม้าแห่ง ไซบีเรีย

เส้นทางกองทัพบนหลังม้าแห่ง ไซบีเรีย: ไบคาล (Baikal) เกินจุดเยือกแข็ง

หนังสือเล่มหนึ่งชื่อเรื่องสะดุดตา ชื่อว่า “The Blue Wolf” a novel of the life of Chinggis Khan.” ที่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยโดยใช้ชื่อว่า “ตำนานจอมทัพมองโกล” เนื้อหาบอกเล่าประวัติศาสตร์เส้นทางสู่ความยิ่งใหญ่ของเตมูจิน หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อเจงกิสข่าน ผู้รวบรวมชนเผ่าเร่ร่อนของทุ่งหญ้าแห่ง ไซบีเรีย (Siberia) ให้เป็นหนึ่ง และแม่ทัพที่สามารถรวบรวมอาณานิคมกว้างใหญ่ที่สุดในช่วงศตวรรษที่สิบเจ็ด

หลายคนอาจไม่รู้จักเตมูจิน หรืออาจเคยฟังเรื่องเล่า หรือเคยอ่านประวัติเตมูจินแต่ลืมเลือนไปแล้ว ผู้เขียนก็เช่นกัน แต่กลับต้องแปลกใจเมื่อกำลังท่องเที่ยวอยู่ในแคว้นไซบีเรีย ประเทศรัสเซีย หลายสถานที่ผู้นำเที่ยวท้องถิ่นพูดถึงชื่อเตมูจิน (Temujin) หลายครั้ง จนต้องกลับไปทบทวนเกี่ยวกับประวัติของเตมูจิน แม่ทัพใหญ่แห่งเผ่ามองโกเลีย ผู้กลายมาเป็นเจงกิสข่าน ว่ามีความสำคัญอย่างไรกับแคว้นไซบีเรีย ทั้งๆ ที่เตมูจินเป็นนักรบจากมองโกลและแน่นอนว่าหนึ่งในเส้นทางเดินทัพของเตมูจินคือเส้นทางสายดวงตาสีฟ้าแห่งไซบีเรีย (The blue eyes Siberia) นั่นคือทะเลสาบไบคาลที่กว้างใหญ่หลายร้อยกิโลเมตร

เกาะน้ำแข็งบนเกาะ Olkhonsky ในเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์สามารถขับรถยนต์ไปเยี่ยมชมได้

กองทัพบนหลังม้าของเจงกิสข่านได้ชื่อว่าเป็นนักรบที่แข็งแกร่งและน่าหวาดกลัวในยุคที่มองโกลเลียล่าอาณานิคม สำหรับตัวผู้เขียนซึ่งเป็นชาวไทย นึกภาพไม่ออกเลยถึงความน่าเกรงขามของกองทัพมองโกลในยุคนั้น

จนกระทั่ง เมื่อทะเลสาบไบคาล (Baikal) ในเมืองอีร์คุตสค์ (Irkutsk) แคว้นไซบีเรีย ปรากฏตรงหน้า จึงได้ซึมซับความยิ่งใหญ่ของกองทัพบนหลังม้า และเกิดคำถามในใจว่า ต้องแข็งแรงขนาดไหนถึงเผชิญความหนาวเหน็บของอุณหภูมิในฤดูหนาวที่ติดลบสี่สิบองศาเซลเซียสได้กองทัพเอาชีวิตจากแหล่งอาหารที่อยู่ลึกลงไปใต้ชั้นน้ำแข็งมากกว่าหนึ่งเมตรได้อย่างไร และความหนาวเย็นที่ปกคลุมยาวนานถึง 8 เดือน แม้ว่าที่นี่เป็นเพียงสถานที่หนึ่งที่กองทัพบนหลังม้าเดินทางผ่าน แต่เป็นสถานที่ที่กว้างใหญ่ และน่าตื่นตะลึงเหลือเกิน

ผิวน้ำที่กลายเป็นน้ำแข็งในทะเลสาบไบคาลเกาะตัวหนาถึง 1 เมตร รองรับน้ำหนักรถยนต์ให้สามารถแล่นไปมาได้

ทะเลสาบไบคาลเป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ได้ชื่อว่ามีความเก่าแก่และลึกที่สุดในโลก จุดลึกที่สุดวัดได้ 1,640 เมตร กว้างประมาณ 50 ถึง 70 กิโลเมตร ระยะทางยาว 650 กิโลเมตร และปริมาณความจุน้ำมากถึง 23,615 ลูกบาศก์กิโลเมตร นอกจากเป็นทะเลสาบน้ำจืดแล้ว ที่นี่ยังเป็นแหล่งอาหารของคนในพื้นที่เพราะทะเลสาบไบคาลมีปลาหลายชนิด โดยเฉพาะปลาโอมูล ซึ่งเป็นปลาที่พบได้ในแถบไซบีเรีย และคนท้องถิ่นนิยมนำมาประกอบอาหาร

เมื่อฤดูหนาวมาเยือนช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ของทุกปี ผิวหน้าของทะเลสาบไบคาลจะเกาะกันเป็นน้ำแข็งที่มีความหนาถึงหนึงเมตร น้ำแข็งจับกันแน่นขนาดที่รถยนต์สามารถแล่นผ่านได้ การหาปลาในช่วงนี้จึงยากลำบากเพราะต้องเจาะน้ำแข็งลงไป แต่ก็เป็นความมหัศจรรย์ของธรรมชาติที่ใต้แผ่นน้ำแข็งยังมีสิ่งมีชีวิตดำรงชีพอยู่ได้ เราลองนึกว่าคนในสมัยก่อนเขาจะต้องอดทนขนาดไหนในการเจาะน้ำแข็งถึงหนึ่งเมตรเมื่อเทียบกับปัจจุบันที่มีเครื่องมือทันสมัย

บ้านของชาวบูร์ยัต (Buryat) ที่ปลูกมาจากไม้สนที่หมู่บ้านคูเซอร์ (Khuzhir)

ในพื้นที่เมืองอีร์คุตสค์ แม้จะเป็นพื้นที่ของประเทศรัสเซีย แต่ดั้งเดิมพื้นที่แห่งนี้เคยเป็นของมองโกลมาก่อน ทำให้เรายังเห็นวัฒนธรรมแบบชาวไซบีเรีย มองโกล หรือจีนที่เป็นวัฒนธรรมทางเอเชียกลมกลืนอยู่กับชาวรัสเซีย แม้กระทั่งชาวพื้นเมืองบูร์ยัต (Buryat) ที่เป็นชาวพื้นถิ่นของสาธารณรัฐบูเรียเทีย (Republic of Buryatla) ที่อยู่ทางตอนใต้ของไซบีเรียตามแนวชายฝั่งตะวันออกของทะเลสาบไบคาล นับเป็นพื้นที่ค่อนข้างแปลกตาสำหรับคนไทยที่เห็นวัฒนธรรมผสมของชาวรัสเซียที่มีรูปร่างหน้าตาค่อนไปทางตะวันตก และชาวบูร์ยัตที่เหมือนชาวมองโกลเลีย

บางส่วนของชาแมนร็อก (Shaman Rock)

อีร์คุตสค์ก่อตั้งในปี 1661 เพื่อใช้เป็นเมืองเชื่อมต่อการค้าจีน อินเดีย และยุโรป ต่อมาหลังการจลาจลต่อต้านพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 1 (Nicholas 1 of Russia) ในปี 1825 อีร์คุตสค์ถูกใช้เป็นพื้นที่ลี้ภัยนักโทษการเมืองซึ่งมีทั้งศิลปิน ขุนนาง นายทหาร และชนชั้นสูง ทำให้อีร์คุตสค์มีวัฒนธรรมผสมผสานสืบเนื่องกันมา ที่เห็นชัดคือผู้คนในเมืองนี้นิยมรับประทานข้าว เกี๊ยว รวมไปถึงบะหมี่

การเดินทางไปทะเลสาบไบคาลส่วนใหญ่ใช้รถ UAZ Russian van เพราะเหมาะสมกับทั้งภูมิประเทศที่มีหิมะหนา และพื้นน้ำแข็ง เพื่อเดินทางไปเกาะออลคอน (Olkhon) ซึ่งเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในทะเลสาบไบคาล ด้วยระยะทางที่ห่างจากอีร์คุตสค์ประมาณ 6 ถึง 7 ชั่วโมง ทำให้ผู้ไปเยือนส่วนใหญ่แวะพักนอนที่หมู่บ้านคูเซอร์ (Khuzhir) ก่อน ประชากรที่นี่ส่วนใหญ่เป็นชาวบูร์ยัตที่ยังคงรักษาวัฒนธรรมการเคารพธรรมชาติไว้ ในช่วงฤดูหนาวจัดหลังเวลาสองทุ่มทุกอย่างในหมู่บ้านจะเงียบสงบ ไม่ค่อยมีชาวบ้านออกมาเดินตามท้องถนนในเวลากลางคืน

UAZ Russian van นิยมใช้ขับบนเกาะในช่วงที่น้ำในทะเลสาบไบคาลกลายเป็นน้ำแข็ง

ด้วยความกว้างใหญ่ของทะเลสาบไบคาล นอกจากน้ำในทะเลสาบเกาะตัวเป็นแข็งแล้ว ในถ้ำต่างๆ ยังเกิดหินงอกหินย้อยน้ำแข็ง ให้ภาพสวยงามแปลกตา น้ำแข็งในถ้ำอัดตัวแน่นขนาดที่ว่าเราสามารถจุดคบเพลิงเข้าไปเดินชมได้โดยที่น้ำแข็งไม่ละลาย (ซึ่งต้องอยู่ในการดูแลของไกด์ท้องถิ่นเพื่อรบกวนธรรมชาติให้น้อยที่สุด) นึกภาพสมัยก่อนที่คนเราต้องอาศัยนอนในถ้ำน้ำแข็งจะทั้งหนาวเยือกและลึกลับชวนค้นหาขนาดไหน

สิ่งแปลกตาอย่างหนึ่งคือพื้นน้ำที่เกาะตัวเป็นน้ำแข็งก่อเกิดปฏิมากรรมฟองอากาศอัดแข็งหลายรูปแบบเป็นภาพที่สวยงามอัศจรรย์ ฟองอากาศสีขาวที่ถูกอัดอยู่ในน้ำแข็งคือแก๊ซมีเทน ซึ่งเกิดจากการย่อยสลายของซากพืชและสัตว์ในน้ำ ในฤดูหนาวจึงถูกอัดอยู่ในน้ำแข็งจนเกิดเป็นฟองสีขาวรูปร่างแปลกตา ชาวบ้านที่นี่เรียกฟองสีขาวนี้ว่าบับเบิ้ล (bubble) ฟองอากาศอัดแข็งเหล่านี้สวยงามชวนหลงใหลจนหลงวนถ่ายรูปอยู่นาน กว่าจะรู้ตัวอีกทีนิ้วมือก็แข็งเกร็งเพราะอากาศเย็นจัดไปแล้ว

กลับมาเรื่องราวที่ไกด์ท้องถิ่นเล่าตำนานให้ฟังอีกครั้งว่าที่ราบสูงเหนือทะเลสาบ เคยเป็นที่พักทัพของเตมูจิน เมื่อครั้งนำกองทัพบนหลังม้าเดินทางข้ามผ่านไซบีเรีย ไกด์พาเราไปแวะถ่ายภาพที่นี่ เป็นภาพมุมกว้างที่เห็นพื้นที่เบื้องล่างคือทะเลสาบไบคาลกว้างใหญ่ และมองเห็นได้จากระยะไกล ไม่ว่าเรื่องที่ไกด์บรรยายจะเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องเล่า ที่นี่ก็เป็นที่ตั้งชัยภูมิของกองทัพที่เห็นข้าศึกรอบด้าน และเป็นสมรภูมิทัพที่ยอดเยี่ยมมาก เพราะอากาศหนาวจนทำให้ไอน้ำในลมหายใจกลายเป็นเกล็ดน้ำแข็ง

นอกจากนี้ที่เกาะออลคอน บริเวณชาแมน ร็อค (Shaman Rock) ยังมีตำนานเกี่ยวกับพ่อมดหมอผี เนื่องจากความน่ากลัวของสถานที่ โดยมีเรื่องเล่าสืบกันมาว่า เป็นที่ขังนักโทษร้ายแรงกลางแจ้ง ที่ตัดสินความตายโดยธรรมชาติ เมื่อนักโทษถูกตัดสินถึงที่สุดให้ประหารชีวิต หรือในกรณีที่ตัดสินโทษไม่ได้ นักโทษเหล่านี้จะถูกมัดไว้ที่บริเวณชาแมน ร็อค เป็นเวลาหนึ่งคืน หากผ่านพ้นจากความตายได้นักโทษจะได้รับอิสระภาพ แต่ที่อุณภูมิหนาวจัดถึงลบสี่สิบองศาเซลเซียส การถูกมัดอยู่ในสถานที่ทั้งหนาวถึงกระดูก มันยังมีความเป็นไปได้หรือที่ใครจะรอดพ้นจากค่ำคืนสุดโหดร้ายนั่นมาได้

บริเวณชาแมนร็อก (Shaman Rock) แม้จะมองเห็นเป็นพื้นดิน แต่อากาศหนาวจัดและพื้นดินเต็มไปด้วยก้อนน้ำแข็ง

 

ถึงแม้ทะเลสาบไบคาลจะเต็มไปด้วยตำนานผ่านมาตั้งแต่ยุคเตมูจิน การรบพุ่งเพื่อแย่งชิงดินแดนทั้งไซบีเรีย มองโกล จีน และรัสเซีย ผ่านเรื่องเล่าความลึกลับจากท้องทะเลสาบน้ำจืดลึกที่สุด ที่เบื้องล่างดำมืดเป็นที่ฝังหลายชีวิตไว้ที่นั่น หรือแม้แต่ตำนานเรื่องเล่าของพ่อมดหมอผีจากไซบีเรีย แต่ที่สุดแล้วทะเลสาบน้ำจืดไบคาลแห่งนี้คือชีวิต คือแหล่งอาหารที่หล่อเลี้ยงประชากรในแถบไซบีเรียด้วยความอุดมสมบูรณ์ของพื้นน้ำ และยังคงเป็นแหล่งชีวิตให้คนในพื้นที่ต่อไป

เมื่อเรายืนมองทะเลสาบไบคาลที่เกาะแน่นเป็นน้ำแข็งสุดลูกหูลูกตา อดนึกย้อนกลับไปในช่วงคริสต์ศวรรษที่สิบสามไม่ได้ ภาพกองทัพบนหลังม้าของเตมูจินที่บุกเข้ารวบรวมชนเผ่าแห่งทุ่งหญ้าไซบีเรียให้เป็นหนึ่ง ก่อนจะเป็นกองทัพที่เกรียงไกรบุกตีอีกหลายประเทศ บนหลังม้าศึกที่ต้องวิ่งผ่านทะเลสาบน้ำแข็ง ไม่น่าแปลกใจที่นักรบของเตมูจินจะมีร่างกายที่แข็งแรงมาก เทียบกับเราเมื่อเผชิญหน้าทุ่งน้ำแข็งแห่งไบคาล แม้จะใส่เสื้อกันหนาวกันลม หมวกและถุงมือราคาแพง ยังยืนหนาวสั่นศิโรราบต่อธรรมชาติเบื้องหน้า

เรื่องและภาพถ่าย แก้ว การะบุหนิง 


 

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.