เลาขวัญ เมืองรองในเมืองกาญจน์

ขับรถไปนอนเต็นท์ ปีนเขา และเดินป่า ผ่านเส้นทางเลาขวัญ

Scenic Route Trip

การเดินทางมาเที่ยวเมืองกาญจน์ของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ จุดหมายสำคัญมักอยู่ที่อุทยานแห่งชาติ ภูเขา และแม่น้ำ บางครั้งอาจทำให้เราหลงลืมบางสถานที่ไปบ้าง แต่ขึ้นชื่อว่าเมืองแห่งภูเขาและอุทยานฯ แล้ว ไม่ว่าเราจะเดินทางไปเที่ยวในส่วนไหนก็มักพบเจอวิวสวยงามแปลกตาไม่แพ้จุดท่องเที่ยวยอดนิยมที่อื่นๆ และบางครั้ง การเดินทางออกนอกเส้นก็อาจทำให้เราได้ประสบการณ์การเดินทางใหม่ๆ ที่น่าสนใจ

การเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดกาญจนบุรี มีจุดสนใจอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในกระแสโลกออนไลน์มากนัก อย่างเส้นทาง “เลาขวัญ” ซึ่งไม่ใช่เส้นทางที่เพิ่งสร้างขึ้นใหม่ แต่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่อาจมองว่าเป็นเส้นทางอ้อม ทำให้เสียเวลาการเดินทาง ดังนั้น เส้นทางนี้จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ชื่นชอบขับรถชมทัศนียภาพสองข้างทางแบบเนิบช้าและไม่เร่งรีบ ตลอดสองข้างทาง บางช่วงให้ความารู้สึกเหมือนภูมิประเทศในภาคอิสานของไทย บางช่วงเหมือนเรากำลังเดินทางอยู่ในภาคเหนือ

ช่วงของเส้นทางระหว่างหนองปรือมุ่งสู่อำเภอศรีสวัสดิ์ นักท่องเที่ยวสามารถจอดแวะพักที่จุดชมวิว เพื่อเก็บภาพและบรรยากาศของอ่างเก็บน้ำศรีสวัสดิ์ที่อยู่เบื้องล่าง ช่วงเวลาที่เหมาะสมคือช่วงปลายฤดูฝน (กันยายน – ตุลาคม) ซึ่งเป็นช่วงที่สภาพอากาศช่วยสร้างความโรแมนติกได้ดีทีเดียว อย่างไรก็ตาม เส้นทางนี้สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ทั้งปี หากคุณอยากลองเปลี่ยนบรรกาศการเดินทางแบบเดิมๆ ลองเปลี่ยนมาขับรถผ่านเส้นทางเลาขวัญก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย

ระหว่างทาง

เลาขวัญถือเป็นพื้นที่รองทางการท่องเที่ยว และเป็นอำเภอเล็กๆ ที่แยกตัวมาจากอำเภอพนมทวน สภาพภูมิอากาศอยู่ในเขตเงาฝนของเทือกเขาตะนาวศรี จึงมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปีน้อย “เลาขวัญมันแล้ง ทำการเกษตรไม่ค่อยได้ ไม่เหมือนอำเภออื่น” คำบอกเล่าของชาวบ้านที่สะท้อนภาพของพื้นที่ เราถามถึงที่น่าสนใจในอำเภอเลาขวัญ ได้คำตอบว่า ด้วยสภาพของพื้นที่ที่มีลักษณะสูงต่ำของภูเขาสลับกันไป ทำให้เกิดเส้นทางศึกษาธรรมชาติตามภูเขาต่างๆ เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจเดินป่า และผู้เริ่มต้นการเดินป่า แต่ในปัจจุบันยังไม่มีการจัดการที่เป็นระบบดีพอ จึงยังไม่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว หากในอนาคต การจัดการเรื่องการท่องเที่ยวชุมชนมีประสิทธิภาพมากขึ้น เลาขวัญก็เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่น่าสนใจสำหรับเดินป่า

ปลดล็อคความสุข ด้วยขบวนการ “Happineering หัวใจยิ้ม”

สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการพักค้างแรมก่อนเดินทางไปยังสถานที่อื่น ในอำเภอเลาขวัญมีที่พักสไตล์แคมปิ้งชื่อ “ไร่ใจยิ้ม” กับบรรยากาศเต็นท์กระโจมติดอ่างเก็บน้ำห้วยตะเคียน ภาพแรกที่เราเดินทางมาถึงก็นึกในใจว่าเป็นที่พักธรรมดา สถานที่แห่งนี้เป็นที่พักก็จริง แต่นอกเหนือจากนั้นแล้ว ที่นี่เป็นสถานที่บ่มเพาะจิตใจ และบ่มเพาะรากแก้วแห่งความสุข ผ่านธรรมชาติของป่าไม้ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมผจญภัยต่างๆ ที่ช่วยเสริมสร้างทั้งความคิดและจิตใจ ประกอบด้วย

จากกิจกรรมต่างๆ ที่กล่าวมา หากคุณกำลังมองหาความสงบและอยากปลดล็อกความสุขในใจ ไร่ใจยิ้มอาจเป็นคำตอบหนึ่งที่คุณกำลังมองหา

สู่ธรรมชาติที่อุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์

วันรุ่งขึ้น เราออกเดินทางจากอำเภอเลาขวัญไปยังอุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ อำเภอศรีสวัสดิ์ เดิมชื่ออุทยานแห่งชาติถ้ำธารลอด ที่นี่มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติระยะสั้นๆ โดยมีจุดเด่นคือน้ำตก หน้าผา และถ้ำธารลอด ที่เกิดจากน้ำฝนกัดเซาะ และการยุบตัวของเขาหินปูน ทำให้เกิดสะพานหินธรรมชาติขนาดใหญ่ โดยส่วนตัว ผมชอบเส้นทางศึกษาธรรมชาติมากที่สุด เนื่องจากในเส้นทางมีต้นไม้ใหญ่นานาพันธุ์สร้างความสดชื่นตลอดทาง ทำให้เราสูดอากาศดีๆ ได้เต็มปอด นอกจากนี้ อุทยานฯ ยังเตรียมพื้นที่กางเต็นท์สำหรับผู้ที่ต้องการค้างแรม แต่ยังมีข้อจำกัดในบางพื้นที่ หากสนใจเดินทางไปแคมปิ้งในอุทยานฯ ควรสอบถามข้อมูลก่อนเดินทาง (เบอร์โทรศัพท์อุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ 0-345-7020 หรือ 09-5619-8981)

เท้งเต้งกลางอ่างเก็บน้ำ

หลังจากเที่ยวชมอุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์แล้ว ถึงเวลาที่ต้องกลับสู่เมือง เราเลือกเดินทางบนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4041 เพื่อมุ่งหน้าไปลงเท้ง (ภาษาถิ่น) หรือแพขนานยนต์ ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกที่เรามีประสบการณ์ในการลงเท้ง
ในตอนนั้น เป็นเวลาพลบค่ำดวงอาทิตย์ใกล้ลับขอบฟ้า แสงทองสะท้อนกับผิวน้ำในอ่างเก็บน้ำ เป็นภาพสุดท้ายของวันที่น่าประทับใจ เหตุผลที่เราเลือกขับรถลงเท้ง เพราะช่วยร่นระยะทางได้ประมาณ 30 กิโลเมตร จากการสอบถามชาวบ้านว่าทำไมเรียกแพลักษณะนี้ว่าเท้ง เราได้คำตอบว่า มาจากคำว่า “เท้งเต้ง” แปลว่า อาการลอยไปลอยมากลางน้ำ ลอยคว้างไปไม่มีจุดหมาย แต่ตอนนี้เรามีจุดหมายอยู่ที่อีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งใช้เวลาเท้งเต้งประมาณ 20 นาที เราจบวันด้วยการมองหาร้านอาหารรสดีสักร้าน ก่อนจะจบการเดินทางที่ดูเหมือนไร้จุดหมาย แต่กลับมีความหมายอีกครั้ง

การเดินทางเส้นทางนี้เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชอบขับรถชมวิว มีเวลาที่จะชื่นชมธรรมชาติ สองข้างทางโดยไม่เร่งรีบ น้อยด้วยรถและผู้คนแต่มากด้วยวิวที่หลากหลาย ในที่ที่ไม่มีอะไรมักจะมีอะไรเสมอ

ขอขอบคุณ
คุณปิยพัชร์ วงศ์โดยหวัง ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)สำนักงานกาญจนบุรี
อุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์

เรื่อง : ไตรรัตน์ ทรงเผ่า
ภาพ : อนุพงษ์ สุขเกษม

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.