ความสุขบนความเนิบช้าแห่ง ลำน้ำน่าน

35 นักเดินทาง
1 ทีมวิจัยพันธุ์ปลาจากต่างประเทศ
45 กิโลเมตรบน ลำน้ำน่าน

“กิ๋นข้าวกั๊บเกลือ ลำเหลือจิ๊นปิ้ง” : ความสุขที่บังเกิดบนความเนิบช้า ระยะทางกว่า 45 กิโลเมตรบน ลำน้ำน่าน ที่ทำให้เราเข้าใกล้กับคำว่า ‘ความสุข’ มากกว่าทุกครั้ง บันทึกการเดินทางที่แม้แต่เราเองก็ไม่เคยคิดว่ามันจะทำให้ทุกอย่างน่าจดจำมากขนาดนี้

เรื่องและภาพถ่าย : วิริทธิพล วิธานเดชสิทธิ์

“บันทึกหน้าแรก”

เครื่องจักรสี่ล้อสีเขียวมะกอกพาเรามุ่งหน้าขึ้นเหนือจากเมืองหลวงกว่า 10 ชั่วโมง ก่อนที่เราจะได้ทักทายกับจังหวัดที่ใคร ๆ ก็ต่างหลงใหลตั้งแต่ครั้งแรกที่มาเยือน เราเดินทางถึงจังหวัดน่านในวันที่สภาพอากาศสดใส ลมเย็นโชยอ่อนพร้อมอุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียสต้น ๆ ในตอนเช้า

ถึงแม้แดดจะแรงสักเล็กน้อย แต่ก็ไม่ใช่อุปสรรคเท่าไรนัก พูดรวม ๆ นี่คือปัจจัยที่สมบูรณ์แบบสำหรับกิจกรรมกลางแจ้งอย่างที่ควรจะเป็น

เส้นทางระยะประมาณ 45 กิโลเมตรนี้ มีจุดเริ่มต้นอยู่ที่อำเภอเวียงสา ซึ่งจะล่องตามลำน้ำโดยใช้เวลา 3 วัน 2 คืนยาวไปจนจบที่แก่งหลวง เรามุ่งหน้าเข้าอำเภอเวียงสากันตั้งแต่เช้าตรู่ ก่อนจะค่อย ๆ ช่วยกันขนเรือเพื่อลงเทียบท่าทีละลำสองลำจนครบจำนวน แล้วนักเดินทางกว่า 30 ชีวิตก็ได้เริ่มขยับฝีพายกันในที่สุด

บันทึกหน้าแรกแห่งลำน้ำน่านสำหรับเราก็ได้เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการ

“ความสุขบนความเชื่องช้า”

หากคุณกำลังมองหาความตื่นเต้นจากสิ่งที่กำลังจะได้อ่านต่อไปนี้นั้น เราคงต้องบอกตามตรงตั้งแต่วินาทีนี้ว่าคุณคงจะพบแต่ความผิดหวัง บันทึกหน้านี้ช่างแตกต่างจากการเดินทางในช่วงเวลาที่ผ่านมาของเราอยู่มาก เราไม่ได้ไปผจญป่าดิบชื้น เขาสูงชัน ฝ่าหิมะ ไม่ได้ใกล้เคียงสิ่งเหล่านั้นเลยสักนิด

เราแค่กำลังใช้ชีวิตอย่างเชื่องช้าบนเรือที่เคลื่อนไปด้วยฝีพายพร้อมสายน้ำเอื่อย ๆ ของลำน้ำน่าน ช่างน่าประหลาดใจที่ทุกวินาทีที่ผ่านไปนั้นไม่ได้ทำให้เราเบื่อหน่ายเลยแม้แต่นิด

มันช่างน่าอัศจรรย์ ที่ทันใดนั้น เราก็พบว่าความสุขบนความเชื่องช้านั้นมันมีอยู่จริง

เราเคลื่อนที่ผ่านบ้านหลังเล็ก หลังน้อย ที่ถูกปลูกอยู่ริมชายน้ำ กลุ่มแล้วกลุ่มเล่า

จาก 10 เหลือ 5  จาก 5 เหลือ 2 และจาก 2 เหลือ 1

แล้วในที่สุดบ้านหลังสุดท้ายก็ค่อย ๆ ไกลห่างออกไปจากสายตา สองข้างทางเริ่มกลายสภาพเป็นป่ามากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แสงแดดเที่ยงตรงที่ไร้มวลหมู่เมฆ ทำหน้าที่ของมันได้อย่างดีเยี่ยม แผดเผาจนบางจังหวะเริ่มไม่แน่ใจว่ากลิ่นที่ได้นี่คือกลิ่นไหม้ของผิวหนัง หรือเพียงแค่เราคิดไปเอง

ถึงอย่างนั้นแสงสว่างจากดาวฤกษ์ที่กำลังแสดงพลานุภาพก็ได้ทำให้เราเห็นว่าผืนน้ำเบื้องล่างนั้นใสเพียงใด แม้จะไม่ได้ใสราวกระจก แต่ก็มากพอให้มองเห็นสาหร่ายสีเขียวแผงใหญ่ ที่กำลังลู่ไปตามแรงน้ำเกือบตลอดเส้นทาง รวมถึงฝูงปลาที่แวะเวียนมาทักทายบ้างเป็นบางจังหวะ

แม่น้ำสายนี้กำลังฟื้นจากความตายจริง ๆ

ความเชื่องช้ากินเวลาราว 5 ชั่วโมงสำหรับวันแรก ก่อนที่เราจะพบว่าเรือลำหน้าสุดจอดเทียบท่าบนเนินทรายแห่งหนึ่งที่มีลักษณะเหมือนชายหาดอยู่ไกล ๆ นั่นคือวินาทีแรกที่เราได้ยลโฉม “เกาะขวด”

ชื่อที่ชาวบ้านใช้เรียกสถานที่แห่งนี้ ก่อนเราจะพบความจริงจากภาพมุมสูงว่าชื่อเกาะขวดคงไม่ได้มาเพราะโชคช่วย เกาะกลางน้ำที่จะโผล่ขึ้นให้เห็นเพียงช่วงน้ำลดเวลาต้นปีเท่านั้น เพราะในยามที่ฤดูฝนมาเยือน ทั้งเกาะจะจมหายไปอยู่ใต้สายน้ำขนาดใหญ่ และเกือบจะไม่มีใครได้เห็นจนกว่าหน้าแล้งจะกลับมาทักทายอีกคราในปีถัดไป เรามีเวลาเหลือใช้อย่างมากมายก่อนพระอาทิตย์จะลับขอบฟ้า คงไม่มีอะไรดีไปกว่าการใช้เวลาเหล่านี้กับทุกสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว

เสียงหัวเราะ
บทสนทนา
เรื่องเล่า
และความรู้สึกตลอดวันจากทุกคนต่างพรั่งพรูออกมาแลกเปลี่ยนกันอย่างสนุกสนาน

และในขณะเดียวกันชาวบ้านก็เริ่มพายเรือออกไปหาปลาสำหรับมื้อเย็น ก่อนจะกลับมาด้วยปลาขนาดกลางสองตัวและปลาขนาดเล็กที่โตเต็มวัยแล้วอีกพอสมควร น่าจะเป็นภาพที่ชัดเจนที่สุดสำหรับประโยคที่ว่าแม่น้ำนั้นหล่อเลี้ยงชีวิตของคนที่อาศัยอยู่กับมันได้อย่างไร

“สายน้ำกำลังคืนชีพ”

ถึงแม้สิ่งที่เราเห็นทั้งหมด มันคือส่วนประกอบที่ลงตัวของคำว่า “ความสมบูรณ์” แต่ใครจะไปคิดว่าความสวยงามบนความสงบนิ่งแห่งนี้กำลังฟื้นจากฝันร้ายที่มันเคยเผชิญอย่างช้า ๆ

เป็นเวลากว่า 2 ปีแล้วหลังจากมีคำสั่งเด็ดขาดในการห้ามทำการดูดทรายในแม่น้ำน่าน ผลของคำสั่งในวันนั้นคือการฟื้นตัวของลำน้ำน่านในวันนี้

พี่งบเล่าให้ฟังว่าก่อนหน้าที่จะมีการสั่งห้าม การดูดทรายส่งผลต่อแม่น้ำอย่างน่าใจหาย สภาพน้ำสีแดงก่ำที่เหมือนหน้าน้ำหลากในฤดูฝนนั้นคือภาพจำที่ชินตาในอดีต ก่อนพวกเราจะเดินทางมาที่นี่ พี่งบได้เปรยไว้ว่าน้ำที่นี่ไม่ใสเหมือนแม่เงา บางทีก็แดงบ้าง ใสบ้างสลับกันไป เพราะช่วงต้นน้ำนั้นมีการดูดทรายจนทำให้ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมได้รับผลกระทบไปด้วย

แต่สิ่งที่เห็นในวันนี้คือหลักฐานชิ้นดีว่าการสั่งห้ามดูดทรายอย่างเด็ดขาดนั้นช่วยชีวิตแม่น้ำสายนี้ไว้ได้มากมายแค่ไหน แม่น้ำน่านและชาวบ้านที่ใช้ชีวิตอยู่กับมันกำลังฟื้นตัวอย่างช้า ๆ และเราเองก็ดีใจที่ได้เป็นหนึ่งในพยานการฟื้นตัวในครั้งนี้

“วันที่ 2”

เราลืมตาขึ้นภายใต้อุณหภูมิราว 19 องศาเซลเซียส การได้ตื่นขึ้นในยามเช้าริมแม่น้ำนั้นเป็นความสุขที่เราเองแทบจะไม่รู้ว่าจะต้องเขียนบรรยายออกมาอย่างไร เพื่อให้ทุกคนได้เห็นภาพตรงตามความเป็นจริงได้มากที่สุด

เช่นเดิม ชาวบ้านพายเรือออกไปหาปลากันแต่เช้าอีกครั้ง ก่อนจะกลับมาพร้อมปลาหน้าตาประหลาด สำหรับคนที่ใช้ชีวิตกับลำน้ำมายาวนานคงไม่แปลกใจอะไร แต่สำหรับเรานั้นนี่คือการได้เห็นปลาชนิดนี้ครั้งแรก

 

“ปลาหมู” หรือชื่อสกุลว่า Botia ปลาที่มีเขี้ยวเหมือนหมูป่า

ในการเดินทางครั้งนี้สิ่งที่พิเศษกว่าที่ผ่าน ๆ มาคือเรามีนักวิจัยจากต่างประเทศเดินทางมาด้วย

“บักแอร์รอน” คำเรียกติดปากที่ใช้เรียก แอร์รอน นักวิจัยพันธุ์ปลาที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองไทยมายาวนานหลายปี ถึงขั้นที่พี่ ๆ ให้คำนิยามเล่น ๆ ว่าแอร์รอนเป็นชาวกะเหรี่ยงที่พูดอังกฤษได้

“สองปีมานี้ปลาเยอะขึ้นกว่าแต่ก่อนอีกนะ”

ชาวบ้านคนนึงกล่าวกับเราก่อนจะส่งปลาหน้าตาประหลาดให้แอร์รอนเก็บข้อมูล

การเดินทางมากับแอร์รอนส่งผลให้เรารู้จักพันธุ์ปลาแปลก ๆ หลายต่อหลายชนิด ความสนุกคือทุกครั้งที่ชาวบ้านจับปลามาได้ จะเอามาให้แอร์รอนดูก่อนประกอบอาหารเสมอ แอร์รอนจะตัดครีบ และเก็บข้อมูลบางส่วนจากปลาตัวนั้น ๆ ก่อนมันจะลงหม้อเป็นมื้อเย็นของชาวบ้านต่อไป

ส่วนเรานั้นได้แต่นั่งฟัง และพยายามแยกปลาบางชนิดด้วยสายตาให้ออก แม้มันจะดูหน้าตาเหมือนกันแค่ไหน แต่แอร์รอนก็ยืนยันว่ามันเป็นคนละสายพันธุ์กันอย่างแน่นอน

ได้ความรู้เรื่องปลาจากแอร์รอน แล้วต่อด้วยรสชาติแกงปลาแสนอร่อยจากชาวบ้าน เป็นช่วงเวลาที่ความรู้และความอร่อยมาบรรจบกันอย่างสมบูรณ์

และทันทีที่ทุกคนพร้อม เราก็เริ่มเคลื่อนที่ลงน้ำกันอีกครั้ง

ระยะทางวันนี้น้อยกว่าวันแรก แต่เรากลับใช้เวลาเท่ากัน คงเป็นเพราะทุกคนอยากซึบซับบรรยากาศสองข้างทางให้มากเท่าที่จะมากได้ ก่อนที่ห้าชั่วโมงแห่งความสงบก็จบลงอีกครั้ง เมื่อชาวบ้านพบที่ที่เหมาะสมต่อการตั้งแคมป์สำหรับคืนนี้ เราพาย เราถ่ายรูป เราแวะพัก และเราถึงที่หมาย แม้จะเป็นกิจกรรมที่ไม่ต่างกันมากจากเมื่อวาน แต่วิวสองข้างทางนั้นทำให้เรารู้สึกต่างออกไปราวฟ้ากับเหว บนสนทนารอบวงเริ่มต้นอีกครั้ง พร้อม ๆ กับดวงอาทิตย์ที่กำลังจะหมดหน้าที่ของวันนี้

บทสนทนาพร้อมเท้าจุ่มน้ำยังคงเป็นกิจกรรมอันโปรดปราณของทุกคนในทุก ๆ วัน สิ่งที่น่าเสียดายที่สุดสำหรับวันนั้นคือความจริงที่ว่านี่คือคืนสุดท้ายของการเดินทางอันแสนจะพิเศษนี้แล้ว

พี่งบเคยบอกว่าเวลาไปพายเรือ มักจะเลือกคืนจันทร์เต็มดวง ครั้งนี้ก็เช่นกัน

ค่ำคืนสุดท้ายรอบกองไฟ ยังคงสนุกเหมือนเดิมไม่เคยเปลี่ยนเพราะเรื่องเล่าที่ผลัดกันเล่าไม่รู้จบจากทุกคน แอร์รอนเล่าให้เราฟังว่าเขาใช้เวลากับสายน้ำมาเกือบทั้งชีวิต จนมีภรรยาและลูกสาวหนึ่งคน แอร์รอนเป็นชาวต่างชาติที่รักเมืองไทยมาก จากสองเหตุผลข้างต้น ลูกสาวแอร์รอนจึงมีชื่อว่า “ธารา”

ฟังจบแล้วก็เห็นด้วยอย่างเลี่ยงไม่ได้ว่าเป็นชื่อที่เพราะจริง ๆ

เมื่อกองไฟมอดลง ทุกคนต่างแยกย้ายเพื่อพักเอาแรง เราใช้เวลาคืนสุดท้ายหลังกิจกรรมรอบกองไฟไปกับการนั่งเล่นฟังเสียงน้ำบนเก้าอี้คู่ใจ พร้อมแสงจันทร์ที่สาดส่องจนไม่ต้องใช้ไฟฉาย

เสียงน้ำไหลเอื่อย ๆ นี่มันเพราะกว่าที่คิดไว้เยอะเลยนะ

“วันที่ 3 ความสุขมักผ่านไปด้วยความไวแสง”

แล้วภายในพริบตาเดียว วันสุดท้ายก็เดินทางมาถึงอย่างไม่ทันตั้งตัว “ช่างน่าเสียดาย” แต่การเดินทางและทุก ๆ อย่างมันก็แบบนี้ มีเริ่มก็ต้องมีจบเป็นเรื่องปกติ เราเริ่มออกพายกันตั้งแต่เช้า ผ่านแก่งแล้ว แก่งเล่า ต้นไม้สองข้างทางเริ่มเปลี่ยนสภาพ เสียงใบไม้ลู่ลมเริ่มเบาลงพร้อมมีเสียงรถราแทรกเป็นระยะ ๆ จากไกล ๆ

เรากำลังกลับเข้าสู่ความเจริญอีกครั้ง แต่ถึงแม้จะเป็นแบบนั้นมันก็ไม่น่าเสียดายที่ได้เห็นว่าสายน้ำแห่งนี้กำลังฟื้นตัว ฝูงปลากลับมาแหวกว่าย และที่ดีใจไปกว่าใครก็คงหนีไม่พ้นชาวบ้านที่ใช้ชีวิตกับแม่น้ำแห่งนี้มาแสนนาน

ถึงแม้เราจะบอกว่านี่คือการเดินทางด้วยความเนิบช้า แต่หากเอาความรู้สึกและประสบการณ์เป็นตัวตั้งการเดินทางครั้งนี้นั้นช่างรวดเร็วราวกับความไวแสง

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.