สัมผัสเมืองนครนายกพร้อมเพื่อนร่วมทางวัยเก๋า

เมื่อพูดถึงที่ เที่ยวนครนายก นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่นิยมเดินทางไปเยี่ยมชมน้ำตกสวยๆ และถ้าเป็นเหล่า Café Hopper ที่ชอบไปทอดอารมณ์ในร้านกาแฟก็จะนึกถึงร้านที่มีวิวทุ่งนาเป็นพื้นหลัง เพื่อถ่ายรูปลงสื่อโซเชียล

นครนายกเป็นเมืองที่รุ่มรวยทรัพยากรธรรมชาติ (จนปรากฏเป็นส่วนหนึ่งในคำขวัญของจังหวัด) การเดินทางไป เที่ยวนครนายก ของผู้เขียนในครั้งนี้ นอกจากพาผู้อ่านไปสัมผัสทรัพยากรทางธรรมชาติแล้ว ความพิเศษครั้งนี้คือการเดินทางชมวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ โดยมีความน่าสนใจเกี่ยวข้องกับบุคคลสำคัญที่ได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโก ในด้านสันติภาพ และที่สำคัญผู้เขียนมีเพื่อนร่วมทางส่วนใหญ่เป็นวัยเก๋า (Silver Age) การเดินทางในครั้งนี้จะเป็นอย่างไร ขอเชิญผู้อ่านร่วมสัมผัสประสบการณ์ไปพร้อมกันค่ะ

การเดินทางครั้งนี้ผู้เขียนเลือกเดินทางกับบริษัทนำเที่ยว เริ่มต้นออกเดินทางตั้งแต่เช้าตรู่โดยรถบัสปรับอากาศพร้อมเพื่อนร่วมทางวัยเก๋า (ผู้มีอายุ 55 ปีขึ้นไป) ที่เดินทางทั้งแบบเป็นกลุ่ม เป็นคู่ หรือแม้กระทั่งมาเพียงท่านเดียว ทัวร์ครั้งนี้มีนักท่องเที่ยวจองเต็มทุกที่นั่ง มัคคุเทศก์บอกกับผู้เขียนว่าพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวช่วงนี้เน้นขับรถเที่ยวเองเพราะยังกังวลเรื่องโควิด-19 ดังนั้นเราต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดการเดินทาง และยังคงต้องเว้นระยะห่างทางสังคม

บรรยากาศระหว่างเดินทางไปยังนครนายกเป็นไปอย่างสบายๆ มัคคุเทศก์คอยให้ความรู้เกี่ยวกับสถานที่ต่างๆ เหล่าวัยเก๋ามีส่วนร่วมกับกิจกรรมอย่างสนุกสนาน และยังสามารถตอบคำถามที่มัคคุเทศก์ถามได้เกือบทุกคำถาม นี่สินะที่เรียกว่า “เก๋าประสบการณ์” ซึ่งทำให้ผู้เขียนไม่รู้สึกถึงช่องว่างระหว่างวัยบนรถคันนี้เลย

วัดถ้ำสาริกา อำเภอเมือง เป็นจุดหมายแรกที่คณะเรามาถึงและเป็นครั้งแรกที่ผู้เขียนได้มาเยือน โดยปกติชื่อ “สาริกา” ส่วนใหญ่จะนึกถึงน้ำตกสาริกา ซึ่งเป็นน้ำตกที่มีชื่อเสียงของนครนายก แต่วัดถ้ำสาริกาแห่งนี้มีความสำคัญมากในทางพระพุทธศาสนา เพราะเป็นหนึ่งในสถานที่ปฏิบัติธรรมของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ท่านเป็นชาวอุบลราชธานี ครั้งเมื่อท่านเป็นภิกษุสงฆ์ ได้ออกเดินธุดงค์ทั่วประเทศไทย เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนาในแบบที่ถูกต้อง นับว่าท่านเป็น “บูรพาจารย์สายพระป่าในไทย” และได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกในด้านสันติภาพ ซึ่ง พ.ศ.2563 นี้ เป็นปีที่ครบรอบ 150 ปีชาตกาลหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

รูปหล่อหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ที่อยู่ภายในถ้ำสาริกา จังหวัดนครนายก

สถานที่แห่งนี้ ผู้เขียนแอบกังวลแทนเพื่อนร่วมทางสูงวัยทั้งหลายเล็กน้อย เพราะต้องเดินเท้าขึ้นไปบนเนินเขาเล็กๆ เพื่อไปกราบสักการะรูปปั้นของหลวงปู่มั่นที่อยู่บนเพิงหินเล็กๆ ในถ้ำ แต่ผิดคาดค่ะ เพราะทุกท่านค่อยๆ เดินอย่างระวังด้วยสีหน้ามีความสุขจนสามารถขึ้นและลงได้อย่างปลอดภัย เมื่อลงมาถึงด้านล่างก็อุดหนุนสินค้าในชุมชนกันต่อ สินค้ามีผักสดๆ ปลอดสารพิษ ความสดของผักดึงดูดให้ผู้เขียนที่ไม่ชอบทานผักยังต้องอุดหนุน (ซื้อไปฝากคุณแม่ค่ะ)

สินค้าของชาวบ้านที่นำมาจำหน่ายภายในวัดถ้ำสาริกา จังหวัดนครนายก

ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ ตั้งอยู่หลังเขื่อนขุนด่านปราการชล ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อที่ดินตรงนี้ แต่เดิมพื้นที่ดังกล่าวเคยเต็มไปด้วยหินที่เกิดจากการระเบิดภูเขาเพื่อสร้างเขื่อน และดินมีสภาพความเป็นกรดสูง เพาะปลูกอะไรก็ไม่ขึ้น จนกระทั่งคุณปัญญา ปุลิเวคินทร์ เข้ามาพัฒนาโดยใช้ความรู้ในเรื่องหลักเศรษฐกิจพอเพียงผสานกับความเพียรจนสามารถพัฒนาที่ดินแห่งนี้ให้กลายเป็นป่าขนาดย่อม พอมีป่าก็สามารถปลูกสมุนไพรเพื่อนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ไว้ใช้และจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยว เป็นการสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน สถานที่แห่งนี้เหล่าวัยเก๋าคุ้นเคยกับต้นไม้และสมุนไพรเป็นอย่างดี จึงดูมีความสุขที่ได้แลกเปลี่ยนความรู้ให้กันและกัน

ระหว่างที่เราร่วมผจญภัยช่วยกันตามหานางกอยนั้น เราจะได้ศึกษาเกี่ยวกับเอกลักษณ์ของไทยพวน อันได้แก่ภาษาพวนที่มีลีลาสำเนียงไพเราะเป็นเอกลักษณ์เช่น “ไปกะเลอ” แปลว่า “ไปไหน” สาวไทยพวนจะทอผ้าด้วยมือที่มีลวดลายเกี่ยวกับความเชื่อ ศาสนา และประเพณี ซึ่งเป็นลวดลายที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของไทยพวน อาหารขึ้นชื่อจะเป็นเจียวมะเขือ แกงจาน และปลาแดะบอง มีประเพณีฮีตสิบสองที่กำหนดไว้เป็นบรรทัดฐานว่าในแต่ละเดือนทั้งสิบสองเดือนนั้นมีประเพณีอะไรบ้างที่ต้องปฎิบัติ บ้านไทยพวนจะมีลักษณะใต้ถุนสูง โปร่ง มีการละเล่นลำพวน นางด้ง นางสุ่ม ชาวไทยพวนมีความสุขกับวิถีชีวิตที่สงบ เรียบง่าย ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน ถือว่าเป็นการชมพิพิธภัณฑ์รูปแบบใหม่ที่สนุก และได้ความรู้แบบเพลินๆ

วัดคีรีวัน อำเภอเมือง ตั้งอยู่ในชุมชนที่มี “ลาวเวียง” คือชาวลาวที่อพยพมาจากเมืองเวียงจันทน์ สปป. ลาว แล้วมาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยโดยได้อพยพเข้ามามากที่สุดในช่วงของรัชกาลที่ 3 ขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมที่ชาวลาวเวียงในนครนายกยังคงสามารถรักษาไว้ได้เป็นอย่างดี ได้แก่ งานบุญข้าวจี่ (บุญเดือน 3) พิธีสู่ขวัญข้าว ประเพณีแห่ข้าวพันก้อน ประเพณีแต่งงาน และประเพณีสงกรานต์

พระแก้วมรกตจำลอง องค์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ภายในวัดคีรีวัน จังหวัดนครนายก

วัดคีรีวันมีสถาปัตยกรรมส่วนใหญ่เป็นรูปแบบขอมตั้งแต่กำแพงวัดไปจนถึงพื้นที่ภายในวัด ที่มีปราสาทขอมอันเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อโพธิ์หนึ่งพันปี ที่แกะสลักจากไม้ต้นโพธิ์ บริเวณใกล้เคียงมีรูปปั้นปูนของเหล่าเทพเจ้าต่างๆ ทั้งของจีนและพราหมณ์-ฮินดู ส่วนด้านบนของวัดเป็นที่ประดิษฐาน “พระแก้วมรกตจำลอง องค์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก” โดยสร้างจากเรซิ่น วัดแห่งนี้จึงเป็นสถานที่ที่มีการผสมผสานของวัฒนธรรมและความเชื่อที่หลากหลาย

ร่มหลากสีสันของเอเดน ฟาร์ม

เอเดน ฟาร์ม อำเภอองครักษ์ เป็นคาเฟ่ที่ตกแต่งด้วยร่มหลากสีสัน เป็นร่มเงาของแขกผู้มาเยือน บางคันก็กลายเป็นที่พักพิงของนกตัวน้อย และแน่นอน คาเฟ่ในนครนายกต้องมีวิวของทุ่งนา ภายในฟาร์มแห่งนี้เลี้ยงหอยทากพันธุ์อาข่าที่สามารถนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิวได้ด้วยนะคะ

เพื่อนร่วมทางวัยเก๋าของผู้เขียนยังคงมีความสุขกับสถานที่ในลักษณะนี้ไม่แพ้กับสถานที่อื่นๆ พวกเขามีความสุขกับการดื่มกาแฟหรือเครื่องดื่มอื่นๆ มีความสุขกับการอุดหนุนสินค้า มีความสุขกับการถ่ายรูป บางท่านที่มาท่านเดียวก็มีไม้เซลฟี่มาด้วย เรียกว่ามีการเตรียมพร้อมไม่แพ้วัยรุ่น แถมยังใช้งานอุปกรณ์ได้อย่างคล่องแคล่ว มีการโพสรูปลงโซเชียลเพื่อให้ช่วยบันทึกความประทับใจ มีไลน์กลุ่มเอาไว้แลกเปลี่ยนรูปถ่ายของแต่ละคนและเอาไว้ชวนกันไปเที่ยวในทริปหน้า (ผู้เขียนก็อยู่ในไลน์กลุ่มนั้นเรียบร้อย)

การเดินทางในครั้งนี้ผู้เขียนได้เห็นผลลัพธ์ของความมุ่งมั่นและความเพียรที่ต้องการจะช่วยเหลือผู้คนให้มีจิตใจและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของทั้งในหลวง ร.9 หลวงปู่มั่น คุณปัญญา และผู้นำชุมชนต่างๆ ได้เห็นผลลัพธ์ของชุมชนไทยพวนที่ปรับตัวตามสถานการณ์โดยกล้าฉีกกรอบเดิมๆ แต่ยังแน่วแน่กับวัตถุประสงค์หลักจนสามารถพัฒนาพิพิธภัณฑ์ออกมาได้อย่างน่าสนใจ

สิ่งเหล่านี้เป็นการย้ำเตือนและเป็นกำลังใจให้ตัวผู้เขียนในเรื่องการดำรงชีวิต หากเรามีความมุ่งมั่นผสานความเพียร และปรับตัวตามสถานการณ์ เราย่อมประสบความสำเร็จได้สักวัน

สำหรับการได้ร่วมเดินทางกับวัยเก๋าจำนวนมาก มันเป็นความรู้สึกที่อบอุ่น สนุกสนาน ทำให้ผู้เขียนตระหนักถึงการออมและการดูแลสุขภาพ เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่วัยเก๋าอย่างมีคุณภาพ และจะได้ท่องเที่ยวอย่างมีความสุขเหมือนกลุ่มนี้ และสุดท้ายนครนายกไม่ได้มีแค่น้ำตกสวยๆ ทุ่งนาเขียวขจี เขื่อนขุนด่านปราการชลอันตระหง่าน แต่ยังมีรอยยิ้มของชาวบ้านที่คอยต้อนรับทุกท่านที่มาท่องเที่ยวโดยชุมชนอยู่นะคะ

เรื่อง: ณสิตา ราชาดี
ภาพถ่าย: ไพฑูรย์ ปฏิสนธิเจริญ

ข้อมูลอ้างอิง

ชาวไทยพวน: มิวเซียม ปะพวน ที่ปากพลี อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก
ชาวลาวเวียง: วารสารสหศาสตร์ศรีปทุม ชลบุรี ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 มกราคม – เมษายน 2562


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ดูนก ง่ายๆ สไตล์ “ป้ากล้อง”

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.