หวนคืนสู่ กดานสค์ – มองมรดกยุคคอมมิวนิสต์แห่งโปแลนด์

โปแลนด์สมัยใหม่ได้แรงบันดาลใจจาก กดานสค์ เมืองที่ให้กำเนิดสหภาพแรงงานเสรีโซลิดาริตีเมื่อ 40 ปีก่อน

นานเหลือเกินที่ฉันมอง กดานสค์ ในฐานะเมืองที่ฉันเคยถูกตำรวจโปแลนด์จับเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ปี 1982

ในปีนั้น รัฐบาลโปแลนด์เริ่มผ่อนปรนข้อจำกัดต่างๆ หลังประกาศใช้กฎอัยการศึก ด้วยการปล่อยตัว เลค เวนซา ผู้นำสหภาพแรงงานเสรีโซลิดาริตี (Solidarity) ซึ่งถูกคุมขังอยู่นาน 11 เดือน โฆษกรัฐบาลเรียกวาเวนซา อย่างเย้ยหยันว่า “อดีตผู้นำของอดีตสหภาพแรงงาน” วาเวนซามีกำหนดขึ้นปราศรัยในวันนั้น และพวกเราราว 40 คน ซึ่งได้แก่ผู้สื่อข่าวต่างชาติ ช่างภาพ และผู้ช่วยชาวโปแลนด์ ออกันอยู่ตรงทางเข้าตึกอพาร์ตเมนต์ เพื่อรอเข้าสัมภาษณ์เขา

แต่ตำรวจกั้นไม่ให้เราเข้าไป เพราะตอนนั้นสหภาพแรงงานเสรีโซลิดาริตีเป็นองค์กรผิดกฎหมาย การปราศรัยของวาเวนซา และการที่เราพยายามเข้าพบเขาจึงเป็นเรื่องผิดกฎหมายไปด้วย การเผชิญหน้าในตอนแรกชวนตื่นตระหนก เพราะที่ผ่านมามีชาวโปแลนด์จำนวนไม่น้อยถูกจับกุมคุมขังในช่วงปราบปรามหลังการประกาศกฎอัยการศึก แต่ในสถานการณ์ตึงเครียดก็มีเรื่องชวนผ่อนคลายเกิดขึ้น เพราะตอนนั้นฉันตั้งครรภ์ได้สี่เดือน และเพื่อนชาวโปแลนด์ ในกลุ่มของเราพากันโกรธขึ้งที่ตำรวจทำให้ฉันเครียด

ในยุคคอมมิวนิสต์ อู่ต่อเรือกดานสค์จ้างคนงานมากถึง 20,000 คน และเป็นสถานที่ให้กำเนิดโซลิดาริตี สหภาพแรงงานเสรีแห่งแรกของโปแลนด์ ปัจจุบัน อู่ต่อเรือขนาดเล็กกว่าหลายแห่งต่อเรือยอชต์หรูหราและเสากังหันลม

จากนั้นไม่นาน คนเกือบครึ่งตึกอพาร์ตเมนต์ก็รู้ว่าฉันตั้งครรภ์ และพากันตะโกนด่าทอตำรวจ กระนั้น พวกเราก็ถูกก็ถูกต้อนขึ้นไปนั่งเบียดเสียดในรถตู้ไร้หน้าต่างและถูกนำตัวไปที่สถานีตำรวจ พวกเราแค่ได้รับการตักเตือนให้อยู่ห่างจากวาเวนซาแล้วปล่อยตัวไป

ตอนนี้ฉันหวนกลับมาที่กดานสค์อีกครั้ง 40 ปีหลังการหยุดงานประท้วงของคนงานอู่ต่อเรือในเดือนสิงหาคม ที่ให้กำเนิดสหภาพแรงงานโซลิดาริตี และนำพาโปแลนด์สู่เส้นทางประชาธิปไตย การหยุดงานประท้วงเหล่านั้นดึงดูดนักข่าวอย่างฉันให้เดินทางมายังโปแลนด์เพื่อทำข่าวการปฏิวัติอย่างสันติ ฉันปักหลักทำงานอยู่ในวอร์ซอสามปีรายงานเกี่ยวกับการเติบโตของสหภาพแรงงานอันเข้มแข็งซึ่งท้ายที่สุดมีสมาชิกถึงสิบล้านคน

ระหว่างทำงานรับทุนเมื่อปี 1989 ฉันบันทึกการประนีประนอมระหว่างพรรคฝ่ายค้านนำโดยสหภาพแรงงานกับรัฐบาลคอมมิวนิสต์ ซึ่งนำไปสู่การเลือกตั้งกึ่งเสรีหลายครั้ง และโซลิดาริตีก็คว้าชัยชนะด้วยคะแนนเสียงถล่มทลาย นับจากนั้น โปแลนด์ก็เริ่มใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ซึ่งปกป้องความเป็นอิสระของของฝ่ายตุลาการและองค์กรอิสระอื่นๆ แต่รัฐบาลปัจจุบันของโปแลนด์ถูกมองว่า กำลังพยายามบ่อนทำลายรากฐานแห่งประชาธิปไตยเหล่านั้น

การเดินขบวนของสตรีที่เรียกว่า มานีฟา เลี้ยวเลาะผ่านย่านเมืองเก่าเมื่อฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมา โดยหยิบยกประเด็นปัญหาเกี่ยวกับสิทธิสตรีและสิ่งแวดล้อมภายใต้สโลแกนว่า “ผู้หญิงและโลกมีเรื่องต้องแบกรับมากเกินไปแล้ว” กดานสค์ซึ่งมีประวัติศาสตร์ด้านความหลากหลายทางวัฒนธรรม เป็นแหล่งฟูมฟักการเคลื่อนไหวทางสังคมมาช้านาน

ที่เมืองท่าแถบทะเลบอลติกแห่งนี้ ซึ่งมีประวัติศาสตร์ของการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้า ผู้คน และแนวคิด ย้อนกลับไปถึงสมัยยุคกลาง บางทีสิ่งที่หลงเหลืออยู่อาจไม่ใช่การปฏิวัติ แต่เป็นจิตวิญญาณขบถ เมืองนี้ท้าทายอำนาจของพรรคกฎหมายและความยุติธรรม (Law and Justice Party) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล และขึ้นชื่อเรื่องความมีขันติธรรม

เมื่อโปแลนด์ปฏิเสธรับผู้อพยพในฐานะส่วนหนึ่งของแผนการตั้งรกรากใหม่ในสหภาพยุโรป กดานสค์ก็ประกาศ พร้อมรับผู้อพยพไว้เอง และเมื่อยาโรสวาฟ คัตชินสกี ผู้นำพรรครัฐบาล เรียกแนวคิดเกี่ยวกับแอลจีบีทีคิว (LGBTQ) ว่าเป็นภัยคุกคามต่ออัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวโปแลนด์ ทางการเมืองกดานสค์ก็ให้คำมั่นว่าจะปกป้องชนกลุ่มน้อย ที่มีอัตลักษณ์ทางเพศแตกต่าง

ถ้ากดานสค์เป็นเมืองแห่งการต่อต้าน ศูนย์โซลิดาริตีแห่งยุโรป (European Solidarity Centre) ก็คือหัวใจของเมืองนี้ ที่แห่งนี้คืออนุสรณ์สถานมีชีวิตของสหภาพแรงงาน และมรดกตกทอดของการหยุดงานประท้วงหลายครั้งในอดีต ซึ่งเปิดฉากขึ้นใกล้ประตูหมายเลข 2 (Gate No. 2) ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของอู่ต่อเรือเมืองกดานสค์ หรือที่รู้จักในอีกชื่อหนึ่งตอนนั้นว่า อู่ต่อเรือเลนิน

วาเวนซามีสำนักงานอยู่บนชั้นสอง ตอนที่เราพบกัน เขาสวมเสื้อเชิ้ตสีเทามีคำว่า KONSTYTUCJA ซึ่งแปลว่า รัฐธรรมนูญในภาษาโปแลนด์ ข้อความที่เขาต้องการสื่อคือ พรรครัฐบาลเหยียบย่ำทำลายสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ ขณะที่สื่อซึ่งอยู่ภายใต้การครอบงำของรัฐบาลเลือกใช้คำเรียกวาเวนซาแบบไม่ไว้หน้าเช่นกัน โดยพูดถึงเขาว่าเป็น คนขายชาติและสิ่งตกค้างจากอดีต

อะเล็กซานดรา ดุลเคียวิตซ์ นายกเทศมนตรีเมืองกดานสค์ ยืนอยู่หน้าข้อเรียกร้อง 21 ข้อที่นักกิจกรรมเขียน บนแผ่นไม้อัดระหว่างการหยุดงานประท้วงเมื่อปี 1980 ที่อู่เรือต่อกดานสค์

หลังทักทายอย่างเป็นกันเอง วาเวนซาเริ่มพูดด้วยน้ำเสียงทุ้มลึกกว่าเดิม และพูดห้วนๆว่า เปียร์ฟเช ปีตาเนีย หรือ “คำถามแรก” ในภาษาโปแลนด์ ราวกับกำลังกดนาฬิกาจับเวลาเพื่อเริ่มการวิ่งแข่ง เขาต้องรีบไปที่ไหนต่อหรือเปล่านะ หรือนี่อาจเป็นวิธีทำให้คนยำเกรง แต่เขาตอบคำถามฉันอย่างอดทน เมื่อถามถึงความรู้สึกตอนที่เขาก้าวเข้าไปในอู่เรือ เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ปี 1980 เพื่อนำการหยุดงานประท้วง เขารำลึกถึงเหตุการณ์นั้นว่าเป็น “บันไดขั้นหนึ่ง หรือช่วงเวลาหนึ่ง” ก่อนจะเสริมว่า “ผมคาดหวังว่ามันคงไม่ใช่บันไดขั้นสุดท้ายในการต่อสู้ของผม” ในการเจรจาต่อรองหลายครั้ง กับรัฐบาลคอมมิวนิสต์ เขาบอกฉันว่า “ผมรู้ดีว่าคงไม่ชนะขาด เลยต้องทำทีว่าจะไม่ยอมแพ้แบบหมดรูปเช่นกัน”

เราย้อนกลับไปคุยเรื่องความหมายของเสื้อเชิ้ตที่เขาสวมอยู่ วาเวนซาชี้ว่าโปแลนด์เป็นหนึ่งในประเทศซึ่ง คุณค่าประชาธิปไตยกำลังถดถอยอันเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วโลก เขาหยิบยกกฎหมายบางฉบับที่พรรครัฐบาล พยายามผลักดันผ่านรัฐสภาเพื่อบั่นทอนความเป็นอิสระของสถาบันตุลาการ “ระบบศาลสถิตยุติธรรมและการตัดสิน ในหลายกรณีเป็นอุปสรรคสำหรับผมเช่นกัน” เขายอมรับโดยเท้าความหลังถึงความท้าทายสมัยที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีโปแลนด์ระหว่างปี 1990 ถึง 1995

แต่เขาบอกว่า เขาไม่ได้พยายามที่จะ “คิดบัญชี” ฝ่ายตุลาการ ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ “พอคุณกำจัดอุปสรรคได้ข้อหนึ่ง คุณก็ต้องกำจัดข้อต่อไปอยู่ดี นั่นคือวิธีที่ระบอบเผด็จการ ถือกำเนิดขึ้นครับ”

เรื่อง วิกตอเรีย โป๊ป

ภาพถ่าย ยุสตีนา เมียลนีเคียวิตซ์

สามารถติดตามเรื่องราวฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนตุลาคม 2563

สามารถสั่งซื้อได้ที่ https://www.naiin.com/category?magazineHeadCode=NG&product_type_id=2


อ่านเพิ่มเติม บังเกอร์ทหารจากยุคเผด็จการ กลายเป็นสารพัดประโยชน์

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.