Camping Etiquette : แคมป์อย่างไรให้ยั่งยืน

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาวงการแคมปิ้งเมืองไทยเป็นที่นิยมขึ้นมาแบบก้าวกระโดด ปัจจัยที่ทำให้เป็นเช่นนั้น ส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้การท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศต้องหยุดชะงักลง ผู้คนหันมาให้ความสนใจไปพักผ่อนยังสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติแบบกลางแจ้ง และ แคมปิ้ง กันมากขึ้น

ปี 2020 นี้ จึงเรียกได้ว่าเป็นปีทองของกิจกรรมเอ๊าต์ดอร์ทุกรูปแบบ หลาย ๆ คนตกหลุมรักเสน่ห์ของการนอนกลางดินกินกลางทราย และเริ่มออกไปใช้ชีวิตกลางแจ้งเพื่อค้นหาประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่แตกต่างจากชีวิตประจำวัน แต่จะมีใครรู้บ้างว่าประวัติศาสตร์การ แคมปิ้ง มีมาอย่างยาวนาน ทั้งในทวีปอเมริกาเหนือและยุโรป โดยเฉพาะอเมริกานั้นเริ่มมาตั้งแต่ ค.ศ. 1869 จากการที่ผู้คนเริ่มหันมาชื่นชมความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ และความงามของพืชพันธุ์สัตว์ป่าต่าง ๆ จนกลายมาเป็นการสร้างรากฐานในการดูแลทรัพยากรที่ดี ทำให้อเมริกาในปัจจุบัน เป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าในเรื่อง Recreation Camping เป็นอย่างมาก

เรื่องและภาพประกอบ : ฐิตวันต์ ไชยวงศ์

จากรายงานของ North American Camping Report, sponsored by Kampgrounds of America (KOA)* ในปี 2019 มีจำนวนแคมปิ้งสูงถึง 91 ล้านครอบครัว เพิ่มจากปี 2018 ถึง 2.7 ล้านคน* และคาดว่าตัวเลขในปี 2020 นี้ จะเพิ่มมากขึ้นไปอีก จากการคาดการณ์อันเนื่องมาจากสถานการณ์ Covid-19 ที่ทำให้ผู้คนหันมาขับรถท่องเที่ยว และออกไปใช้ชีวิตในธรรมชาติกันมากขึ้น การทำความเข้าใจและการปรับตัวให้เข้ากับการใช้ชีวิตกลางแจ้ง จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนควรเรียนรู้ไว้

จากประสบการณ์ที่ดีที่เราได้พบจากการไป แคมปิ้ง ในสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ฝั่ง East Coast ไปจนถึง West Coast เราจะพาไปดูวัฒนธรรมการตั้งแคมป์ของคนที่นี่กันว่าเป็นอย่างไร ไปจนถึง Camping Etiquette หรือมารยาทพื้นฐาน และข้อควรรู้เมื่อออกไปใช้ชีวิตในธรรมชาติ

1. เลือก Campsite ให้ถูกใจ จองล่วงหน้าไวได้ที่สวย

ในช่วงกลางปี 2020 หลังจากที่สถานการณ์ล็อกดาวน์เริ่มคลี่คลาย หลาย ๆ เมืองเริ่มทะยอยเปิดอุทยานแห่งชาติเพื่อให้คนได้ออกมาคลายความเครียด Campground (พื้นที่สำหรับกิจกรรมแคมปิ้ง) ต่าง ๆ ทั่วอเมริกาจึงถูกจองเต็มทุกวันหยุด หลาย ๆ สถานที่ถูกจองยาวล่วงหน้าเป็นเวลาหลายเดือน

การหา Campsite (จุดตั้งแคมป์) ที่ว่างกลายเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย แต่ด้วยระบบการจองที่ดี ช่วยให้เราสามารถวางแผนการเที่ยวได้ล่วงหน้า ในส่วนของอุทยานแห่งชาติที่จัดการโดยรัฐจะมีเว็บไซต์ส่วนกลาง https://www.reserveamerica.com/ ให้เราเข้าไปดูพื้นที่สำหรับตั้งแคมป์ของหลาย ๆ รัฐได้ทั่วอเมริกา เพียงแค่เลือกพื้นที่ที่เราต้องการไป หน้าเว็บไซต์จะมีตัวเลือกขึ้นมาให้ ถ้าหากพื้นที่ตั้งแคมป์ที่ไหนเต็มแล้ว ระบบจะทำการแนะนำพื้นที่ใกล้เคียงให้แทน

ตัวอย่างการเลือกจองจุดตั้งแคมป์ที่ Promised Land State Park ในเมืองฟิลาเดลเฟีย จากเว็บไซต์ https://www.reserveamerica.com/ อุทยานแห่งชาติขนาดใหญ่มีจำนวนจุดตั้งแคมป์ให้บริการหลายจุดกระจายไปตามพื้นที่ของอุทยาน โดยจุดตั้งแคมป์มีหลายประเภทขึ้นอยู่กับพื้นที่ บางแห่งมีห้องน้ำให้บริการ แต่อาจจะไม่มีห้องอาบน้ำ หรือสถานที่ตั้งแคมป์ในป่าหลาย ๆ แห่ง ไม่มีห้องน้ำแบบชักโครก แต่มีแบบส้วมหลุมให้ใช้ เป็นต้น

แผนที่ในเว็บไซต์สามารถขยาย กดเพื่อดูตำแหน่งที่ตั้ง และรายละเอียดของแต่ละจุดตั้งแคมป์ได้ สามารถดูจากสัญลักษณ์ที่แสดงในแผนที่ได้ว่าเป็นที่สำหรับตั้งเต็นท์เท่านั้น หรือเป็นที่จอดรถบ้าน โดยมักจะมีจุดชาร์จไฟไว้คอยให้บริการด้วย ทั้งยังมีการบอกตำแหน่งห้องอาบน้ำ ระยะทางการเดินจากจุดตั้งแคมป์ไปถึงห้องน้ำ ที่ตั้งของน้ำดื่ม หรือน้ำใช้ รวมถึงพื้นที่ที่ตั้งแคมป์นั้นอยู่ติดริมน้ำหรือไม่

ที่สำคัญยังบอกรายละเอียดของขนาดและความลึกของพื้นที่ ซึ่งเป็นตัวกำหนดว่าจะสามารถนำรถมาจอดได้กี่คัน หรือต้องจอดด้านนอก-ในพื้นที่ที่จัดไว้ แล้วค่อยเดินเท้าเข้าไปยังจุดตั้งแคมป์ รวมถึงบอกสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ อย่างละเอียด แถมมีภาพของจุดตั้งแคมป์นั้น ๆ แนบมาให้ดูด้วย สำหรับไว้ใช้เป็นตัวช่วยในการตัดสินใจเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมกับความต้องการของเรา การจัดการพื้นที่ที่ดีคือให้แต่ละจุดตั้งแคมป์อยู่ห่างกันเพื่อความเป็นส่วนตัว อีกทั้งต้องมีความสะดวกสบายในการเข้าถึงห้องน้ำและพื้นที่ส่วนกลาง

ส่วนพื้นที่สำหรับกิจกรรมแคมปิ้งของเอกชน ส่วนมากจะมีรายละเอียดไม่ต่างกันนัก เพียงแต่จะต้องเข้าไปดูเว็บไซต์แยกกันไป หรือเลือกดูผ่าน Hub ที่รวบรวมจุดตั้งแคมป์ไว้ให้ โดยในบางสถานที่อาจจะมีส่วนลดต่าง ๆ สำหรับสมาชิกด้วย เช่น https://passportamerica.com/ https://koa.com/ หรือที่เราใช้บ่อยก็คือจุดตั้งแคมป์ที่มีส่วนลดพิเศษสำหรับสมาชิกนักปีนผาของ http://americanalpineclub.org/ ซึ่งมีพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมแคมปิ้งกระจายอยู่ทั่วประเทศ

สำหรับจุดตั้งแคมป์บางแห่งนั้น มักมีข้อกำหนดให้ผู้มาพักสามารถกางเต็นท์บนแพลตฟอร์ม หรือบริเวณที่กำหนดไว้ให้เท่านั้น ​พื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมแคมปิ้งแบบนี้ ส่วนมากมักมีลักษณะเป็นที่โล่งกว้าง และจัดวางตำแหน่งจุดแคมปิ้งให้อยู่ไกลกัน ยกเว้นในพื้นที่ป่าทึบ จุดตั้งเต็นท์อาจอยู่ติดกันได้ แต่จะถูกกั้นด้วยต้นไม้เพื่อ๋ช่วยให้รู้สึกถึงความเป็นส่วนตัวมากขึ้น

พื้นที่แคมปิ้งริมน้ำมักจะเป็นส่วนแรก ๆ ที่ถูกจองเต็มทุกวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ หลาย ๆ แห่งอนุญาตให้ลงเล่นน้ำได้ ทำให้เป็นที่นิยมในครอบครัวที่มีเด็ก ๆ ทั้งนี้ถ้าอยากนอนเล่นริมน้ำ ควรเลือกไปเที่ยวในวันธรรมดา เพราะมีโอกาสเลือกพื้นที่มุมสวย ๆ ได้มากกว่า ทั้งนี้พื้นที่ตั้งแคมป์จะถูกจัดให้เป็นสัดส่วน มีความเป็นส่วนตัว มีระยะห่างระหว่างกันพอสมควร มีโต๊ะรับประทานอาหาร และ Fire Ring ไว้ให้พร้อมใช้งาน

พื้นที่สำหรับกิจกรรมแคมปิ้ง ฝั่ง West Coast หรือในรัฐแคลิฟอร์เนียร์ มีความพิเศษให้เราได้เลือกนอนริมหน้าผาติดทะเลฝั่งแปซิฟิก สามารถมองเห็นวิวได้ไกลสุดสายตา เป็นหนึ่งในที่ที่เราชอบไปตั้งแคมป์ที่สุด โดยมีจุดเด่นทั้งวิวทิวทัศน์ และความสะอาดสะอ้าน แต่ต้องจองล่วงหน้าตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะเป็นที่นิยมอย่างมาก

พื้นที่ตั้งแคมป์ในรูปแบบของที่จอดรถบ้าน หรือ Campervan มีรูปแบบการจัดการคล้ายกัน คือ มีโต๊ะรับประทานอาหาร จัดวางไว้ให้เป็นสัญลักษณ์บอกว่านี่คือพื้นที่ใช้ตั้งแคมป์ได้ เราสามารถเล็งจุดที่ชอบ แล้วเข้าไปจอดรถได้เลย จะให้แน่ใจก็ลองถามเพื่อนรถข้าง ๆ สักนิดว่า มีใครจองไว้ก่อนหรือไม่

หลาย ๆ พื้นที่สำหรับกางเต็นท์ ไม่มีการเปิดให้จองล่วงหน้า แต่ให้เข้าไปดูพื้นที่ด้วยตัวเอง เรียกว่าแบบ First Come, First Serve ถ้าหากมีที่ว่างก็จ่ายเงิน และเข้าพักได้เลย ที่พักประเภทนี้ใช้ระบบซื่อสัตย์ โดยให้เรากรอกรายละเอียดวันที่เข้าพัก และคำนวนค่าที่พักรวมทั้งหมด แล้วค่อยชำระเงินด้วยตัวเอง โดยให้หย่อนซองข้อมูลและเงินลงไปในตู้ที่เตรียมไว้ให้

จุดตั้งแคมป์อีกแบบหนึ่งที่น่าสนใจคือ Lean-to camping โดยมากจะอยู่ในป่าลึก สำหรับเหล่าแบ็กแพ็กเกอร์ โดยจะมีเพิงสร้างจากหิน หรือไม้ ให้เข้าไปหลบลมฝนได้แบบไม่ต้องเสียเงิน แต่จะมีข้อกำหนดให้พักได้เพียงคืนเดียวเท่านั้น และจะต้องปฏิบัติตามกฏที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด เช่น จุดไฟได้เฉพาะในที่ ๆ กำหนดไว้ ดับไฟให้สนิท และทำความสะอาดให้เรียบร้อยก่อนออกจากพื้นที่ ไม่เก็บอาหารไว้ในเพิง หรือหากต้องเก็บควรเก็บไว้ในที่ปิดมิดชิด ไม่ให้มีกลิ่นเล็ดลอดออกมา เพื่อป้องกันอันตรายจากสัตว์ป่า เพิงเหล่านี้โดยมากจะมีขนาดใหญ่พอให้พักได้หลายคน ในบางครั้งก็จะต้องแบ่งพื้นที่ใช้งานกับแบ็กแพ็กเกอร์คนอื่น ๆ ด้วย

Primitive Campground หมายถึง Campground ที่ไม่มีห้องน้ำ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกใด ๆ ให้เลย ส่วนมากจะอยู่ในพื้นที่ที่เข้าถึงยาก บางแห่งต้องมีใบอนุญาตจากอุทยานแห่งชาตินั้น ๆ โดยหลาย ๆ แห่งไม่อนุญาตให้จุดไฟ อีกทั้งยังเป็นที่รู้กันว่า เราจะต้องเตรียมพลั่วอันเล็กติดตัวไป สำหรับขุดดินทำห้องน้ำส่วนตัวตามธรรมชาติ โดยมีข้อปฏิบัติสากลคือ ต้องขุดดินลึกลงไปประมาณ 6-8 นิ้ว กว้างประมาณ​ 4 นิ้ว ที่สำคัญต้องอยู่ห่างจากจากจุดตั้งแคมป์ ทางเดินป่า และแหล่งน้ำเป็นระยะ ​200 ฟีต (60 เมตร) เมื่อเสร็จธุระต้องฝังกลบให้เรียบร้อย เพื่อรักษาความสะอาดส่วนรวม ป้องกันสัตว์ป่าไม่ให้มาคุ้ยเขี่ย อีกทั้งต้องเก็บกระดาษชำระต่าง ๆ กลับไปกับเรา ไม่มีการทิ้งขยะใด ๆ ไว้ในป่าเป็นอันขาด นอกจากนั้นควรปักกิ่งไม้ไว้เพื่อเป็นสัญลักษณ์ป้องกันไม่ให้คนอื่น ๆ บังเอิญมาทำธุระในจุดเดียวกัน

อ่านต่อหน้า 2

2. เช็คอินเข้าพัก ทำความเข้าใจกฎพื้นฐาน และ Quiet Hours 

เมื่อทำการจองที่พักตามที่ต้องการได้แล้ว การเข้าพักทำได้ไม่ยากด้วยระบบการจอง ที่จะมีการส่งหลักฐานการจองมาทางอีเมล ทันทีที่เราไปถึงจุดสำหรับแคมปิ้งแล้ว แค่เพียงแวะเช็คอินที่สำนักงานเพื่อรับป้ายแขวนรถ ก่อนจะเข้าไปพักที่จุดกางเต็นท์ได้เลย แม้จะดูเหมือนว่าสถานที่ตั้งแคมป์ต่าง ๆ จะมีกฎข้อบังคับมากมายคอยควบคุม แต่ในส่วนของการจองและเช็คอิน บางอย่างก็ยืดหยุ่นได้ เช่นหลาย ๆ ครั้งที่เราไม่ได้จองไว้ล่วงหน้า และไปถึงที่พักหลังจากสำนักงานปิดไปแล้ว เราสามารถเข้าพักก่อนได้ในคืนนั้น และเข้าไปชำระเงินที่สำนักงานได้ในตอนเช้า แต่ต้องมั่นใจว่าเราเลือกจุดตั้งแคมป์ที่ว่างและไม่มีใครจองไว้ก่อนแล้ว

พื้นที่จัดกิจกรรมตั้งแคมป์ทุกแห่งจะมีช่วงเวลา Quiet Hours ชัดเจน และทุกคนจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยส่วนมากจะห้ามส่งเสียงดัง เล่นดนตรี หรือเปิดเพลงในช่วงเวลาหลังสี่ทุ่มไปจนถึงหกโมงเช้า โดยช่วงเวลา Quiet Hours จะแตกต่างกันไป แล้วแต่ข้อกำหนดของแต่ละที่ พื้นที่ตั้งแคมป์แม้จะอยู่ในที่โล่งห่างจากกัน แต่ในเวลากลางคืนเสียงดังเพียงนิดเดียว ก็สามารถเป็นมลภาวะทางเสียงรบกวนผู้อื่นและสัตว์ป่าได้

สิ่งที่เราเห็นว่าดีมากของที่นี่คือ แม้จะไม่ได้มีการห้ามส่งเสียงดังในเวลากลางวัน แต่คนส่วนใหญ่ก็จะอยู่กันอย่างเงียบสงบ ไม่ใช้เสียงเกินความจำเป็น หรือเปิดเพลงจนได้ยินกันทั้งสถานที่ตั้งแคมป์ เพราะทุกคนต่างเข้าใจตรงกันว่าเราหนีจากเมืองออกมาเพื่อหาความสงบจากธรรมชาติ การไม่นำมลภาวะทางเสียงและสายตาเข้าป่ามากับเราด้วย เป็นสิ่งที่ทุกคนพร้อมใจกันปฏิบัติตาม

ผู้คนส่วนมากที่เราพบเจอเมื่อไปแคมปิ้งล้วนแต่มีน้ำใจ และพร้อมให้ความช่วยเหลือเพื่อนร่วมแคมป์ เพียงแค่เราเอ่ยปาก แต่ในขณะเดียวกันก็เคารพความเป็นส่วนตัวของผู้อื่นอย่างเต็มที่ ตั้งแต่การรักษาระยะห่างไม่รบกวนกัน ใช้พื้นที่ส่วนรวมอย่างเอื้อเฟื้อและเกรงใจผู้อื่น รวมทั้งช่วยกันรักษาความสงบและสะอาดเป็นอย่างดี

3. จัดการขยะอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ ไม่รบกวนสัตว์ป่าและธรรมชาติ

อุทยานแห่งชาติในอเมริกาส่วนใหญ่ แม้ได้รับการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน แต่ก็ยังคงความเป็นธรรมชาติไว้อย่างมากเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากจำนวนสัตว์ป่าที่แวะเวียนเข้ามาในจุดแคมปิ้งอยู่เรื่อย ๆ จนต้องมีข้อห้ามที่ต้องปฎิบัติตามอย่างเคร่งครัดในการป้องกันสัตว์ป่าเข้ามารบกวน (และไม่ไปรบกวนวิถีชีวิตของสัตว์ป่า) โดยเฉพาะหมีดำที่มีอยู่ทั่วไปในอุทยานแห่งชาติของอเมริกา การปล่อยให้สัตว์ป่าเข้ามาคุ้ยเขี่ยหาอาหาร และขยะในพื้นที่แคมปิ้งนอกจากจะเป็นอันตรายต่อคนแล้ว ยังเป็นอันตรายต่อสัตว์ด้วยเช่นกัน

การจัดการอาหารและขยะเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ถังขยะป้องกันหมี ได้รับการออกแบบตัวล็อคมาอย่างดี ให้เปิดล็อคได้ด้วยการสอดมือเข้าไปในช่องปลดล็อคเท่านั้น ช่องนี้จะมีความแคบทำให้หมีไม่สามารถแหย่อุ้งเท้าเข้าไปได้ เมื่อหมีเรียนรู้ว่าไม่สามารถมาหาอาหารจากบริเวณพื้นที่ตั้งแคมป์ได้ ก็จะไม่เข้ามาใกล้อีกต่อไป

Bear proof storage และ Bear canister สำหรับเก็บอาหาร และสิ่งของที่มีกลิ่น เพื่อป้องกันไม่ให้หมี หรือสัตว์ป่าตามกลิ่นอาหารมา หลาย ๆ ​พื้นที่สำหรับตั้งแคมป์จะมีตู้เหล็กเก็บอาหารไว้ให้บริการ อาหารที่เหลือจากแต่ละมื้อจะต้องนำไปเก็บในตู้ที่มีล็อคแบบพิเศษป้องกันไม่ให้หมีหรือแรคคูนเปิดตู้ได้ หากไปแคมป์แล้วไม่มีตู้เหล่านี้ควรนำอาหารไปเก็บไว้ให้ไกลจากบริเวณที่นอนมากพอที่จะป้องกันไม่ให้หมีเข้ามาใกล้เราในตอนกลางคืน แม้กระทั่งยาสีฟัน สบู่ หรือขนมที่มีกลิ่นหอม ก็ไม่ควรเก็บไว้ใกล้ตัว เพราะสัตว์ป่าเหล่านี้มีจมูกดีกว่าที่เราคิดไว้หลายเท่า และกลิ่นหอมหวานเหล่านี้มักจะเป็นตัวดึงดูดสัตว์ต่าง ๆ เข้ามาหาเราถึงที่นอน ซึ่งอาจเป็นอันตรายได้อย่างไม่น่าเชื่อ

นอกจากการป้องกันสัตว์ป่ามาคุ้ยเขี่ยหาอาหารจากขยะแล้ว บางครั้งอาจจะมีสัตว์ป่าที่ดูไม่เป็นอันตรายมาวนเวียนใกล้ ๆ จุดตั้งแคมป์ของเรา เพียงหวังว่าจะมีคนแบ่งขนมให้ จำไว้ให้ขึ้นใจว่าเราไม่ควรให้อาหารสัตว์ป่าเหล่านี้ นอกจากอาหารและขนมของเราจะไม่ดีต่อสุขภาพของสัตว์แล้ว ยังเป็นการทำให้สัตว์คุ้นชินกับมนุษย์มากเกินไป จนเป็นอันตรายต่อสัตว์และคนได้ในอนาคต

อ่านต่อหน้า 3

4. แคมป์ไฟแสนสนุก แต่ต้องจุดไฟอย่างปลอดภัย

พื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมตั้งแคมป์ทุกที่ มักจะมีกฎเกี่ยวกับการจุดไฟที่ทุกคนต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยมากมักจะมีจุดจุดไฟแบบ ​Fire Pit หรือ Fire Ring ไว้ให้ใช้ Fire ring มีลักษณะเป็นปล่องเหล็กทรงกลมเตี้ยสำหรับล้อมวัสดุติดไฟให้อยู่ในกรอบ ปล่องเหล็กเหล่านี้ได้รับการออกแบบมาให้ใช้ไฟได้สะดวกตามการใช้งาน ด้านข้างเจาะรูเล็ก ๆ ให้อากาศเข้าได้ ช่วยให้ไฟติดง่าย และมีตะแกรงเหล็กสำหรับทำอาหารติดไว้ให้เพื่อความสะดวก นอกจากนี้พื้นที่ตั้งแคมป์บางแห่ง ไม่อนุญาตให้จุดไฟได้เลย ฉะนั้นเราจะต้องนำเตาแก๊สพกพาติดเข้าไปเอง

พื้นที่ตั้งแคมป์ส่วนใหญ่จะมีโต๊ะและพื้นที่จุดไฟให้เป็นสัดส่วน ก่อนเข้ามาใช้งานเราต้องทำความเข้าใจกฎต่าง ๆ ของแต่ละสถานที่ให้ถี่ถ้วน ในขณะที่บางแห่งไม่อนุญาตให้จุดไฟเลยด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัย นอกจาก ​Fire Ring แล้ว บางแห่งก็มีตะแกรงปิ้งย่างไว้ให้ยืนทำบาร์บีคิวได้สะดวก แต่หลาย ๆ ครั้งเตาแก๊สพกพาก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลย

กฎพื้นฐานของการจุดไฟคือ จุดในที่ให้จุดเท่านั้น หากไม่มี Fire Ring ต้องดูกฎให้แน่นอนว่า สามารถจุดไฟแบบ Open Fire ในพื้นที่เปิดได้หรือไม่ ไม่ควรทิ้งไฟไว้โดยไม่มีคนดูแล หากใช้งานเสร็จต้องดับให้สนิท บางที่มีกฎให้ดับไฟตามเวลาที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ชนิดของฟืนก็เป็นเรื่องสำคัญ ควรใช้ฟืนจากไม้พื้นถิ่นเท่านั้น เพื่อเป็นการป้องกัน Invasive Insects หรือแมลงต่างถิ่นที่อาจจะติดมากับไม้ฟืน เข้ามารุกรานระบบนิเวศในพื้นที่ได้

5. ดูแลรักษาบ้านชั่วคราวของเราให้เจ้าของบ้านตัวจริงอยู่สบาย

แม้แต่ละพื้นที่ที่เปิดให้เป็นจุดแคมปิ้งจะมีกฎเกณฑ์แตกต่างกันไป หรือบางทีอาจมีข้อกำหนดไม่ชัดเจนนัก แต่สิ่งที่เราทุกคนควรท่องไว้ในใจคือ เรากำลังไปสัมผัสธรรมชาติและมีความสุขในบ้านชั่วคราวของเรา ไม่ว่าจะเป็นการตั้งแคมป์ในรูปแบบไหน พื้นที่ที่เราไปสัมผัสนั้นแท้จริงแล้วคือ บ้านถาวรของสัตว์ป่าน้อยใหญ่ รวมทั้งต้นไม้พืชพันธุ์ที่อาศัยอยู่มาก่อนเรา

การที่เราไปขอแบ่งปันอากาศบริสุทธิ์และพื้นที่ธรรมชาติสวยงาม จึงควรให้ความเคารพในผืนดินและชีวิตของพวกเขาเหล่านั้นด้วย ฉะนั้นเราจึงช่วยกันรักษาธรรมชาติไว้ให้คงอยู่ในสภาพเดิม ไม่ทิ้งขยะไว้ และไม่นำสิ่งใดกลับมา เพราะเป้าหมายหลักของการออกไปใช้ชีวิตกลางแจ้ง ก็เพื่อเรียนรู้การอยู่ร่วมกันกับสิ่งมีชีวิตที่แตกต่างไปจากเราอย่างสมดุล พร้อมกับช่วยกันรักษาธรรมชาติอันมีค่าให้ยืนยาว สำหรับเราทุกคนบนโลกนี้นั่นเอง

รายละเอียดในโลกของการใช้ชีวิตกลางแจ้ง ยังมีอีกมากมายให้เราได้ค้นหาและเรียนรู้ แต่อย่างน้อย ๆ การได้ออกจากคอมฟอร์ตโซน ไปเผชิญโลกที่มีทั้งอันตรายและความสวยงาม ก็ทำให้ระลึกได้ว่าเราเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ในธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ในโลกนี้เท่านั้นเอง


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ไปแคมปิ้งฤดูหนาว อย่างไรให้มีความสุข

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.