ดูดาว ที่ริมน้ำ และล่าช้างบนเนินช้างศึก

แสงดาราระยิบพรายที่กาญจนบุรี ดูดาว

แสงแดดกำลังส่องแสงอย่างเต็มกำลังในช่วงฤดูร้อนของเมืองไทย ใบไม้กำลังปลิดปลิวและร่วงโรยตามวงรอบของมันที่เวียนมาอีกรอบในปีนี้ ที่สังขละบุรี ระดับน้ำในแม่น้ำซองกาเรียลดระดับลงมาก เผยให้เห็นโครงสร้างเดิมและซากไม้ยืนต้นตายโผล่พ้นผิวน้ำ วิถีชีวิตในช่วงหลังการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ธุรกิจการท่องเที่ยวที่นี่ซบเซาไม่ต่างจากสถานที่อื่นๆ ดูดาว

นักเดินทางและคนในท้องถิ่นหลายคนกล่าวว่า “อำเภอสังขละบุรีเป็นเมืองสามหมอก ดินแดนสามวัฒนธรรม เมืองแห่งสายน้ำ ขุนเขา และผืนป่าอันอุดม” ความหลากหลายทางวัฒนธรรมเป็นความงดงามอย่างหนึ่งที่ทำให้สังขละบุรีเป็นเมืองที่หลายคนอยากมาเยี่ยมชม

ครั้งนี้ เราออกเดินทางมาถึงสังขละตอนบ่ายคล้อย เที่ยวชมวัดวาที่ผสานเอกลักษณ์ของคนท้องถิ่นพร้อมเรื่องราวของคนมอญ และเดินตลาดชมวิถีชีวิตของชาวบ้านในช่วงที่นักท่องเที่ยวยังมีจำนวนน้อย สิ่งที่ชาวบ้านในอำเภอสังขละบุรีพยายามนำเสนอคือ เรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรม ที่เราได้เห็นผ่านอาหาร การแต่งกาย และภาษาพูด แต่หมุดหมายสำคัญของการเดินทางของเราครั้งนี้คือ การดูดาวยามค่ำคืนบนวัดจมน้ำ หรือวัดวังก์วิเวการาม (เดิม)

ในอดีต วัดวังก์วิเวการาม (เดิม) เป็นศาสนสถานที่หลวงพ่ออุตตมะและชาวบ้านอพยพ ชาวกะเหรี่ยง และมอญ ได้ร่วมกันสร้างขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2496 ในบริเวณที่เรียกว่า สามประสบ ซึ่งเป็นจุดที่แม่น้ำสามสายคือ แม่น้ำซองกาเลีย แม่น้ำบีคลี่ และแม่น้ำรันตี ไหลมาบรรจบกัน

ใน พ.ศ. 2527 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มีโครงการสร้างเขื่อนวชิราลงกรณ์ หรือที่รู้จักกันในชื่อเขื่อนเขาแหลม เพื่อใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งเมื่อเก็บกักน้ำหลังเขื่อนแล้ว ระดับน้ำเพิ่มขึ้นจนท่วมตัวอำเภอเก่า ในพื้นที่กว่า 1,000 ไร่ หมู่บ้านชาวมอญอีกกว่า 1,000 หลังคาเรือน รวมถึงวัดวังก์วิเวการามเดิม ทางการจึงได้อพยพชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ออกจากบริเวณที่น้ำท่วม และย้ายวัดมาอยู่บนเนินเขาด้านฝั่งตะวันตกของลำน้ำแควน้อยในปัจจุบัน

ภาพดวงดาวและหอระฆังที่เป็นฉากหน้า

เมื่อความมืดอาบคลุมท้องฟ้า ดวงดาวในวันฟ้าเปิดส่องแสงระยับเหนือท้องฟ้าอำเภอสังขละบุรี แม้จะเป็นคืนเดือนหงาย แต่ก็ยังมองเห็นดวงดาวได้ชัดเจน เราจัดแจงอุปกรณ์ถ่ายภาพที่จำเป็น และลงเรือล่องไปตามแม่น้ำยามค่ำคืน ขณะที่เรือแล่นออกจากฝั่งแม่น้ำ ด้านหลังของเราเป็นสภาพอำเภอสังขละบุรียามค่ำคืน ที่เราไม่เคยมองเห็นจากมุมนี้มาก่อน แสงไฟจากท้องถนน และอาคารบ้านเรือนที่ตั้งอยู่บนเนินเขา สว่างไสวอยู่ไกลๆ เป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นถึงความเจริญของเมืองแห่งการท่องเที่ยว

บรรยากาศยามค่ำคืนบริเวณวัดจมนั้นเงียบสงัด มีเสียงเรือหาปลาของชาวบ้านดังเป็นฉากหลังอยู่เป็นระยะ ท้องฟ้าอีกฟากหนึ่งดวงจันทร์สองแสงสะท้อนลงมายังพื้นโลก ถัดออกมาเป็นกลุ่มดาวต่างๆ ที่เปล่งแสงระยิบระยับ การถ่ายภาพกลางคืน หรือดวงดาว ต้องอาศัยความใจเย็น และอดทนรอ เพราะจำเป็นต้องใช้เทคนิคเปิดหน้ากล้องไว้นานๆ เพื่อให้กล้องเก็บแสงดาวได้ กดชัตเตอร์หนึ่งครั้งแล้ว ต้องรอเวลาประมาณหนึ่ง เพื่อได้ภาพท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยดวงดาวสักหนึ่งภาพ

“ปัจจุบัน เทคโนโลยีการถ่ายภาพทันสมัยและสะดวกต่อการใช้งานมากขึ้น โทรศัพท์มือถือบางรุ่น บางยี่ห้อ ก็สามารถถ่ายดาวได้แล้ว หากเรารู้จักการตั้งค่า” กรกมล ศรีบุญเรือง ผู้แทนจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าว

โบสถ์ที่เผยขึ้นมาในช่วงหน้าแล้ง กับเทคนิคการเล่นแสงจากไฟฉาย ทำให้ได้ภาพถ่ายดาวที่มีเสน่ห์มากขึ้น

………………………………………………….

เอกรัตน์ ปัญญะธารา ช่างภาพและบรรณาธิการภาพถ่ายของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย อธิบายหลักการเบื้องต้นสำหรับการถ่ายภาพดาวไว้ว่า

1. ความเร็วชัตเตอร์ จะใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ยาวกว่าปกติ ซึ่งถ้าเปิดความเร็วชัตเตอร์นานเท่าไหร่ ก็จะเห็นการเคลื่อนที่ของดาว หรือหางของดาวยาวมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นจึงต้องหาช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้ได้ดาวชัดที่สุด โดยที่ยังไม่เกิดหางดาว ซึ่งระยะเวลาที่ใช้ก็จะขึ้นอยู่กับกล้องเเละเลนส์ที่ใช้ เพราะจะต้องคำนวนจากระยะของกล้อง เพื่อให้ได้ความเร็วชัตเตอร์ที่เหมาะสม

2. รูรับแสง รูรับเเสงจะทำหน้าที่เหมือนรูม่านตาในตาของมนุษย์ที่เมื่อเเสงน้อย รูรับเเสงจะเปิดกว้าง เเต่ถ้าเเสงมากรูม่านตาจะหดเเคบลง การตั้งค่ารูรับเเสง จะปรับได้จากการเปลี่ยนเเปลงค่า f โดยค่า f น้อยจะเป็นการเปิดรูรับแสงกว้าง และค่า f มากรูรับแสงจะแคบลง

3. ISO ค่า ISO เป็นค่าความไวเเสง ค่ามากก็จะไวต่อเเสงมาก ค่าน้อยก็ไวต่อเเสงน้อย เเต่การที่ตั้งค่า ISO สูง ๆ ในการถ่ายภาพทำให้ภาพเกิดเม็ดสีเพี้ยนในภาพ หรือที่เรียกว่านอยส์ (Noise) เเต่การถ่ายดาว จะเป็นต้องใช้ค่า ISO ที่สูงที่สุดเท่าที่จะไม่ทำให้เกิดน็อยซ์ เพื่อจะไม่รบกวนรายละเอียดของภาพ

4. สมดุลสี เป็นกระบวนการปรับค่าสีให้เป็นกลางที่สุด ปรับสีไม่ให้เพี้ยน และให้พื้นสีขาวที่เป็นธรรมชาติ โดยคุณภาพสีจะขึ้นอยู่กับเเหล่งกำเนิดเเสง โดยเเสงเเต่ละประเภทจะให้อุณหภูมิสีที่เเตกต่างกันไป โทนสีส้มร้อน หรือสีฟ้าเเบบโทนเย็น ดังนั้นการถ่ายดาวจึงจะเหมาะที่จะปรับด้วยตัวเองมากว่าจะปรับให้เป็นเเบบอัตโนมัติ โดยอุณหภูมิสีสำหรับการถ่ายภาพดวงดาวจะอยู่ที่ 3200k ถึง 4800k ขึ้นอยู่กับสภาพเเสง

………………………………………………….

หลังจากใช้เวลาอยู่นานสองนาน เราก็ได้รูปที่เราประทับใจ และลงเรือกลับที่พัก ในค่ำคืนนั้น เรานั่งมองดวงดาวจากที่พักติดริมแม่น้ำ แต่แสงจากเมืองเป็นปัจจัยรบกวนการถ่ายมากเกินไป เราจึงไม่สามารถบันทึกภาพดวงดาวไว้ได้

เช้าวันต่อมา เราเดินทางจากอำเภอสังขละบุรีไปยังบ้านอีต่อง อำเภอทองผาภูมิ หมู่บ้านเล็กๆ ติดชายแดนไทยพม่า บ้านอีต่อง เป็นที่ตั้งของเหมืองปิล็อก ที่เคยรุ่งเรืองในอดีต เมื่อราว พ.ศ. 2483 เหมืองขุดแร่ดีบุกมีคนงานร่วม 600 คน จนราคาแร่ทั่วโลกตกต่ำ ผลจากการตัดราคาของแร่จากจีน ประมาณ พ.ศ. 2527-2528 ความรุ่งโรจน์ของการขุดแร่ได้จบลง ปิล็อกที่เคยรุ่งเรือง มีตลาดที่เฟื่องฟู เคยมีโรงภาพยนตร์ถึง 2 แห่ง ก็เงียบเหงา เหมืองแร่ต่างๆ ที่นี่ทยอยปิดตัวลง คนงานเริ่มทยอยกลับบ้านแยกย้ายกันไป

ทางช้างเผือกที่ท้องฟ้าเหนือบ้านอีต่อง

ปัจจุบันนี้ รายได้หลักของหมู่บ้านอีต่องคือ การท่องเที่ยว และที่พักโฮมสเตย์ ตัวหมู่บ้านอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลกว่า 1,000 เมตร จึงทำให้ช่วงกลางคืนมีอากาศเย็นเกือบตลอดทั้งปี ปัจจุบันเป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวหลายคนต้องการมาสัมผัส ซึ่งต้องเดินทางผ่าน 399 โค้ง และยังมีแหล่งท่องเที่ยวใกล้ๆ คือ น้ำตกจ๊อกกระดิ่น เนินช้างศึก และอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ

คืนนี้ เราจึงเลือกหมุดหมายถ่ายทางช้างเผือกกันที่เนินช้างศึก ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์จุดหนึ่งของชายแดนไทย-เมียนมา และเป็นที่ตั้งของฐานตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) เหนือเมฆ หรือฐาน ตชด. ลอยฟ้า ในช่วงเช้าและช่วงเย็นเหมาะกับการขึ้นมาชมพระอาทิตย์ทั้งแสงเช้าและแสงเย็น พร้อมทั้งสามารถมองเห็นหมู่บ้านอีต่องจากมุมสูงได้

ทางช้างเผือกที่อยู่บนท้องฟ้าในคืนฟ้าเปิด พร้อมกับป้อมสังเกตการณ์ของตำรวจตระเวนชายแดน

ปัญหาหนึ่งที่เป็นเสียงสะท้อนของชาวบ้าน คือเรื่องการจัดการปัญหาขยะในหมู่บ้าน ช่วงที่ผ่านมา มีหน่วยงานและกลุ่มอาสาสมัครเข้ามาให้ความรู้กับคนท้องถิ่น และนักท่องเที่ยว เรื่องการจัดการขยะอย่างถูกวิธี เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องขยะของหมู่บ้านอีต่องคือการขนส่ง ด้วยที่ตั้งอยู่บนที่สูงและห่างไกลจากเมือง จึงทำให้การขนส่งขยะไปกำจัดอย่างถูกวิธีมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ดังนั้น ทางหมู่บ้านจึงต้องจัดสร้างหลุมขยะไว้สองหลุมบริณนอกหมู่บ้าน เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมขยะ

เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องพื้นที่รองรับปริมาณขยะ ดังนั้น นักท่องเที่ยวที่เข้าไปในพื้นที่จึงควรตระหนักเรื่องการคัดแยกขยะก่อนทิ้ง และลดจำนวนขยะให้น้อยที่สุดขณะที่ท่องเที่ยวในหมู่บ้านอีต่อง ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค เช่น พกกระบอกน้ำส่วนตัว ลดการใช้พลาสติก ลดการนำขยะจากนอกพื้นที่เข้าไปในหมู่บ้าน รวมไปถึงนำขยะที่นำติดตัวเข้าไปออกมาทิ้งนอกพื้นที่

ทั้งการเดินทางไปสังขละบุรี และหมู่บ้านอีต่องในครั้งนี้ ทำให้เราได้เห็นถึงความสวยงามของธรรมชาติ และความเป็นอยู่ของคนท้องถิ่นในช่วงที่นักท่องเที่ยวมีปริมาณน้อย รวมถึงผลกระทบของการระบาดโควิด-19 ที่มีผลต่อการท่องเที่ยวในประเทศไทย ยิ่งทำให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้นว่า เมืองเล็กๆ ที่เปลี่ยนวิถีชีวิตมาพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลัก ได้รับผลกระทบต่อรายได้ประชากรในท้องถิ่นอย่างไร

เรื่อง ณภัทรดนัย
ภาพถ่าย ฑิฆัมพร ธรรมเที่ยง


ขอขอบคุณ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานกาญจนบุรี ที่สนับสนุนการเดินทางในครั้งนี้


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.