ชายขอบของผืนป่าอันทรงคุณค่าของภาคใต้ มีหมู่บ้านน้อยใหญ่ตั้งกระจายอยู่ หนึ่งในนั้นคือ ชุมชนจุฬาภรณ์พัฒนา 9 ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลแม่หวาด อำเภอธารโต จังหวัดยะลา ฮาลา-บาลา
ชุมชนจุฬาภรณ์พัฒนา 9 เป็นหมู่บ้านที่ทางรัฐบาลไทยจัดให้ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยหรือกลุ่มอดีตกองกำลังคอมมิวนิสต์มาลายา ได้พักอาศัยและมีพื้นที่ทำกินหลังการเซ็นสัญญาสงบศึกระหว่าง รัฐบาลไทย รัฐบาลมาเลเซีย และกลุ่มผู้นำกองกำลังคอมมิวนิสต์มาลายา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนชาติชาวจีน
ในปัจจุบันหมู่บ้านอยู่ภายใต้ความดูแลของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ สภาพโดยรอบหมู่บ้านยังเป็นป่าเขาที่อุดมสมบูรณ์มีพื้นที่ติดกับผืนป่าฮาลาบาลาซึ่งถือเป็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์มากที่สุดอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย และ เขื่อนบางลาง ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำแห่งแรกของภาคใต้ ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์และสวยงามมาก
ชาวบ้านประกอบอาชีพปลูกยางพารา เลี้ยงไก่ เลี้ยงเป็ด ทำสวนเกษตรผสมผสาน และยังเปิดรับทำการท่องเที่ยวโดยชุมชนมานานกว่า 20 ปีแล้ว
ภายในชุมชนมีพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ที่เล่าเรื่องราวคอมมิวนิสต์มลายา จุดเด่นของบ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 9 คือ มีเส้นทางเดินป่าติดกับชุมชน เดินไปประมาณ 3-4 กิโลเมตรรจะเจอน้ำตกฮาลาซะห์ น้ำตกขนาดใหญ่ที่มีความสูงในระยะที่สายตามองเห็นเท่าตึก 28 ชั้น จริงๆ แล้วยังมีชั้นน้ำตกที่อยู่สูงขึ้นไปอีก ซึ่งถือเป็นชุมชนที่มีทรัพยากรทางธรรมชาติอยู่อย่างครบถ้วนสมบูรณ์
ความร่วมมือก่อให้เกิดการท่องเที่ยวชุมชนอันเป็นเอกลักษณ์
การจัดการท่องเที่ยวในชุมชนโดยชุมชน เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างชาวบ้านและโลเคิล อะไลค์ ที่ประกอบกิจการธุรกิจเพื่อสังคม ด้านการท่องเที่ยว รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่สนับสนุนเรื่องการท่องเที่ยวชุมชน
จุดเริ่มต้นการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวของชุมชนนี้มาจากแคมเปญ AMAZING THAILAND UNSEAL LOCAL 2018 ภายใต้แคมเปญ ONCE AS A TOURIST มาเที่ยวกันสักวันหนึ่ง ที่โลเคิล อะไลค์ เข้าร่วมมือกับการท่องเที่ยวแ่งประเทศไทย เพื่อเรียนรู้และพัฒนาไปพร้อมกับชุมชน ซึ่งชุมชนจุฬาภรณ์พัฒนา 9 เป็นหนึ่งในกว่า 20 เส้นทางของโครงการฯ
หลังจากนั้น จึงเกิดงานต่างๆ ที่เราได้พัฒนาผู้นำชุมชน ให้เข้าใจในเรื่องการพัฒนาให้เป็น “ชุมชนท่องเที่ยว”โดยมีหน่วยงาน CBT-i ช่วยเราออกแบบเส้นทาง และเรานำมาต่อยอดร่วมกับชุมชน และทำข้อตกลงราคาเพื่อเสนอขายแผนการท่องเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยวอิสระ (Free Individual Travelers หรือ FIT)
นอกจากนี้ โลเคิล อะไลค์ ยังช่วยคิดและวางแผนการประชาสัมพันธ์ โดยเฉพาะในช่วงปิดการท่องเที่ยวจาก สถานการณ์โควิด – 19 ที่ผ่านมา และยังมีโครงการ พัฒนาอาหารและรูปแบบการท่องเที่ยว ร่วมกับรายการ Win Win WAR
ตามมาด้วยโครงการ 10 masterpeace destinations 10 เส้นทางปลายด้ามขวาน ที่เราตั้งใจจะพัฒนาผู้นำรุ่นต่อไปควบคู่กับผู้นำรุ่นแรก เพื่อให้เป็นบุคลากรที่สามารถทำงานต่อยอดการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน
เมื่อนักท่องเที่ยวมีจำนวนที่เหมาะสม ก็ส่งผลให้การท่องเที่ยวชุมชนเกิดความยั่งยืน
การท่องเที่ยวในสถานที่ธรรมชาติ สิ่งแรกที่โลเคิล อะไลค์ และชาวบ้าน ให้ความสำคัญร่วมกัน คือ ทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น ดังนั้น จึงเกิดเป็นเส้นทางท่องเที่ยวตามต้นทุนที่มี นั่นคือ ธรรมชาติ
โดยประชาชนที่รู้จักพื้นที่เป็นอย่างดีทำหน้าหน้าที่เป็นผู้นำเที่ยว ส่วนบรรยากาศภายในหมู่บ้าน นักท่องเที่ยวจะได้เห็นวิถีชีวิตของการเป็นชาวสวน และการทำเกษตรพอเพียงตามรั้วบ้าน ทั้งสะตอ มังคุด ลองกอง ให้สอยกิน
ส่วนที่พักมีให้ใช้ชีวิตสบายๆ ในแบบรีสอร์ทชุมชน เป็นห้องพักไม่มีเครื่องปรับอากาศ แต่มีน้ำอุ่นและห้องน้ำส่วนตัว และเรื่องอาหารการกินทุกมื้อจะฝากท้องไว้กับปลายจวักของกลุ่มแม่บ้าน ซึ่งการท่องเที่ยวโดยชุมชนจุฬาภรณ์พัฒนา 9 จะเน้นแบบเป็น join tour ตั้งแต่ 2-20 คนเพื่อไม่ให้เกิด overtourism ในชุมชน และสามารถจัดการทรัพยากรให้เพียงพอและรองรับ ให้บริการ นักท่องเที่ยวอย่างเต็มที่
สถานที่ท่องเที่ยวในชุมชน
ฮาลา บาลา คือภาษามลายู ‘ฮาลา’ แปลว่า ทิศทาง ส่วน ’บาลา’ แปลว่า กลุ่มคน โดยคนในชุมชนแปลออกมาง่ายๆ ว่า ‘ทิศทาง (การอพยพ) ของกลุ่มคน’ คำนี้สะท้อนให้เห็นความสำคัญในอดีตของผืนป่าแห่งนี้
ในอดีต พื้นที่แห่งนี้ยังเคยเป็นพื้นที่หลบภัยของกลุ่มคอมมิวนิสต์มาลายาที่ใช้ชีวิตอาศัยอยู่ในป่า กิน นอนในป่าจริงๆ เมื่อถามถึงเหตุการณ์ผู้คนท้องถิ่นจะคุ้นชินกับการเรียกป่าแห่งนี้ว่า ‘บาลา ฮาลา’ หรืออาจเรียกสั้นๆ ว่า ‘บาลา’
นอกจากกิจกรรมในป่าแล้ว นักท่องเที่ยวจะได้เข้าไปในชุมชน บรรยากาศเหมือนชุมชนชาวจีนขนาดเล็กในหุบเขา ที่นี่ป้ายบอกทาง ร้านอาหาร ผู้คน ล้วนใช้ภาษาจีน นักท่องเที่ยวสามารถเดินเล่น แวะพูดคุยกับผู้อพยพที่เป็นผู้สูงอายุมากด้วยเรื่องราว ปัจจุบัน ในชุมชนมีผู้อาศัยอยู่ประมาณ 40 ท่าน การได้สนทนากับบุคคลแห่งประวัติศาสตร์เหล่านี้ ก็เติมเต็มความรู้แห่งการเดินทางได้มากแล้ว
ฮาลาบาลาเป็นผืนป่าที่อยู่หลังชุมชน จึงสามารถจัดเส้นทางเดินป่าเพื่อชื่นชมธรรมชาติได้ประมาณ 4 กิโลเมตร โดยในเส้นทางเดินป่าสู่ยอดเขา นักท่องเที่ยวสามารถชมทะเลหมอกได้จากจุดนี้ ระหว่างทางยังได้เห็นการเลี้ยงกวางในฟาร์ม แช่น้ำ ล่องเรือสู่ป่าต้นน้ำ คลองน้ำใส และสัมผัสน้ำตกฮาลาซะห์ที่มีความสูงกว่า 100 เมตร
ดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่าผืนนี้คือประชากรนกเงือก ที่อาศัยอยู่ในป่าแห่งนี้ตลอดวงจรชีวิต เราคงนึกภาพความเขียวที่เที่ยวได้ทั้งปีแห่งนี้ออกประมาณนึง แต่ถ้าอยากเห็นภาพจริงคงต้องออกมาพิสูจน์ด้วยตัวเอง ที่นี่มีพืชพรรณนานาชนิด ทั้งดอกไม้ สมุนไพร และไม้ยืนต้นต่างๆ รวมถึงผลไม้ป่าขนาดใหญ่ที่เชื่อว่าไม่เคยได้เห็นที่ไหนมาก่อน
ความน่าสนใจของเส้นทางเดินป่า นอกจากจะได้เห็นนกเงือกแล้ว ยังมีชาวอัสรี (หรือซาไก เรียกอัสรีเป็นคำที่สุภาพ) ที่สร้างความน่าสนใจได้ไม่น้อย ปกติแล้วชาวอัสรีจะไม่พบปะกับคนภายนอกง่ายๆ เพราะเขาใช้ชีวิตอยู่ในผืนป่า หากเจอแล้วมีโอกาสได้ทักทาย หรือได้เรียนการเป่าลูกดอกอาบยาพิษก็ถือเป็นประสบการณ์ที่หาไม่ได้บ่อยๆ อาวุธไม้ด้ามยาวที่สร้างขึ้นมาเองนี้เป็นอาวุธคู่กายของชาวอัสรีเวลาออกหาของกินในป่า เราลองแล้วอาจเป่าไม่ได้ไกล แต่ชาวอัสรีเป่าไปไกลได้เป็นสิบเมตรอย่างแม่นยำ เป็นเสน่ห์อย่างยิ่งที่โลเคิล อไลค์ อยากชวนให้ทุกคนได้มาลองสัมผัส
ตวามเข้มแข็งของชุมชนเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งเราเห็นได้อย่างชัดเจนในชุมชนจุฬาภรณ์พัฒนา 9 และด้วยความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก ที่มีคสามเข้าใจเรื่องการบริหารจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ยิ่งส่งให้ชาวบ้านได้เรียนรู้แนวคิดการพัฒนาท่องเที่ยวให้เหมาะสมกับท้องถิ่น และทรัพยากรที่ตนเองมีอยู่
เรื่องและภาพถ่าย : โลเคิล อะไลค์
ติดตามเส้นทางการท่องเที่ยวชุมชนอื่นๆ ได้ที่ https://localalike.com/
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : Local Alike ธุรกิจเพื่อสังคมด้านการท่องเที่ยว กับผลกระทบจากการระบาดใหญ่