ในห้วงเวลาของการระบาดใหญ่ที่กินเวลาต่อเนื่องเกือบ 2 ปี ส่งผลให้ผู้คนทั้งโลกต้องแยกจากันทางกายภาพ และด้วยพื้นฐานของมนุษย์ที่เป็นสังคมแห่งการอยู่ร่วมกันมาตั้งแต่ยุคบรรพบุรุษ ทำให้เราต่างโหยหาที่จะกลับมาเจอหน้ากันในชีวิตจริงอีกครั้ง บ้านลวงเหนือ
เช่นเดียวกับธุรกิจเพื่อสังคม ที่ทำงานด้านการท่องเที่ยวชุมชนมากว่า 10 ปี อย่างโลเคิลอไลค์ พวกเขาได้ร่วมทำงานกับชุมชนหลายแห่งทั่วประเทศ จึงเกิดความรักและผูกพันกับคนในชุมชน และช่วงสถานการณ์ที่ถูกปิดกันการเดินทาง ชาวบ้านก็คิดถึงพวกเขาเช่นกัน
หลายปีที่ผ่านมา โลเคิลอไลค์ได้ทำงานร่วมกับ “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนไตลื้อเมืองลวงเหนือ” ชุนชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่โดดเด่นด้วยอัตลักษณ์การแต่งกาย ประเพณี ผลิตภัณฑ์ชุมชน เช่น ผ้าทอไทลื้อ กระดาษสา ไม้แกะสลัก รวมไปถึงอาหารถิ่นเหนือของชาวไทลื้อ เช่น “แอ่งแถะ” ซุปผักเข้มข้นจากเครือเถาคล้ายใบโพธิ์ น้ำปู ปูน้ำจืดหรือปูนาเคี้ยวข้นจนเป็นน้ำพริกรสเค็มหอมปูทานกับข้าวนึ่ง หรือของทานเล่นขึ้นชื่อ “ข้าวแรมฝืน” หรือเรียกว่า “ข้าวแคบ” คล้ายข้าวเกรียบแผ่นบางรสเค็ม บ้านลวงเหนือจึงเป็นชุมชนท่องเที่ยวครบทุกด้าน
จากการบอกเล่าและบันทึกทางประวัติศาสตร์พบว่า ชาวไตลื้อมีประวัติการอพยพหนีสงครามมาจากสิบสองปันนา ทางใต้ของมณฑลยูนาน ประเทศจีน โดยเดินทางแยกออกมาตั้งรกรากตามจุดต่างๆ ยังดินแดนสุวรรณภูมิ หนึ่งในนั้นคือ บ้านลวงเหนือในปัจจุบัน เดิมจากถิ่นฐานเก่าคำว่า “ลวง” มาจากบ้านเมืองเดิมจากสิบสองปันนา อันหมายถึงสัตว์ประเสริฐอย่างคล้ายมังกร หรือนาค มีเกล็ดและเขาอย่างสง่างาม ชาวไทลื้อจึงยกย่องให้ลวงเป็นสัตว์ประจำความเชื่อและความศักดิ์สิทธิ์
วัฒนธรรมที่โดดเด่นอีกอย่างหนึ่งของที่นี่คือดนตรีพื้นถิ่น ที่ได้นำเพลงสะล้อซอซึงมาปรับเล่นคู่กับกีตาร์จนเกิดเป็น Folk Song ที่เข้าถึงคนสมัยใหม่มากยิ่งขึ้น เพื่อต้องการ “สืบทอด เผยแพร่ และอนุรักษ์” เพลงพื้นบ้านเหล่านี้ให้คงอยู่ต่อไป โดยแต่ละเพลงได้สื่อถึงความเป็นมาของชุมชน วิถีชีวิต รวมถึงความรักของคนไตลื้อที่บ้านลวงเหนือเป็นเวลาร้อยกว่าปีตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน
ถึงแม้สิ่งต่างๆ จะผันเปลี่ยนไปตามกาลเวลาชุมชนบ้านลวงเหนือยังคงเก็บรักษาและสืบสานวัฒนธรรมไตลื้อไว้อย่างดีเพื่อรอต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกคนให้ได้มาสัมผัส บ้านลวงเหนือภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบร้อยละ 80 เป็นภูเขาและป่าไม้ร้อยละ 20 และพื้นที่ป่าเป็นที่ตั้งของเขื่อนแม่กวงอีกด้วย โดยเหตุผลหนึ่งที่โลเคิลอไลค์เลือกทำงานร่วมกับชุมชนบ้านลวงเหนือ เพราะเรามองเห็นเสน่ห์และศักยภาพของชุมชน ที่มีวัฒนธรรมและประเพณีที่น่าสนใจ และสามารถเพิ่มมูลค่ากระจายรายได้ให้กับชุมชนได้
ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และในวันที่ทุกอย่างไม่เหมือนเดิม… “เราได้รับสารกำลังใจจากสมาชิกบ้านลวงเหนือ จังหวัดเชียงใหม่” โลเคิลอไลค์ กล่าวและเสริมว่า “เป็นข้อความที่ทำให้พวกเรารู้สึกปลื้มปริ่มและท่วมท้นไปด้วยความรู้สึก ซึ่งก็นับเป็นอีกหนึ่งกำลังใจดีๆ ที่เป็นทำให้เรารู้สึกเข้มแข็ง และกล้าที่จะก้าวไปต่อ…”
ความตอนหนึ่งจากข้อความส่งถึงโลเคิลอไลค์
“โลเคิลอไลค์ไม่ได้เป็นบริษัททัวร์ที่มาตักตวงผลประโยชน์จากชุมชน แต่เข้ามาสอนชาวบ้านคิด สอนชาวบ้านทำ ให้ชุมชนเติบโตด้วยการท่องเที่ยวโดยชุมชน” แม่ปุก หนึ่งในชาวไตลื้อ บ้านลวงเหนือ กล่าวและเสริมว่า “สิ่งที่เรารู้สึกดีใจมากคือ โลเคิลอไลค์มีบทบาทเป็นผู้แนะนำและสนับสนุนการนำชุมชนเข้าประกวดรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย”
โลเคิลอไลค์เข้ามาให้คำแนะนำและสอนเรื่องของกำไร-ขาดทุน และการคิดต้นทุน ทำให้ชาวบ้านรู้จักการคิดในเชิงธุรกิจ และมีความมั่นใจเรื่องการกำหนดราคาอีกด้วย ตอนนี้โลเคิลอไลค์เปรียบเสมือนเป็นครอบครัวไปแล้ว แม่ปุกกล่าว
ในความตอนหนึ่ง แม่ปุกกล่าวด้วยถ้อยคำปนน้ำตาถึงไผ – สมศักดิ์ บุญคำ CEO และหนึ่งในผู้ก่อตั้งโลเคิลอไลค์ ว่า “ไผเป็นหนุ่มที่มีความคิดสร้างสรรค์ เป็นนักพัฒนาชุมชนจริง ๆ เป็นธุรกิจเพื่อชุมชนจริง ๆ ประทับใจความเป็นผู้นำของพี่ไผและน้องๆ เจ้าหน้าที่ของโลเคิลอไลค์ ทุกคนดีมากเลย ทั้งคนเก่าและคนที่เพิ่งมาเป็นทีมงานที่ชอบใจมากที่สุด วันที่ได้ยินข่าวเรื่องข่าวเรื่องผลกระทบต่อบริษัท ที่ไผตัดสินใจไม่เช่าพื้นที่สำนักงาน เพื่อลดค่าใช้จ่าย แม่ยังรู้สึกเสียดาย แต่ก็เห็นด้วยกับการตัดสินใจที่ไผเลือกดูแลน้องๆ ในทีมต่อไป ขอเป็นกำลังใจให้ไผและน้องๆ พนักงานทุกคนด้วยนะลูก”
ทีมงานของโลเคิลอไลค์กล่าวทิ้งท้ายกับเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย ผ่านทางอีเมล ว่า “พวกเรารู้สึกถึงความห่วงใยและเอ็นดูของชาวบ้านที่เราได้ร่วมทำงานด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่าสิ่งอื่นใด เราซาบซึ้งที่ชาวบ้านแสดงความเป็นห่วงเป็นใยมาถึงพวกเรา ในสถานการณ์ที่ทุกคนต่างได้รับผลกระทบเช่นนี้”
เรื่อง ณภัทรดนัย จากคำบอกเล่าของโลเคิลอไลค์
ภาพถ่าย โลเคิลอไลค์
ติดตามข้อมูลเรื่องการท่องเที่ยวชุมชนเพิ่มเดิมจากโลเคิลอไลค์ได้ที่
เว็บไซต์ : https://localalike.com/
เฟซบุ๊ก : https://www.facebook.com/LocalAlike
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : Local Alike ธุรกิจเพื่อสังคมด้านการท่องเที่ยว กับผลกระทบจากการระบาดใหญ่