บ้านคลองตาอิน : เมื่อคนและช้างอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล

บรรยากาศเรือกสวนสลับกับบ้านเรือนของชาวบ้านเป็นภูมิทัศน์ที่เกิดขึ้นสองข้างทาง … บ้านคลองตาอิน แทบไม่เคยปรากฎในรายชื่อจุดหมายปลายทางยอดนิยม และเป็นชื่อหมู่บ้านที่แทบไม่มีข้อมูลบนสื่อออนไลน์ แล้วทำไมเราอยากเดินทางมาที่นี่

บ้านคลองตาอิน เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ในพื้นที่อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี ชาวบ้านที่นี่ ส่วนใหญ่เป็นชาวสวนทุเรียน และทำการเกษตรอื่นๆ ความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่นี่ค่อนข้างเรียบง่าย แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาของชาวบ้านมาอย่างยาวนานคือ ช้างป่า

ช้างป่าที่อาศัยอยู่รอบๆ หมู่บ้านคลองตาอิน ได้ถูกสำรวจพบมาตั้งแต่ปี 2550 โดยช้างป่าได้ลงมาหากินในพื้นที่สวนผลไม้ของชาวบ้าน แต่ละครั้งพบช้างป่าประมาณ 5 – 10 ตัว และจะมีความถี่ของช้างป่าเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูแล้ง เนื่องจากช้างลงมาหาแหล่งน้ำในหมู่บ้าน

จนกระทั่งในปัจจุบัน ช้างป่าได้ลงมาพื้นที่บ้านคลองตาอินเพิ่มมากขึ้น และช้างป่าบางตัวก็ไม่เปลี่ยนเส้นทางหากินมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว โดยจากคำบอกเล่าของชาวบ้าน พบว่า ช้างป่าที่วนเวียนอยู่รอบหมู่บ้านคลองตาอินมีประมาณ 30 ตัว

เรื่องความขัดแย้งระหว่างคนและช้างป่าจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข กรมการพัฒนาชุมชนจึงเข้ามามีบทบาทเรื่องการทำความเข้าใจกับชาวบ้าน และได้ทำงานร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร เพื่อช่วยให้ชาวบ้านอยู่กับช้างป่าอย่างสมดุล

การสร้างความเข้าใจและปรับวิธีคิดของชาวบ้านคือเรี่องสำคัญ

ที่ผ่านมา เมื่อชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการบุกรุกของช้างป่า การตอบโต้มักออกมาในรูปแบบความรุนแรง ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อทั้งคนและช้าง กรมการพัฒนาชุมชนจึงได้จัดองค์ความรู้ให้ชาวบ้านได้เข้าใจถึงการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างคนและช้าง เพื่อลดผลกระทบรุนแรง และเกิดการจัดตั้งกองทุนและสวัสดิการของชุมชนเพื่อช่วยเหลือสมาชิกที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า

นอกจากนี้ กรมการพัฒนาชุมชนยังสนับสนุนให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกันเป็น ชุดอาสาเฝ้าระวังช้างป่า ทำหน้าที่ลาดตระเวนตรวจตราช้างป่าที่เดินลงมาหากินในพื้นที่รอบหมู่บ้าน และผลักดันช้างไม่ให้ช้างเข้ามายังพื้นที่เพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร

เมื่อเกิดการทำงานอย่างเป็นระบบ มีเงินกองทุนสนับสนุน และได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ ชาวบ้านก็เริ่มเข้าใจกระบวนการทำงานในพื้นที่มากขึ้น และเข้าใจว่า “จะอยู่ร่วมกับช้างป่าอย่างสมดุลได้อย่างไร”

จากตัวปัญหา กลายมาเป็นพระเอกในเส้นทางท่องเที่ยว

นอกจากการสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านแล้ว ยังจำเป็นต้องพัฒนาชุมชนให้มีรายได้เพิ่มเติมจากการทำสวนผลไม้ด้วย ในความเห็นที่ประชุมของชุมชน ชาวบ้านจึงอยากพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวในหมู่บ้านขึ้นมาด้วย โดยชูกิจกรรมการลาดตระเวนช้างป่า ขึ้นมาสร้างเป็นจุดเด่น

กรมการพัฒนาชุมชน และบริษัทโลเคิล อไลค์ จึงเข้ามามีส่วนร่วมทำงานกับชาวบ้าน เพื่อช่วยชาวบ้านสร้างเส้นทางและกิจกรรมการท่องเที่ยว ให้เป็นรายได้เสริมจากอาชีพเกษตรกร

ชาวบ้านจึงเริ่มหาจุดเด่นต่างๆ ในหมู่บ้าน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ซึ่งจากการประชุมและหารือกันหลายครั้ง จึงเกิดเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนบ้านคลองตาอิน ที่ได้ผสานรวมทั้งการชมสวนผลไม้ การชมช้างป่า และการเรียนรู้วิถีชีวิตเกษตรกรชาวสวนทุเรียน

และการเดินทางครั้งนี้ ก็เป็นการทดลองเส้นทางท่องเที่ยวในบ้านคลองตาอิน ซึ่งพวกเราถือเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มแรกที่ได้ท่องเที่ยวในเสน้ทางนี้ และยังได้ทำหน้าที่ให้คำแนะนำกับชาวบ้านและผู้นำเที่ยว และจะได้นำคำแนะนำต่างๆ ไปปรับปรุงการให้บริการในอนาคต

ความโดดเด่นของการเดินทางท่องเที่ยวในบ้านคลองตาอิน คือได้ติดตามกลุ่มอาสาสมัครไปผลักดันช้างป่าในช่วงหัวค่ำ โดยอาสาสมัครได้พาพวกเรานั่งรถกระบะขึ้นไปยังชายป่า ที่เป็นเส้นทางหากินประจำของช้าง เราได้เห็นการทำงานของกลุ่มอาสาสมัครในการผลักดันช้างป่า โดยใช้เสียง ส่องไฟ และเดินต้อนให้ช้างกลับเข้าไปสู่เส้นทางในป่า โดยไม่ได้ใช้ความรุนแรง เป็นภาพที่สร้างความตื่นเต้นให้กับพวกเราเป็นอย่างมาก

จากกิจกรรมช้างป่า พวกเราตื่นตาตื่นใจที่ได้ร่วมประสบการณ์ในพื้นที่จริง ได้เห็นช้างป่า และได้เห็นการทำงานของกลุ่มอาสาสมัครที่เสียสละลงพื้นที่ เพื่อป้องกันไม่ให้ช้างป่าหลงเข้ามาหากินในพื้นที่ทางการเกษตร

กิจกรรมอื่นๆ ที่โดดเด่น คือการเที่ยวชมทัศนียภาพที่สวยงาม และแหล่งเรียนรู้เชิงเกษตรที่สามารถต่อยอดเป็นกิจกรรมท่องเที่ยวได้ในอนาคต ทั้งฟาร์มไก่อารมณ์ดี สวนสมุนไพร และสวนผลไม้ที่ตั้งอยู่รายล้อมอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่

แม้ว่าหมู่บ้านคลองตาอิน จะเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่เพิ่งเริ่มต้นจัดการเส้นทางท่องเที่ยวชุมชน แต่ก็นับว่ามีทรัพยากรการท่องเที่ยวที่มีคุณค่าอย่างมาก และในอนาคต หากมีการปรับปรุงสาธารณูปโภคให้พร้อมสำหรับต้อนรับนักท่องเที่ยว บ้านคลองตาอิน อาจกลายเป็นหนึ่งเรื่องราวดีๆ ของนักท่องเที่ยวหลายคน

เรื่อง : ณภัทรดนัย
ภาพถ่าย : พสธร ปัญญโรจน์

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเส้นทางท่องเที่ยวชุมชน ติดต่อ localalike.com

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.