ทรานส์-อิหร่าน ทาง รถไฟอิหร่าน สายมรดกโลก มหัศจรรย์ท่องเที่ยวแห่งเปอร์เซีย

เส้นทางรถไฟทรานส์-อิหร่าน รถไฟอิหร่าน หัวใจของการฟื้นฟูภาพลักษณ์และการท่องเที่ยวของอิหร่าน

“เส้นทางรถไฟทรานส์-อิหร่าน” (Trans-Iranian railway) มีเส้นทางครอบคลุมตั้งแต่บริเวณชายฝั่งทะเลแคสเปียนทางตอนเหนือไปจนถึงอ่าวเปอร์เซียทางตอนใต้ของประเทศด้วยความยาวกว่า 1,300 กม. รถไฟอิหร่าน สายนี้ผ่านภูมิประเทศที่หลากหลายทั้งพื้นที่ราบ ป่าลึก ภูเขาสูงและทะเลทราย 

ความมหัศจรรย์ทางวิศวกรรมของศตวรรษที่ 20 นี้ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นหนึ่งในแหล่งมรดกโลกยูเนสโกในปี พ.ศ. 2564 และเป็นความภาคภูมิใจอย่างหนึ่งของชาวอิหร่าน

โครงการรางรถไฟนี้เริ่มขึ้นเมื่อราชวงศ์ปาห์ลาวีที่เริ่มปกครองอิหร่านในปี พ.ศ. 2468 ต้องการยกระดับการค้าและโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเพื่อลดการพึ่งพาอำนาจต่างชาติ โครงการสร้างรางรถไฟนี้ได้รับความร่วมมือจากหลากหลายบริษัททั่วโลกกว่า 40 บริษัทซึ่งมีบริษัทของชาวเดนมาร์กอย่าง “Kampsax” เป็นผู้นำโครงการ การบุกประเทศอิหร่านของฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้รางรถไฟได้รับการพัฒนาและยกระดับโดยฝ่ายสัมพันธมิตรสำหรับการใช้ในทางทหาร 

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การท่องเที่ยวในอิหร่านเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดจนอิหร่านกลายเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวหลักในแถบตะวันออกกลาง แต่เมื่อมีการปฏิวัติอิหร่านในปี พ.ศ. 2522 และตามด้วยสงครามอิรัก-อิหร่าน อิหร่านผ่านการคว่ำบาตรจากนานาประเทศและนักท่องเที่ยวลดหายไปเกือบหมด

อย่างไรก็ตาม เมื่อปี พ.ศ. 2562 องค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UNWTO) มีรายงานถึงการท่องเที่ยวที่กำลังกลับมาเติบโตในอิหร่าน เมื่อปี พ.ศ. 2557 อิหร่านมีนักท่องเที่ยวเพียง 4.8 ล้านคน แต่รัฐบาลมีเป้าหมายดึงดูดนักท่องเที่ยวกว่า 20 ล้านคนในปี พ.ศ. 2568 ที่จะถึงนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอิหร่านกำลังก้าวข้ามภาพลักษณ์จากความรุนแรงของสงครามในช่วงที่ผ่านมา โดยรางรถไฟเป็นหัวใจสำคัญในความหวังของการฟื้นฟูการท่องเที่ยวของประเทศ

เนชั่นแนล จีโอกราฟิก ประเทศไทย ขอเชิญชมภาพถ่ายอันหลากหลายทั้งจากในและนอกรถไฟที่จะสะท้อนถึงเสน่ห์ของประเทศอิหร่านที่หลายคนอาจไม่เคยเห็นมาก่อน

เส้นทางรถไฟในฝั่งตะวันตกของอิหร่านจากเมืองอานดิเมชก์ (Andimeshk) ไปเมืองโดรุด (Dorud) ตัดผ่านเทือกเขาซากรอส (Zagros Mountains) รางรถไฟทรานส์-อิหร่านมีเส้นทางผ่านเขตอุทยาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และแหล่งทางธรรมชาติอื่นๆ อีกมากมายเช่นเขาแดมอแวนด์ (Mount Damāvand) ภูเขาไฟที่สูงที่สุดในอิหร่านและป่าโบราณฮีร์คาเนียน (Hyrcanian Forest) ซึ่งเป็นหนึ่งในมรดกโลกยูเนสโก
ผู้ชายกำลังยืนอยู่ท่ามกลางน้ำตกบิเชฮ์ (Bisheh waterfall) ใกล้ๆ กันมีป่าโอ๊กและสถานีรถไฟบิเชฮ์ น้ำตกนี้เป็นจุดหมายที่นิยมของนักท่องเที่ยวแห่งหนึ่ง
“ยาซด์”เป็นเมืองล้อมรอบด้วยทะเลทรายและมีชื่อเสียงในเอกลักษณ์อารยธรรมเปอร์เซีย เช่นชุมชนนับถือศาสนาโซโรอัสเตอร์ (Zoroastrianism) และ “หอดักลม” ซึ่งเป็นองค์ประกอบสถาปัตยกรรมเปอร์เซียดั้งเดิมที่ช่วยสร้างการไหลเวียนลมธรรมชาติให้แก่อาคาร
รถไฟเทียบชานชาลาอยู่ในเมืองยาซด์ ทุกๆ วันจะมีรถไฟจากยาซด์ไปยังเตหะราน เมืองหลวงของอิหร่าน ในปัจจุบัน รางรถไฟทรานส์-อิหร่านได้กลายเป็นความภูมิใจอย่างหนึ่งของชาวอิหร่าน แม้ในอดีตอาจเคยมีข้อถกเถียงรุนแรงมาก่อน “ชาวอิหร่านส่วนใหญ่เกลียดโครงการรางรถไฟนี้ในตอนแรกนะ พวกเขาต้องจ่ายภาษีสูงและเส้นทางรถไฟก็ครอบคลุมเมืองสำคัญนอกจากเตหะรานด้วย แต่ตอนนี้ผมคิดว่าชาวอิหร่านหลายคนมีความภาคภูมิใจในรางรถไฟนี้นะ” คุณ Mikiya Koyagi ผู้ช่วยศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยเท็กซัส ออสตินผู้เขียนหนังสือ Iran in Motion: Mobility, Space, and the Trans-Iranian Railway กล่าว
เด็กหญิงอยู่บนรถไฟเดินทางข้ามคืนจากเมืองโดรุดไปยังเตหะราน
ผู้หญิงสองคนกำลังรออยู่บนชานชาลาในขณะที่รถไฟจากเตหะรานไปยังนครมัชฮัด (Mashhad) หยุดเพื่อทำพิธีละหมาดระหว่างการเดินทาง 8 ชั่วโมง
ภาพจิตรกรรมฝาผนังสามมิติในเมืองมัชฮัดเป็นที่สะดุดตาของใครหลายคน ชื่อเมือง “มัชฮัด” มีที่มาจากสุสานของอิหม่ามอะลี อัรริฎอ อิหม่ามที่ 8 ของอิสลามนิกายชีอะฮ์ หมู่บ้านที่เป็นสุสานของอิหม่ามอะลี อัรริฎอได้รับการตั้งชื่อในภายหลังว่าหมู่บ้านมัชฮัดและต่อมาก็กลายไปเป็นชื่อเมือง ปัจจุบันสุสานของอิหม่ามอะลี อัรริฎอ (Shrine of Imam Reza) เป็นมัสยิดที่เยี่ยมเยียนของผู้คนนับล้านในทุกๆ ปี
ผู้ชายมองออกไปนอกหน้าต่างขณะที่รถไฟกำลังหยุดในเมืองโดรุด เมืองทางตะวันตกของอิหร่าน
“ราคาตั๋วรถไฟถือว่าถูกมากๆ บนรถไฟก็เงียบสงบ ปลอดภัย ถึงจะช้า แต่ก็ผลิตคาร์บอนฟุตพริ้นท์ต่ำ” คุณ Matin Lashkari ผู้ก่อตั้ง “Persian Food Tours” และบล็อกเกอร์ท่องเที่ยวชาวอิหร่านกล่าว
เมืองประวัติศาสตร์ของยาซด์ (Historic City of Yazd) อยู่ท่ามกลางแดดจ้า เมืองประวัติศาสตร์ของยาซด์เป็นหนึ่งในแหล่งมรดกโลกยูเนสโก ในเมืองเต็มไปด้วยวัฒนธรรมดั้งเดิมต่างๆ มากมาย เช่นโรงอาบน้ำฮัมมัม ตลาดบะซาร์ ผลิตภัณฑ์สิ่งทอและสถาปัตยกรรมสิ่งก่อสร้างจากดิน ด้านหลังมัสยิด “Masjed-e Jameh” เป็นภาพบนธนบัตร 200 เรียลอิหร่าน
เด็กชายกำลังเล่นอยู่บนเหมืองแร่แมกนีไซต์ที่เมืองซาฮิดาน บริเวณชายขอบทางตะวันออกของทะเลทรายลูท (Lut desert)
ผู้โดยสารกำลังยืนบนรถไฟจากเมืองอานดิเมชก์ (Andimeshk) ไปเมืองโดรุด (Dorud) คุณ Mikiya Koyagi กล่าวถึงภาพลักษณ์ทางการเมืองของอิหร่านว่า “ภาพลักษณ์ความเป็นเผด็จการและความไม่มั่นคงทางการเมืองทำให้อิหร่านไม่ปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว แต่ผมคิดว่ามันไม่จริงเท่าไหร่ ถ้าคุณเป็นประชาชนมีความเกี่ยวพันกับการเมือง คุณอาจเป็นกลุ่มเสี่ยง แต่ถ้าคุณเป็นแค่นักท่องเที่ยว ก็น่าจะมีอันตรายอะไรมากมาย”
บริเวณตัวเมืองยาซด์เป็นที่ตั้งของ “แดฆแมฮ์” หรือ “หอคอยแห่งความเงียบงัน” แดฆแมฮ์เป็นหอคอยสำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนาซึ่งเป็นการทิ้งศพไว้ในที่เปิดเพื่อให้นกกินซาก ปัจจุบันมีการห้ามประกอบพิธีดังกล่าวมากว่า 50 ปีแล้ว
ทิวทัศน์ของทะเลทรายระหว่างการเดินทางบนรถไฟ 8 ชั่วโมงจากเตหะรานไปยังนครมัชฮัด
ชาวอิหร่านหลากหลายครอบครัวกำลังเล่นน้ำคลายร้อนอยู่ในแม่น้ำเดซ (Dez river) เมืองเดซฟูล (Dezful) “ทุกคนที่ฉันรู้จักต่างแปลกใจในสิ่งที่พวกเขาพบเจอในอิหร่าน พวกเขาตะลึงในความเปิดกว้างและมิตรไมตรีของชาวอิหร่านเป็นอย่างมาก พวกเขานึกว่าชาวอิหร่านไม่ต้อนรับนักท่องเที่ยวเพราะประเทศเคยผ่านการถูกแยกตัวจากประชาคมโลกมาก่อน แต่ความจริงชาวอิหร่านไม่ได้เป็นอย่างนั้น” คุณ Matin Lashkari กล่าว
ผู้โดยสารกำลังยืนบนรถไฟจากเมืองโดรุดไปยังน้ำตกบิเชฮ์ “หนึ่งในข้อดีของการท่องเที่ยวในอิหร่านคือคุณจะไม่เหงาเลย เพราะจะมีคนชวนคุณคุยอยู่ตลอด พวกเขาจะคอยแบ่งอาหาร แบ่งปันเรื่องราว คอยถามคำถามจากคุณ มันเป็นประสบการณ์ที่ผมไม่เคยเจอที่ไหนมาก่อนเลย” คุณ Mikiya Koyagi กล่าว
เส้นทางของรถไฟจากนครศักดิ์สิทธิ์มัชฮัดไปยังยาซด์ เมืองแห่งทะเลทราย งานวิจัยหลากหลายงานพบว่าการเผยแพร่ข่าวของสื่อในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรเกี่ยวกับการปฏิวัติและโครงการนิวเคลียร์ในอิหร่านตั้งแต่ช่วง ค.ศ. 1980 ถึงช่วง ค.ศ. 2010 ส่งผลด้านลบต่อภาพลักษณ์ของอิหร่าน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่ามีผลกระทบต่อการท่องเที่ยว
ผู้โดยสารนั่งรถไฟข้ามคืนจากเมืองยาซด์ (Yazd) ผ่านทะเลทรายไปยังเมืองซาฮิดาน (Zahedan) “เมื่อคุณอยู่บนรถไฟ เพียงไม่กี่ชั่วโมงคุณจะรู้สึกเหมือนฤดูเปลี่ยนไปเหมือนคุณอยู่อีกประเทศนึงเลยล่ะ” คุณ Yeganeh Morakabati นักวิจัยและศาสตราจารย์ด้านการท่องเที่ยวแห่งมหาวิทยาลัยบอร์นมัท กล่าว
เรื่องโดย GULNAZ KHAN
ภาพถ่ายโดย MATTHIEU PALEY
แปล นิธิพงศ์ คงปล้อง
โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย

อ่านเพิ่มเติม เดินทางสำรวจชีวิตบน รถไฟอินเดีย เส้นทางยาวที่สุด

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.