เลาะเลียบเขื่อนลำตะคอง ออกเดินทางค้นหาความลับ กับอุโมงค์รถไฟแห่งใหม่ที่สวยที่สุดในประเทศไทย

 เส้นทางรถไฟผ่านอุโมงค์คู่รางเดี่ยวภายใต้ทิวเขาเขียวขจี เปิดทัศนียภาพข้ามฟากออกสู่ เขื่อนลำตะคอง มอเตอร์เวย์ และกังหันลมขนาดยักษ์

บนเส้นทางถนนมิตรภาพวันนี้พาทีมงานออกเดินทางไปยังปลายทางที่สถานีคลองขนานจิตร เส้นทางรถไฟที่มีความสวยงาม สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักเดินทางท่องเที่ยวทางรถไฟว่า เป็นหนึ่งในที่ตั้งของสถานีรถไฟที่โอบล้อมด้วยภูเขาและเขื่อนกักเก็บน้ำที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของไทย เขื่อนลำตะคอง

เหมือนจังหวะจะเป็นใจ รถไฟเข้าจอดเทียบสถานีพอดีกับที่เราเดินทางมาถึง นายสถานียกมือให้สัญลักษณ์ธงเขียว ธงแดงอย่างที่พวกเราคุ้นเคยกันดี ก่อนรถไฟจะแล่นผ่านเดินทางเข้ากรุงเทพฯ “น่าอิจฉานะคะที่ได้ทำงานที่สวยๆ แบบนี้ทุกวัน” เราพูดกับนายสถานี เพราะเบื้องหน้าของสถานีมองออกไปเห็นน้ำเต็มเขื่อนลำตะคอง ทอดสายตาออกไปยังฝั่งตรงข้ามมองเห็นถนนมอเตอร์เวย์ และกังหันลมขนาดยักษ์บนภูเขา

จากวิวทิวทัศน์ตรงหน้า พอเราหันไปทางซ้ายมือ ก็มองเห็นอุโมงค์รถไฟแห่งใหม่ที่ก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ เป็นอุโมงค์คู่ในเส้นทางก่อสร้างทางคู่เป็นแนวทางรถไฟรางเดี่ยวทอดยาวมาบรรจบกับทางรถไฟเดิมที่เดินทางเลียบขนานอ้อมภูเขาตามแนวเขื่อน “ช่วงศึกษาเส้นทางจะมีบางจุดที่จะต้องตัดทางรถไฟทะลุเข้าภูเขา เพื่อลดระยะทางในการเดินทาง งานอุโมงค์รถไฟจึงเกิดขึ้น” วิศวกรประจำอุโมงค์รถไฟแห่งใหม่ที่ยาวที่สุดในประเทศไทยที่ทุบสถิติเดิมของอุโมงค์ขุนตาน เริ่มต้นเล่าเรื่องราวงานอุโมงค์รถไฟให้เราฟัง

 

 กว่าจะมาเป็นอุโมงค์รถไฟ

อุโมงค์รถไฟแห่งนี้เป็นอุโมงค์ที่ 3 ในเส้นทางโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ จังหวัดสระบุรีและนครราชสีมา ทั้งยังเป็น 1 ใน 5 เส้นทางรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน เพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการขนส่งระบบรางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยตั้งอยู่ระหว่างสถานีคลองขนานจิตรและสถานีคลองไผ่ ด้วยระยะทางรวม 1.5 กิโลเมตร กว้าง 7.5 เมตร สูง 8.5 เมตร ลอดภูเขาขนานไปตามแนวเขื่อนลำตะคอง

หากมองภาพรวมของงานอุโมงค์รถไฟ จะแบ่งได้เป็น 2 แบบคือ งานอุโมงค์ในเมืองก็คือ อุโมงค์รถไฟฟ้า กับงานอุโมงค์ในภูเขา ซึ่งงานอุโมงค์ในภูเขาจะต้องเริ่มต้นสำรวจเส้นทางเดินรถ จุดประสงค์เพื่อให้ความเร็วของการเดินรถทำได้ต่อเนื่อง พร้อมกับย่นระยะการเดินทางให้ใกล้ขึ้นกว่าเดิม ทั้งหมดถูกวิเคราะห์อย่างละเอียดรอบคอบก่อนที่จะตัดเส้นทางอุโมงค์ผ่านภูเขา

“ก่อนอื่นเราต้องรู้จักสภาพทางธรณีวิทยาของภูเขาและความซับซ้อนของดินตรงบริเวณที่เราจะเจาะ จัดหมวดหมู่ของสภาพหินว่า อยู่ในสภาพหินแข็งมาก หินไม่แข็ง หรือคล้ายดิน ซึ่งเป็นงานที่ต้องอาศัยข้อมูลและประสบการณ์ในการเผชิญหน้ากับเรื่องไม่คาดฝันได้ เพราะถ้าธรณีวิทยามันซับซ้อน มันก็อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันได้เหมือนกัน ซึ่งทั้งหมดก็จะสะท้อนไปถึงงบประมาณโครงการและภาพรวมของงานโครงการทั้งหมด”

สภาพภูเขาในโครงการแห่งนี้ส่วนมากเป็นหินค่อนข้างแข็ง วิธีการก่อสร้างจึงใช้การระเบิดเป็นหลัก “การประเมินปริมาณระเบิดที่เราใช้ ก็จะต้องสอดคล้องกับคุณภาพของหินที่เราพบ หลักๆ ก็คือ เราจะต้องมีการประเมินคุณภาพหิน ตลอดช่วงที่เราเจาะไป จะมีการสำรวจสภาพหินทุกๆ ครั้งที่ระเบิด เพื่อให้สามารถปรับรูปแบบวิธีการในการระเบิดอย่างเหมาะสมกับหินที่เจอตรงหน้า”

หลังจากงานระเบิดหิน เป็นงานติดตั้งค้ำยันเพื่อพยุงอุโมงค์ไว้ไม่ให้ถล่ม “โครงสร้างค้ำยันจะทำทันที หรืออาจจะหลังจากระเบิดในระยะเวลาหนึ่ง หลังจากนั้นจึงเริ่มงานคอนกรีต การติดตั้งราง และงานระบบภายในอุโมงค์เป็นขั้นตอนสุดท้าย”

เรื่องสำคัญของงานระบบภายในอุโมงค์ คือการคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้โดยสาร และอำนวยความสะดวกของขบวนรถเป็นสำคัญ “เมื่อหล่อคอนกรีตเป็นรูปทรงอุโมงค์ด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กเรียบร้อยแล้ว จะทำทางเดินหนีไฟ วางหมอนตัวราง ควบคู่ไปกับงานระบบร้อยสายไฟ ติดท่อ ติดพัดลมระบายอากาศ ตามด้วยการขนส่งอุปกรณ์ต่างๆ เข้าสู่ห้องควบคุมสำหรับระบบไฟสำรอง กล้อง CCTV และงานพัดลมระบายอากาศ ซึ่งเป็นส่วนท้ายสุดของการทำงาน”

ห้องควบคุมที่เชื่อมต่อระหว่างสองอุโมงค์เข้าด้วยกัน จุดนี้เองเป็นศูนย์กลางสำหรับอำนวยความสะดวกในการเดินขบวนรถ พร้อมกันกับรองรับกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน

“จากห้องงานระบบภายในอุโมงค์ เราจะมีห้องควบคุมกับอาคารด้านนอกหรือ Control Room เพื่อสังเกตการณ์ว่า ภายในอุโมงค์มีตัวเลขค่าต่างๆ เป็นอย่างไรบ้าง ทั้งจากเซนเซอร์ กล้องวงจรปิด ซึ่งนายสถานีที่ประจำสถานีรถไฟจะสามารถสังเกตการณ์และควบคุมจากตรงนี้ได้ แล้วข้างในก็จะมีห้องควบคุมอีกห้องหนึ่ง เชื่อมโยงระบบกันอยู่ ถ้าหากด้านในเกิดเหตุอะไร ทางสถานีก็จะรับทราบสถานการณ์ หากเกิดเหตุอันตรายที่ต้องมีการอพยพ หรือแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สถานีรถไฟจะเป็นผู้ดูแลแล้วแจ้งเหตุต่อไป”

 

ความท้าทายของการขุดเจาะอุโมงค์คือการบริหารจัดการ

แรกสุดที่คิดถึงงานอุโมงค์ ผู้คนมักคิดถึงงานวิศวกรรม แต่แท้จริงแล้วในมุมของคนทำงาน เรื่องใหญ่ที่สุดไม่แพ้กันคือการบริหารจัดการ

“ขั้นตอนใหญ่คือการต้องต่อสู้กับธรรมชาติ จริงๆ อย่างที่บอกว่ามันท้าทายตลอดเวลา คือพอมันไม่เป็นไปตามแผน เราต้องกลับมาวางว่าจะทำอย่างไร ยิ่งพื้นที่จำกัด การเดินขบวนรถ การสวนทางเข้าออก คือต้องคอยควบคุมตลอดเวลา จึงทำให้ทีมวิศวกรต้องคิดวางแผนตลอด และหากพบหินที่มีสภาพแย่ เวลาการทำงานก็ต้องทวีคูณขึ้นมา ภายใต้เงื่อนไขของเวลา จึงถือว่าเรื่องการบริหารจัดการในอุโมงค์ ด้านเวลาคือค่อนข้างต้องให้ความสำคัญ”

“การทำงานองค์รวม มันไม่ใช่แค่ตอนระเบิดที่เราจะต้องมาจัดการเรื่องพวกนี้ จนกระทั่งถึงงานเสร็จ งานระบบงานราง การบริหารจัดการจราจรในอุโมงค์ยิ่งต้องให้ความสำคัญ เพราะงานประเภทนี้เป็นงานที่ค่อนข้างพิเศษ และตัวแปรเยอะ ทักษะการบริหารจัดการจึงสำคัญไม่แพ้งานทางด้านวิศวกรรมเลย”

หัวใจสำคัญในงานอุโมงค์คือ การระบายอากาศ เพราะอุโมงค์เป็นพื้นที่อับอากาศ การจัดการงานระบายอากาศเพื่อคนทำงานและคนใช้งานจึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง

“เพราะว่าเราขุดเจาะเข้าไปแล้วมีคนทำงาน และยังมีเรื่องการใช้วัตถุระเบิดในการขุดเจาะ ก่อนที่จะให้พนักงานเข้าไปต้องมีการตรวจสุขภาพ ตรวจวัดคุณภาพอากาศด้วยการใช้เครื่อง Gas Detector ตรวจวัดก๊าซพิษ ซึ่งการระบายอากาศต้องเป็นการผลักอากาศดีเข้าไป การดันอากาศพิษออกมา เรื่องนี้เป็นหัวใจสำคัญเลย เรื่องคุณภาพอากาศต้องได้ตามมาตรฐานและต้องมีคุณภาพดี”

 

เส้นทางสายทัศนียภาพ ประตูสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

“ถ้าเริ่มจากต้นทางที่สระบุรี เราจะผ่านอุโมงค์ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ณ ขณะนี้ คืออุโมงค์ช่วงมาบกะเบา-ผาเสด็จ-หินลับ ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร เมื่อออกจากอุโมงค์ เราก็จะพบกับอุโมงค์อีกแบบหนึ่ง ก็คืออุโมงค์เดี่ยวรางคู่ ช่วงหินลับ-มวกเหล็กใหม่ จากนั้นเราจะได้ขึ้นทางรถไฟยกระดับที่สูงที่สุดในประเทศไทย ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทางราว 5 กิโลเมตร เป็นทางรถไฟยกระดับที่สูงที่สุดในประเทศไทยกลางเมืองมวกเหล็ก ความสูง 48-50 เมตรผ่านตัวเมืองมวกเหล็กที่เป็นหุบเขา ก่อนเป็นงานทางวิ่ง ชมบ้านเรือน เรือกสวนไร่นา แล้วก็มาที่ไฮไลท์จุดชมวิวนี้ที่เขื่อนลำตะคอง”

ในความรู้สึกของคนทำงานจริง ประสบการณ์การทำงานครั้งนี้คือความสำเร็จทางด้านวิศวกรรมอุโมงค์รถไฟครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในวงการรถไฟ พร้อมกันกับการมอบประสบการณ์การเดินทางรูปแบบใหม่ให้กับนักท่องเที่ยวและผู้โดยสารทางรถไฟ “อุโมงค์แห่งนี้เป็นอุโมงค์แรกๆ สำหรับงานรถไฟในยุคใหม่ นับเป็นที่แรกที่มีระบบความปลอดภัยครบถ้วน เพราะค่อนข้างถือว่ายาวที่สุดแล้วที่ได้ทำมา หลังจากนี้ก็จะมีอีกหลายอุโมงค์ตามมาแบบเต็มรูปแบบทั่วประเทศไทย”

 

อ่านเพิ่มเติม :

จากประวัติศาสตร์สงครามโลก สู่การสร้างสะพานแขวนรถไฟแห่งแรกของไทยในราชบุรี

การรถไฟแห่งประเทศไทย รับมอบรถไฟ KIHA 183 จาก JR HOKKAIDO ให้บริการปี 2566

การรถไฟเเห่งประเทศไทย

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.