โลกาภิวัฒน์พาโลกทั้งใบเชื่อมต่อกันง่ายดายผ่านอินเทอร์เน็ต แต่การเดินทางในชีวิตจริงไม่หยุดยั้งเพียงแค่เส้นทางที่คุ้นเคย แต่รถไฟความเร็วสูง พาเชื่อมต่อสู่เส้นทางใหม่ที่เชื่อมทั้งโลกเข้าด้วยกันอย่างสะดวกสบาย
วันนี้ เราชวนมาทำความรู้จักกับโครงข่าย รถไฟความเร็วสูง พร้อมกับเส้นทางโครงการที่กำลังจะเกิดขึ้นจริงในประเทศไทย : เส้นทางที่จะเชื่อมต่อไทยสู่โลก ผ่านโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา สู่ศูนย์กลางการบินของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ที่เป็นศูนย์กลางของรถไฟจากจีนตอนใต้ถึงมาเลเซีย
การย่นระยะเวลาเดินทางจากเมืองหลวงสู่เมืองรอง นำมาซึ่งการเชื่อมโยงทั้งการเดินทางของผู้คน และแง่มุมเศรษฐกิจ จากความสะดวกในการขนส่งสินค้าจากพื้นที่เศรษฐกิจ แหล่งท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมระหว่างจังหวัดที่ทำได้ง่ายขึ้น
รถไฟความเร็วสูงเป็นคำตอบของความต้องการรอบด้านเช่นนี้ โดยรูปแบบการเดินรถของรถไฟความเร็วสูงจะเน้นการเดินทางที่รวดเร็ว ตรงเวลาจากเส้นทางที่ไม่มีจุดตัดทางรถไฟ และความปลอดภัยของยานพาหนะ รวมทั้งช่วยลดการใช้พลังงานโดยภาพรวม และลดต้นทุนโลจิสติกส์จากการเป็นการคมนาคมขนส่งมวลชนสาธารณะ
อนาคตของการเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูงนอกจากจะช่วยย่นระยะเวลาการเดินทางแล้ว ยังส่งเสริมการพัฒนาเมืองตลอดเส้นทางการเดินรถ ทั้งส่งเสริมการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศทั้งกับเมืองหลักและเมืองรอง ด้วยที่ตั้งของเมืองไทย จึงเป็นศูนย์กลางของตลาดการค้าอินโดจีนและอาเซียน ช่วยเชื่อมตลาดการค้าในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงต่อไปในอนาคต
เราได้ยินข่าวคราวของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน กับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ควบคู่กันมาโดยตลอด แต่แท้จริงแล้ว ทั้งสองโครงการนี้มีรายละเอียดของโครงการและเส้นทางที่แตกต่างกัน แต่รวมแล้วก็เพื่อสร้างความสะดวกสบายกับการเดินทางในวงกว้างให้กับประชาชน
รถไฟเชื่อม 3 สนามบิน คือเป็นโครงการรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมโยงระหว่างท่าอากาศยานหลักของประเทศ 3 แห่ง คือ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ซึ่งประโยชน์ของการเชื่อมเส้นทางทั้ง 3 สนามบินนี้ไว้ด้วยกัน เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของการเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และส่งต่อไปสู่พื้นที่ EEC ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ
เส้นทางการเดินทางของโครงการรถไฟความเร็วสูงนี้ เกิดจากการรวมกันระหว่างการใช้งานโครงสร้างของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เดิม กับส่วนต่อขยาย 2 ช่วง ด้วยรถไฟความเร็วสูง จากสถานีพญาไทไปยังสนามบินดอนเมือง และจากสถานีลาดกระบังไปยังสนามบินอู่ตะเภา รวมระยะทาง 220 กิโลเมตร กำหนดเปิดให้บริการปี 2572
ตั้งต้นที่สถานีดอนเมือง เดินทางด้วยรถไฟธรรมดา (City Line) รถจะวิ่งตรงเข้าสู่สถานีกลางบางซื่อ ผ่านสถานีมักกะสัน แล้วไปยังสถานีสุวรรณภูมิ ด้วยความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จากนั้นจากสถานีสุวรรณภูมิ เปลี่ยนขบวนเป็นรถไฟความเร็วสูง (HSR) วิ่งตามแนวรถไฟสายตะวันออก เข้าสู่สถานีฉะเชิงเทรา ผ่านแม่น้ำบางปะกง สู่สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา สถานีพัทยา จากนั้นจะลอดอุโมงค์ช่วงเขาชีจรรย์ แล้วเลี้ยวขวาเข้าสู่ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ตามลำดับ โดยช่วงสถานีสุวรรณภูมิ-สถานีอู่ตะเภา ใช้ความเร็ว 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
รถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน โครงการนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ “One Belt One Road – OBOR” ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ด้วยความพยายามที่จะลากเส้นจากจีนตอนใต้ลงไปถึงประเทศมาเลเซีย ผ่านทางลาวและไทย เชื่อมต่อภูมิภาคเข้าด้วยกันด้วยทางรถไฟ
ระยะแรกเริ่มต้นจาก รถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา จำนวน 6 สถานี ระยะทาง 250 กิโลเมตร ส่วนนี้ใช้เทคโนโลยีระบบรถไฟความเร็วสูงฟูซิ่ง ห้าว (Fuxing Hao) CR300 รถไฟความเร็วสูงรุ่นใหม่ล่าสุดของประเทศจีน จำนวนตู้โดยสาร 8 ตู้ต่อขบวน รวมทั้งหมด 6 ขบวน โดยจะช่วยย่นระยะเวลาการเดินทางจากกรุงเทพฯ ถึงนครราชสีมาเหลือเพียง 1 ชั่วโมง 30 นาที ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างและขั้นตอนการประกวดราคา คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในช่วงปี 2569
ระยะที่ 2 ระยะทางจากนครราชสีมา-หนองคาย ตั้งเป้าหมายจะเปิดให้บริการหลังจากเฟสแรกเปิดแล้วประมาณ 3-4 ปี หรือช่วงระหว่างปี 2572-2573 ก่อนเชื่อมต่อเข้าสู่ สปป.ลาว และคุณหมิงต่อไป
ความโดดเด่นอีกประการของโครงการรถไฟความเร็วสูงสายประวัติศาสตร์แห่งนี้ คืออัตลักษณ์ทางด้านประเพณีและวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ในแต่ละสถานีที่รถไฟเดินทางผ่าน สถาปัตยกรรมของสถานีรถไฟจึงทำหน้าที่สะท้อนภาพของเอกลักษณ์ทางด้านงานออกแบบและความเป็นอยู่ของแต่ละพื้นที่ ไปพร้อมกับส่งเสริมเศรษฐกิจจากพื้นที่พาณิชยกรรมภายในอาคาร
โครงการรถไฟความเร็วสูงเป็นเหมือนภาพความฝันของประชาชนชาวไทยที่กำลังกลายเป็นจริงทีละขั้น ผ่านระบบคมนาคมสาธารณะที่เชื่อมต่อระหว่างภูมิภาคได้อย่างสะดวกสบาย รวดเร็ว กำหนดเวลาได้ชัดเจนแน่นอน และเชื่อมต่อโครงข่ายการเดินทางหลากหลายรูปแบบแบบไร้รอยต่อ ทั้งกับสถานีรถไฟชานเมือง สถานีรถไฟทางไกล ท่าอากาศยาน และรถโดยสารประจำทาง จนเป็นกลไกที่กระจายเศรษฐกิจใหม่ไปยังพื้นที่โดยรอบของประเทศ
การเดินทางโดยระบบขนส่งมวลชนสาธารณะยังช่วยทั้งรักคนและรักโลกใบนี้ได้อีกทาง ด้วยปริมาณการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศเพียง 4 กิโลกรัม/100 คน-กิโลเมตร เมื่อเทียบกับรถยนต์และเครื่องบิน นับว่าตอบทั้งโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านความปลอดภัย และจุดหมายปลายทางครอบคลุมถึงจังหวัดที่ไม่มีสนามบิน
นอกจากประโยชน์ที่ประชาชนได้รับโดยตรงจากการใช้งานรถไฟความเร็วสูงที่ย่นระยะเวลาในชีวิตประจำวันขึ้นอีก นวัตกรรมของรถไฟความเร็วสูงยังแสดงถึงความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีของประเทศ ซึ่งในภูมิภาคอาเซียน นอกจากบ้านเราและอินโดนีเซียที่กำลังสร้างเส้นทางจาร์การ์ตา-บันดุง อยู่แล้ว ยังไม่มีชาติใดที่มีระบบรถไฟความเร็วสูง จึงนับว่าเป็นหมุดหมายที่ดีของการใช้งานนวัตกรรมเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับคนไทยทุกคน
อ่านเพิ่มเติม :
จากประวัติศาสตร์สงครามโลก สู่การสร้างสะพานแขวนรถไฟแห่งแรกของไทยในราชบุรี
การรถไฟแห่งประเทศไทย รับมอบรถไฟ KIHA 183 จาก JR HOKKAIDO ให้บริการปี 2566