Shinta Mani Wild, A Bensley Collection รีสอร์ทหรูในกัมพูชา ช่วยชุมชนและสัตว์ป่าได้อย่างไร

เมื่อมาถึงที่ Shinta Mani Wild, A Bensley Collection ก็ให้อัศจรรย์ใจว่ารีสอร์ทแห่งนี้มาอยู่ในกลางธรรมชาติแบบนี้ได้อย่างไร ย้อนไปราว 8 ปีที่แล้ว เพื่อนสนิทของบิล เบนส์เลย์และครอบครัวได้ประมูลชนะสัปมทานป่าไม้ในพื้นที่ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นป่าใหญ่ผืนสุดท้ายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อยู่ระหว่างอุทยานแห่งชาติ 2 แห่ง ซึ่งที่ผ่านมามีการบุกรุกป่าและล่าสัตว์ ในพื้นที่ที่เป็นบ้านของช้างเอเชีย นาก ตัวลิ่น และชะนี จนเกิดความเสื่อมโทรมไปในหลายจุด พวกเขาและเบนส์เลย์ตกลงใจว่าจะสร้างรีสอร์ทที่สามารถมีส่วนช่วยฟื้นฟูธรรมชาติได้ขึ้นมา


ในฐานะที่เป็นสถาปนิก มัณฑนากร และนักออกแบบภูมิทัศน์ที่หลงใหลธรรมชาติมาตั้งแต่เด็ก และมีประสบการณ์การออกแบบรีสอร์ทหรูทั่วโลกมากว่า 30 ปี บิล เบนส์เลย์ รู้ดีว่าควรจะทำอย่างไรเมื่อโอกาสอันหาได้ยากยิ่งที่จะได้สร้างรีสอร์ทในฝันมาถึงแล้ว
ฝันของนักออกแบบรีสอร์ทหรูชื่อดังคนนี้ คือการออกแบบรีสอร์ทให้ยั่งยืน สอดคล้องกับธรรมชาติ สร้างสายสัมพันธ์กับชุมชน เพื่ออยู่อย่างเป็นประโยชน์ อยู่อย่างมีความหมาย อยู่ในฐานะแรงบันดาลใจที่ชวนให้คนอนุรักษ์ธรรมชาติ

Shinta Mani Wild ที่ตามด้วย A Bensley Collection จัดเป็นแบรนด์ของเบนสเลย์ที่ต่างจากรีสอร์ทอื่นๆ ซึ่งแม้ Designed by Bill Bensley เช่นกัน แต่เมื่อว่าด้วย A Bensley Collection แล้ว นี่คือผลงานที่เต็มไปด้วยความเป็นตัวตนของเบนสเลย์อย่างเต็มที่ และที่นี่ เขาก็ได้ทำความฝันให้การมีอยู่ของรีสอร์ทสามารถสร้างความยั่งยืนให้ได้ในทุกมิติ แม้ที่ผ่านมาเขาพยายามผสานความรักที่มีต่อธรรมชาติกับงานออกแบบมาตลอด แต่โจทย์ที่ตั้งมาส่วนใหญ่ก็อาจไม่ใช่สิ่งที่เขาอยากให้เป็นทั้งหมด 

ดีไซน์ที่เคารพธรรมชาติคือความล้ำค่า

“Shinta Mani” ที่เรากับผู้ร่วมเดินทางเข้าใจว่าหากเรียกด้วยภาษาไทยก็คงออกเสียงได้ว่า “จินดามณี” เป็นอัญมณีล้ำค่าในพื้นที่เลียบแม่น้ำถมอรัง (Tmor Rung) อยู่ระหว่าง “อุทยานชาติแห่งชาติจูรพนมกระวาน คางตโบง” (Cardamom National Park) ของเทือกเขากระวาน  หนึ่งในป่าแห่งใหญ่ที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  และ “อุทยานแห่งชาติพระโมนิวงโบกอร์ (Preah Monivong Bokor National Park)” ซึ่งอยู่ทางใต้ของจังหวัดกัมปอต ประเทศกัมพูชา

ออกแบบให้เป็นแคมป์เต็นท์สุดหรูใจกลางป่า 15 เต็นท์ ซึ่งมีโครงสร้างและองค์ประกอบหลักเหมือนกัน แต่ตกแต่งด้วยแนวคิดซึ่งได้แรงบันดาลใจจากความหลงใหลและความทรงจำอันน่าประทับใจของเบนสเลย์ที่แตกต่างหลากหลาย ตั้งแต่เต็นท์ที่ได้แรงบันดาลใจจาก แจคเกอลีน เคเนดี้, เต็นท์ชะนี สัตว์ที่ค้นพบได้มากในผืนป่าแห่งนี้ รวมถึงเต็นท์ National Geographic นิตยสารในดวงใจที่จุดประกายความเป็นนักสำรวจผู้รักธรรมชาติให้แก่เขามาตั้งแต่เด็ก

เต็นท์ 14 ได้แรงบันดาลใจจาก National Geographic

น่าเสียดายที่ในช่วงที่เราไป เต็นท์ National Geographic ซึ่งเป็นเต็นท์ลำดับที่ 14 มีผู้เข้าพักไปแล้ว เราจึงได้นอนที่ 15 เต็นท์ชะนี (Gibbon Tent) แทน ซึ่งเราก็เฝ้ามองหาชะนี แต่ไม่มีโอกาสได้เจอ ครั้นหวังว่าจะได้เฝ้าดูนกบ้าง แต่เมื่อไปถึงในช่วงหน้าฝน ซึ่งเป็นฤดูผสมพันธุ์ของนกพื้นถิ่น บรรดานกจึงพากันเข้าไปจับคู่ในป่าลึก แม้จะไม่ได้เห็นสัตว์ต่างๆ มาก แต่ทิวทัศน์ต้นไม้ทึบหนาแน่นสูงใหญ่กับน้ำตกที่ซัดซ่าก็โอบรับเราก็ให้รู้สึกขอบคุณการมีอยู่ของธรรมชาติ

เมื่อ 2 ปีที่แล้ว เบนส์เลย์ ได้ออก White Paper ที่ชื่อว่า “Sensible Sustainability Solution” เพื่อให้เป็นแนวทางแก่ธุรกิจโรงแรมเพื่อพัฒนาโครงการให้ยั่งยืน แบบสมเหตุสมผลทำได้จริง เขียนขึ้นมาจากประสบการณ์ตลอดชีวิตนักออกแบบระดับแนวหน้าของโลก เขาหวังว่าจะให้เหล่าโรงแรมและรีสอร์ทได้ปรับใช้แนวทางนี้เป็นคู่มือ เพื่อที่ว่าทุกๆ การดำเนินการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง รักษาธรรมชาติโดยรอบไว้ให้ดีที่สุด

การออกแบบรีสอร์ทอย่างยั่งยืนต้องวางแผนการใช้งานให้เหมาะกับพื้นที่ควบคู่ไปกับประสบการณ์ที่ผู้เข้าพักจะได้รับ เมื่อออกเดินทางไปพักผ่อนในธรรมชาติกลางป่าเลียบแนวน้ำตกใหญ่ เราก็คงอยากได้รู้สึกถึงความเป็นนักสำรวจที่อินกับธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์

ซิปไลน์ที่นี่สูงที่สุด และมีความยาวที่สุดในกัมพูชา

การเข้าถึงรีสอร์ทแห่งนี้มาในสไตล์ของเบนสเลย์ ผู้เต็มไปด้วยจิตวิญญาณของนักผจญภัย เขาจึงเสนอทางเลือกที่น่าตื่นเต้น ด้วยการแล่นซิปไลน์จากหอสูงที่สุดในกัมพูชา ข้ามวิวน้ำตกและเรือนยอดไม้สูงลิ่ว ที่แค่ขึ้นไปก็ใจสั่น แต่เมื่อทิ้งตัวลงมา ภาพที่เห็นตลอดแนวสลิงที่แข็งแรงนั้นควรค่าอย่างยิ่งกับใจที่เต้นระทึก อยากบอกว่าถ้าสภาพอากาศเอื้ออำนวย ทุกคนไม่ควรพลาด

หลังจากนั้นต้องเดินป่ามาอีกสักนิด ก่อนจะถึงอีกหนึ่งซิปไลน์ระยะสั้นๆ ลอดผ่านกรอบเหลืองโลโก National Geographic ข้ามน้ำตก Big Sister สู่ Landing Piont ณ สำนักงานหลักของรีสอร์ท ที่มีพนักงานรอรับอยู่ 

แล่นซิปไลน์ผ่านกรอบเหลืองของ Nat Geo มาแลนด์ดิ้งที่รีสอร์ท

รีสอร์ทโดยรวมเป็นแบบแคมป์เต็นท์เปิดโล่ง ให้ได้สัมผัสภูมิอากาศจริงของที่นี่ และลดการใช้แสงไฟในเวลากลางวัน

ไม่ต้องพูดถึงการลดใช้พลาสติก เราแทบไม่เห็นการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง นอกจากบางการใช้งานที่ต้องเกี่ยวกับสุขอนามัย มีการใช้โซลาร์เซลล์เป็นส่วนเสริมจากไฟฟ้าหลัก เพราะกลางป่าฝน เอาแน่นอนกับแสงอาทิตย์ได้ยากเมื่อเข้าหน้ามรสุม มีระบบการจัดการน้ำ น้ำที่ใช้แล้วถูกแบ่งเป็นส่วนๆ และบำบัดก่อนจะทิ้ง เช่น พื้นห้องอาบน้ำจะเป็นระแนงไม้เพื่อรองรับน้ำนำไปบำบัดและหมุนเวียนกลับมาใช้งานเท่าที่ทำได้ 

แผนที่ตั้งแคมป์เต็นท์ บ้างหันหน้าเข้าหาป่า บ้างได้วิวน้ำตก

โซนที่พักหรือแคมป์เต็นท์นั้นตั้งอยู่ห่างกันออกไปตามแนวป่าและน้ำตก เต็นท์เลขท้ายๆ ไกลกว่า 1 กิโลเมตร ทางรีสอร์ทจึงจัดรถจี๊ปคันเล็ก ให้บัตเลอร์ประจำเต็นท์คอยขับรับส่ง

เส้นทางไปเต็นท์ต้องตัดผ่านป่า เขาทำทางเดินรถกว้างเพียงแค่พอดีให้รถวิ่งได้ และลาดแนวซีเมนต์ให้เป็นพอดีแค่ตำแหน่งล้อรถ ไม่ได้เป็นพื้นปูนกว้างใหญ่แบบปรับพื้นให้เรียบกริบ การนั่งรถหัวโยกหัวคลอนไปตามทางไม่ได้เป็นปัญหาแม้แต่นิด หรือต้องลงเดินในบางจุดก็ไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก เราขอเข้ามาใช้ป่าเป็นที่หย่อนใจของเรา ก็ไม่จำเป็นต้องปรับเขาให้มาเอาใจเราให้สบายไปทั้งหมดก็ได้

เพราะนั่นก็ถูกชดเชยด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกระดับ 6 ดาวที่รวมอยู่ในราคาค่าที่พักทั้งหมดแล้ว ทุกการกินดื่มและทุกกิจกรรมที่ทาง Shinta Mani Wild จัดให้ ไม่ต้องจ่ายเพิ่มเลย

จากที่ลองสังเกตว่าโครงสร้างของแคมป์เต็นท์จะรบกวนธรรมชาติมากน้อยแค่ไหน ก็พบว่าจัดการไว้อย่างดีมาก เขาสำรวจและเลือกจุดที่ง่ายต่อการก่อสร้าง เมื่อโครงสร้างเหล็กหยั่งลงไปบนพื้นก็ไม่ต้องปรับพื้นที่มาก ใช้โครงสร้างเท่าที่จำเป็น มองลงไปใต้แคมป์ก็ไม่เห็นการเทคอนกรีตผืนใหญ่ให้ดูผิดที่ผิดทางและรบกวนแนวโขดหินริมน้ำตกมาก

การมีส่วนร่วมกับชุมชนคือความหรูหราใหม่

สปา สระว่ายน้ำวิวสวย กิจกรรมสันทนาการท่ามกลางธรรมชาติอันน่าทึ่ง เป็นสิ่งพื้นฐานที่รีสอร์ทต่างๆ พึงมี ความหรูหราของแต่ละแห่งนั้นถูกตีความแตกต่างกันไป สำหรับ Shinta Mani Wild ความหรูหราไปไกลกว่าการตกแต่งอันงดงาม อาหารเลิศรส ทริปล่องเรือ หรือปาร์ตี้บาบีคิวกลางแจ้งกับวิวร้อยล้าน

เป็นความหรูหรา ไม่ได้จำกัดอยู่กับการปรนเปรอตัวเอง แต่หันหน้ามามีประสบการณ์ร่วมกับชุมชน ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่เบนสเลย์ใช้ตั้งต้นในการทำรีสอร์ท เมื่ออยากรู้ว่ารีสอร์ทจะอยู่อย่างไรให้เป็นประโยชน์ ก็ต้องเข้าหาชุมชน

ระหว่างทางเดินในรีสอร์ท ที่เป็นสะพานไม้ เราจะได้วิวสวยๆ แบบนี้ไปตลอดทาง

ผืนป่าบริเวณนี้ถึงจะได้ชื่อว่าเป็นอุทยานแห่งชาติ แต่ก็มีปัญหาการบุกรุกป่าหนักมาก ทั้งการตัดไม้ เผาป่า ล่าสัตว์ เป็นความขัดแย้งระหว่างการอนุรักษ์และปากท้องของผู้คน 

ก่อนการมาถึงของทางด่วนพนมเปญ – สีหนุวิลล์ การเดินทางจากพนมเปญมาจังหวัดกำปอด (Kampot) ไม่ใช่เรื่องสะดวกสบาย ต้องใช้เวลา 3 – 4 ชั่วโมง พื้นที่ธรรมชาติอันห่างไกล ไม่มีการงานใดให้ทำมากนอกจากการพึ่งพาป่า แต่ขอบเขตของการพึ่งพิงลุกลามไปถึงการรุกราน 

สารอน สอนพวกเราหาหัวมันป่า เขาเล่าถึงความภูมิใจมากที่สามารถฝึกทักษะการทำงานและภาษาจนได้เลื่อนขั้นเป็นหัวหน้าเรนเจอร์

สารอน Ranger Supervisor ของ Shinta Mani Wild เป็นคนท้องที่นี้ เขาเล่าว่าความยากจนทำให้ผู้คนไม่มีทางเลือกในการทำมาหากินมาก ต้องขุดหาของป่า ล่าสัตว์ไปขายที่ตลาดได้เงินมาไม่เท่าไหร่ การล่าสัตว์และหาของป่าผิดกฎหมายจึงเกิดขึ้นเนืองๆ สารอนเล่าเรื่องนี้ ตอนที่นำพวกเราออกไปทำกิจกรรมเก็บสมุนไพรในป่าเพื่อหาของท้องถิ่นมาทำอาหาร 

ทุ่งหญ้ากว้างใหญ่นี้ เคยเป็นป่ามาก่อน แต่ถูกตัดทำลายไปหมด อีกทั้งชาวบ้านยังเผาพื้นที่กันอยู่บ่อยๆ เพราะหลังจากเผาแล้วพืชพรรณที่เก็บกินได้จะกลับมางอกงามกว่าเดิม เมื่อไม่มีทางเลือกในอาชีพมาก นี่จึงเป็นปัญหาที่วนไปเหมือนงูกินหาง

เมื่ออ่านชื่อกิจกรรม ก็คิดว่าจะได้เข้าไปในชายป่าที่มีต้นไม้สูงใหญ่ แต่เมื่อไปถึงพื้นที่นั้นคือทุ่งหญ้าคาขึ้นสูง มีต้นไม้ประปราย สารอนบอกว่าเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ตรงนี้เคยเป็นป่า แต่คนก็ตัดไม้ไปจนกลายเป็นที่โล่ง แต่ก็ยังพอมีพืชป่า หัวมันป่า สมุนไพรให้เก็บกินได้อยู่ ที่ตรงนี้มีเจ้าของ แต่ชาวบ้านที่รู้จักกัน ก็สามารถมาเก็บสมุนไพรได้ ขอเพียงแค่ไม่สามารถมาใช้ประโยชน์พื้นที่มากกว่านั้นก็พอ

เชฟเบอร์นาร์ดมาเก็บสมุนไฟรด้วยกัน วัตถุดิบท้องถิ่นเหล่านี้ถูกนำมาใช้ในหลายเมนูหลักของที่นี่

สารอนคือหนึ่งในคนพื้นที่ที่มาทำงานที่รีสอร์ท เริ่มจากเป็นคนงานก่อสร้าง ค่อยๆ พัฒนาทักษะการทำงานและภาษาอังกฤษ จนสามารถขึ้นเป็น Ranger Superviser ได้ เขาว่ารีสอร์ทนี้เปลี่ยนชีวิตที่ยากจนของเขาให้ดีขึ้น 

ในธุรกิจโรงแรมที่ต้องอาศัยประสบการณ์เฉพาะ พนักงานหลักจึงเป็นคนเสียมเรียบที่ผ่านงานโรงแรมมาแล้ว แต่รีสอร์ทก็เปิดโอกาสให้คนที่นี่เข้ามาทำงาน ทำให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้นได้

แม้จะไม่ใช่จำนวนที่มากมาย แต่การถ่ายทอดวิธีคิดเรื่องการดูแลธรรมชาติจากรีสอร์ท ก็สามารถส่งต่อไปยังชุมชนโดยรอบได้ วัยเด็กสารอนเองก็เคยตามพี่ชายไปล่าสัตว์ แต่ครั้งหนึ่งเมื่อได้เห็นหมูป่าติดกับดักเหล็กกับตา เขาถึงกับร้องไห้ด้วยความสงสาร หลังจากนั้นเขาก็ไม่เคยล่าสัตว์อีกเลย เลือกที่จะทำมาหากินกับพืชป่าแทน

สารอนบอกว่านี่คือต้น Monkey Flower ที่สามารถกินใบได้

สารอนสอนพวกเราถึงวิธีหามันป่า โดยดูจากเถาของมันที่พันต้นไม้ขึ้นไป ยิ่งเถาหนาหัวใต้ดินก็ยิ่งใหญ่ ไม่ใช่หัวอวบอ้วนเหมือนมันฝรั่ง แต่เป็นรากหนาๆ ที่ใหญ่กว่าปกติ แล้วชี้ชวนพาเก็บยอดอ่อน สอนให้รู้จักพืชกินได้หลายชนิด ที่เราได้รับประทานกันในเมนูที่รีสอร์ท เพราะเชฟจะนำวัตถุดิบเหล่านี้มาสร้างสรรค์เป็นเมนูหลากหลายเป็นประจำอยู่แล้ว เที่ยงนั้นเราจึงได้รับประทานอาหารจากวัตถุดิบที่เก็บเอง แต่จริงๆ ก็เก็บด้วยมือพนักงานมากกว่า แต่ก็ได้รู้ที่มา และรู้เรื่องราวที่เป็นพื้นหลังของวัตถุดิบเหล่านี้

อยู่กับป่า ต้องช่วยป่า

อีกกิจกรรมหนึ่ง ที่เราสนใจมากที่สุด คือกิจกรรมติดตามการลาดตระเวนของกลุ่ม Wildlife Allience ซึ่งเป็นองค์กรนานาชาติที่ทำงานอนุรักษ์ป่าและสัตว์ป่าในกัมพูชา ดำเนินงานมากมากกว่า 10 ปี พวกเขาทำงานร่วมกับตำรวจป่าไม้และทหารจากกองทัพในการลาดตระเวนทุกวัน ตรวจจับการกระทำผิดกฎหมายในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ตั้งแต่การช่วยชีวิตสัตว์ป่า การเก็บกู้กับดักสัตว์ และการยึดอุปกรณ์ผิดกฎหมาย (เช่น เลื่อยยนต์ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ต้องห้าม เว้นแต่จะได้รับสัมปทานป่าไม้ ถ้าใช้แค่ขวานไม่ถือว่าผิด) หากจับได้คาหนังคาเขา ตำรวจก็เข้าจับกุมได้ หรือบางครั้งก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงการปะทะกัน

ระหว่างทางพบรถแทรคเตอร์คันเล็กจอดทิ้งไว้ เครื่องยนต์ยังอุ่นๆ อยู่ หัวหน้าทีมลาดตระเวนของ Wildlife Alliance ให้พวกเราเงียบและเงี่ยหูฟัง หากมีเสียงเลื่อยยนต์ ที่บอกถึงการลักลอบตัดไม้ด้วยอุปกรณ์ต้องห้าม

Wildlife Allience สาขานี้ทำงานในพื้นที่ 2 อุทยาน มีคนเพียง 8 คน จะออกลาดตระเวน 1 ครั้งก็ต้องสลับกันไป โดยมีตำรวจป่าไม้และทหารตามติดมาด้วยหน่วยละ 1 นายเท่านั้น เงินทุนหลักขององค์กรนี้มาจากการบริจาค การระดมทุน และการสนับสนุนของเอกชน อย่างที่นี่ก็มี Shinta Mani Wild ที่ให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง

เดินตามตำรวจป่าไม้ข้ามลำธารลุยลึกเข้ามาในป่า

ที่เบนสเลย์นำกิจกรรมมาให้แขกมีส่วนร่วม ก็เพราะ Shinta Mani Wild ทำงานร่วมกับ Wildlife Allience มาตั้งแต่ต้น สำหรับเบนสเล่ย์แล้ว การทำรีสอร์ทในพื้นที่ธรรมชาติแบบนี้ การมีส่วนร่วมกับชุมชนคือสิ่งสำคัญที่ต้องคิดถึงเป็นอันดับแรกๆ Shinta Mani Wild จึงให้ทุนสนับสนุนทุกกิจกรรมของกลุ่ม Wildlife Allience เต็มที่ และสนับสนุนให้แขกออกไปเห็นหน้างานจริงของการลาดตระเวนเพื่ออนุรักษ์ เดินจริง ลุยเลอะจริง ทั้งไม่พบและพบการกระทำผิดจริง ให้รู้ว่างานอนุรักษ์ไม่ใช่เรื่องง่าย และพวกเขาไม่ได้ทำงานนี้แบบชั่ววันเดียว แต่คือทุกวัน และนี่เป็นชีวิตของพวกเขา

กองไม้ที่ตัดหมาดๆ ถูกทิ้งไว้ ส่วนตัวผู้กระทำไม่อยู่รอแล้ว

วันที่เราไปก็ได้เจอกองไม้ที่ถุกตัดและเลื่อยยนต์ถูกทิ้งเอาไว้แบบสดๆ ร้อนๆ ควาย 2 ตัวที่รอเทียมรถยังยืนเตร่อยู่แถวนั้น เสียงมอเตอร์ไซค์ของกลุ่มพวกเราคงเตือนพวกเขาให้หนีไปก่อน ถ้าจับได้จะโดนอะไร ถ้าเป็นไม้ทั่วไป ก็ต้องไปจ่ายค่าปรับกันที่สถานีตำรวจ ถ้าเป็นไม้ต้องห้ามก็ถึงกับต้องนอนคุก เลื่อยยนต์ อุปกรณ์ดักสัตว์ก็ต้องถูกยึดทั้งหมด

เลื่อยยนต์แบบนี้ ถือว่าผิดกฎหมาย หากไม่ได้ใช้ในเขตที่ได้สัมปทานป่าไม้อย่างถูกต้อง

นี่เป็นกิจกรรมยอดนิยมอันดับ 2 รองจากการล่องเรือในแม่น้ำ หรือปิคนิคริมน้ำ เพราะประสบการณ์เดินป่าลาดตระเวนแบบต้องคอยเงี่ยหูฟังเสียงเลื่อยยนต์ นั้นหาที่ไหนไม่ได้ และทำให้ผู้เข้าพักรู้สึกได้มีส่วนร่วมกับการสนับสนุนงานของเหล่าผู้พิทักษ์ป่า

เราไม่อาจพูดได้ว่าการมาถึงของรีสอร์ทหรูจะเปลี่ยนชีวิตของผู้คนแบบหน้ามือเป็นหลังมือ แต่รีสอร์ทสามารถเลือกได้ว่าจะอยู่ร่วมกับชุมชน ร่วมกับธรรมชาติ มีส่วนร่วมแก้ปัญหา และสนับสนุนสิ่งดีๆ ที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้นได้อย่างไร

บอร์ดแสดงสถิติการทำงานของ Wilflife Alliance ว่าเก็บกู้กับดักสัตว์ได้เท่าไหร่ ยึดของกลางได้เท่าไหร่ และช่วยสัตว์ประเภทไหนจากกับดักได้กี่ตัวแล้ว
จุดตั้งวางกับดักสัตว์ผิดกฏหมายที่เก็บกู้มาได้ เชือกขดใหญ่คือเอาไว้ดักช้าง

และเราคงไม่ได้เห็นบอร์ดระบุสถิติของการทำงานของผู้พิทักษ์ป่าว่าได้ช่วยสัตว์ประเภทต่างๆ จากกับดักได้กี่ตัวแล้ว หลังจากรีสอร์ทมาสนับสนุนงานนี้ ไม่ได้เห็นโซนจัดวางเลื่อยยนต์ ตาข่ายดักนก กับดักช้าง กับดักสัตว์ต่างๆ ที่ยึดได้ (เพียงส่วนน้อยจากจำนวนนับพันต่อปี) ได้ในรีสอร์ทอื่น

หากทุกๆ โรงแรมและรีสอร์ทสามารถหาแนวทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การอยู่ร่วมกับธรรมชาติ และอยู่อย่างเป็นประโยชน์กับชุมชนโดยรอบได้ในแบบของตัวเอง เรื่องที่ไม่ง่ายเหล่านี้ ก็สามารถเกิดขึ้นได้ และยังเป็นประสบการณ์เฉพาะสุดพิเศษที่มอบให้ลูกค้า เป็นเรื่องเล่าต่อชวนคนรอบตัวมาเยือนได้อีก

เหมือนอย่างที่เราประทับใจประสบการณ์ที่นี่ เป็นความหรูหราในอีกขึ้น เมื่อเรามองการพักผ่อนของเราให้ไกลกว่าการเอาใจตัวเอง แต่เผื่อแผ่ถึงธรรมชาติและผู้คนได้ด้วย

เดินทางไปยังกัมพูชาด้วยสายการบิน Virtjet Airline ที่มีเที่ยวบินไปกลับ กรุงเทพ – พนมเปญ 1 เที่ยวบินทุกวัน

เรื่อง อาศิรา พนาราม

ภาพ Shinta Mani Wild, A Bensley Collection และ อาศิรา พนาราม

สนับสนุนการเดินทางโดยสายการบิน Vietjet

ข้อมูลเพิ่มเติม Shinta Mani Wild, A Bensley Collection


อ่านเพิ่มเติม

รู้จัก เกาะแกร์ (Koh Ker) แห่ง ‘กัมพูชา’ มรดกโลกแห่งใหม่พร้อม ‘อุทยานฯ ศรีเทพ’ ของไทย

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.