[BRANDED CONTENT FOR TAIWAN TOURISM]
ทริปไต้หวันรอบนี้ National Geographic Thailand และบ้านและสวน Explorers Club จับมือกันคัดสรรจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวในแบบฉบับของเรา ที่จะชวนคุณไปให้ไกลกว่าไทเป แล้วท่องเที่ยวใน 4 เส้นทาง กับ 5 เมืองรอบเกาะไต้หวัน ที่จะได้ทั้งการสำรวจการออกแบบเมืองที่คิดถึงดีไซน์ควบคู่ไปกับธรรมชาติ ชวนไปปั่นตามเส้นทางจักรยานที่วางโครงข่ายไว้อย่างดี ชวนเดินป่าไปดูธรรมชาติทั้งบนภูเขา ชานเมือง และแม้แต่ใจกลางเมืองก็ยังมีพื้นที่อนุรักษ์ให้ผู้คนได้เห็นความสำคัญของธรรมชาติในชีวิตประจำวัน เป็นส่วนผสมใหม่ที่อยากชวนคุณท่องไปกับเรา
เริ่มจากเส้นทางที่ 1 ของเรากันเลย!
ฮวาเหลียน (Hualien) เมืองท่าชายฝั่งตะวันออกของไต้หวัน ขึ้นชื่อเรื่องธรรมชาติอันงดงามท่ามกลางภูมิประเทศที่ขนาบด้วยมหาสมุทรแปซิฟิกและเทือกเขาสูงกลางเกาะไต้หวัน จึงมีสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติมากมาย ทั้งอุทยานแห่งชาติ ทะเลสาบ เขตอนุรักษ์ระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ และชายหาดยาวสุดลูกหูลูกตา
ทริปนี้เราอยากลองสัมผัสความเป็นเมืองชายฝั่งหลากรูปแบบ เราจึงวางเส้นทางไว้ทั้งที่ หาดชีซิงถัน (Qixingtan) ซึ่งมีเส้นทางจักรยานเชื่อมต่อกับทะเลสาบหลี่หยู (Liyu Lake) ที่โอบล้อมไปด้วยแมกไม้ในภูเขา และแน่นอน ยามค่ำต้องไปตลาดกลางคืนที่รวมอาหารท้องถิ่นหลากหลายไว้ในที่เดียว
พวกเราเช่ารถตรงดิ่งจากสนามบินเถาหยวนในช่วงบ่าย ใช้เวลาราว 4 ชั่วโมงก็มาถึงฮวาเหลียนในช่วงเย็น เก็บข้าวของที่โรงแรมซึ่งห่างจากตลาดกลางคืนตงต้าเหมิน (Dongdamen Night Market) เพียง 500 เมตร อากาศในต้นเดือนเมษายนที่นี่จัดว่าสบายๆ ไม่ร้อนและมีลมพัดตลอด
ตลาดกลางคืนตงต้าเหมินแบ่งออกเป็น 3 โซน ให้ได้ลิ้มลองอาหาร 3 สไตล์คือ อาหารไต้หวัน อาหารจีน และอาหารชนเผ่า โดดเด่นด้วยธีม “งานเลี้ยงจากภูเขาและทะเล” ซึ่งมาจากภูมิประเทศที่ประกอบด้วยเทือกเขาและมหาสมุทร อีกทั้งพื้นที่บนภูเขาในไต้หวันฝั่งตะวันออกก็เป็นถิ่นฐานของชนพื้นเมืองไต้หวันที่มีหลายชนเผ่า วัฒนธรรมอาหารของชนพื้นเมืองจึงเป็นหนึ่งในตัวแทนความเป็นฮวาเหลียน
คืนนี้ เราเดินตามกลิ่นและตามใจปาก ได้ชิมข้าวโพดปิ้งเคลือบซอสที่ปรุงจากเครื่องเทศ 32 ชนิด เสียบไม้ย่างบนถ่านเรดวู้ด หนึ่งในอาหารดั้งเดิมประจำฮวาเหลียน
เต้าหู้เหม็นจากร้านที่คิวยาวเหยียด ต้องยอมรับว่าฝีมือการทอดของคุณยายเจ้าของร้านนั้นเฉียบขาด กรอบเบาฟูแต่นุ่มภายใน ส่วนใครจะชอบหรือไม่ มันเป็นความชอบส่วนบุคคลจริงๆ
อาหารชนเผ่าที่เน้นวัตถุดิบจากภูเขามาเจอกับวัตถุดิบท้องทะเล และสุราพื้นบ้าน ปิดท้ายด้วยร้านอาหารจีน อย่างผัดผักภูเขา ปลาหมึกผัดซอส ซุปหอยรสอ่อนแต่ลึกล้ำ ทุกเมนูเรียบง่าย แต่รสชาติดี
ตงต้าเหมินไม่ได้เป็นเพียงตลาดกลางคืนที่เต็มไปด้วยอาหารเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับทุกคน ทุกเพศทุกวัย มีการแสดงดนตรีเล็กๆ มีร้านค้าขายของเล่นโบราณ กับการละเล่นปาเป้า ยิงธนู ชู้ตบาสลงห่วง แลกของรางวัล เหมือนในงานเทศกาล และที่น่าสนใจคือมีจุดแยกขยะหลายจุดที่เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่มีขยะบนพื้นแม้แต่ชิ้นเดียว เพราะที่แห่งนี้มีเทศบาลเมืองดูแลอย่างดี ทั้งสถานที่และการส่งเสริมอาหารท้องถิ่น
วันต่อมา เราตื่นเช้าไปยังหาดชีซิงถัน ทิวทัศน์ที่นี่ทำให้เราต้องสูดหายใจเข้าลึกๆ ทั้งปลอดโปร่งและทึ่งกับธรรมชาติตรงหน้า ชายหาดหินและกรวดทอดตัวยาวกว่า 20 กิโลเมตร กับน้ำทะเลสีฟ้าไล่ระดับเข้มลึกล้ำจนเป็นสีน้ำเงิน รับกับท้องฟ้ากระจ่างใสแทบไร้เมฆ แดดจัดแต่ลมพัดแรง ทำให้รู้สึกมีชีวิตชีวา
แม้จะเป็นหาดหินและกรวดเล็กๆ ไม่ใช่หาดทรายขาวละเอียด แต่หาดที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของฮวาเหลียนแห่งนี้ก็เป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมอันดับต้นๆ ซึ่งไม่ได้หมายถึงสำหรับนักท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ชาวเมืองก็ยังมาพักผ่อนที่นี่ มาเดินชมวิวมหาสมุทรกว้างเห็นแนวภูเขาอยู่ไกลๆ นั่งฟังเสียงคลื่นก็มีความสุขแล้ว
ข้อจำกัดอย่างหนึ่งของหาดชีซิงถันคือไม่สามารถลงเล่นน้ำทะเลได้ เพราะความที่เป็นหาดลาดแล้วตัดดิ่งลึกเลย อันตรายต่อการว่ายน้ำ จึงมีการออกแบบพื้นที่ใกล้ชายหาดให้เป็นพื้นที่สันทนาการกว้างใหญ่ ที่มีสวนหินและประติมากรรมดีไซน์สวยอยู่เป็นจุดๆ พร้อมเส้นทางจักรยานอย่างดีที่จะปั่นเพลิน ๆ ไม่กี่กิโลเมตร หรือจะปั่นยาว ๆ เลยก็ได้
เฉพาะเขตที่เป็นจุดชมวิวไฮไลท์ของชีซิงถันเอง (Qixingtan Scenic Area) ก็มีเส้นทางจักรยานระยะทาง 21 กิโลเมตร ซึ่งใช่ว่าจะสุดแค่นั้น ยังมีเส้นทางจักรยานเชื่อมต่อขึ้นเหนือไปถึงไทเปได้ เพราะเป็นส่วนหนึ่งในเส้นทางปั่นรอบเกาะไต้หวัน ที่นักปั่นสายจริงจังจากทั่วโลกต้องมาพิชิตให้ได้สักครั้ง
สำหรับผู้ที่มาท่องเที่ยวทั่วไป อยากปั่นจักรยานขึ้นมา ก็มีร้านเช่าจักรยานในราคาคันละ 150 TWD แถมยังมีจักรยาน 2 ที่นั่งไว้ปั่นเป็นคู่ในราคา 300 TWD ด้วย การปั่นจักรยานท่ามกลางสายลมแสงแดด บรรยากาศสดใส สร้างความรู้สึกเบิกบานทั้งกายและใจได้ในเวลาอันรวดเร็ว
สิ่งที่เราชอบในการออกแบบพื้นที่สาธารณะเลียบหาดนี้คือ ไม่ทำเส้นทางจักรยานไว้ติดกับชายหาดเกินไป จนรบกวนบรรยากาศธรรมชาติ ถัดเข้าไปด้านในคือสวนสาธารณะที่ออกแบบภูมิทัศน์ให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมโดยรอบ ปล่อยพุ่มไม้ชายหาดให้เติบโต ดูแลความเรียบร้อย แต่ไม่ฝืนเอาต้นไม้ผิดที่ผิดทางมาลง เป็นการออกแบบที่เคารพธรรมชาติ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการพัฒนาในยุคนี้
ทะเลสาบหลี่หยูหรือทะเลสาบปลาคาร์ป เป็นทะเลสาบภายในแผ่นดินที่ใหญ่ที่สุดในฮวาเหลียน และในภูมิภาคตะวันออก ทะเลสาบแห่งนี้เกิดจากการการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติในอดีต จากการพังทลายของดินที่ต้นน้ำของแม่น้ำสองสาย ส่งผลให้ทิศทางการไหลเปลี่ยนไปถ่ายเทปริมาณน้ำจากต้นน้ำโบราณสู่ทะเลสาบหลี่หยู ซึ่งมีตะกอนดินของแม่น้ำอีกสายกั้นทางออกของน้ำไว้จึงกลายเป็นทะเลสาบอันงดงาม
น้ำจากภูเขาหลี่หยูไหลสู่ทะเลสาบแห่งนี้สะอาดใสสะท้อนแมกไม้ในภูเขาเป็นเงาระยับสีเขียวปนฟ้า เมื่อมองจากจุดชมวิวที่ออกแบบไว้ให้ชื่นชมทิวเขาสลับซับซ้อน ลมพัดเย็นสบายมาแตะผิว ได้ยินเสียงนกร้องแว่วมาจากใกล้และไกล เป็นช่วงเวลาสงบที่ได้อยู่กับตัวเองนิ่ง ๆ กับธรรมชาติตรงหน้า
ทะเลสาบหลี่หยู เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เหมาะสำหรับการนั่งเรือพักผ่อน ปั่นจักรยานรอบทะเลสาบ และเดินเล่นเลียบชายน้ำ อีกฝั่งหนึ่งของทะเลสาบมีกิจกรรมทางน้ำและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สำหรับนักท่องเที่ยวได้พักผ่อนหย่อนใจและชื่นชมธรรมชาติ
ไม่เพียงเท่านั้น พื้นที่โดยรอบยังเหมาะกับการตั้งแคมป์ และเดินเขากับเส้นทางเดินป่าหลายแห่งบนภูเขาหลี่หยู ซึ่งมีความชันราว 600 เมตร หรือจะปั่นจักรยานบนเส้นทางปั่นรอบทะเลสาบระยะทาง 5 กิโลเมตร ซึ่งเชื่อมกับเส้นทางปั่นเหลี่ยงทัน (Liangtan Bike Trail) หรือทางปั่นจักรยาน 2 ทะเลสาบคือ หลี่หยู และ ชีซิงถัน (หาดชีซิงถัน ก็ถูกเรียกว่าทะเลสาบเหมือนกันในบางบริบท) รวมระยะทาง 35 กิโลเมตร โดยมีจุดแวะพักเป็นระยะ พร้อมศูนย์ข้อมูลท่องเที่ยวคอยให้บริการ และเส้นทางนี้ก็เชื่อมกับเครือข่ายทางจักรยานของฮวาเหลียนด้วยเช่นกัน
แม้จะได้ชื่อว่า “ทะเลสาบปลาคาร์ป” ที่นี่ไม่ได้มีแค่ปลาคาร์ป ข้อมูลจากสถาบันวิจัยประมงที่อยู่ใกล้ๆ ยังระบุว่าทะเลสาบหลี่หยูเป็นแหล่งปลาแม่น้ำประจำถิ่นหลายชนิด ปลาน้ำจืด และปลาเขตร้อนทั่วไป ที่นี่จึงได้รับการดูแลระบบนิเวศโดยรอบอย่างดีทั้งแหล่งน้ำและป่าเขา ที่เป็นบ้านของสิ่งมีชีวิตมากมาย
ล่องใต้ลงมาอีกสักหน่อย ใช้เวลาขับรถราว 3 ชั่วโมงจากฮวาเหลียน ก็มาถึงเมืองไถตง (Taitung) อีกเมืองชายฝั่งตะวันออกของไต้หวัน ที่เต็มไปด้วยธรรมชาติของภูมิประเทศอันหลากหลาย มีมหาสมุทรแปซิฟิกสีครามทางทิศตะวันออก และเทือกเขาสูงชันทางทิศตะวันตก เมืองนี้เปรียบเหมือนอัญมณีที่บริสุทธิ์ เป็นสวรรค์ของผู้ที่รักทะเลและภูเขา ซึ่งเราสามารถสัมผัสวิถีชีวิตโบราณได้แม้ในขณะเดินป่า เพราะนี่เป็นอีกเมืองที่เป็นบ้านของชาวอามิส (Amis) ชนพื้นเมืองดั้งเดิมของไต้หวัน ที่มีถิ่นอาศัยอยู่แถบเทือกเขากลางเกาะและเทือกเขาติดชายฝั่งตะวันออกของไต้หวัน
สถานที่ท่องเที่ยวอันงดงามของไถตงมีอยู่มากมาย ทั้งธรรมชาติบนภูเขา บนที่ราบสูง ถนนเลียบชายหาด พื้นที่อนุรักษ์ระบบนิเวศ นาข้าวเขียวระบัดใบ ไปจนถึงสวรรค์ของนักเล่นกระดานโต้คลื่น จนได้ชื่อว่า Surf Town แต่หลังจากที่เราได้ไปชายหาด ทะเลสาบ และตลาดกลางคืนในฮวาเหลียนมาแล้ว ก็อยากลองเดินป่าบนภูเขาที่ยังคงความพิสุทธิ์อยู่ เดินไม่ยากจนเกินไป แต่ก็ท้าทายให้หัวใจเต้นแรง
พวกเราเลือกเส้นทางเดินป่าที่เขาตูหลัน (Dulan Mountain Trail) ในเขตตงเหอ (Donghe Township) ที่ได้ชื่อว่าเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของชนเผ่าอามิสและเผ่าผู่โยวหม่า (Puyuma Tribe) เส้นทางเดินป่านี้มีมาแต่โบราณ และอาจไม่ใช่สถานที่ยอดนิยมสำหรับนักท่องเที่ยวทั่วไป แต่สำหรับชาวไต้หวันที่หลงรักการเดินป่า ปีนเขา ที่นี่เป็นเหมือนภูเขาใกล้บ้านที่พวกเขาพากันมาเดินออกกำลังกายที่ได้เข้าถึงธรรมชาติแท้ ๆ อาจจะมีหลายคนใช้เป็นสนามฝึกซ้อมวิ่งเทรล
เนื่องจากไม่มีรถสาธารณะ ต้องเดินทางด้วยรถยนต์ หากใครที่อยากเช่ารถขับเอง แนะนำว่าควรเป็นผู้ชำนาญในการขับรถขึ้นเขาบนถนนขนาดเล็กที่คดเคี้ยว ออกจากตัวเมืองไถตงราว 20 กว่ากิโลเมตร ใช้เวลาราวครึ่งชั่วโมง ก็ถึงลานจอดรถที่เป็นจุดตั้งต้นของเส้นทางเดินป่า ลานนี้ไม่ใหญ่ไม่เล็ก กว้างพอสำหรับจอดรถได้ไม่เกิน 10 คัน พร้อมกับศาลา 2 ชั้นที่เป็นจุดชมวิว มองลงไปเห็นเวิ้งมหาสมุทรที่ถ่ายรูปสวย
เส้นทางเดินป่านี้มีระยะทางรวม 7.6 กิโลเมตร (ไป 3.8 และกลับ 3.8) ความสูงของยอดเขาอยู่ที่ 1,190 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ความชันอยู่ที่ 800 เมตร สำหรับคนที่เดินป่าอยู่เป็นประจำความยากอยู่ที่ 3-4 เต็ม 10 ส่วนนักเดินป่ามือใหม่ หรือคนทั่วไปที่ไม่ได้เดินเขาบ่อยๆ ความยากอาจไปถึง 5-6 ในกลุ่มของเรา ก็มีทักษะหลายระดับก็เดินกันได้ ทั้งแบบเดินสบายๆ และแบบหอบแฮ่ก ตัวเราจัดว่าเป็นอย่างหลัง แต่ธรรมชาติบนนั้นนับว่าเลอค่าคุ้มแก่การสูบฉีดหัวใจ
ด้วยภูมิประเทศที่อยู่ใกล้มหาสมุทรแปซิฟิก ละอองไอจากทะเลทำให้ภูเขาลูกนี้ปกคลุมด้วยเมฆหมอกตลอดปี ส่งผลให้เขาตูหลันปกคลุมป่าเขียวชอุ่มทุกฤดูกาล เป็นระบบนิเวศที่มีพืชพรรณหลากหลาย ทั้งเฟิร์น มอส กล้วยไม้ ไม้ยืนต้นส่วนใหญ่จะเป็นต้นไม้ใบกว้างที่เติบโตในความสูงระดับต่ำและระดับกลาง ระหว่างทางเราจะได้ยินเสียงนกเป็นระยะๆ และยังได้เห็นลิงเกาะกิ่งกินใบไม้อยู่อย่างสบายใจด้วย
ทางเดินเขาของที่นี่ยังคงความเป็นธรรมชาติแท้ๆ แม้ช่วงกิโลเมตรแรกๆ ยังมีการวางแผ่นซีเมนต์ให้เป็นขั้นบันได แต่จากนั้นเราจะได้ใช้รากไม้ใหญ่และก้อนหินต่างบันได จุดที่ชันมากๆ ก็ยังมีการเดินเชือกเส้นใหญ่เอาไว้ให้ประคองตัว แต่รวมๆ แล้ว แทบไม่มีการปรับเปลี่ยนป่าไปมากกว่าป้ายบอกระยะทางทุกๆ 250 เมตร และป้ายข้อมูลธรรมชาติให้ชวนสังเกตไปในระหว่างทาง ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้เส้นทางเดินป่าที่ชัดเจนอยู่แล้วว่าเดินยังไงก็ไม่หลง
ในเดือนเมษายนที่เมืองทางใต้ของไต้หวันเริ่มจะร้อนแล้ว ภูเขาแห่งนี้ก็เช่นกัน หากเป็นช่วงหน้าฝนและหน้าหนาวป่าจะชื้นหมอกและเย็นเยือก แต่ในเดือนแดดแรงเช่นนี้ เราจึงร้อนในจุดโล่งแจ้งแดดส่อง แต่เมื่อเข้าร่มไม้ใหญ่ที่มีอยู่ตลอดทางอุณหภูมิก็เย็นลงทันที ยิ่งเมื่อเดินผ่านจุดที่เป็นช่องเขา ลมจากมหาสมุทรก็พัดพาเข้ามาช่วยให้เหงื่อแห้ง ความร้อนสำหรับการเดินที่นี่จึงไม่ใช่ปัญหา แต่ทุกคนควรพกน้ำดื่มติดตัวสักคนละ 1 ขวดใหญ่ จิบไปเรื่อยๆ ตลอดทาง ไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ
วิวฝั่งตะวันออกของภูเขาลูกนี้คือมหาสมุทรแปซิฟิก ส่วนวิวฝั่งตะวันตก ณ จุดชมวิวที่ระยะ 1.75 กิโลเมตร คือวิวที่มองไปเห็นที่ราบเปยหนาน (Beinan Plain) และแม่น้ำเปยหนาน ซึ่งเกิดจากการแยกตัวของหุบเขาในเขตรอยเลื่อนโบราณ ที่นี่จึงอุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งกสิกรรมที่ผู้คนลงหลักปักฐานทำการเกษตรมาช้านาน เราพักรับลมชมวิวที่ราบและต้นไม้ที่โค้งยื่นลงไปจากสันเขาอยู่นาน วิวสวยแบบนี้ช่วยเป็นกำลังใจให้เราไปต่ออีกครึ่งทางที่เหลือ
และเมื่อเดินมาจนเกินครึ่งทางก็ได้พบกับก้อนหินขนาดใหญ่ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของชนเผ่าอามิส บนก้อนหินสลักอักษรจีนเป็นคำว่า ผู่โยวหม่า (Puyama) ซึ่งเป็นภาษาชนเผ่าแปลว่า “ความเป็นหนึ่งเดียว” ที่นี่คือแท่นบูชาอันศักดิ์สิทธิ์ ที่จนถึงทุกวันนี้ลูกหลานเชื้อสายอามิสก็ยังเข้ามาสักการะ ประกอบพิธีกรรม และสวดให้แก่วิญญาณบรรพบุรุษ ความครึ้มของต้นไม้และบรรยากาศที่ดูสงบขลังทำให้คนต่างถิ่นยกมือขึ้นมาทำความเคารพได้ไม่ยาก ยิ่งเมื่อนึกถึงว่าความศักดิ์สิทธิ์ที่ชนเผ่าโบราณให้ความนับถือก็คือธรรมชาตินั่นเอง
ความเพลิดเพลินของการเดินเขาที่นี่คือพลังงานของป่าที่ไม่ได้ถูกการท่องเที่ยวเข้ามาคุกคามจนเสียสภาพ กิ่งก้านลำต้นที่มีมอสและกล้วยไม้ขนาดเล็กขึ้นคลุมจนเป็นพุ่มฟูแม้จะอยู่ในฤดูร้อน เฟิร์นหลากชนิดคลุมผิวดินอุ้มน้ำฝนให้ต้นไม้สดชื่นตลอดปี รากไม้ใหญ่หนาคดเคี้ยวบ่งบอกอายุที่อยู่มาเนิ่นนาน ดอกไม้ป่าเล็กๆ ที่ชวนให้หยุดมอง
และเมื่อยิ่งเดินสูงขึ้นไปใกล้ยอดเขา ก็ยิ่งเจอทางชันขึ้นสลับลงแบบที่ต้องใช้มือช่วยปีนป่ายหลายจุด บางจุดยากถึงขนาดต้องทำบันไดไม้เข้ามาช่วย สำหรับเราแล้วนี่คือความสนุก เพราะความชันนั้นเกิดจากองค์ประกอบของต้นไม้และก้อนหินที่ไม่ธรรมดา ทั้งสนุกและงดงามไปพร้อมกัน
เมื่อขึ้นไปถึงยอด เราอาจมองหาวิวสุดอัศจรรย์ แต่ยอดเขาแห่งนี้ไม่ใช่สันเขาที่จะเปิดเห็นวิวโล่ง ยังคงมีต้นไม้สูงพรางตา มองลอดออกไปหวังใจว่าจะเห็นภาพมหาสมุทร หมอกที่ลอยละล่องแม้ในฤดูร้อนก็บังไว้ แต่เราก็ยังรู้สึกคุ้มค่าที่ได้เดินขึ้นมาจนถึงบนนี้ เพราะได้เก็บเกี่ยวความงามของธรรมชาติระหว่างทางไปแล้วเต็มที่
เส้นทางนี้เราใช้เวลาไปและกลับรวมการหยุดพักสั้นๆ เป็นระยะๆ แวะแตะต้นไม้ ถ่ายรูป ยืนนิ่งๆ สูดหายใจ เสพบรรยากาศ ราว 5 ชั่วโมงครึ่ง ขากลับเร่งฝีเท้าขึ้นหน่อย ไม่ให้คนขับรถคอยนานเกินไป เพราะเรายังมีจุดหมายต่อไปให้ไปต่อ
การท่องเที่ยวของเรายังไม่จบเพียงเท่านี้ โปรดติดตามการเดินทางของเราในอีก 3 เส้นทาง ที่ทำให้เราตกหลุมรักไต้หวันยิ่งขึ้น!
#การท่องเที่ยวไต้หวัน #TaiwanTourismTH #Taiwan #Hualien #Taitung #EastCoast
เรื่อง อาศิรา พนาราม
ภาพ ธนายุต วิลาทัน