ขึ้น เขาตังกวน โอโซนใจกลางเมืองสงขลา ที่ตั้งเจดีย์พระธาตุศิลปะสมัยทวารวดี

ขึ้นเขาตังกวน (Tangkuan Hill)  ดื่มด่ำธรรมชาติแบบ 360 องศา ชมวิวจังหวัดสงขลาและหาดสมิลา สักการะพระธาตุคู่เมือง พร้อมย้อนสัมผัสเสน่ห์ของศิลปะโบราณสมัยอาณาจักรนครศรีธรรมราช

เขาตังกวนกับหน้าบันที่สาบสูญ

กรณี เขาตังกวน กับ หน้าบันที่สูญหายไปนั้น มีข้อมูลจากกรมศิลปากรในปี 2020 ระบุว่า สืบเนื่องจากเทศบาลนครสงขลา มีความประสงค์จะบูรณะพระเจดีย์หลวงและปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวบนยอดเขาตังกวน จึงได้ทำหนังสือขอความอนุเคราะห์มายังสำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา ให้พิจารณาแนวทางซ่อมแซมพร้อมทั้งจัดทำรูปแบบและประมาณราคาต่อไป

ทั้งนี้ ทางสำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา ได้ทำการศึกษารูปแบบและสืบค้นภาพถ่ายเก่า พบว่าหน้าบันคฤห์ของพระเจดีย์หลวงบนยอดเขาตังกวนมีลวดลายปูนปั้นปรากฏอยู่ แต่จากภาพถ่ายเก่าที่เห็นลวดลายที่ไม่ชัดเจน ทางสำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา จึงได้ทำรูปแบบสันนิษฐานหน้าบันคฤห์ด้านทิศเหนือไว้ 3 แบบ และด้านทิศใต้ไว้ 3 แบบ จึงใคร่ขอข้อมูลภาพถ่ายรวมถึงคำบอกเล่าเพื่อใช้ในการออกแบบบูรณะเพื่อให้ย้อนคืนสู่สภาพเดิมในสมัย ร.4 ที่สมบูรณ์ตามหลักวิชาการอย่างถูกต้อง โดยปัจจุบันยังอยู่ในกระบวนการบูรณะ

อย่างไรก็ตาม เขาตังกวน เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งในอำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เป็นเนินเขาสูง จากระดับน้ำทะเลประมาณ 80 เมตร มีลักษณะเป็นสังคมป่าดิบชื้น มีลิงแสมอาศัยอยู่หลายร้อยตัว จากยอดเขาตังกวนนี้สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของเมืองสงขลาได้โดยรอบ 360 องศา ชมชมทัศนียภาพได้ตั้งแต่ ตัวเมือง ทะเลสาปสงขลา ไปจนถึง หาดสมิหลา

บนยอดเขาตังกวนเป็นที่ประดิษฐานเจดีย์พระธาตุคู่เมืองสงขลาซึ่งสร้างในสมัยอาณาจักรนครศรีธรรมราช เป็นศิลปะสมัยทวาราวดี โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.4) ได้พระราชทานเงินหลวงให้เป็นทุนในการบูรณะปฏิสังขรณ์ และในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2539 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ได้ทรงพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุให้มาบรรจุในองค์พระเจดีย์ในเดือนตุลาคมของทุกปี จะมีงานพิธีห่มผ้าองค์พระเจดีย์ และประเพณีตักบาตรเทโวและลากพระของสงขลา

สำหรับวิธีการขึ้นเขาตังกวน สวามารถทำได้ 2 ทางดังนี้

ทางที่ 1 ขึ้นลิฟท์ที่สถานีลิฟท์เขาตังกวน ณ บริเวนถนนตัดระหว่างเขาตังกวนและเขาน้อย เข้าประตูมาด้านซ้ายมือ มีจุดบริการจำหน่าย ตั๋วลิฟท์ พร้อมจำหน่ายดอกไม้ธูปเทียนบริการ ราคาชุดละ 20 บาท ไฟแช็ก อันละ 10 บาท ส่วนค่าบริการ (ขึ้น-ลง) ผู้ใหญ่, เด็ก ค่าโดยสารคนละ 60บาท เด็กส่วนสูงต่ำว่า 120 ซม. ค่าโดยสารคนละ30 บาท โดยเปิดบริการทุกวัน เวลา 09.00 – 17.30 น. สามารถชำระค่าบริการได้ทั้งเงินสดและชำระผ่านคิวอาร์โค้ด (QR code) โดยมีเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกในการขึ้นลงลิฟท์ (น้องปลั๋ง)ซึ่งลิฟท์ที่ใช้ขึ้น-ลง เป็นลิฟท์ระบบทางลาดยาว 170 เมตร วิ่งด้วยความเร็ว 60 เมตรต่อนาที ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 นาที ถึงยอดเขาตังกวน

ทางที่ 2 การเดินขึ้นทางบันไดพญานาค จำนวน 145 ขั้น ใครที่อยากซึมซับธรรมชาติได้ชมความงามระหว่างทาง และได้สุขภาพดีด้วยต้องห้ามพลาดการเดินขึ้นเขาทางบันไดพญานาค

แหล่งโอโซนใจกลางเมืองสงขลา

นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวแลนด์มาร์คในการชมวิวแล้ว เขาตังกวน ยังมีอีกบทบาทในฐานะการเป็นแหล่งโอโซนของตัวเมืองสงขลา บริเวณโดยรอบมีพืชพรรณที่หลากหลาย เป็นป่าดิบชื้นที่ยังมีสัตว์ป่าและลิงแสมอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก

ระหว่างทางบันไดรวมถึงพื้นที่โดยรอบมีต้นไม้ต่างๆ ปกคลุมจำนวนมาก ทำให้มีความร่มรื่น อากาศเย็นสบาย ส่วนด้านบนจุดชมวิว มีอากาศที่สดชื่น ในวันที่อากาศดี ไม่มีเมฆมาก สามารถมองเห็นวิวทะเลอ่าวไทยไปได้ไกลถึง เกาะหนูเกาะแมว เลยทีเดียว

ด้วยความที่เป็นแห่งท่องเที่ยวทางธรรมชาตที่อุดมสมบูรณ์ นอกจากคนไทยแล้ว แม้แต่ชาวต่างชาติก็ยังนิยมขึ้นมาเที่ยวบนเขาตังกวน โดยเฉพาะชาวมาเลเซีย ที่คุ้นเคยกับการเที่ยวภูเขา ซึ่งในมาเลเซียมี ปีนังฮีลล์ เฟรเซอร์สฮิลล์ และ เก็นติ้งไฮแลนด์ เป็นต้น

เขากลางเมืองแห่งนี้คือสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและทำกิจกรรมรื่นรมย์สำหรับชาวเมือง โดยบริเวณเชิงเขาน้อยทางทิศตะวันออกจัดเป็นสวนสาธารณะ ไว้สำหรับพักผ่อน มีร้านอาหารบริการพร้อมสนามเทนนิสสำหรับผู้ชื่นชอบการออกกำลังกาย เชิงเขาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นสวนเสรี มีไม้ประดับตกแต่งเป็นรูปสัตว์ต่างๆ

โบราณสถานและสถาปัตยกรรมบนเขาตังกวน

เขาตังกวน มีแหล่งโบราณสถานและสถาปัตยกรรมสำคัญมากมาย พระเจดีย์หลวง ประภาคาร ศาลาพระวิหารแดง และ ลานชมวิวเขาตังกวน

พระเจดีย์หลวง เป็นอีกหนึ่งในโบราณสถานที่สำคัญของเขาตังกวน พระเจดีย์ก่ออิฐถือปูนทรงระฆัง สันนิษฐานว่าเป็น พระเจดีย์โบราณที่มีมานาน แต่ไม่ปรากฎหลักฐานความเป็นมาที่ชัดเจน จนต่อมาในปี พ.ศ.2402 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้า อยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนินประพาสเมืองสงขลา หลังจากนั้นในปี พ.ศ.2409 จึงได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินหลวง 37 ชั่ง ให้เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น) ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ให้สูงใหญ่กว่าของเก่า และในครั้งนั้น เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น)ได้ สร้างคฤห์ไว้ที่ฐานพระเจดีย์ และต่อเติมเก๋งที่มุมกำแพง พระเจดีย์หลวงเป็นพระเจดีย์คู่บ้านคู่เมือง ของสงขลาจึงมีการบูรณะซ่อม แซมมาโดยตลอด ในปีพ.ศ. 2539 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระราชกรุณาโปรดเกล้าพระราชทาน พระบรมสารีริกธาตุ และเครื่องสักการะบูชาประดิษฐานไว้ ณ พระเจดีย์หลวง เพื่อไว้เป็นที่สักการะบูชาของชาวเมืองสงขลาสืบต่อไป

ประภาคาร  คืออาคารที่สำคัญอย่างหนึ่งของเขาตังกวนสร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ.2439 ครั้งพระยาวิเชียรคีรี (ชม) เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา โดยสมเด็จพระบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้โปรดให้ กรมทหารเรือทำเครื่องหมายประดับประกอบตัวโคมและส่งแบบฐานปูนให้ข้าหลวงออกมาจัดการก่อสร้างประภาคาร ตามพระราช ดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในบริเวณที่พระยาวิเชียรคีรี (ชม ณ สงขลา) และพระยาชลยุทธโยธินเป็นผู้ เลือกสถานที่ ประภาคารนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2440

ศาลาพระวิหารแดง สถาปัตยกรรมโดดเด่นบนเขาตังกวน จากลานพระเจดีย์หลวงมีทางเดินลงบันไดมายังศาลาพระวิหารแดง  มีประวัติการก่อสร้างศาลาพระวิหารแดง พระบาทสมเด็จพระจอม เกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้สร้างพลับพลาที่ประทับนี้แต่ยังคงสร้างค้างอยู่ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2432 พระบาทสมเด็จพระจุลจอม เกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสแหลมมลายูถึงเมืองสงขลา พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินขึ้นนมัสการพระเจดีย์บนยอดเขาตังกวน มีพระราชศรัทธาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างศาลาพระวิหารจนสำเร็จในเวลาต่อมา และยังทรงพระราชดำริให้สร้างบันไดนาคขึ้นจาก พลับพลา สำเร็จเรียบร้อยในปี พ.ศ. 2440

สำหรับวิวสวยหน้าศาลาพระวิหารแดง พลับพลาที่สร้างขึ้นตั้งแต่ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หันหน้าพลับพลาไปด้านเชิงเขาด้านหนึ่งของเขาตังกวน เป็นบริเวณที่วิวเปิดเห็นทิวทัศน์ได้ไกล และสวยงามมากภายในศาลาพระวิหารแดง ลักษณะการก่อสร้างภายใน เป็นเสามีช่องทางเดินทะลุถึงกันแต่ละช่องมีขนาดเท่ากัน และเป็นแบบเดียวกันทั้งหมดอย่างที่เห็นในภาพนี้เลยครับมองจากด้านหน้า จะทะลุไปจนถึงด้านหลัง มองจากด้านข้างด้านหนึ่งจะ ทะลุไปจนถึงอีกด้านหนึ่ง ช่องทางด้านหน้าและด้านหลัง ช่องทางเดินเข้าออกศาลาพระวิหารแดง คงไม่เรียกว่าประตูเพราะไม่มี ทั้งบานประตูและบานหน้าต่าง ด้านหลังเป็นทางไปบันไดนาคขึ้นยอดเขาตังกวนและพระเจดีย์หลวง ช่องด้านหน้าเป็นทางเดินลงไป เชิงเขาทางบันได

ท่านที่สนใจไปเยือนเขาตังกวน จังหวัดสงขลา สามารถเดินทางโดยรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ มีจุดจอดรถบริเวณด้านล่าง หรือบริเวณลานจอดรถสวนสาธารณะ และยังสามารถขับรถขึ้นไปจอดบริเวณลานจอดรถด้านบนได้ ขณะเดียวกันในตัวเมืองเรายังสามารถมองเห็นพระเจดีย์หลวงยอดเขาตังกวนตั้งแต่บริเวณ 4 แยกหน้าโรงพยาบาลสงขลา

ข้อมูล เขาตังกวน สงขลา

เปิดให้เข้าชม 08.30-18.00 น.

ที่อยู่ เขาตังกวน ถนนสุขุม ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา

พิกัด https://goo.gl/maps/t4S5CvgeB8Sg5Lz26

 

สืบค้นและเรียบเรียง สิทธิโชติ สุภาวรรณ์ 

ภาพโดย นลินี หมานหมาด

อ้างอิง

ธนดล พรหมจินดา จนท.ประจำสถานีลิฟท์เขาตังกวนสงขลา

www.songkhlacity.go.th/2020/travel

www.songkhla.go.th

https://thai.tourismthailand.org/

ภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม  SONGKHLA HERITAGE TRUST(โรงสีแดง หับ โห้หิ้น)


อ่านเพิ่มเติม ท่องธรรมชาติกับกิจกรรมหลากหลายในเมืองชายฝั่งตะวันออก ฮวาเหลียน และไถตง ไต้หวัน 

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.