นาม จิ่วไจ้โกว นั้นแปลว่า “หุบเขาแห่งหมู่บ้านทั้งเก้า” เพราะที่นี่เคยมีหมู่บ้านอยู่ทั้งหมดเก้าแห่ง ทว่าทุกวันนี้ตัวเลขอื่นๆ กลับมีความสำคัญยิ่งกว่า ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม 80 แห่งที่กระจุกตัวกันอยู่บริเวณปากทางเข้าหุบเขารูปตัววาย (Y) ความยาว 30 กิโลเมตรในเขตเทือกเขาหมิ่นทางตอนกลางของประเทศจีน หรือรถโดยสาร 280 คันที่นำนักท่องเที่ยววันละไม่ต่ำกว่า 18,000 คนไปชมความงดงามตลอดเส้นทางขึ้นเขา ผ่านทะเลสาบสีสันสดสวยราวบุปผาและน้ำตกสายเล็กราวเรียวนิ้ว (ในวันที่ไร้หมอกหนาทึบปกคลุม นักท่องเที่ยวที่ปรารถนาจะได้ชื่นชมความงามของแดนสวรรค์แห่งนี้สามารถบินตรงจากเฉิงตู นครหลวงและชุมทางสำคัญของมณฑลเสฉวนโดยใช้เวลาเพียง 40 นาที) รถโดยสารจะหยุดให้นักท่องเที่ยวได้เดินชมความงามของทะเลสาบและสายน้ำกันตามอัธยาศัย ก่อนจะเข้าคิวรอรถโดยสารคันใหม่เพื่อท่องเที่ยวรอบหุบเขาต่อไป
ธารน้ำแข็งสลักเสลา หุบเขาเจ๋อจาวาและหุบเขารื่อเจ๋อสูงราว 3,000 เมตรที่ทอดตัวมาบรรจบกัน ณ หุบเขาชู่เจิ้งจนกลายเป็นรูปตัวยู (U) เช่นเดียวกับที่พบในอุทยานแห่งชาติโยเซมิตีในสหรัฐฯ หุบเขานี้มีหน้าผาสูงชันเกินกว่าจะปีนเล่น แต่ความสูงเพียงนั้นยังมิอาจบดบังความงามพิสุทธิ์ของทางน้ำเล็กๆเบื้องล่าง ในสมัยดึกดำบรรพ์ ดินแดนที่เป็นส่วนหนึ่งของที่ราบสูงทิเบตแห่งนี้เคยเป็นพื้นทะเลเช่นเดียวกับเทือกเขาร็อกกี หินปูนที่ละลายจึงเจือสีให้ท้องน้ำจนกลายเป็นสีเขียวมรกต หินถล่มที่ขวางกั้นลำธารทำให้เกิดเป็นทะเลสาบน้อยใหญ่ มีตำนานว่าเหล่าเทพีแห่งท้องนภาทรงเผลอทำเครื่องประทินโฉมตกลงในทะเลสาบและมีนางเงือกแหวกว่ายอยู่ในทะเลสาบบางแห่งด้วย บางครั้งตะกอนหินปูนที่ทับถมอยู่ตามก้นทะเลสาบก็จับตัวกันเป็นรูปร่างแปลกตา เช่น มังกรที่กำลังหลับใหล
ถนนทอดขึ้นจากทางเข้าหุบผาที่ระดับความสูงราว 1,800 เมตร ก่อนจะถึงทางแยกที่นั่วรื่อหลาง อันเป็นที่ตั้งของบรรดาร้านค้าและร้านอาหารสำหรับนักท่องเที่ยว ปลายทางด้านซ้ายไปสิ้นสุดลงที่ทะเลสาบ ส่วนเส้นทางด้านขวาทอดไปบรรจบกับ “ป่าดึกดำบรรพ์” ตามคำบรรยายในแผ่นพับโฆษณา ป่าดึกดำบรรพ์ที่ว่านี้หมายถึงป่าไม้ที่ไม่ถูกพวกทำป่าไม้ตัดโค่นจนเหี้ยนเตียน ก่อนที่รัฐบาลจีนจะมองเห็นโอกาสในการส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยว เรื่องของเรื่องก็เพราะองค์การยูเนสโกเพิ่งประกาศให้เขตอนุรักษ์ธรรมชาติจิ่วไจ้โกวเป็นมรดกโลกเมื่อปี 1992 หลังจากมีแนวโน้มว่าจะถูกพวกทำป่าไม้คุกคามจนเสื่อมสภาพ
ชาวทิเบตในชุดพื้นเมืองขายของที่ระลึกเล็กๆน้อยๆและโปสต์การ์ดอยู่ตรงสุดทางแยก ทะเลสาบน้อยใหญ่เรียงรายอยู่ตลอดเส้นทางที่รถโดยสารแล่นผ่าน ตั้งแต่ทะเลสาบระฆังทอง ทะเลสาบหญ้าทะเลสาบหาดมุก ทะเลสาบห้าบุปผาและสระห้าสี ไปจนถึงทะเลสาบทอประกาย ทะเลสาบพยัคฆ์ ทะเลสาบบอนไซ ทะเลสาบหงส์ทะเลสาบแรด ทะเลสาบมังกรคู่ ทะเลสาบอ้อ ทะเลสาบแพนด้าและทะเลสาบกระจก ความงามของหมู่เมฆ ทิวต้นเบิร์ช ต้นหลิวและต้นสน ตลอดจนสีแดงระเรื่อที่ทาบทาขุนเขาและเงื้อมผายามอาทิตย์อุทัยและอัสดง ปรากฏเป็นเงาสะท้อนอยู่บนผิวน้ำราวภาพฝัน แม้ชื่อวิลิศมาหราเหล่านี้จะฟังดูเหมือนคำขวัญโปรโมตการท่องเที่ยว แต่แท้จริงแล้วมีที่มาจากความเชื่อในพุทธศาสนาและศาสนาบอน (ศาสนาดั้งเดิมของชาวทิเบตก่อนหันมานับถือศาสนาพุทธ)
หุบเขาน้อยใหญ่นามจิ่วไจ้โกวนี้เต็มไปด้วยทะเลสาบหลากสีสันท่ามกลางแอ่งที่เกิดจากการกัดเซาะของธารน้ำแข็ง เดิมทีบริเวณนี้มีแพนด้าชุกชุม ทว่าทุกวันนี้กลับแทบไม่หลงเหลือให้เห็น พื้นที่แถบนี้ยังเป็นถิ่นอาศัยของลิงจมูกเชิดสีทอง หมูหริ่ง แมวป่าลิงซ์ ชะมด แพนด้าแดงตัวจ้อย และลิงวอก รัฐบาลจีนประกาศอย่างภาคภูมิว่า แพนด้าเป็น“สมบัติของชาติ” แต่ประชากรที่เหลืออยู่เพียงน้อยนิดกลับต้องพลัดถิ่นเพราะการตัดไม้ทำลายป่า ซ้ำร้ายในช่วงปลายศตวรรษที่ยี่สิบ ป่าไผ่อันเป็นอาหารของมันยังยืนต้นตายหลังออกดอกอีกด้วย ทุกวันนี้ แพนด้าที่เอนกายเคี้ยวกิ่งไผ่ตุ้ยๆไม่เพียงกลายเป็นสัญลักษณ์น่ารักน่าเอ็นดูในสายตานักอนุรักษ์ทั่วโลก แต่ยังเป็นสื่อแทนความพยายามในการอนุรักษ์ของประเทศที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตสุดขีดอย่างจีน
เรื่อง เอ็ดเวิร์ด โฮกแลนด์
ภาพถ่าย ไมเคิล ยามาชิตะ
อ่านเพิ่มเติม บ้านดินถู่โหลวแห่งฝูเจี้ยน