บทเรียนจากต้นไม้

เรื่อง แคที นิวแมน
ภาพถ่าย ไดแอน คุก และเลน เจนเชล

ต้นไม้ทุกต้นบอกเล่าเรื่องราว แต่บางเรื่องอาจสะเทือนอารมณ์เกินพรรณนา ไม่ว่าจะเก็บรักษาความทรงจำ โอบอุ้ม  ความเชื่อ หรือเป็นอนุสรณ์ความเศร้า

ต้นไม้ยังสร้างแรงบันดาลใจ  เรื่องราวโด่งดังที่สุดเห็นจะไม่พ้นต้นแอ๊ปเปิ้ลในสวนผลไม้ที่มณฑลลิงคอล์นเชียร์ ประเทศอังกฤษ ซึ่งเล่าขานกันว่า เมื่อปี 1666 แอ๊ปเปิ้ลผลหนึ่งร่วงหล่นจากต้น และกระตุ้นให้ชายหนุ่มนามไอแซก นิวตัน นึกสงสัยว่า ทำไมแอ๊ปเปิ้ลถึงร่วงในแนวดิ่งลงสู่พื้นดินเสมอ

ต้นฉบับลายมือสมัยศตวรรษที่สิบแปดบอกเล่าว่า นิวตันซึ่งเดินทางกลับบ้านจากเคมบริดจ์ (หลังกาฬโรคระบาดทำให้ต้องปิดมหาวิทยาลัย) เดินเข้าไปในสวนและครุ่นคิดใคร่ครวญ วิลเลียม สตูกลีย์ เพื่อนและนักเขียนชีวประวัติของเขา บรรยายไว้ว่า “ความคิดเรื่องแรงโน้มถ่วงผ่านเข้ามาในหัว…จากการร่วงสู่พื้นของผลแอ๊ปเปิ้ล ขณะที่เขานั่งนึกตรึกตรองอยู่”

นี่ไม่ใช่ช่วงเวลาแห่งการหยั่งรู้ครั้งแรกที่เกี่ยวพันกับต้นไม้ พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ขณะประทับใต้ต้นโพธิ์มิใช่หรือ ต้นไม้ชวนให้เราเคลิบเคลิ้ม วัฒนธรรมหลากหลายเล่าขานนิทานว่าด้วยนักบวชที่สดับตรับฟังเสียงสกุณาในพงไพรแล้วพบว่า เวลาเพียงชั่วอึดใจกลับกลายเป็นหลายร้อยปีที่ผันผ่าน

ต้นสนบริสเซิลโคนไพน์, ป่าแห่งชาติอินโย, แคลิฟอร์เนีย
เอดมันด์ ชุลแมน นักวิทยาศาสตร์ ใช้เวลาช่วงฤดูร้อนหลายปีในภูมิภาคแถบตะวันตกของสหรัฐฯ เพื่อเสาะหาตัวอย่างต้นไม้อายุมากที่สุดที่ยังยืนต้นอยู่ เขาพบตัวอย่างเหล่านั้นในหมู่สนบริสเซิลโคนไพน์ที่ลำต้นหงิกงอและไม่สูงนัก เมื่อปี 1957 ชุลแมนค้นพบเมทูเซลาห์ สนบริสเซิลโคนไพน์ที่มีวงปี 4,789 วง นับเป็นต้นไม้โบราณที่ยังยืนต้นอยู่

ต้นไม้เป็นที่เก็บความทรงจำของธรรมชาติ กระทั่งในระดับโมเลกุล เบนจามิน สเวตต์ ผู้เขียนหนังสือ นิวยอร์ก นครแห่งแมกไม้ (New York City of Trees) กล่าวในการสัมภาษณ์ทางวิทยุว่า “เนื้อไม้ในแต่ละชั้นของวงปีประกอบด้วยอากาศบางส่วนของปีนั้นๆ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นคาร์บอน และนั่นเองที่ทำให้ต้นไม้บันทึกเรื่องราวปีแล้วปีเล่าของเมืองเอาไว้ในเชิงกายภาพ”

ทว่าความทรงจำบางอย่างกลับทำให้หัวใจรานร้าว เฉกเช่นที่ถ่ายทอดผ่านต้นเชสต์นัตซึ่งยืนต้นอยู่หน้าบ้านหลังหนึ่งในกรุงอัมสเตอร์ดัม ที่ซึ่งเด็กหญิงนามอันเนอ ฟรังค์ (หรือแอนน์ แฟรงค์) และครอบครัวหลบซ่อนตัวจากพวกนาซี จากหน้าต่างห้องใต้หลังคาเพียงบานเดียวที่ไม่ถูกปิดตาย อันเนอมองเห็นต้นไม้ซึ่งช่วยบ่งบอกฤดูกาลที่ผันผ่าน ก่อนที่ตำรวจลับเกสตาโปจะจับกุมเธอและครอบครัวไปในวันที่ 4 สิงหาคม ปี 1944

หลายปีต่อมา หลังจากได้อ่านสมุดบันทึกของลูกสาว พ่อของอันเนอเอ่ยปากว่า “ผมไม่เคยรู้เลยว่า การได้เห็นเศษเสี้ยวของท้องฟ้าสีครามมีความหมายกับอันเนอมากแค่ไหน…และเชสต์นัตต้นนั้นสำคัญกับลูกมากเพียงใด”

ต้นเบาบับ ดาร์บี, ออสเตรเลีย
ต้นเบาบับในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลียต้นนี้เป็นที่รู้จักในนามต้นไม้คุกแห่งดาร์บี ทว่าคริสติน ฮาร์แมน นักประวัติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแทสเมเนีย และเอลิซาเบท แกรนต์ นักมานุษยวิทยาสถาปัตย์ จากมหาวิทยาลัยแอดิเลด เห็นว่าผิดถนัด แม้จะเล่าลือกันว่า ต้นไม้นี้เป็นที่คุมขังหรือพื้นที่กักกันนักโทษชาวอะบอริจินระหว่างขนย้ายไปดาร์บี ทั้งฮาร์แมนและ แกรนต์แย้งว่า เรื่องเล่าดังกล่าวเป็น “ความจงใจที่จะนำเสนอต้นเบาบับให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ ชัยชนะที่นักล่าอาณานิคมมีเหนือชาวอะบอริจิน”

ความทรงจำบางเรื่องเป็นที่รับรู้ของคนหมู่มาก เฉกเช่นเรื่องราวความไร้เดียงสาและความสูญเสียซึ่งแฝงเร้นอยู่ ในต้นไม้แห่งการรู้ดีรู้ชั่ว ณ สวนสวรรค์อีเดน ต้นไม้ต้นนี้ออกผลเป็นแอ๊ปเปิ้ลแห่งการล่อลวง และการกินผลไม้ต้องห้ามนั้นจะนำไปสู่ผลลัพธ์อันเจ็บปวด

หากด้านมืดของความเป็นมนุษย์ถือกำเนิดจากใต้ต้นไม้ ก็คงเหมาะสมแล้วที่ร่มไม้เขียวขจีช่วยปลอบประโลมใจ ดังเช่นต้นเอล์มอเมริกันต้นหนึ่งในเมืองโอคลาโฮมาซิตี เมื่อวันที่ 9 เมษายน ปี 1995 เหตุระเบิดที่วางแผนและก่อการโดยทิโมที แมกเว ทหารผ่านศึกผู้ต่อต้านรัฐบาล ถล่มอาคารอัลเฟรด พี. เมอร์ราห์ สูงเก้าชั้นของรัฐบาลกลางในย่านใจกลางเมือง และคร่าชีวิตผู้คน 168 คน

ต้นสนเควกกิงแอสเพน, ป่าแห่งชาติฟิชเลก, ยูทาห์
สนแพนโดโคลน (Pando clone) ซึ่งประกอบด้วยต้นสน 47,000 ต้น ครอบคลุมพื้นที่เกือบ 270 ไร่นี้ถือเป็นสิ่งมีชีวิตเดี่ยว ที่อาจถือกำเนิดขึ้นเมื่อหลายหมื่นปีก่อนจากเมล็ดพันธุ์สนเควกกิงแอสเพนเมล็ดเดียว และแพร่พันธุ์ด้วยการแตกหน่อ จากระบบรากที่ขยายตัวต่อเนื่อง แต่ละลำต้นมีเอกลักษณ์ทางพันธุกรรมเหมือนกันทุกประการ และมีอายุไม่เกิน 150 ปี แต่ระบบรากอาจเป็นสิ่งมีชีวิตที่อายุยืนที่สุดในโลก

แรงระเบิดเผาไหม้ลำต้น ทำให้ใบร่วงหล่นจนหมดสิ้น พร้อมฝังสะเก็ดและเศษซากลงในเนื้อไม้ของต้นเอล์มสูง 10 เมตรที่เติบโตในลานจอดรถใกล้เคียง ทุกวันนี้ “ต้นไม้ผู้รอดชีวิต” ไม่เพียงเป็นจุดเด่นของพิพิธภัณฑ์และอนุสรณ์สถานแห่งชาติโอคลาโฮมาซิตี แต่ยังช่วยปลอบประโลมใจคนอย่างดอริส โจนส์ ผู้สูญเสียแคร์รี แอนน์ เลนซ์ ลูกสาววัย 26 ปีที่กำลังตั้งครรภ์ไปในเหตุระเบิดครั้งนั้น เธอบอกว่า “ฉันรู้สึกดีขึ้นเมื่อได้เห็นต้นเอล์มค่ะ มันเป็นสิ่งดีๆที่รอดพ้นเหตุการณ์เลวร้ายมาได้”

ทุกวันนี้ ต้นเอล์มสูงกว่า 12 เมตร มีเรือนยอดแผ่กว้างถึง 18 เมตร พอย่างเข้าเดือนพฤศจิกายน ใบสีทองก็ร่วงจวนหมดสิ้น ก่อนเหลือเพียงลำต้นและกิ่งก้านในเดือนมกราคม เมื่อเดือนเมษายนมาถึงจึงเริ่มแตกใบอ่อน และในเดือนมิถุนายน ต้นเอล์มก็อวดใบเขียวเต็มต้นพร้อมสำหรับฤดูร้อนอีกครั้ง

“ราวกับว่าต้นเอล์มมุ่งมั่นที่จะอยู่รอดครับ” มาร์ก เบย์ส เจ้าหน้าที่ป่าไม้ประจำเมือง ผู้ช่วยฟื้นฟูและดูแลต้นเอล์มต้นนี้ กล่าว “มันเข้าใจดี ขณะที่พวกเราไม่มีใครเข้าใจ ว่ามันจะต้องยืนหยัดต่อไป”

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.