ชีวิตหลังไอซิส

ชีวิตหลัง ไอซิส

กองกำลังรัฐอิสลามถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี 2006 จากการรวมตัวของมุสลิมซุนนีหลายกลุ่ม ก่อนจะเป็นรูปเป็นร่างและสร้างแสนยานุภาพในช่วงครึ่งทศวรรษต่อมา โดยรับอดีตนักรบพรรคบะอัษ (หรือพรรคบาท) ที่ตกค้างหลังจากประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน ถูกโค่นอำนาจเมื่อเดือนเมษายน ปี 2003  ในช่วงปี 2012 และ 2013 ไอซิส กระจายไปทั่วซีเรีย และในช่วงวันแรกๆของเดือนมกราคม ปี 2014 ก็เปิดฉากสู้รบในเราะมะดี เมืองหลวงของจังหวัดอันบาร์ในอิรัก กองกำลังสองสามร้อยนายยึดพื้นที่ส่วนใหญ่ของเมืองไว้ได้ กองทัพรัฐบาลแตกพ่าย แม้จะรักษาพื้นที่บางส่วนไว้ได้ก็ตาม หนังม้วนเดียวกันนี้เกิดซ้ำในโมซุล ตลอดระยะเวลาส่วนใหญ่ในช่วงสองปีต่อมา ชาวเมืองเราะมะดีต้องเผชิญสงครามยืดเยื้อเป็นช่วงๆ

ทหารอิรักระดมพล โดยมีกองกำลังชีอะฮ์และกองกำลังพันธมิตรนำโดยสหรัฐฯเข้าร่วมด้วย พอถึงปลายปี 2015 เราะมะดีก็ได้รับการ “ปลดปล่อย” ตามที่โทรทัศน์แห่งชาติรายงาน พื้นที่ทั้งหมดในหลายเขตไม่เพียงไร้ผู้อยู่อาศัย แต่ยังมีสภาพยับเยินจนจำไม่ได้ ไม่มีใครคิดว่าผู้คนจะย้ายกลับไป แต่พวกเขาก็กลับ

เราะมะดีเสียหายหนักสุดในบรรดาเมืองต่างๆของอิรัก แต่นั่นไม่ใช่เรื่องแปลก ไอซิสและสงครามต่อต้านไอซิส ทำให้พื้นที่ทางเหนือและตะวันตกของอิรักเป็นซากปรักอันกว้างใหญ่ไพศาลมาแล้ว ความรุนแรงลุกลามจากทางใต้ของกรุงแบกแดดไปถึงชายแดนตุรกี ซีเรีย และซาอุดีอาระเบีย ครอบคลุมพื้นที่หลายสิบเมือง รวมทั้งเมืองเล็กๆและหมู่บ้านหลายร้อยแห่ง ไอซิสทำลายขุมทรัพย์ทางโบราณคดีในเมโสโปเตเมียที่นิเนเวห์และหมู่บ้านชาวคริสต์โบราณ และพยายามกวาดล้างชนเผ่ายาซิดีซึ่งไอซิสถือเป็นพวกนอกรีต บ่อน้ำมันถูกจุดไฟเผานานหลายเดือน ก่อความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมอย่างมิอาจประมาณได้ พอถึงต้นปี 2017 องค์การสหประชาชาติ พันธมิตร และองค์กรอื่นๆ ตั้งค่ายผู้พลัดถิ่นและผู้ลี้ภัยขึ้น 86 แห่งทั่วอิรัก ชาวอิรักกว่าสามล้านคนต้องหนีตายจากบ้านเกิดเมืองนอน

หลังไอซิสถอนกำลังออกจากฟัลลูญะฮ์ หลักฐานความโหดเหี้ยมก็ปรากฏ คฤหาสน์ของผู้รับเหมาก่อสร้างผู้มั่งคั่งหลังนี้ถูกใช้เป็นเรือนจำ ขณะที่วิทยาลัยครูอีกแห่งกลายเป็นศาลและลานประหาร ซากศพถูกฝังในหลุมรวมใต้หินปูพื้นและ ไม้กระดาน

กองกำลังรัฐอิสลามแยกตัวจากกลุ่มอัลกออิดะห์ เพราะอาบู บักร์ อัล บัฆดาดี ผู้นำไอซิส มีใจกระหายเลือดเกินไป แม้กระทั่งสำหรับอัลกออิดะห์ แต่มีความเชื่อหนึ่งที่เขากับผู้นำอัลกออิดะห์คิดตรงกัน นั่นคือสิ่งที่เดวิด คุก นักประวัติศาสตร์ญิฮาด สรุปไว้ว่า “โลกทั้งมวลผสานเป็นหนึ่งเดียวกันในความพยายามที่จะทำลายศาสนาอิสลาม” ทว่าในขณะที่อุซามะห์ บิน ลาดิน ตั้งกลุ่มด้วยความเชื่อว่า ศัตรูสำคัญที่สุดของศาสนาอิสลามคือ “ศัตรูที่อยู่ไกล” หรือจักรวรรดิตะวันตก แต่จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ บัฆดาดีพุ่งความสนใจไปที่ “ศัตรูใกล้ตัว” หรือรัฐบาลที่ไร้ศรัทธาในโลกมุสลิม

บัฆดาดีสั่งสอนคนของเขาว่า สิ่งที่แย่ยิ่งกว่าคือนิกายชีอะฮ์ เขายึดแนวทางการแบ่งแยกนิกายซึ่งดำเนินสืบเนื่องมาหลายสิบปีในอิรัก ย้อนหลังไปในช่วงทศวรรษ 1970 พรรคบะอัษ [พรรครัฐบาลของอิรักภายใต้การนำของซัดดัม ฮุสเซน] เนรเทศคนที่เชื่อว่าเป็นชาวอิหร่านโดยกำเนิดออกนอกประเทศ ตอนที่ซัดดัม ฮุสเซน ทำสงครามกับอิหร่านเมื่อปี 1980 เขาประกาศตนเป็นผู้ปกป้องศาสนาอิสลามที่แท้จริง บุรุษผู้มุ่งหมายจะปกป้องพี่น้องชาวอาหรับที่เป็นมุสลิมนิกายซุนนีจากผู้รุกรานชาวเปอร์เซียที่นับถือนิกายชีอะฮ์ ซึ่งเป็นภัยคุกคามมาตั้งแต่ศตวรรษที่เจ็ด (ทั้งที่ในความเป็นจริง ชาวอิรักที่นับถือนิกายชีอะฮ์จำนวนมากรับใช้เขาอย่างจงรักภักดี) บัฆดาดีคือผลผลิตของความจงเกลียดจงชังนี้ ซึ่งหวนกลับมาอีกครั้งระหว่างสงครามแบ่งแยกศาสนาในช่วงกลางทศวรรษ 2000 พอๆกับที่เขาเป็นผลผลิตจากการยึดครองของสหรัฐฯ และนั่นทำให้ทรรศนะที่เขามีต่อมุสลิมนิกายชีอะฮ์ไม่อาจใช้คำใดได้นอกจากฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

ในอัลอะลัม เมืองเล็กๆใกล้ติกริต ชายชาวเมือง 11 คนถูกประหารในที่สาธารณะใกล้สี่แยกซึ่งตอนนี้มีอนุสรณ์สถานเพื่อรำลึกถึงพวกเขาตั้งอยู่ อนุสาวรีย์ ป้ายโฆษณา โปสเตอร์ และงานศิลปะซึ่งอุทิศให้เหยื่อความรุนแรงของไอซิสเป็นสิ่ง ที่พบเห็นได้ทั่วไปมากขึ้นรอบๆอิรัก

ขณะที่ไอซิสถอยร่นไปยังซีเรีย หลักฐานการใช้ความรุนแรงของกองกำลังดังกล่าวก็ปรากฏชัดที่สุดในเมืองฟัลลูญะฮ์  เมื่อเดือนมกราคม ปี 2014 ไอซิสยึดฟัลลูญะฮ์ได้ ปลายเดือนมิถุนายน ปี 2016 หลังการต่อสู้นานหนึ่งเดือนทหารอิรักก็ยึดคืนได้ หลายวันหลังจากนั้น กลุ่มทหารและตำรวจเดินตามถนนที่เกลื่อนกล่นด้วยซากปรักหักพังเพื่อไปยังวิทยาลัยครูสตรีฟัลลูญะฮ์ซึ่งไอซิสใช้เป็นศาลและลานประหาร อากาศคละคลุ้งด้วยกลิ่นเนื้อเน่า แฟ้มของหญิงสาวที่เคยเรียนหนังสือที่นี่กระจายอยู่ทั่วพื้น

เมื่อไปถึงลานเล็กๆ พวกเขาก็ยกมืออุดจมูก ตำรวจนายหนึ่งเลื่อนกระดานดำที่วางอยู่บนดินไปด้านข้าง เผยให้เห็นกระดูกน่องที่โผล่ขึ้นมาจากหลุมใต้หินปูพื้น ในหลุมเต็มไปด้วยซากศพซึ่งกำลังเน่าเปื่อย มีจำนวนเท่าใดไม่สามารถบอกได้ ในโถงทางเดินติดกันมีหลุมศพรวมอีกหลุมอยู่ใต้พื้นที่ปูพรมและมีโซฟาวางทับ ผู้บัญชาการตำรวจบอกว่า ศพเหล่านี้เชื่อว่าเป็นสมาชิกไอซิสที่ถูกประหารเพราะต้องสงสัยว่าทรยศ ขี้ขลาด หรือข้อหาอื่นๆ

อิรักมีทรัพยากรไม่เพียงพอจะช่วยคนกว่าสามล้านคนซึ่งพลัดที่นาคาที่อยู่จากสงครามต่อต้านไอซิส ค่ายผู้ลี้ภัย ขาดแคลนอาหารและเครื่องใช้ต่างๆ แรงงานรายวันที่เดินไปตามถนนฝุ่นคลุ้งคนนี้โชคดีที่ได้งานทำใกล้ค่ายผู้ลี้ภัยซึ่งเขาอาศัยอยู่

ตอนที่ไอซิสยึดเมืองนี้ นักรบไอซิสใช้โรงพยาบาลกลางขนาดใหญ่เป็นกองบัญชาการ ทหารอิรักกลุ่มหนึ่งไปสำรวจที่นั่น พวกเขาเดินเข้าไปในลาน มีเปลจากห้องดับจิตวางบนพื้นใกล้หลุมศพเล็กๆที่เพิ่งกลบฝัง ทหารยกมือระดับเอวเพื่อระบุความสูงของศพที่อยู่ในหลุม ระหว่างการต่อสู้ ชาวบ้านไม่กล้านำศพลูกหลานออกไปฝังในสุสาน พวกเขาจึงฝังศพเด็กๆไว้ตามพื้นดินที่พอหาได้ในโรงพยาบาล

ในตึกแผนกฉุกเฉิน โครงและกระเบื้องเพดานห้อยต่องแต่งเหมือนเถาวัลย์ในป่า ตำรวจนายหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า อะบู เนบะฮ์ ค้นหาของที่ระลึกและเก็บไว้ในถุงพลาสติก บนผนังมีภาพถ่ายเอกสารแตกๆของตราสัญลักษณ์ไอซิสและบันทึกอย่างเป็นทางการบนกระดาษที่มีหัวจดหมายของไอซิสแปะเทปกาวไว้ ข้อความในบันทึกบ่งนัยถึงช่วงวันท้ายๆอันสิ้นหวังของการยึดอำนาจ “ถึงพี่น้องและหัวหน้าฝ่ายต่างๆ ขอพระเจ้าคุ้มครองพวกเขา” บันทึกเขียนไว้ “พี่น้องทุกคนควรพาครอบครัวกลับเขตฟัลลูญะฮ์ทันทีภายใน 20 วันหลังจากวันที่ในประกาศนี้ ผู้ฝ่าฝืนจะไม่ได้รับสิทธิลาพัก”

เรื่อง เจมส์ เวอรินี

ภาพถ่าย โมยเซส ซามัน

อ่านเพิ่มเติม

ชีวิตท่ามกลางซากปรักหักพังของเมืองโมซูล

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.