เอเวอเรสต์แห่งแดนบาดาล

เอเวอเรสต์ แห่งแดนบาดาล

“ไม่ต้องห่วงนะ ข้างใต้นี้คุณไม่หลงไปไหนหรอก” คำพูดที่มีสำเนียงรัสเซียหนักๆของลารีซา พอซด์เนียโควา ลอยมาหาผมจากความเวิ้งว้างดำมืดที่ดูไร้จุดสิ้นสุดของถ้ำ ตลอดหลายชั่วโมงที่ผ่านมา ผมตะเกียกตะกายตามให้ทัน  ขณะที่เธอนำทางฝ่าลึกลงไปเรื่อยๆในโลกใต้ดินอันเย็นเยียบที่รู้จักกันในชื่อ ดาร์กสตาร์ (Dark Star)

ลารีซา นักสำรวจถ้ำผู้คร่ำหวอดวัยสามสิบเศษจากเทือกเขายูรัล เคลื่อนตัวอย่างสบายๆ ลื่นไหลคล้ายงูไปตามเส้นทางคดเคี้ยว ส่วนผมหอบแฮกตามหลังเธอแบบมือใหม่เงอะงะ แสงไฟฉายคาดศีรษะที่ส่องได้แค่หนึ่งเมตรก่อนถูกม่านสีดำเย็นเยียบกลืนกิน ทำให้เราต้องเคลื่อนไหวคล้ายตัวตุ่น ค่อยๆคลำทางไปตามเชือกยาวหลายร้อยเมตรที่ช่วยพาเราผ่านเส้นทางมากมายในถ้ำ

ผลึกน้ำแข็งเกาะอยู่ในฟูลมูนฮอลล์ คูหายาวที่สุดเท่าที่ค้นพบในถ้ำดาร์กสตาร์ซึ่งมีความยาวราว 250 เมตร ระบบถ้ำทั้งหมดนี้ถือเป็นแคปซูลเวลาทางธรณีวิทยา เพราะตะกอนแร่ต่างๆสามารถเผยประวัติภูมิอากาศนานหลายพันปี

จู่ๆผมก็พบว่า  ตัวเองพลัดหลงกับลารีซา  ความท้าทายตอนนี้คงเป็นการดูว่าผมจะหาทางไปต่อเองได้หรือไม่ ผมกวาดไฟฉายดูคร่าวๆและเห็นเส้นทางทอดออกจากคูหาสองสาย

ระหว่างพิจารณาทางเลือกต่างๆ ผมปิดไฟฉายเพื่อประหยัดแบตเตอรี่ ความมืดที่ห้อมล้อมนั้นดำสนิท โฟตอนของแสงเดินทางหลายพันล้านกิโลเมตรทะลุเอกภพเป็นเส้นตรงโดยไม่มีอะไรขวางกั้น แต่แสงไม่อาจเลี้ยวเบน เส้นทางบิดงอ คดเคี้ยวที่ทอดลึกในภูเขาจำกัดให้แสงเดียวที่ส่องต้องผนังถ้ำเหล่านี้ได้คือแสงไฟฉายเท่านั้น

“ลารีซา!” ผมตะโกนเรียก แต่เสียงนั้นเพียงแค่สะท้อนอยู่ในคูหาถ้ำเล็กๆ ทันใดนั้นผมก็เข้าใจกระจ่างชัดถึงคำพูดของเธอที่ว่า “ไม่ต้องห่วงนะ ข้างใต้นี้คุณไม่หลงไปไหนหรอก” จริงๆแล้วเป็นมุกตลกของคนวงในมากกว่า เพราะเอาเข้าจริงๆ คุณหลงได้ และง่ายเสียด้วย

เส้นทางแรกที่ผมเลือกจู่ๆก็กลายเป็นทางตันซึ่งผมนึกขอบคุณ เส้นทางที่สองนำผมไปสู่ชะง่อนหินซึ่งเป็นหินพอกแวววาวเกิดจากการสะสมตัวของแผ่นแร่บางๆที่สายน้ำไหลพามาอย่างสม่ำเสมอ ลารีซานั่งอยู่บนนั้น

อุณหภูมินอกถ้ำร้อนจัดถึง 38 องศาเซลเซียส แต่ในถ้ำอยู่ระหว่าง -1 ถึง 3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิที่ต่างกันเล็กน้อยนี้ส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อภูมิทัศน์ในถ้ำ เมื่อทีมสำรวจไต่ลึกลงไป น้ำแข็งสีฟ้าก็กลายเป็นหินเปลือยๆ

เมื่อผมตามไปทันในที่สุด ลารีซาหยุดอยู่ตรงชะง่อนหินซึ่งมองลงไปเห็นสิ่งที่แสงไฟฉายคาดศีรษะของเราเผยให้ เห็นว่าเป็นผืนน้ำ นี่คือทะเลสาบใต้ดินหนึ่งในหลายแห่งของดาร์กสตาร์ เธอคว้าเชือกนิรภัยที่ผูกอยู่กับสายรัดสะโพกขึ้นมาคล้องเชือกเส้นหนาที่มีหมุดตอกตรึงกับผนังหินด้านบน เชือกเส้นนี้ทอดลงไปเหนือทะเลสาบและหายไปในความมืดมิด  ทำหน้าที่คล้ายสลิงให้นักสำรวจถ้ำโหนตัวข้ามทะเลสาบเย็นยะเยือก เธอโรยตัวลงไป ทิ้งให้ผมอยู่กับความกลัวตามลำพัง

ผมอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออกแบบนี้ เพราะสมัครเข้าร่วมทีมสำรวจถ้ำที่มีสมาชิก 31 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวรัสเซียที่ไม่พูดภาษาอังกฤษ เพื่อสำรวจระบบถ้ำหินปูนขนาดมหึมาใต้ภูเขาแห่งนี้ในซอกมุมห่างไกลของอุซเบกิสถาน ชาวรัสเซียกลุ่มหนึ่งสังเกตเห็นปากถ้ำเมื่อปี 1984 แต่ทีมนักไต่ถ้ำจากอังกฤษเป็นกลุ่มแรกที่เข้ามาและเริ่มสำรวจระบบถ้ำแห่งนี้เมื่อปี 1990 พวกเขาตั้งชื่อถ้ำตามภาพยนตร์วิทยาศาสตร์แนวเสียดสีของอเมริกันจากทศวรรษ 1970 ตลอดหลายสิบปีต่อมา ถ้ำดาร์กสตาร์กับถ้ำเฟสตีวัลนายาที่อยู่ใกล้กัน (สักวันอาจพบว่าระบบถ้ำทั้งสองเชื่อมถึงกันก็เป็นได้) ก็ดึงดูดนักไต่ถ้ำมือฉมังจากทั่วโลก

ซินนอตต์ซึ่งยืนเกาะอยู่บนหินลื่นๆ รู้ดีว่า การตกน้ำที่เย็นยะเยือกไม่ใช่ทางเลือก ในถ้ำที่ชุดเปียกน้ำไม่มีวันแห้งเช่นนี้ ภาวะตัวเย็นเกิน ข้อเท้าหัก หรือการหลงทาง เป็นตัวอย่างเพียงน้อยนิดของความเสี่ยงในดาร์กสตาร์

ความเย้ายวนของระบบถ้ำขนาดยักษ์แห่งนี้ไม่ต่างจากมนตราที่ภูเขาลูกใหญ่ร่ายเรียกนักปีนเขา แต่มีความแตกต่าง ข้อหนึ่งคือ เรารู้ว่าเมานต์ เอเวอเรสต์ คือยอดเขาสูงสุดของโลก แต่โอกาสใหม่ๆที่จะพิชิตความลึกล้ำใต้ดินอันไพศาลนั้น แทบไม่มีขีดจำกัด ถ้ำครูเบราในสาธารณรัฐจอร์เจียคือถ้ำลึกที่สุดที่เรารู้จักในปัจจุบัน โดยลึกถึง 2,197 เมตร แต่ดาร์กสตาร์ซึ่งยังมีพื้นที่ต้องสำรวจอีกมาก คือคู่แข่งสำคัญที่จ่อคิวชิงตำแหน่งดังกล่าว

จนถึงวันนี้ การสำรวจแปดครั้งพบเส้นทางในถ้ำดาร์กสตาร์รวมแล้วเกือบ 17.4 กิโลเมตร จุดลึกที่สุดอยู่ราวๆ 900 เมตรใต้ผิวดิน แต่เรายังทำแผนที่ระบบถ้ำได้ไม่ครบถ้วน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะที่ตั้งอันห่างไกลในภูมิภาคที่มีความไม่สงบทางการเมือง อีกส่วนหนึ่งมาจากความกว้างใหญ่ไพศาลของถ้ำซึ่งต้องอาศัยความสามารถเชิงเทคนิคขั้นสูงและอุปกรณ์จำนวนมาก

ดนตรีและเหล้ายาไหลรินระหว่างที่ทีมสำรวจผ่อนคลายอยู่บนภาคพื้นดิน นักสำรวจถ้ำพูดต่างภาษากัน ทั้งรัสเซีย อิตาลี ฮีบรู และเยอรมัน แต่ในถ้ำดาร์กสตาร์ซึ่งพวกเขานอนร่วมถุงนอนกันเพื่อความอบอุ่นนั้น ทุกคนเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

เราศึกษาทางวิทยาศาสตร์ได้มากมายจากโลกใต้ดิน โดยข้อมูลส่วนใหญ่อยู่ในหินถ้ำ (speleothem) หรือตะกอนแร่ที่เรียกกันว่าหินงอกและหินย้อย ซึ่งผุดขึ้นจากพื้นถ้ำและห้อยลงมาจากเพดานถ้ำ การวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีของหินงอกหินย้อยที่เกิดจากน้ำหยดเป็นเวลานานหลายพันปีเหล่านี้ บอกเงื่อนงำของภูมิอากาศโลกในหลายยุคที่ผ่านมาได้

ในแต่ละปีทีมสำรวจจะเก็บตัวอย่างจากส่วนต่างๆของระบบถ้ำ เพื่อมุ่งทำความเข้าใจไม่เฉพาะประวัติของภูมิอากาศในเอเชียกลาง แต่รวมถึงระบบระบายอากาศและสถาปัตยกรรมของถ้ำ ซึ่งเป็นความรู้ที่ช่วยให้นักสำรวจถ้ำในอนาคตตัดสินใจได้ว่าเส้นทางใหม่ๆที่มีศักยภาพในการสำรวจอยู่ที่ไหน

เรื่อง มาร์ก ซินนอตต์

ภาพถ่าย ร็อบบี โชน

 

อ่านเพิ่มเติม

พบภาพวาดผนังถ้ำเก่าแก่ที่สุด ผลงานของมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.