โซเชียลมีเดียปรากฏการณ์ป่วนสังคม

เรื่อง สุวัชรี พรหมบุญมี
ภาพถ่าย เอกรัตน์ ปัญญะธารา

ทุกการเดินทางมีเรื่องราวเสมอ แน่นอนว่าไม่เว้นแม้แต่การท่องไปใน “โลกออนไลน์” พื้นที่ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นโลกเสมือนที่เคียงคู่ไปกับโลกในชีวิตจริงของคนเรา

หากย้อนเวลากลับไปหลายปี  ก่อนหน้าที่เทคโนโลยีจะได้รับการพัฒนาจนเราวิ่งตามเกือบไม่ทันอย่างในทุกวันนี้   กิจวัตรยามเช้าของใครหลายคนอาจเริ่มด้วยการนั่งจิบกาแฟร้อนๆ พร้อมขนมปังปิ้งหรือแซนด์วิชอบใหม่  ดื่มด่ำบรรยากาศยามเช้า   นั่งฟังเสียงนกร้อง  มองต้นไม้ใบหญ้าในสวนข้างบ้านที่กำลังผลิดอกออกผล  ราวกับว่ากำลังชาร์จแบตเตอรี่ในตัวเองก่อนเริ่มวันอันเคร่งเครียดอีกครั้ง

วิวัฒนาการที่รวดเร็วของเทคโนโลยีทั้งในมิติของซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ ที่พร้อมสนับสนุนหลากหลายโปรแกรมที่เปิดตัวให้บริการอยู่ในโลกออนไลน์    ทำให้กิจวัตรยามเช้าของผู้คนเปลี่ยนไป สำหรับฉันแม้ว่าจะยังคงใช้เวลาละเลียดกาแฟหอมกรุ่นยามเช้า และดื่มด่ำกับสิ่งต่างๆ รอบตัว  แต่สิ่งที่เพิ่มเข้ามาคือเสียงเตือนที่บ่งบอกว่า  มีข้อความส่งมาจากก๊วนเพื่อนตั้งแต่เมื่อคืนวาน  เมลงาน นัดหมายต่างๆไปจนถึงการแจ้งเตือนจากแอปพลิเคชั่นอื่นๆ หลังเปิดโทรศัพท์มือถือเพื่อให้พร้อมใช้งาน  ทัชฟังก์ชันหนึ่งเป็นการป้อนคำสั่งเพื่อเชื่อมต่อกับสัญญาณเครือข่าย และเข้าสู่โลกออนไลน์เพื่อเช็คข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้นในช่วงค่ำคืนที่ผ่านมา

วิวัฒนาการของโลกโซเชียลรุดหน้าอย่างรวดเร็ว  ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเปรียบเสมือนแรงกระเพื่อมของกระแสน้ำที่ส่งผลต่อสิ่งที่คลื่นน้ำไปกระทบเสมอ โดยเฉพาะผู้ที่พร้อมจะปรับเปลี่ยนและวิ่งตามกระแส

ความน่ารักและความคิดสร้างสรรค์ในการแต่งตัวและถ่ายรูปของเจ้าของ ทำให้บัญชีอินสตาแกรมที่ใช้ชื่อว่า @eurosaurus ของสุนัขพันธุ์แจ็กรัสเซลตัวนี้มีผู้ติดตามมากกว่า 170,000 คนแล้ว

เฟซบุ๊ก (Facebook) เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อ ปี ค.ศ. 2004  โดยมีมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งร่วมกับเพื่อนๆ ขณะกำลังศึกษาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ระยะเวลาเพียง 10 ปีเศษส่งผลให้เฟซบุ๊กเป็นเครือข่ายโซเชียล (social network) ที่ใหญ่ที่สุดในยุคปัจจุบัน การพัฒนาฟีเจอร์หรือลูกเล่นต่างๆ ในเฟซบุ๊กเกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเตือนเรื่องราวที่เราเคยโพสต์ แชร์รูป หรือคลิปวิดีโอ

เมื่อถึงตรงนี้  หากฉันจะตั้งคำถามว่า “ครั้งสุดท้ายที่คุณจับปากกาจรดกระดาษเพื่อขีดเขียนบันทึกเรื่องราวความทรงจำ  หรือระบายความรู้สึกลงไดอารีนั้นเมื่อไหร่กัน” แทบไม่ต้องสงสัยเลยว่า  คนส่วนใหญ่ในยุคนี้มักเลือกที่จะใช้หน้าเฟซบุ๊กของตัวเองเป็นที่ระบายความรู้สึก โพสต์รูป หรือวิดีโอ สอดคล้องกับผลสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตปี พ.ศ. 2559 ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) ที่เผยว่า นักท่องโลกอินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์มือถือโตขึ้นร้อยละเก้า และจำนวนชั่วโมงการใช้อินเทอร์เน็ตในภาพรวมทั้งผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่และคอมพิวเตอร์โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 45 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือ 6.4 ชั่วโมงต่อวัน

“เดี๋ยวขอเซลฟีก่อน”  วลีเด็ดที่ไม่ว่าไปที่ไหนก็ได้ยิน ไม่ว่าจะห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร หรือสถานที่ท่องเที่ยว  แทบจะเรียกได้ว่าเป็นการตอกบัตรหรือแสตมป์ตราประทับว่า  ครั้งหนึ่งฉันเคยมาที่นี่   แต่ภาพหลายภาพที่แชร์อยู่บนโลกออนไลน์กลับให้ความรู้สึกที่เกินพอดี  เพราะหลายคนมักขาดความระมัดระวังในการถ่ายภาพเซลฟี  โดยไม่คำนึงอันตรายที่รออยู่เบื้องหน้า อาจเพียงเพราะต้องการภาพที่ดีที่สุดเพื่อเรียกยอด Like ยอด Share

ความบันเทิงคือแรงจูงใจอันดับต้นๆ ที่ทำให้เกิดการใช้โซเชียลมีเดีย ผศ.ดร.วิกานดา พรสกุลวานิช อาจารย์ประจำกลุ่มวิชาบริหารการสื่อสาร คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  เปิดเผยแรงจูงใจของคนไทยในการใช้โซเชียลมีเดียจากงานวิจัยเมื่อปี พ.ศ. 2556  ว่า “ความบันเทิงเป็นแรงจูงใจอันดับแรกที่ทำให้คนใช้โซเชียลมีเดีย  ตามมาด้วยความร่วมสมัย การรักษาความสัมพันธ์ การผ่อนคลาย มิตรภาพ และการฆ่าเวลา ตามลำดับ”

นักท่องเที่ยวรอถ่ายภาพพระอาทิตย์ขึ้นที่ภูทับเบิก ด้วยขนาดที่เล็กกะทัดรัดและมีน้ำหนักเบาของสมาร์ตโฟน ทำให้ความนิยมใช้กล้องถ่ายภาพลดลงไปมาก จนเหล่าผู้ผลิตกล้องต้องปรับกลยุทธ์การตลาดกันยกใหญ่เพื่อสู้กับกล้องมือถือที่สามารถเชื่อมสู่โลกออนไลน์ และแชร์ภาพสู่โซเชียลมีเดียได้ในพริบตา

เหตุผลหนึ่งที่คนส่วนใหญ่เข้าสู่โลกออนไลน์  คือต้องการอัปเดตข่าวสารที่เกิดขึ้น ความเป็นไปในโลกจะปรากฏอยู่บนหน้าจอมือถือ หรือหน้าจอคอมพิวเตอร์  เช่นเดียวกับเรื่องดราม่า

กระทู้ต่างๆ ที่มีคนพูดถึงบนสังคมโซเชียลส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้คนต้องการพื้นที่ระบายความในใจ ต้องการความคิดความเห็นของคนรอบข้างและคนไกลตัว ทว่าการเลือกใช้พื้นที่บนโลกโซเชียลเพื่อการนี้ดูจะขัดกับประโยคที่ว่า “เฟซบุ๊กส่วนตัวคือพื้นที่ส่วนตัว” เพราะเมื่อผู้คนเริ่มจับจ้องให้ความสนใจในเรื่องนั้นๆ เกินความคาดหมาย  หลายคนจึงออกอาการรับไม่ได้กับความจริงที่ว่า “บนโลกออนไลน์ไม่มีพื้นที่ส่วนตัว”

แม้ว่าส่วนหนึ่งเรื่องราวดราม่ามักเกิดจากเหตุผลนี้ แต่อีกส่วนหนึ่งที่คงต้องยอมรับความจริงคือ เรื่องดราม่าบางเรื่อง แม้จะมีเศษเสี้ยวของความน่าสนใจเพียงกระผีกริ้น แต่อาจให้ผลในทางตรงกันข้าม เพราะเมื่อใดก็ตามที่สื่อหลักเข้ามาหยิบจับเรื่องราวดราม่าที่กำลังเป็นข่าวอยู่ในขณะนั้นไปตีแผ่ขยายความ ไม่ว่าจะเพื่อสนองความอยากรู้อยากเห็นของคนเสพข่าว หรือเพียงเพื่อต้องการขายข่าวก็ตาม แทนที่เรื่องดราม่านั้นจะจบอยู่ที่คนสองคนที่เป็นคู่กรณี กลับถูกสื่อบางสำนักทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่

ผู้มาร่วมงานปาร์ตี้แห่งหนึ่งยกโทรศัพท์สมาร์ตโฟนขึ้นถ่ายรูปและและรายงานสดให้เพื่อนผู้พลาดงานได้สัมผัสบรรยากาศความสนุกสนาน ความแพร่หลายของอินเทอร์เน็ตในปัจจุบันทำให้การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเป็นไปได้อย่างรวดเร็วจนหลายคนบอกว่า นี่เป็นยุคที่ทุกคนมีสื่อเป็นของตัวเอง ซึ่งหลายครั้งสามารถรายงานได้เร็วกว่าสื่อกระแสหลักด้วยซ้ำ

ฉันไม่ได้วิ่งเล่นในทุ่งดอกลาเวนเดอร์ หรือเฝ้ารอม้ายูนิคอร์น เพราะสำหรับฉันมองว่า  การใช้โซเชียลมีเดียมากเกินพอดีอาจทำให้วิจารณญาณของผู้ใช้ลดลง  ผศ.ดร.วิกานดาให้ความเห็นอย่างน่าสนใจ และทำให้ฉันมองโลกโซเชียลในมุมที่เป็นกลางมากขึ้นว่า “ถ้าบุคคลหนึ่งใช้โซเชียลมีเดียเพื่อก่อประโยชน์ อาจจะเป็นการศึกษาหาข้อมูลเรื่องที่เป็นสาระ  ติดตามเพจที่มีคุณภาพ ก็อาจช่วยเพิ่มพูนความรู้  เพิ่มวิจารณญาณให้บุคคลนั้นมากขึ้น แต่ในทางกลับกัน หากเป็นการใช้โซเชียลมีเดียในแง่ลบหรือใช้เพื่อความบันเทิงอย่างเดียว  อาจจะไม่ได้อะไรเลย ทั้งนี้ต้องดูจุดมุ่งหมายในการใช้งาน ยิ่งใช้มาก ยิ่งเรียนรู้มาก แต่หากใช้ในทางที่ไม่ก่อประโยชน์เลย ก็อาจส่งผลในแง่ลบได้”

โซเชียลมีเดียกลายเป็นอีกเครื่องมือชิ้นใหม่ในการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน เมื่อคนอ่านหนังสือพิมพ์ นิตยสารน้อยลง ดูทีวีน้อย แต่กลับออนไลน์และใช้ชีวิตอยู่ในสังคมโซเชียลมากขึ้น สื่อหลายค่ายพยายามปรับเปลี่ยนแพลตฟอร์มมาสู่การเป็นสื่อออนไลน์อย่างเต็มตัว  ทั้งในรูปแบบของแอแพลิเคชั่นข่าว ทีวีออนไลน์ หรือแฟนเพจ เพื่อให้ผู้รับสารไม่พลาดความเป็นไปบนโลกใบนี้

สังคมไทยจะเป็นกระจกสะท้อนได้อย่างดี หากผู้ใช้โซเชียลมีเดียขาดสติยั้งคิด ในห้วงยามที่เทคโนโลยีพัฒนารุดหน้าไปไกลมากขึ้นเท่าไร สิ่งที่จะต้องถูกพัฒนาไปแบบคู่ขนานหรือล้ำหน้าไปมากกว่า คือ “สติปัญญา”ของคน เพื่อให้เราอยู่ในสังคมโซเชียลที่ฉาบฉวยได้อย่างฉลาดและรู้เท่าทัน

 

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.