มนตราแห่งนครที่สาบสูญ

เรื่อง ดักลาส เพรสตัน
ภาพถ่าย เดฟ โยเดอร์

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ ปี 2015 เฮลิคอปเตอร์ทหารลำหนึ่งทะยานขึ้นจากลานบินใกล้เมืองกาตากามัส ประเทศฮอนดูรัส บ่ายหน้าไปทางเทือกเขาลามอสกีเตีย เบื้องล่าง เรือกสวนไร่นาค่อยๆแปรเปลี่ยนเป็นลาดเนินสูงชันอาบแสงอาทิตย์ บ้างปกคลุมด้วยป่าดิบชื้น  บ้างถูกแผ้วถางเป็นฟาร์มปศุสัตว์  นักบินมุ่งหน้าไปยังช่องเขาเล็กๆรูปตัววี (V) ฝูงนกยางบินอยู่เบื้องล่าง  ยอดไม้สั่นไหวจากการเคลื่อนไหวของฝูงวานรที่มองไม่เห็นตัว  ที่นี่ไม่มีร่องรอยกิจกรรมใดๆของมนุษย์ นักบินบังคับเครื่องให้โฉบลงด้านข้างก่อนจะลดระดับลง  เป้าหมายคือพื้นที่โล่งริมฝั่งแม่น้ำ

ในกลุ่มผู้ที่ก้าวลงมาจากเฮลิคอปเตอร์มีนักโบราณคดีคนหนึ่งชื่อ คริส ฟิชเชอร์ หุบเขาแห่งนี้อยู่ในภูมิภาคซึ่งเล่าลือกันมาช้านานว่าเป็นที่ตั้งของเมือง “ซิวดัดบลังกา” (Ciudad Blanca) มหานครในตำนานที่สร้างด้วยศิลาสีขาว หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อว่า นครสาบสูญแห่งวานรเทพ  ฟิชเชอร์ไม่เชื่อตำนานเหล่านั้น แต่เชื่อว่าในหุบเขาที่เขาและเพื่อนร่วมงาน เรียกกันง่ายๆว่า ที1 (T1) นี้มีซากปรักนครสาบสูญของจริงซึ่งถูกทิ้งร้างมาอย่างน้อยครึ่งสหัสวรรษ จะว่าไปแล้ว นี่เป็นเรื่องที่เขาแน่ใจด้วยซ้ำ

ในการเดินทางครั้งนี้ ทีมสำรวจใช้เทคนิคที่เรียกว่าไลดาร์ [lidar ย่อมาจาก light detection and ranging หรือการตรวจหาและวัดระยะทางด้วยแสง] เทคนิคนี้ใช้ทำแผนที่นครการากอลของชาวมายาในประเทศเบลีซ ไลดาร์ทำงานด้วยการสะท้อนลำแสงเลเซอร์อินฟราเรดนับแสนๆลำกลับขึ้นมาจากป่าดิบชื้นเบื้องล่าง และบันทึกตำแหน่งของจุดการสะท้อนแสงในแต่ละครั้ง “กลุ่มจุด” สามมิตินี้จะนำไปคำนวณด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อคัดกรองลำแสงที่ปะทะต้นไม้และพุ่มไม้ออก เหลือไว้แต่ภาพที่เกิดจากลำแสงซึ่งส่องลงไปถึงพื้นดิน รวมถึงโครงร่างของสัณฐานทางโบราณคดี

และเพื่อให้การเดินทางง่ายขึ้น เอลกินส์และเบเนนสันว่าจ้างอดีตเจ้าหน้าที่จากหน่วยปฏิบัติการพิเศษทางอากาศของอังกฤษ (British Special Air Service: SAS) สามคนซึ่งก่อตั้งบริษัทช่วยนำทีมงานถ่ายทำภาพยนตร์เข้าไปในพื้นที่อันตราย เฮลิคอปเตอร์นำพวกเขามาปล่อยล่วงหน้าเพื่อปรับพื้นที่สำหรับลงจอดและตั้งค่ายพักแรมโดยใช้มีดพร้าและเลื่อยยนต์ ขณะที่เฮลิคอปเตอร์กลับไปยังกาตากามัสเพื่อรับฟิชเชอร์กับคนอื่นๆมาสมทบ แอนดรูว์ “วูดดี้” วูด หัวหน้าทีมช่วยเหลือ เล่าให้ผมฟังในภายหลังว่า ขณะที่พวกเขาทำงาน สัตว์ป่าต่างๆ ทั้งสมเสร็จ ไก่ป่า และลิงแมงมุม เดินไปมาอยู่แถวนั้นหรือจับกลุ่มกันอยู่บนต้นไม้ ไม่มีท่าทีว่าจะเกรงกลัวเลย

ในภูมิภาคลามอสกีเตียของฮอนดูรัส แอนดรูว์ วูด อดีตเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษทางอากาศของอังกฤษ ใช้มีดพร้าแผ้วถางทางสู่ซากปรักนครก่อนยุคโคลัมบัส ซึ่งตรวจพบครั้งแรกจากทางอากาศโดยอาศัยเทคโนโลยีที่เรียกว่า “ไลดาร์”

วูดเลือกที่ราบขั้นบันไดยกระดับด้านหลังลานลงจอดเป็นที่ตั้งแคมป์หลักท่ามกลางต้นไม้สูงใหญ่ จะเข้าไปได้ต่อเมื่อข้ามสะพานไม้ซุงซึ่งทอดข้ามแอ่งโคลนและปีนขึ้นตลิ่งไปอีก เขาห้ามทุกคนออกจากที่พักโดยไม่มีผู้คุ้มกันเพราะเกรงอันตรายจากงูโบทรอปส์เกล็ดสันซึ่งมักเรียกกันว่า “งูพิษร้ายสุดยอด” ทว่าฟิชเชอร์ไม่อดทนพอ เขาคุ้นเคยกับงานภาคสนามเสี่ยงอันตรายดี จึงประกาศว่าจะออกไปสำรวจตามลำพัง บ่ายคล้อยวันนั้น วูดจึงยินยอมให้ทีมออกไปสำรวจ ซากปรักอย่างคร่าวๆ ทีมที่ล่วงหน้าไปก่อนรวมกลุ่มกันอยู่บนฝั่งแม่น้ำ ต่างคนต่างสวมสนับแข้งกันงูและทายากันแมลง อุปกรณ์จีพีเอสที่ฟิชเชอร์ดาวน์โหลดแผนที่จากไลดาร์ไว้แสดงตำแหน่งของเขาโดยสัมพันธ์กับซากปรักที่คาดว่ามีอยู่

ฟิชเชอร์ดูทิศทางจากอุปกรณ์จีพีเอสแล้วตะโกนบอกวูด ซึ่งใช้มีดพร้าฟันพุ่มเฮลิโคเนียหนาทึบเปิดทางให้ เราลุยข้ามแอ่งโคลนสองแห่ง แห่งหนึ่งมีโคลนลึกถึงต้นขา ปีนขึ้นตลิ่งสูงบนที่ราบน้ำท่วมถึง และเดินไปจนถึงตีนเนินสูงชันที่มีป่าทึบปกคลุม นี่คือชายขอบของสิ่งที่น่าจะเป็นเมือง “ขึ้นไปบนยอดกันเถอะ” ฟิชเชอร์เอ่ยปากชวน

เราปีนขึ้นไปบนลาดเนินลื่นๆที่มีใบไม้ทับถม ตรงยอดเนินที่พืชพรรณขึ้นหนาทึบ ฟิชเชอร์ชี้ให้เห็นแอ่งรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าซึ่งเขาเชื่อว่าเป็นเค้าโครงของสิ่งก่อสร้าง ออสการ์ เนย์ล กรุซ หัวหน้าแผนกโบราณคดีของสถาบันมานุษยวิทยาและประวัติศาสตร์ฮอนดูรัส คุกเข่าลงมองดูให้ชัดๆ  เขาค้นพบสิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นหลักฐานของสิ่งก่อสร้างแบบใช้ดินอัด ซึ่งสนับสนุนความคิดที่ว่า นี่คือพีระมิดที่สร้างด้วยดิน

ท่ามกลางซากปรักหักพัง นักโบราณคดีพบวัตถุหินจำนวนมากซึ่งอาจวางไว้เป็นเครื่องเซ่นสรวง วัตถุเหล่านี้มีโถประดับรูปนกแร้งและงูรวมอยู่ด้วย

ฟิชเชอร์กับวูดนำทีมลงจากพีระมิด มุ่งหน้าไปยังที่ซึ่งฟิชเชอร์หวังว่าจะเป็น “ลานจัตุรัส” หรือพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่หนึ่งในสิบแห่งของเมือง พอไปถึง เราก็พบผืนป่าดิบชื้นที่มีลักษณะราบเรียบผิดธรรมชาติราวกับสนามฟุตบอล มีเนินดินเป็นแนวยาวล้อมอยู่สามด้าน นั่นคือซากปรักของกำแพงและอาคาร ร่องน้ำเซาะสายหนึ่งตัดผ่านลานจัตุรัสแห่งนี้ เผยให้เห็นผิวหน้าลานที่ปูด้วยหิน  เมื่อเดินข้ามไปยังฝั่งตรงข้ามของลาน  เราพบก้อนหินแบนๆเหมือนเป็นแท่นบูชาแถวหนึ่งวางอยู่บนก้อนหินมนใหญ่สีขาวที่จัดเรียงเป็นสามเส้า  แต่ต้นไม้หนาทึบยังคงบดบังสายตาของเรา ทำให้ไม่สามารถคะเนผังหรือขนาดของนครโบราณแห่งนี้ได้ เมื่อดวงอาทิตย์ใกล้จะลับขอบฟ้า เราจึงพากันกลับแคมป์

เราตื่นขึ้นเช้าวันถัดมาและเริ่มออกสำรวจกันอีกครั้ง เสียงครืนครั่นที่ดังมาจากยอดไม้เบื้องบนบอกให้รู้ว่าฝนกำลังจะตกหนัก หลายนาทีต่อมา ฝนจึงตกถึงพื้น ไม่นานเนื้อตัวเราก็เปียกโชก

ฟิชเชอร์ถือมีดพร้าเดินมุ่งหน้าไปทางเหนือกับเนย์ลและควน การ์ลอส เฟร์นันเดซ-ดีอัซ วิศวกรไลดาร์ของทีม เพื่อทำแผนที่ลานจัตุรัสอื่นๆของเมือง ขณะที่แอนนา โคเฮน นักศึกษาปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน และอาลีเซีย กอนซาเลซ นักมานุษยวิทยาของทีมสำรวจ ปักหลักอยู่ข้างหลังเพื่อถางพื้นที่บริเวณที่มีก้อนหินเรียงกันอยู่ให้เตียนโล่ง พอตกบ่าย ฟิชเชอร์และทีมก็กลับมาหลังจากทำแผนที่ลานจัตุรัสได้อีกสามแห่งและเนินดินอีกหลายแห่ง ทุกคนดื่มชาร้อนใส่นมคนละถ้วยท่ามกลางสายฝน วูดบอกให้ทุกคนกลับที่พักเพราะเกรงว่าระดับน้ำในแม่น้ำอาจสูงขึ้น ทีมสำรวจจึงเดินเรียงเดี่ยวกลับไป ทันใดนั้น ช่างภาพ ลูเชียน รี้ด ที่เดินอยู่เกือบรั้งท้ายก็ตะโกนขึ้น

“เดี๋ยวก่อน ตรงนี้มีก้อนหินแปลกๆด้วยนะ”

ตรงฐานของพีระมิด ยอดประติมากรรมหินที่สลักเสลาอย่างงดงามหลายสิบชิ้นโผล่ขึ้นมาจากพื้นดิน วัตถุที่พวกเขามองผ่านม่านใบไม้และเถาวัลย์ ทั้งยังมีมอสส์ขึ้นปกคลุม ค่อยๆปรากฏเป็นรูปเป็นร่างในแสงสลัวยามสนธยาของป่าทึบ แลเห็นเป็นหัวเสือจากัวร์ที่กำลังแยกเขี้ยว ภาชนะศิลาประดับรูปหัวนกแร้ง โถขนาดใหญ่สลักลวดลายรูปงู และวัตถุอีกชุดหนึ่งลักษณะคล้ายบัลลังก์หรือโต๊ะที่มีการประดับประดา ซึ่งนักโบราณคดีเรียกว่า เมตาเต (metate) ศิลปวัตถุทุกชิ้นอยู่ในสภาพสมบูรณ์ น่าจะยังไม่มีใครแตะต้องตั้งแต่ถูกทิ้งไว้เมื่อหลายศตวรรษก่อนลย

มอสกีเตียครอบคลุมพื้นที่ 50,000 ตารางกิโลเมตรในประเทศฮอนดูรัสและนิการากัว เป็นป่าดิบชื้นผืนใหญ่ที่สุดในอเมริกากลาง และเป็นหนึ่งในพื้นที่แห่งท้ายๆ บนโลกที่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่เคยเข้าไป

“นี่เป็นการจัดวางวัตถุในพิธีกรรมสำคัญครับ” ฟิชเชอร์อธิบาย “แทนที่จะเก็บไว้เป็นมรดกตกทอดในครอบครัว พวกเขากลับนำข้าวของเหล่านี้มาวางทิ้งไว้ที่นี่ บางทีนี่อาจเป็นเครื่องเซ่นสรวงก็ได้ครับ”

วันต่อๆมา ทีมนักโบราณคดีบันทึกวัตถุแต่ละชิ้นในตำแหน่งเดิม ขณะที่เฟร์นันเดซก็ติดตั้งเครื่องไลดาร์บนสามขาเพื่อสแกนศิลปวัตถุแล้วสร้างภาพสามมิติของแต่ละชิ้นขึ้นมา ไม่มีการแตะต้อง ไม่มีการเคลื่อนย้ายใดๆทั้งสิ้น จนกว่าจะถึงคราวหน้า เมื่อทีมสำรวจกลับมาพร้อมกับเครื่องมือและเวลาที่เหมาะสม

ขณะที่ผมเขียนสารคดีเรื่องนี้ มีการวางแผนการสำรวจอีกครั้งซึ่งครอบคลุมพื้นที่บริเวณกว้างกว่าเดิมและได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลฮอนดูรัสอย่างเต็มที่ ด้วยความที่ถูกรุมเร้าด้วยปัญหาการลักลอบขนยาเสพติดและความรุนแรงที่ตามมา ฮอนดูรัสจึงเป็นประเทศยากจนที่ต้องการข่าวดีอย่างเร่งด่วน ซิวดัดบลังกาหรือนครสีขาวอาจเป็นตำนานเล่าขาน ทว่าอะไรก็ตามที่ช่วยให้ตำนานเรื่องนี้ใกล้ความเป็นจริงขึ้นมาย่อมสร้างความตื่นเต้นให้ได้อย่างมโหฬาร นี่คือความภูมิใจร่วมกัน เป็นการยืนยันถึงความเชื่อมโยงระหว่างผู้คนกับอดีตก่อนยุคโคลัมบัส เมื่อทราบข่าวการค้นพบกรุสมบัติดังกล่าว ควน ออร์ลันโด เอร์นันเดซ ประธานาธิบดีฮอนดูรัส ก็สั่งให้จัดตั้งหน่วยทหารไปประจำการที่แหล่งโบราณคดีแห่งนี้ตลอดเวลาเพื่อเฝ้าระวังพวกลักลอบขุดสมบัติ หลายสัปดาห์ต่อมา เขานั่งเฮลิคอปเตอร์ไปดูด้วยตาตนเอง และให้คำมั่นว่ารัฐบาลของเขาจะทำ “ทุกอย่างที่ทำได้” ไม่เพียงเพื่อสานต่อการสำรวจและปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมของหุบเขาแห่งนี้    แต่ยังรวมถึงมรดกทางนิเวศวิทยาของภูมิภาคโดยรอบด้วย

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.