เวลาแห่งการประจักษ์ 17.40 น. ณ โบถส์น้อยแห่งพระศาสนจักรโรมันคาทอลิกแห่งหนึ่งที่ในบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา อีวาน ดราจีเซวิก คุกเข่าลงหน้าแท่นบูชา น้อมศีรษะลงครู่หนึ่ง รอยยิ้มค่อยๆ ปรากฏบนใบหน้า เขาเงยหน้าขึ้นมองสรวงสวรรค์ เริ่มกระซิบกระซาบ ฟังอย่างตั้งใจ แล้วกระซิบอีกครั้ง บทสนทนาประจำวันของเขากับแม่พระผู้นิรมลเริ่มขึ้นแล้ว
ดราจีเซวิกเป็นเด็กเลี้ยงแกะยากจนคนแรกในหกคนที่ให้ปากคำว่า เห็นภาพนิมิตของแม่พระผู้นิรมลเมื่อปี 1981พระแม่ทรงปรากฏพระองค์ต่อเด็กสาวสี่คนและเด็กหนุ่มสองคนในฐานะ “ราชินีแห่งสันติภาพ” และส่งข้อความแรกในหลายพันข้อความ ชี้แนะให้ผู้มีศรัทธาหมั่นสวดภาวนาและขอให้คนบาปสำนึกผิด ตอนนั้นดราจีเซวิกอายุ 16 ปี และเมดจูกอเรเป็นหมู่บ้านในยูโกสลาเวียที่ปกครองโดยคอมมิวนิสต์ ยังไม่ใช่ศูนย์กลางปาฏิหาริย์แห่งการรักษาและการกลับใจที่ดึงดูดผู้จาริกแสวงบุญ 30 ล้านคนในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา
ฉันอยู่ที่เมดจูกอเรกับชาวอเมริกันกลุ่มหนึ่ง ส่วนใหญ่เป็นคุณพ่อจากบอสตันกับชายสองหญิงสองที่ป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย เรามีอาร์เทอร์ บอยล์ คุณพ่อลูก 13 วัย 59 ปีเป็นผู้นำ บอยล์มาที่นี่ครั้งแรกเมื่อปี 2000 พร้อมกับมะเร็งที่กระจายไปทั่วร่างและเวลาที่เหลืออีกไม่กี่เดือน เขารู้สึกหดหู่สิ้นหวังและคงไม่มาถ้าเพื่อนสองคนไม่เคี่ยวเข็ญ แต่คืนแรกที่มาถึง หลังจากแวะไปสารภาพบาป เขาก็รู้สึกปลอดโปร่งโล่งใจในทันที
“ความกังวลและความเศร้าหมองหายเป็นปลิดทิ้งเลยครับ” เขาเท้าความหลัง “เหมือนยกภูเขาออกจากอกยังไงยังงั้นเลยครับ เหลือแต่ความโล่งเบาสบาย”
เช้าวันรุ่งขึ้น เขากับเพื่อนสองคน คือร็อบและเควิน ไปพบ “ผู้เห็นแม่พระประจักษ์” อีกคนหนึ่งที่ชื่อวิกคา อีวานโควิก-มียาโทวิก และขอให้เธอช่วย เธอใช้มือข้างหนึ่งจับศีรษะเขาไว้ แล้วสวดอ้อนวอนให้แม่พระผู้นิรมลทูลขอให้พระเจ้ารักษาเขา บอยล์บอกว่าเขาสัมผัสได้ถึงความรู้สึกแปลกๆ “เธอเริ่มอธิษฐาน ร็อบกับเควินเอามือจับผมไว้ และความร้อนจากการอธิษฐานของเธอที่ส่งเข้ามาในตัวผมก็ทำเอาพวกเขาเหงื่อแตกพลั่กเลยครับ”
เมื่อเดินทางกลับบอสตันในสัปดาห์ต่อมา ผลซีทีสแกนที่โรงพยาบาลแมสซาชูเซตต์สเจเนอรัลบอกว่า เนื้องอกของเขาหดหายจนแทบไม่เหลือเลย
ตั้งแต่นั้น บอยล์กลับมาที่หมู่บ้านนี้แล้ว 13 ครั้ง “ผมก็เหมือนผู้ชายทั่วๆไปละครับ ชอบเล่นฮอกกี ดื่มเบียร์ และตีกอล์ฟด้วย” เขาบอก แต่ทุกวันนี้ บอยล์ยอมรับว่า เขากลายเป็น “เหมือนกระบอกเสียงให้กับพลังแห่งการบำบัดโรคของพระเยซูคริสต์ และแน่นอนว่าต้องรวมถึงแม่พระกับพลังในการอธิษฐานวิงวอนของพระองค์ด้วย”
การสวดภาวนาขอให้แม่พระผู้นิรมลอธิษฐานวิงวอนถึงพระเจ้า และการอุทิศตนเพื่อพระองค์ คือปรากฏการณ์ที่พบได้ทั่วโลก แนวคิดเรื่องพระแม่มารีย์ในฐานะผู้อธิษฐานวิงวอนพระเยซูคริสต์ เริ่มจากเหตุอัศจรรย์เรื่องเหล้าองุ่นในงานสมรสที่หมู่บ้านกานาดังปรากฏตามท้องเรื่องในพระวรสารนักบุญยอห์น พระแม่ตรัสแก่พระเยซูว่า “พวกเขาไม่มีเหล้าองุ่น” พระเยซูจึงทรงแสดงอัศจรรย์ครั้งแรก กระทั่งเวลาล่วงเลยมาจนถึง ค.ศ. 431 ที่ประชุมสภาสังคายนาสากลครั้งที่สาม ณ เมืองเอเฟซัสจึงมอบตำแหน่งทีโอโตกอส (Theotokos – Mater Dei) หรือพระมารดาพระเจ้าแด่พระนางอย่างเป็นทางการ นับแต่นั้นก็ไม่มีสตรีนางใดที่ได้รับการเทิดทูนเทียบเท่าพระนางอีกแล้ว ในฐานะสัญลักษณ์สากลของความรักแห่งมารดา ตลอดจนการทนทุกข์และการอุทิศตน พระแม่มารีย์เป็นจุดเชื่อมโยงกับสิ่งเหนือธรรมชาติที่เข้าถึงง่ายกว่าคำสอนอย่างเป็นทางการของพระศาสนจักร เสื้อคลุมของพระแม่ทั้งโอบอุ้มและคุ้มภัย เมื่อมีคนถามว่า พระแม่มารีย์มีความหมายอย่างไรต่อพระองค์ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสตรัสตอบว่า “ทรงเป็น แม่ ของเรา”
พระแม่มารีย์ปรากฏพระองค์อยู่ทุกหนแห่ง ทรงเป็นที่มาของชื่อดอกมารีโกลด์ ภาพจากโบสถ์แม่พระกวาดาลูเปเป็นหนึ่งในภาพเหมือนสตรีที่ผลิตซ้ำมากที่สุดภาพหนึ่งของโลก ในแต่ละปี ทรงนำพาผู้คนหลายล้านไปยังสักการสถานต่างๆ เช่น ที่ฟาติมาในโปรตุเกส ที่น็อกในไอร์แลนด์ หล่อเลี้ยงกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงศาสนาที่คาดว่ามีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี และสร้างงานหลายพันตำแหน่ง ทรงเป็นแรงบันดาลใจของงานศิลปะและสถาปัตยกรรมยิ่งใหญ่หลายชิ้น ตลอดจนกวีนิพนธ์ บทสวด และดนตรี ทั้งยังทรงเป็นที่พึ่งทางจิตวิญญาณของผู้คนหลายพันล้านคน
ชาวมุสลิมและชาวคริสต์ถือว่า พระแม่มารีย์ทรงสูงศักดิ์กว่าสตรีใดในโลกหล้า และพระนาม “มีรยัม” ก็ปรากฏในคัมภีร์อัลกุรอานบ่อยกว่า “มารีย์” ในพระคริสตธรรมคัมภีร์เสียอีก
ถึงกระนั้น เบาะแสเกี่ยวกับชีวิตของพระนางกลับหายากยิ่ง นักวิชาการเกี่ยวกับพระแม่มารีย์ต้องค้นหาจากพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม เอกสารหรือต้นฉบับสมัยศตวรรษที่หนึ่งจากแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ และการขุดค้นทางโบราณคดี
พระคัมภีร์บอกเราว่า พระนางมารีย์อาศัยอยู่ที่เมืองนาซาเรทช่วงที่ชาวโรมันมีอำนาจเหนือดินแดนของชาวยิว เมื่อพระนางตั้งครรภ์ คู่หมั้นที่เป็นช่างไม้ชื่อโยเซฟคิดจะทิ้งพระนางไปเงียบๆ กระทั่งทูตสวรรค์มาเข้าฝันและห้ามไว้ กำเนิดของพระกุมารเยซูมีการเอ่ยถึงในพระวรสารเพียงสองฉบับ คือพระวรสารนักบุญลูกาและพระวรสารนักบุญมัทธิว ส่วนพระวรสารนักบุญมาระโกและพระวรสารนักบุญยอห์นก็กล่าวถึงพระมารดาของพระเยซูคริสต์หลายครั้ง
บาทหลวงเบอร์ทรันด์ บูบี ผู้เขียนงานวิจัยสามเล่มจบ เรื่อง มารีย์แห่งแกลิลี และอาจารย์ผู้ทรงเกียรติคนหนึ่งจากสถาบันวิจัยมารีย์นานาชาติ มหาวิทยาลัยเดย์ตัน ในรัฐโอไฮโอ บอกว่า เหล่าอัครสาวกเขียนพระวรสารหลังพระเยซูสิ้นพระชนม์ไปแล้วประมาณ 40 ถึง 65 ปี และไม่มีใครเป็นนักเขียนชีวประวัติเลย “ฉะนั้น อย่าคาดหวังเลยครับว่า พวกเขาจะเล่าประวัติทั้งหมดของพระนางมารีย์ เราปะติดปะต่อชีวิตของพระนางจากที่โน่นนิดที่นี่หน่อยครับ”
ความที่เรารู้จักพระแม่มารีย์จากพระคัมภีร์น้อยมาก “เราจึงใส่คุณค่าทางวัฒนธรรมให้พระแม่มารีย์อย่างไรก็ได้” เอมี-จิลล์ ลีไวน์ อาจารย์ด้านยิวศึกษาและพระคริสตธรรมภาคพันธสัญญาใหม่จากมหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลต์ อธิบาย นี่คือสิ่งที่นักวิชาการทางศาสนาบางคนเรียกว่า “การปรุงแต่งทางวัฒนธรรม” ลีไวน์เสริมว่า “พระแม่มารีย์อาจเป็นมารดาผู้ระทมทุกข์ สาวน้อยพรหมจรรย์ หรือเทพธิดาก็ได้ พระเยซูเป็นชายในอุดมคติฉันใด พระแม่มารีย์ก็เป็นหญิงในอุดมคติฉันนั้นค่ะ”
เรื่อง มัวรีน ออร์ท
ภาพถ่าย ไดแอนา มาร์โคเซียน