โลกหลงใหลของนักสะสม

เรื่อง ยศธร ไตรยศ
ภาพถ่ายชลิต สภาภักดิ์

หลงใหลความสุข        

ผมและเพื่อนช่างภาพมีนัดกันที่คาเฟ่เล็กๆ แห่งหนึ่งย่านเกษตร-วังหิน ครั้งแรกที่เดินเข้าไปในร้านผมบอกกับเพื่อนช่างภาพว่า “ที่นี่น่าถ่ายรูปจริงๆ” เพราะมีตุ๊กตาหมีมากมายจัดวางตกแต่งอย่างลงตัวจนแทบไม่เหลือพื้นที่ให้สิ่งแปลกปลอมอย่างอื่นแทรกเข้าไป แทบจะเรียกได้ว่าที่นี่คืออาณาจักรตุ๊กตาหมี

ธนาภรณ์ ประดับพลอย เจ้าของร้าน Retro Bear Cafe เล่าให้เราฟังถึงที่มาของร้านว่า “เริ่มจากการเป็นคนที่ชอบตุ๊กตาหมีมาก ก็เลยเก็บสะสมมาเรื่อยๆ จนรู้ตัวอีกทีบ้านก็กลายเป็นที่อยู่ของหมีไปแล้ว”  แววตาของเธอฉายแววความรัก “จนถึงจุดหนึ่งเราคิดว่าน่าจะลองเอามาทำอะไรสักอย่างดู เพราะตอนที่อยู่ที่บ้าน เพื่อนๆ ญาติๆ ที่มาเห็นก็จะพูดเหมือนๆ กันว่า‘เยอะจนออกทีวีได้เลยนะ’ แล้วเราเองก็สนใจอยากมีร้านเล็กๆ ของตัวเองอยู่แล้ว เลยตัดสินใจเอาตุ๊กตาที่เก็บมาตั้งแต่สมัยเด็กๆ มาเป็นของตกแต่ง”

กระนั้นความสุขอีกอย่างหนึ่งซึ่งเธอคาดไม่ถึง คือที่นี่ค่อยๆกลายเป็นแหล่งรวมของคนที่มีใจรักตุ๊กตาหมีเช่นเดียวกับเธอ “เป็นความสุขอย่างหนึ่ง เมื่อที่นี่เป็นเหมือนสถานที่สำหรับพบปะพูดคุยของคนคอเดียวกัน คือคนรักตุ๊กตาหมี”

 

หลงใหลธรรมชาติ

สมชาย ปาทาน เป็นนักสะสมหัวกะโหลกและเขาควาย เขาเติบโตมาในครอบครัวมุสลิมที่ทำโรงฆ่าสัตว์ ตั้งแต่เด็กจนโตสมชายเห็นหัววัวและควายมานับแสนหัว เพราะต้องไปตลาดค้าวัวควายกับพ่อ เมื่ออายุมากขึ้นก็เริ่มเก็บสะสมหัววัวและควายที่พ่อมอบให้ จนทุกวันนี้หัวกระโหลกวัวและควายกว่า 800 หัวตั้งเรียงรายในโกดังจนเต็ม“อยู่กับมันมาตลอด จนกลายเป็นความชอบ เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตครับ”เขาบอกนอกจากสะสมแล้ว สมชายยังจำหน่ายหัวกระโหลกเหล่านี้สำหรับผู้ที่ต้องการนำไปประดับบ้านอีกด้วย

แนวคิดในการสะสมของสมชายเน้นที่ลักษณะเขาที่ต้องแปลก เช่นความยาวหรือความคด เขามองว่าความแปลกนั้นเกิดจากธรรมชาติและเป็นเสน่ห์ของเขาสัตว์ด้วยเหตุนี้เขาจึงตระเวนไปทั่วประเทศเพื่อเสาะหาเขาสัตว์ กระนั้นเขายืนยันว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับของที่ผิดกฎหมายเด็ดขาด“ผมไม่สะสมหัวกระทิง เก้ง กวางหรือสัตว์ป่าอื่นๆ เพราะมันไม่ใช่สัตว์ที่คนกินเนื้อเป็นอาหารตามปกติ ถ้าเราอยากได้ ต้องสั่งฆ่า แต่วัวควายพวกนี้ถูกเลี้ยงมาเป็นอาหาร หัวของพวกมันถ้าผมไม่เอามาก็จะถูกนำไปบดทำผงชูรส ผมเอามันมาใช้ให้เกิดประโยชน์โดยการเพิ่มมูลค่าครับ”

สมชายทิ้งท้ายว่าแม้ของสะสมกับสิ่งที่เขาขายเพื่อนำรายได้มาใช้ยังชีพจะเป็นสิ่งเดียวกัน แต่นั่นไม่ได้ทำให้จิตวิญญาณนักสะสมในตัวเขาแตกต่างจากของนักสะสมคนอื่นๆ สมชายยืนยันว่าเขาวัวควายหลายชิ้นในร้านไม่ได้มีไว้สำหรับขายบางชิ้นเขานำมาตั้งแสดงเพื่อให้คนที่แวะมาเยี่ยมชมได้เห็นถึงความสวยงามแปลกตาที่ธรรมชาติสร้างขึ้น ซึ่งเขาไม่มีทางขายออกไปอย่างเด็ดขาด  ด้วยเหตุผลที่ว่าไม่สามารถหาชิ้นใหม่มาทดแทนได้

หลงใหลรส

เราลงความเห็นกันว่าการไปพบธวัชชัย วิบูลจันทร์ ที่บ้านย่านพุทธมณฑลควรใช้บริการรถสาธารณะ และไม่ควรขับรถมาธวัชชัยเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ(Biotechnology)มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เป็นนักสะสมเบียร์ตัวยงของประเทศไทย ทุกวันนี้ เขารับผิดชอบสอนวิชาเกี่ยวกับการหมักเบียร์ให้กับภาควิชา และเป็นเจ้าของเพจTrust me, I’m a “Beerotechnologist”ที่สรรหาสารพัดเบียร์จากทุกมุมโลกมาอวดทุกวัน ภายในห้องนอนของเขา ราวกับโลกส่วนตัวที่ถูกยึดครองด้วยตู้กระจกและสารพัดขวดเบียร์ (ยังมีน้ำเบียร์) ที่เรียงรายจนเต็ม

“ทั้งหมดเริ่มจากตอนที่ผมยังเป็นนักศึกษาปีสาม มีโอกาสได้ลองดื่มเบียร์สัญชาติเยอรมันยี่ห้อหนึ่ง จำความรู้สึกตอนนั้นได้ว่าโคตรอร่อย อร่อยที่สุดตั้งแต่เคยดื่มมา” ธวัชชัยหรืออาจารย์ต้นเล่าอย่างตื่นเต้นราวกับเรื่องราวต่างๆเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน นั่นคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้เด็กหนุ่มคนหนึ่งสนใจและศึกษาเรื่องราวของเครื่องดื่มที่มีผู้ดื่มมากที่สุดอันดับสามของโลก (รองจากน้ำเปล่าและชา) อย่างจริงจัง

อาจารย์ต้นยืนยันว่าเขาเป็นเพียงนักชิมไม่ใช่นักดื่ม “ชิมเพื่อให้รู้ถึงกลิ่นและรสชาติของมัน และทั้งหมดนั่นก็อธิบายไปถึงกระบวนการผลิตได้ว่าซับซ้อนและยุ่งยากเพียงใด” แน่นอน เขามักจะได้รับโอกาสในการทดลองชิมเบียร์ยี่ห้อใหม่ก่อนใครเสมอ ด้วยเหตุผลที่ทางผู้นำเข้าอยากทราบความคิดเห็นของเขา “ผมเป็นนักชิมแต่ผมไม่ใช่นักรีวิว ผมไม่พรรณนาถึงรสชาติใดๆลงในโซเชียลมีเดีย ผมไม่อยากถูกมองว่าทำโฆษณา หากอยากรู้คุยกันได้เป็นการส่วนตัว”

หลงใหลความวิจิตร

เป็นที่รู้กันในหมู่นักสะสมของเก่าว่า พลตำรวจเอก สันต์ ศรุตานนท์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นนักสะสมของเก่าที่มีคอลเลคชั่นงานฝีมือระดับวิจิตรจำนวนนับไม่ถ้วน มูลค่ามหาศาลและหลายชิ้นมีอยู่เพียงไม่กี่ชิ้นในโลก เขาเข้าสู่โลกการสะสมโดยการรับมรดกของเก่าจากพลตำรวจเอก กระเษียร ศรุตานนท์ อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจผู้เป็นลุงตั้งแต่เขายังอายุ 25 ปี นับแต่นั้นนายตำรวจหนุ่มจึงตัดสินใจดำเนินรอยตามพร้อมกับต่อยอดคอลเลคชั่นของสะสมจนเพิ่มขึ้นอย่างมากมายกระทั่งปัจจุบัน

ในบรรดาของสะสมนับพันนับหมื่นชิ้นนั้น “หอยสังข์” นับเป็นหนึ่งในสุดยอดของสะสมที่นักสะสมของเก่าลงความเห็นว่ามีมูลค่าและความหายากในระดับท็อป ซึ่งพลตำรวจเอกสันต์ น่าจะเป็นผู้ครอบครองมากที่สุดในประเทศไทย (และแน่นอนมูลค่าสูงมหาศาล)หอยทะเลกาบเดี่ยวเหล่านี้ใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาและในราชสำนักหลายประเทศ ซึ่งผ่านการตกแต่งจากช่างฝีมือจนสวยงาม มีการประดับทองและอัญมณีจนวิจิตรและหามูลค่าไม่ได้ หอยสังข์ที่ใช้ในพิธีกรรมแบ่งเป็นสองประเภท คือสังข์เป่าและสังข์รดน้ำ

ผมพยายามถามพลตำรวจเอกสันต์ถึงที่มาและมูลค่าของสังข์เหล่านั้น แต่ถูกปฏิเสธด้วยเหตุผลที่ว่าอยากสงวนความเป็นส่วนตัวให้เจ้าของเก่า เขาเปิดเผยเพียงคร่าวๆว่าบางชิ้นใช้กันในราชสำนักของบางประเทศ ส่วนมูลค่ามีความหลากหลายและไม่แน่นอน บางชิ้นราคาไม่สูงนัก บางชิ้นราคาหลายล้านบาท ขึ้นอยู่กับความหายาก ยกตัวอย่างเช่น สังข์รดน้ำเวียนขวา (ปกติสังข์จะเวียนซ้ายตามเข็มนาฬิกาหรือที่เรียกว่า “อุตราวรรต” แต่สังข์ที่เวียนขวาเรียกว่า “ทักษิณาวรรต” ถือว่าเป็นของมงคลและหายากมาก) ที่มีร่องรอยคล้ายกับการถือจับของมือมนุษย์ ในหมู่นักสะสมสังข์เรียกว่า “หัตถ์พระนารายณ์” ซึ่งหายากเป็นอย่างยิ่งตามธรรมชาติ “ขั้นต่ำอยู่ราวๆล้านห้าครับ”เขาอธิบาย

พลตำรวจเอกสันต์ ยืนยันว่า แม้เขาจะมีของสะสมอยู่นับพันนับหมื่นชิ้น แต่นั่นอยู่ในจุดที่ไม่ทำให้เขาลำบาก “ผมอยู่ในจุดที่ผมทำได้ ทำแล้วไม่ลำบาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่วางแผนไม่ใช่ว่าทุ่มสุดตัว ผมใช้เงินร้อยละ 20 ที่ผมมีอยู่ไปกับการสะสม ซึ่งช่วยสร้างความสุขที่ประเมินค่าไม่ได้” เขาบอกว่าในอนาคตอาจมอบของสะสมหลายชิ้นให้ตกเป็นสมบัติของชาติ“ผมตั้งใจจะยกให้แผ่นดิน ให้เป็นสมบัติของชาติ ตั้งใจว่าจะตั้งกองทุนหรือมูลนิธิขึ้นมาดูแลเพราะไม่ต้องการให้เป็นภาระของรัฐเนื่องจากของเหล่านี้มีต้นทุนการดูแลที่สูง ผมจะมอบเงินส่วนหนึ่งสำหรับบริหารจัดการตรงส่วนนี้แยกต่างหาก”

คำกล่าวของพลตำรวจเอกสันต์ ทำให้ผมหวนคิดถึงของสะสมหลายชิ้นที่เคยพบเห็นตลอดการทำสารคดีชิ้นนี้ บางชิ้นเป็นการรำลึกอดีต บางชิ้นเป็นพาหนะล่าความฝัน บางชิ้นมีมูลค่าเอนกอนันต์ กระนั้นวันใดวันหนึ่งผู้ครอบครองเหล่านั้นต้องจากโลกไป และเมื่อนั้นของสะสมอาจกลายเป็นมรดกสมบัติที่มีค่ามหาศาลหรือข้าวของที่ไร้ค่าขึ้นอยู่กับว่า “นักสะสม” คนใหม่จะโคจรมาพบมันเมื่อใด

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.