ถ้าไม่ทิ้งขว้าง ก็มีเหลือเฟือ

เรื่อง เอลิซาเบท รอยต์
ภาพถ่าย ไบรอัน ฟิงก์

การทิ้งอาหารถือเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม   ทั่วโลกมีคนต้องทนทุกข์จากความหิวโหยอยู่เกือบ 800 ล้านคน ข้อมูลจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติหรือเอฟเอโอระบุว่า  โลกทิ้งอาหารรวมกันถึงปีละ 1,300 ล้านตัน อาหารเหลือทิ้งซึ่งเท่ากับราวหนึ่งในสามของปริมาณที่โลกผลิตได้หายไปไหนกัน  ในประเทศกำลังพัฒนา อาหารปริมาณมากสูญเสียไปหลังการเก็บเกี่ยว เนื่องจากขาดแคลนโรงเก็บผลผลิตและถนนหนทางที่ดี  ตลอดจนไม่ได้ถนอมอาหารด้วยการแช่เย็น ขณะที่ในประเทศพัฒนาแล้ว การทิ้งอาหารเกิดขึ้นในช่วงท้ายๆของห่วงโซ่อุปทาน เมื่อผู้ค้าปลีกสั่งซื้อพืชผลหรือผลิตภัณฑ์อาหารมากเกินไป  และเมื่อผู้บริโภคไม่สนใจอาหารเหลือค้างที่ซุกอยู่ในตู้เย็นหรือโยนอาหารที่เน่าเสียได้ทิ้งไปก่อนหมดอายุ

การทิ้งอาหารยังเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมอีกด้วย การผลิตอาหารที่ไม่มีใครกิน ล้วนแล้วแต่ทำให้สิ้นเปลืองน้ำ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง เมล็ดพันธุ์ เชื้อเพลิง และผืนดินสำหรับเพาะปลูก ในแต่ละปี การผลิตอาหารที่ไม่มีใครกินใช้น้ำรวมกันทั่วโลกเท่ากับปริมาณน้ำที่ไหลตลอดทั้งปีของแม่น้ำวอลกา ซึ่งเป็นแม่น้ำที่มีปริมาณน้ำมากที่สุดในยุโรป ตัวเลขน่าตระหนกนี้ยังไม่รวมการสูญเสียที่เกิดจากเรือกสวนไร่นา เรือประมง และโรงฆ่าสัตว์ ทริสแทรม สจวร์ต ผู้จัดการขององค์กรฟีดแบ็ก (Feedback) ที่รณรงค์ต่อต้านการทิ้งอาหาร กล่าวไว้ในหนังสือเรื่อง ความสูญเปล่า: เปิดโปงเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับอาหารทั่วโลก (Waste: Uncovering the Global Food Scandal) ว่า ในโลกที่มีทรัพยากรจำกัด ขณะที่จำนวนประชากรคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อยสองพันล้านคนเมื่อถึงปี 2050 ความฟุ่มเฟือยเช่นนี้เป็นเรื่องน่ารังเกียจ

ที่งานเลี้ยงในกรุงปารีส เชฟเคี่ยวผักไม่ได้มาตรฐานความสดสวยซึ่งได้มาจากการรวบรวมหรือรับบริจาค ให้เป็นแกงสำหรับเลี้ยงผู้รณรงค์ต่อต้านการทิ้งอาหารให้สูญเปล่า 6,100 คน

ห่างจากกรุงลิมา ประเทศเปรู ไปทางเหนือ 80 กิโลเมตร ในเมืองเกษตรกรรมชื่ออัวราล สจวร์ตนั่งจิบน้ำส้มซะสึมะคั้นสดๆอยู่กับลูอิส การีบัลดี เจ้าของสวนฟุนโดมารีอาลุยซา ซึ่งเป็นสวนส้มแมนดารินขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ สจวร์ตถามว่า คุณส่งออกส้มมากเท่าไร ต้องคัดออกมากน้อยแค่ไหน เพราะอะไร แล้วคุณนำส้มที่คัดออกไปทำอะไร การีบัลดีตอบว่า ผลผลิตของเขาร้อยละ 70 ส่งออกไปยังสหภาพยุโรปและอเมริกาเหนือ  แต่อีกร้อยละ 30 ไม่ได้ขนาด สี หรือความหวานตามต้องการ หรืออาจมีตำหนิ รอยแผล รอยข่วน ถูกแดดเผา มีเชื้อราหรือแมลงกัดกิน ผลผลิตที่คัดออกส่วนใหญ่ส่งไปขายยังตลาดภายในประเทศ ซึ่งทำรายได้ให้เขาเพียงหนึ่งในสามของราคาผลผลิตส่งออก

มาตรฐานการคัดเกรด ทั้งที่ถูกบีบจากอุตสาหกรรมและจากความสมัครใจของเกษตรกรเอง เป็นสิ่งที่กำหนด ขึ้นมานานแล้ว  เพื่อเป็นภาษาร่วมระหว่างผู้ปลูกกับผู้ซื้อในการประเมินผลผลิตและไกล่เกลี่ยข้อพิพาท แน่นอนว่าซูเปอร์มาร์เก็ตมีอิสระที่จะกำหนดมาตรฐานของตัวเองเสมอมา แต่ช่วงปีหลังๆมานี้ ผู้ค้าระดับตลาดบนเริ่มบริหารจัดการแผนกพืชผักสดราวกับเป็นการประกวดนางงาม “นี่เป็นเรื่องของคุณภาพและรูปลักษณ์สินค้าล้วนๆครับ” ริก สไตน์ รองประธานฝ่ายอาหารสดของสถาบันการตลาดด้านอาหาร (Food Marketing Institute) บอก “และรูปลักษณ์ที่ดีที่สุดของสินค้าเท่านั้นที่จะจูงใจให้ลูกค้าควักกระเป๋าซื้อ” ส่วนผลผลิตที่ไม่มีผู้ซื้อจะนำไปบริจาคให้โรงอาหารของโบสถ์หรือ องค์กรการกุศล หรือหั่นแล้วนำไปทำอาหารสำเร็จรูปขายในซูเปอร์มาร์เก็ตหรือขายตามสลัดบาร์  สจวร์ตชื่นชมการรณรงค์ของซูเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งในสหรัฐฯและสหภาพยุโรปเมื่อไม่นานมานี้ ที่ขายผลผลิต “ไม่สวย” ในราคาถูกลง แต่เขาอยากให้มีการแก้ไขอย่างเป็นระบบมากกว่า “จะดีกว่ามากครับ ถ้าเพียงแต่ผ่อนคลายมาตรฐานลง” เขาว่า

ในไร่แห่งหนึ่งใกล้เมืองอาปาร์ตาโด ประเทศโคลอมเบีย ทริสแทรม สจวร์ต นักรณรงค์ต่อต้านการทิ้งอาหารให้ สูญเปล่า ตรวจสอบผลกล้วยที่สั้นไป ยาวไป หรือโค้งงอเกินไปสำหรับตลาดยุโรป

ความกังวลของรัฐบาลนานาประเทศว่าจะหาอาหารมาเลี้ยงดูผู้คนกว่าเก้าพันล้านคนเมื่อถึงปี 2050 ได้อย่างไร ทำให้มีหลายเสียงเรียกร้องให้เพิ่มการผลิตอาหารของโลกขึ้นอีกร้อยละ 70 ถึง 100 ทว่าขณะนี้เกษตรกรรมเป็นหนึ่งในตัวการใหญ่ที่สุดที่คุกคามสุขภาวะของโลกอยู่แล้ว โดยดึงน้ำจืดในโลกไปใช้ถึงร้อยละ 70 ทำให้มีการตัดไม้ทำลายป่าในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนของโลกร้อยละ 80 และก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากน้ำมือมนุษย์ร้อยละ 30 ถึง 35 มิหนำซ้ำ ขณะที่ประชากรเพิ่มขึ้นและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่หันมานิยมบริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นม ซึ่งต้องใช้ธัญพืชและทรัพยากรอื่นๆปริมาณมหาศาลเพื่อให้ได้อาหารที่ให้พลังงานค่อนข้างน้อย ความสูญเสียย่อมมีแต่จะรุนแรงยิ่งขึ้น แต่ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าอาจไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนพื้นที่ป่าให้เป็นไร่นาเพิ่มขึ้น ถ้าเราลดการทิ้งอาหารลงให้มาก เปลี่ยนมากินเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมให้น้อยลง ลดการเปลี่ยนพืชอาหารเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ และเพิ่มผลผลิตในพื้นที่ที่มีผลิตภาพ (productivity) ต่ำกว่าที่ควร เราอาจมีอาหารที่ดีต่อสุขภาพสำหรับเลี้ยงดูผู้คนมากกว่าเก้าพันล้านคน โดยไม่ต้องทำลายป่าดิบชื้น ถางทุ่งหญ้า หรือขจัดพื้นที่ชุ่มน้ำเพิ่มขึ้นเลย

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.