สงครามที่ไม่อาจพ่ายแพ้ของชาวเคิร์ด

เรื่อง นีล ชี
ภาพถ่าย ยูริ โคซืยเรฟ

ในวันที่เมืองโมซุลตกอยู่ในเงื้อมมือของกลุ่มไอซิส โบตาน  ชาร์บาร์เซรี ตัดสินใจว่า เขาพร้อมแล้วที่จะสละชีวิต

หนุ่มนักศึกษาวัย 24 ปียิ้มแย้มตอนออกจากบ้านพ่อแม่ในซเลมานี เมืองหนึ่งในเคอร์ดิสถานของอิรัก เขารวมกลุ่มเด็กหนุ่มที่มีอุดมการณ์เดียวกันขึ้นมาได้ไม่ยาก ทุกคนยินยอมพร้อมใจที่จะสละชีวิตเพื่อแผ่นดินเกิด ซึ่งไม่ใช่เพื่ออิรัก แต่เพื่อเคอร์ดิสถาน พวกเขายอมตายเพื่อปกป้องครอบครัวจากศัตรูผู้โหดเหี้ยม เฉกเช่นที่บิดาของพวกเขาเคยทำมาแล้วกับกองทัพของซัดดัม ฮุสเซน

ก่อนกองกำลังรัฐอิสลามหรือที่เรียกสั้นๆว่าไอซิส  (Islamic State: IS) หรือไอเอส จะรุกรานเข้ามาในอิรัก ชาร์บาร์เซรีกำลังร่ำเรียนปริญญาตรีด้านวิศวกรรมศาสตร์อย่างเกียจคร้าน  เด็กหนุ่มรักดนตรีเป็นชีวิตจิตใจ และเครื่องดนตรีที่เขาเล่นคืออูด (Oud)  เครื่องสายคล้ายกีตาร์

ชาร์บาร์เซรีแสดงดนตรีตามที่สาธารณะ เข้าร่วมคลับนักดนตรี และฝันว่าจะได้บันทึกเสียงเป็นนักดนตรีอาชีพ แต่วงการดนตรีเคอร์ดิสถานอิรักนั้นเล็กนัก แม้แต่ในยุครุ่งเรือง พ่อผู้เป็นครูจึงส่งเสริมให้ชาร์บาร์เซรีเลือกอาชีพที่มีโอกาสในการทำงานมากกว่า เช่น งานก่อสร้างสะพาน ชาร์บาร์เซรีรู้สึกมืดแปดด้าน เศรษฐกิจอิรักระส่ำระสาย ไม่ว่าอาชีพใดๆก็ดูจะไร้อนาคตด้วยกันทั้งสิ้น เด็กหนุ่มคนอื่นๆอาจก้มหน้ารับสภาพและเอ่ยเพียงว่า เอราดัตอัลลอฮ์  ซึ่งหมายถึงเป็นพระประสงค์ของพระเจ้า  แต่ชาร์บาร์เซรีผู้ไม่เชื่อในพระเจ้าและต่อต้านพวกคลั่งศาสนาทุกรูปแบบ  พระประสงค์ของพระเจ้ามีความหมายต่อเขาน้อยกว่าการบ้านที่ลืมทำเสมอมา  กระทั่งสัปดาห์นั้นในเดือนมิถุนายน ปี 2014

แม้แนวรบจะอยู่ห่างออกไปไม่ถึงสามชั่วโมง แต่ชาวเคิร์ดจำนวนมากยังยืนกรานที่จะจัดปิกนิกกับครอบครัวกันต่อไป

เมื่อกองกำลังที่อ้างตนว่าเป็นกองทัพของพระเจ้าบุกเข้ามาเผาทำลาย และเข่นฆ่าภายใต้ธงสีดำ ก็ทำให้ชาร์บาร์เซรี มีจุดมุ่งหมายขึ้นมาทันใด ในสงคราม  เขาค้นพบความมุ่งมั่นอย่างที่เคยสัมผัสได้ยามเล่นดนตรีเท่านั้น ชาร์บาร์เซรีไม่มีอาวุธในครอบครอง  เขาตั้งใจจะขายอูดสุดรักสุดหวงเพื่อซื้อปืนอาก้ามาสักกระบอกหนึ่ง   ความที่ไม่เคยผ่านการฝึกทางทาหารใดๆมาก่อน ดังนั้นเขาจะเข้าร่วมกับกลุ่มนักรบผู้คร่ำหวอด  ชาร์บาร์เซรีไม่มีหญิงคนรัก  จึงไม่มีใครห้ามปราม ส่วนพ่อแม่นั้นเล่า ถ้ารู้เข้าก็คงพยายามทัดทาน บาทีอาจถึงขั้นเสียน้ำตาอ้อนวอนไม่ให้เขาไป แต่บางอย่างก็เป็นหน้าที่ของลูกผู้ชาย และเป็นสิ่งที่เขามักไม่บอกให้แม่รู้

เด็กหนุ่มชาวเคิร์ดส่วนใหญ่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดสงครามขึ้นอีก อย่างน้อยก็ไม่ใช่สงครามจากกลุ่มไอซิส เพียงสองปีก่อนหน้านั้น  เคอร์ดิสถานกำลังรุ่งเรือง อเมริกันโค่นล้มซัดดัม ฮุสเซน ศัตรูที่ชาวเคิร์ดจงเกลียดจงชังกว่าใครลงได้เมื่อปี 2003 เป็นการเปิดทางให้ชาวเคิร์ดได้ครองอำนาจเหนืออาณาเขตที่เต็มไปด้วยเทือกเขาเนื้อที่พอๆกับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แม้จะยังเป็นส่วนหนึ่งของอิรัก แต่ความจริงแล้วพวกเขาได้สร้างรัฐกึ่งปกครองตนเองขึ้นมา ในไม่ช้าการลงทุน การพัฒนา และความหวังจากการค้าน้ำมัน (เคอร์ดิสถานตั้งอยู่เหนือแหล่งน้ำมันกว้างใหญ่) ก็แปรเปลี่ยนโฉมหน้าของภูมิภาคนี้ไป ตึกระฟ้าผุดขึ้นเหนือเมืองซเลมานีซึ่งได้ชื่อว่า “ปารีสแห่งเคอร์ดิสถาน” และฮิวเลอร์ เมืองหลวงของเคอร์ดิสถาน ก็ตั้งตระหง่านเคียงข้างห้างสรรพสินค้า ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์หรู และร้านขายไอศกรีม  ขณะที่ดินแดนส่วนต่างๆของชาวอาหรับในอิรักถูกรุมเร้าด้วยปัญหามากมาย ชาวเคิร์ดราวห้าล้านคนกลับก้าวเข้าสู่ยุคที่หลายคนเรียกว่าทศวรรษอันรุ่งโรจน์ ในยุคที่ปราศจากความหวาดกลัวและหล่อเลี้ยงด้วยความหวังนี่เองที่โบตาน ชาร์บาร์เซรี เติบโตขึ้นมา

ทางใต้ของคีร์คุก ทหารเคิร์ดที่เรียกกันว่า เพชเมอร์กา เล่นวอลเลย์บอลอยู่หลังแนวหน้า ตอนที่กลุ่มนักรบไอซิสซึ่งเชื่อกันว่า มีอดีตนายทหารอิรักรวมอยู่ด้วย เปิดฉากบุกเข้ายึดเมืองต่างๆของอิรักเมื่อปี 2014 นักรบเพชเมอร์กาเป็นหนึ่งในไม่กี่กองกำลัง ที่หยุดยั้งพวกเขาไว้ได้

“อะไรก็ดูเป็นไปได้ทั้งนั้นละครับ” เขาบอกผม “อย่างน้อยก็ชั่วระยะหนึ่ง คุณเห็นสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น คุณเห็นชีวิตทุกคนเปลี่ยนไป ตอนนั้นผมยังเด็ก แต่ก็ดูออกนะครับ พ่อแม่ผมและเราทุกคนรู้สึกโล่งใจไปตามๆกัน” เขาบอกผม

ผมพบชาร์บาร์เซรีเมื่อต้นปี 2015 ที่ร้านกาแฟแห่งหนึ่งในสเลมานี ซึ่งเขากลับมาเรียนต่อ เขาตัวเล็ก หน้าตาหล่อเหลา และมักไว้เคราแพะบางๆ

เขาเดินกะเผลกเล็กน้อยมาที่โต๊ะของเรา ชาร์บาร์เซรีถูกยิงขณะรี่เข้าหาศัตรูระหว่างการสู้รบเมื่อหลายเดือนก่อนหน้านั้น กระสุนนัดหนึ่งพุ่งทะลุน่องเขาไป เด็กหนุ่มหลายคนในร้านลุกขึ้นทักทายเขา ขณะที่เด็กสาวพากันจ้องมองแล้วซุบซิบกัน ในวัฒนธรรมของชาวเคิร์ด แทบไม่มีเครื่องหมายแห่งเกียรติยศใดทรงค่ายิ่งกว่าการบาดเจ็ดเพื่อเคอร์ดิสถานอีกแล้ว

“อย่างหนึ่งที่แปลกคือเดี๋ยวนี้ผมไม่ต้องเข้าแถวเลย” ชาร์บาร์เซรีบอก พูดจบทหารผ่านศึกหนุ่มก็หน้าแดงเรื่อขึ้นมาจนต้องเปลี่ยนหัวข้อสนทนา

“ผมไม่มีสมาธิกับการเรียนน่ะครับ” เขาบอก  “วิศวกรรมศาสตร์น่ะครับ … น่าเบื่อชะมัด”

ชาร์บาร์เซรีก็เหมือนชาวเคิร์ดในอิรักส่วนใหญ่ คืออายุต่ำว่า 30 ปีและมีความหวังกับอนาคต แม้ความหวังนั้นจะกำลังลดฮวบก็ตาม สำหรับเขาและคนรุ่นเดียวกันอีกจำนวนมาก ความหวังและสันติภาพกำลังมลายหายไป ไอซิสนั้นอันตรายก็จริง แต่กองกำลังเหล่านี้เป็นภัยคุกคามจากภายนอก

มัสอูด บาร์ซานี ประธานาธิบดีรัฐบาลระดับภูมิภาคเคอร์ดิสถาน เยี่ยมเยียนนักเรียนนายร้อยหญิงที่โรงเรียนเตรียมทหาร แห่งหนึ่งในเมืองซาโค

ขณะที่ภายใน พรรคการเมืองของชาวเคิร์ดซึ่งเคยต่อสู้ในสงครามกลางเมืองอันโหดร้ายในช่วงทศวรรษ 1990 ยังคงแย่งชิงอำนาจและเงินตรากันอยู่ อีกทั้งความสัมพันธ์กับกรุงแบกแดดซึ่งอยู่ใต้อำนาจชาวอาหรับก็ไม่เคยมั่นคง หนำซ้ำยังย่ำแย่ลงทุกขณะ และผู้นำชาวอาหรับในเมืองหลวงของอิรักยังกักงบประมาณรัฐบาลกลางที่เป็นส่วนของเคอร์ดิสถานไว้ เพื่อตอบโต้กรณีพิพาทเรื่องรายได้จากการขายน้ำมันด้วย ความชื่นมื่นแห่งทศวรรษอันรุ่งโรจน์กำลังเหือดหายไป

ชาร์บาร์เซรีมองไม่เห็นว่า วิชาที่น่าเบื่อเหล่านี้จะมีประโยชน์อะไร ในเมื่อ้้ไอซิสอาจทำลายทุกสิ่งลง หรือรัฐอิรักซึ่งทั้งฉ้อฉล ไร้ประสิทธิภาพ และง่อนแง่นเต็มที อาจล้มครืนได้ไม่ต่างจากบ้านผุๆ

“ตายกันไปให้หมดเสียยังจะดีกว่า ถ้าจะต้องอยู่กันแบบนี้ไปอีกนาน” เขาบอก

ช่างสำบัดสำนวนสมกับเป็นชาวเคิร์ดโดยแท้ ผู้ชายส่วนใหญ่ในร้านกาแฟแห่งนั้นคงเห็นด้วย และอาจรวมถึงผู้หญิงจำนวนมากด้วย สาวๆทุกคนในร้านล้วนสวมกางเกงยีนส์รัดรูป แต่งหน้าจัด ถ้าคุณยังเป็นคนหนุ่มสาวและได้ลิ้มรสเสรีภาพเข้าแล้ว คุณจะทนสูญเสียมันไปได้อย่างไร

ชาร์บาร์เซรีตัดสินใจว่า จะกลับไปแนวหน้าให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.