ข้ามแดนมัจจุราช กับชีวิตก่อนและหลัง ความตาย

เรื่อง โรบิน มาแรนตซ์ เฮนิก
ภาพถ่าย ลินน์ จอห์นสัน

ข้ามแดนมัจจุราช กับชีวิตก่อนและหลัง ความตาย นักวิทยาศาสตร์ศึกษาการมีชีวิตอยู่ของเราว่าไม่ได้เป็นเหมือนสวิตช์เปิดปิดที่ “เปิด” หมายถึงมีชีวิต และ “ปิด” หมายถึงตาย แต่เป็นสวิตช์หรี่ไฟที่สามารถปรับระดับความเข้มระหว่างสีขาวกับสีดำได้หลายระดับ ในเขตสีเทานั้น ความตายอาจไม่ใช่ภาวะที่ถาวรเสมอไป ชีวิตอาจยากจะนิยาม หนำซ้ำบางคนยังข้ามเส้นแบ่งอันยิ่งใหญ่นี้ไปและกลับมาได้ และบางครั้งก็สามารถบรรยายสิ่งที่พวกเขาเห็น ณ อีกด้านหนึ่งของเส้นแบ่งนั้นได้อย่างละเอียด

การตายเป็น “กระบวนการที่ค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่เกิดขึ้นทันทีทันใด” แซม พาร์เนีย แพทย์สาขาเวชบำบัดวิกฤติ  เขียนไว้ในหนังสือ กำจัดความตาย (Erasing Death) ของเขา การตายคือการที่ร่างกายทุกส่วนขาดเลือดไปเลี้ยง แม้หัวใจจะหยุดเต้น แต่อวัยวะต่างๆไม่ได้ตายในทันที เขาเขียนไว้ว่า ความจริงแล้ว อวัยวะเหล่านั้นยังคงมีชีวิตอยู่ได้อีกพักใหญ่นั่นหมายความว่า “ช่วงเวลาพักใหญ่หลังความตาย  และความตายยังสามารถย้อนกลับได้อย่างสมบูรณ์”

ว่าแต่ความตายซึ่งเป็นภาวะถาวรจะย้อนกลับได้อย่างไรเล่า  และการรับรู้ระหว่างก้าวผ่านเขตสีเทามีลักษณะอย่างไร

“ลูกชายของฉันช่วยเหลือผู้คนได้มากมายเชียวค่ะ” ดีแอนนา แซนแทนา พูดถึงสกอต ลูกชายของเธอ ซึ่งเสียชีวิตในวัย 17 ปีจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ อวัยวะและเนื้อเยื่อของเขาได้รับการปลูกถ่ายให้ผู้ป่วย 76 คน ร็อด แกรมสัน (ตรงกลาง) ผู้ได้รับการปลูกถ่ายหัวใจ พบกับดีแอนนาและริช สามีของเธอ ใกล้กับถนนในเมืองเพลเซอร์วิลล์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ตรงจุดที่สกอตเสียชีวิต

มาร์ก รอท นักชีววิทยาในเมืองซีแอตเทิล ทำการทดลองให้ร่างกายของสัตว์อยู่ในสภาวะหยุดทำงาน โดยใช้สารเคมี ซึ่งเป็นส่วนผสมของสารละลายที่ลดการเต้นของหัวใจและเมแทบอลิซึมลงจนใกล้เคียงกับระดับของการจำศีล จุดประสงค์ของเขาคือ ทำให้ผู้ป่วยที่มีอาการหัวใจล้ม “มีความเป็นอมตะเล็กน้อย” จนกว่าจะพ้นภาวะวิกฤติที่ทำให้พวกเขาเฉียดตาย

ในเมืองบอลทิมอร์และพิตต์สเบิร์ก ทีมรักษาผู้บาดเจ็บซึ่งนำโดยศัลยแพทย์ แซม ทิเชอร์แมน กำลังทดสอบทางคลินิกเกี่ยวกับการทำให้อุณหภูมิร่างกายของผู้เคราะห์ร้ายที่ถูกกระสุนปืนและถูกแทงลดต่ำลง เพื่อชะลอการตกเลือดไว้นานพอที่ศัลยแพทย์จะปิดบาดแผลได้ ทีมแพทย์ใช้การเย็นตัวยวดยิ่ง (supercooling) ทำสิ่งที่รอทต้องการทำโดยใช้สารเคมี นั่นคือ สังหารผู้ป่วยชั่วคราวเพื่อรักษาชีวิตพวกเขาไว้

ในรัฐแอริโซนา ผู้เชี่ยวชาญด้านไครโอนิกส์ (cryonics) หรือการแช่แข็งมนุษย์ เก็บรักษาร่างไร้วิญญาณของลูกค้ากว่า 130 ร่างไว้ในสภาวะเยือกแข็ง อันเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของภาวะกึ่งเป็นกึ่งตาย พวกเขาหวังว่า วันหนึ่งในอนาคต อาจจะอีกหลายร้อยปีข้างหน้า ลูกค้าเหล่านี้จะผ่านการทำให้อุ่นขึ้นและรักษาต้นเหตุที่คร่าชีวิตพวกเขาได้

ลินดา แชมเบอร์เลน ผู้ร่วมก่อตั้งแอลคอร์ บริษัทไครโอนิกส์หรือการแช่แข็งมนุษย์ในรัฐแอริโซนา กอดตู้ที่บรรจุร่างของ เฟรด ผู้เป็นสามี ซึ่งแช่แข็งไว้ด้วยหวังว่าสักวันหนึ่งเขาจะผ่านการทำให้อุ่นขึ้นและกลับมามีชีวิตอีกครั้ง

ในประเทศอินเดีย ริชาร์ด เดวิดสัน นักประสาทวิทยาศาสตร์ ศึกษาพระภิกษุในพุทธศาสนาผู้ทำสมาธิอยู่ในสภาวะที่เรียกว่า ทุกดัม (thukdam) ในสภาวะดังกล่าว แม้สัญญาณทางชีวภาพของชีวิตจะหยุดลงแล้ว แต่ร่างกายยังคงสมบูรณ์ไม่เน่าเปื่อยอยู่ราวหนึ่งสัปดาห์หรือนานกว่านั้น ถ้าเป็นไปได้ เดวิดสันต้องการตรวจสอบกิจกรรมทางสมองของภิกษุเหล่านี้ โดยหวังว่าจะได้เรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้นกับจิตใจหลังการไหลเวียนโลหิตหยุดลง

และในนิวยอร์ก พาร์เนียก็มุ่งเผยแพร่แนวคิดเรื่องการทำการกู้ชีพที่ยืดระยะเวลาให้นานขึ้น เขากล่าวว่า การนวดหัวใจผายปอดกู้ชีพหรือซีพีอาร์ (cardiopulmonary resuscitation: CPR) นั้นมีดีกว่าที่หลายคนรู้ หากทำในสภาวะที่เหมาะสม กล่าวคือ มีการลดอุณหภูมิร่างกายให้ต่ำลง การกดหน้าอกที่ถูกต้องทั้งความลึกและจังหวะ ตลอดจนการให้ออกซิเจนช้าๆเพื่อป้องกันเนื้อเยื่อบาดเจ็บ ผู้ป่วยบางรายสามารถฟื้นจากการเสียชีวิตหลังจากหัวใจหยุดเต้นไปแล้วหลายชั่วโมง โดยมักไม่มีผลกระทบในระยะยาวเสียด้วย ตอนนี้เขากำลังศึกษาว่า เหตุใดหลายคนที่หัวใจหยุดเต้นจึงเล่าเรื่องวิญญาณหลุดลอยออกจากร่างหรือประสบการณ์ใกล้ตาย และความรู้สึกเหล่านั้นจะเผยให้เห็นลักษณะของดินแดนมัจจุราชและความตายเองอย่างไรบ้าง

แอชลี บาร์เนตต์ ยังเป็นนักศึกษาตอนที่เธอประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์อย่างรุนแรงบนทางหลวงของรัฐเทกซัส เธอเล่าว่า ตรงจุดเกิดเหตุ เธอเคลื่อนไปมาระหว่างสองโลก โลกหนึ่งยุ่งเหยิงและเจ็บปวด ซึ่งเจ้าหน้าที่กู้ชีพกำลังใช้เครื่องตัดเหล็กไฮดรอลิกช่วยเธอออกมา กับอีกโลกหนึ่งซึ่งมีแสงสีขาว ไม่เจ็บปวด และไม่น่ากลัว

บางครั้งผู้ได้รับการช่วยชีวิตโดยการกู้ชีพที่มีประสิทธิภาพและสม่ำเสมอก็กลับมาพร้อมกับเรื่องเล่าที่ชัดเจนและคล้ายคลึงกัน อาจถือได้ว่าผู้รอดชีวิตเหล่านี้ได้ข้ามไปยังอีกด้านหนึ่งของเส้นแบ่งระหว่างความเป็นกับความตาย ก่อนจะกลับมาพร้อมเรื่องเล่าที่ทำให้เข้าใจความรู้สึกขณะตายไปแล้วได้ดีขึ้น  แม้ส่วนใหญ่จะจำรายละเอียดทั้งหมดไม่ได้ แต่บางคนก็กล่าวถึงความรู้สึกคล้ายกับในหนังสือขายดี เป็นต้นว่า เวลาเดินเร็วขึ้นหรือช้าลง  มีความสงบสุข รู้สึกเหมือนวิญญาณแยกออกจากร่าง ปีติยินดี  และมองเห็นแสงสว่างจ้าหรือแสงทองวูบวาบ บ้างก็เล่าว่าจำความรู้สึกที่ไม่ดีได้ เช่น ความกลัว การจมน้ำหรือถูกลากลงไปในน้ำลึก  พาร์เนียและเพื่อนร่วมงานเขียนไว้ในวารสารทางการแพทย์ รีซัสซิเทชัน (Resuscitation) ว่า การศึกษาดังกล่าวช่วย “เพิ่มพูนความเข้าใจเกี่ยวกับประสบการณ์ทางจิตแบบกว้างๆที่มีแนวโน้มจะเกิดร่วมกับการตายหลังระบบไหลเวียนโลหิตหยุดนิ่ง” พวกเขาเขียนว่า ขั้นต่อไปคือการศึกษาเหตุการณ์เหล่านั้นซึ่งนักวิจัยส่วนใหญ่เรียกว่า ประสบการณ์ใกล้ตาย หรือเอ็นดีอี (near-death experience: NDE) แต่พาร์เนียชอบเรียกว่า “ประสบการณ์ของการตายอย่างแท้จริง” มากกว่า โดยจะศึกษาว่า ประสบการณ์เหล่านี้ส่งผลต่อผู้รอดชีวิตหลังจากฟื้นขึ้นมาไม่ว่าจะในทางบวกหรือทางลบหรือไม่และอย่างไร สิ่งที่ทีมวิจัยไม่ได้สำรวจคือผลตามหลังที่พบได้ทั่วไปของประสบการณ์ใกล้ตาย อันได้แก่ การตระหนักถึงเป้าหมายและความหมายในชีวิตอีกครั้ง นั่นคือความรู้สึกที่เรามักได้ยินจากผู้รอดชีวิต

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.