ภาพถ่ายก่อนสัตว์สูญพันธุ์

ภาพถ่ายก่อน สัตว์สูญพันธุ์

ตลอดระยะเวลาหลายปี โจเอล ซาร์โทรี ช่างภาพ เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ต้องทำงานไกลบ้านเพื่อบันทึกภาพชีวิตสัตว์ป่าในซอกมุมห่างไกลทั่วโลก  ขณะที่แคทีผู้เป็นภรรยาอยู่ดูแลลูกๆในเมืองลิงคอล์น รัฐเนแบรสกา

แต่เมื่อปี 2005 แคทีได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งทรวงอก เธอต้องทำเคมีบำบัดเป็นเวลาเจ็ดเดือน ฉายรังสีอีกหกสัปดาห์ และผ่าตัดสองครั้ง ดังนั้นโจเอล ซาร์โทรี จึงไม่มีทางเลือกอื่น การมีลูกสามคนในวัยต่างๆกัน (คนโต 12 ปี คนกลาง 9 ขวบ และคนสุดท้อง 2 ขวบ) ทำให้เขาไม่สามารถเดินทางถ่ายภาพซึ่งเป็นงานหลักได้  เขาพูดถึงช่วงเวลานั้นว่า “ผมมีเวลาคิดไตร่ตรองอยู่ที่บ้านหนึ่งปีครับ” เขานึกถึงจอห์น เจมส์ ออดูบอน นักปักษีวิทยา “ออดูบอนวาดภาพนกหลายชนิดซึ่งปัจจุบันสูญพันธุ์ไปแล้ว”  ซาร์โทรีบอกและเสริมว่า เขายังนึกถึงจอร์จ แคตลิน ผู้วาดภาพชนพื้นเมืองอเมริกัน “เพราะรู้ว่าวิถีชีวิตของพวกเขาจะต้องเปลี่ยนไปอย่างรุนแรง” จากการขยายอาณาเขตของชุมชนผู้ตั้งถิ่นฐานชาวยุโรป

หนูตุ่นไร้ขน: สัตว์ฟันแทะชนิดนี้ซึ่งเป็นสัตว์ชนิดแรกที่ถ่ายภาพสำหรับโครงการโฟโต้อาร์ก ใช้ชีวิตอยู่ในคอโลนีขนาดใหญ่ใต้ดินในบริเวณที่แห้งแล้งของแอฟริกาตะวันออก

“แล้วผมก็นึกถึงตัวเองครับ” เขาเล่า “ผมถ่ายภาพในธรรมชาติมาเกือบ 20 ปี แต่ยังไม่สามารถกระตุ้นให้ผู้ชมหันมาใส่ใจสิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธุ์อย่างเป็นรูปธรรม”

วันหนึ่งในช่วงฤดูร้อนของปี 2006 ซาร์โทรีโทรศัพท์ไปถามจอห์น เชโป เพื่อนซึ่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารหรือซีอีโอของสวนสัตว์เด็กลิงคอล์นว่า  เขาขอถ่ายภาพสัตว์บางชนิดในสวนสัตว์ได้หรือไม่ แม้แคทีจะยังเป็นโรคร้ายอยู่ แต่เขาพอจะทำงานใกล้บ้านได้ และสวนสัตว์แห่งนี้ก็อยู่ห่างออกไปไม่ถึงสองกิโลเมตร

เมื่อมาถึงสวนสัตว์ ซาร์โทรีร้องขอสองข้อจากเชโปและแรนดี เชียร์ ซึ่งเป็นผู้ดูแลสวนสัตว์ ได้แก่ ฉากหลังสีขาวและสัตว์ที่ยอมอยู่นิ่งๆ “หนูตุ่นไร้ขนดีไหมครับ” เชียร์ถาม ก่อนจับเจ้าสัตว์ฟันแทะไร้ขนมีฟันจอบมาวางลงบนเขียงที่หยิบยืมมาจากห้องครัว แล้วซาร์โทรีก็เริ่มถ่ายภาพ

สุนัขจิ้งจอกเฟนเนก: สุนัขจิ้งจอกขนาดเล็กที่สุดในโลกชนิดนี้มีใบหูขนาดใหญ่เกินตัวเพื่อลดอุณหภูมิของร่างกายขณะท่องไปตามเนินทรายในทะเลทรายสะฮารา ความน่ารักน่าเอ็นดูทำให้สุนัขจิ้งจอกเฟนเนกเป็นที่นิยมของตลาดค้าสัตว์ป่าสำหรับนำมาเลี้ยง

อาจฟังดูประหลาดที่สัตว์ต่ำต้อยเช่นนั้นจะเป็นแรงบันดาลใจให้สิ่งที่ต่อมากลายเป็นผลงานชิ้นสำคัญในชีวิตของซาร์โทรี นั่นคือ การถ่ายภาพสัตว์ในสถานเพาะเลี้ยงและทำให้ผู้คนหันมาสนใจชะตากรรมของพวกมัน

ประมาณกันว่าโลกของเรามีสัตว์อยู่สองล้านถึงแปดล้านชนิด สัตว์หลายชนิด (ตัวเลขคาดการณ์มีตั้งแต่ 1,600 ชนิดไปจนถึงสามล้านชนิด) อาจสูญพันธุ์เมื่อสิ้นศตวรรษนี้ อันเนื่องมาจากการสูญเสียถิ่นอาศัย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการค้าสัตว์ป่า

สวนสัตว์เป็นความหวังสุดท้ายของสัตว์มากมายซึ่งใกล้สูญพันธุ์เต็มที แต่สวนสัตว์เป็นแหล่งพักพิงให้สัตว์ได้เพียงเศษเสี้ยวของที่มีอยู่ในโลก กระนั้น ซาร์โทรีประเมินว่า การถ่ายภาพสัตว์ส่วนใหญ่ในสถานเพาะเลี้ยงต้องใช้เวลาอย่างน้อย 25 ปีเลยทีเดียว

แรดขาวสายพันธุ์เหนือ: แรดเพศเมียตัวนี้ชื่อนาบีเร เป็นหนึ่งในแรดตัวท้ายๆของชนิดย่อยนี้ มันตายลงเมื่อฤดูร้อนที่ผ่านมาหลังจากถ่ายภาพนี้หนึ่งสัปดาห์ ปัจจุบันเหลือแรดขาวสายพันธุ์เหนือในสถานเพาะเลี้ยงทั่วโลกเพียงสามตัว

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เขาถ่ายภาพสัตว์สำหรับโครงการที่เขาทำด้วยใจรัก ชื่อว่า โฟโต้อาร์ก (Photo Ark) ได้มากกว่า 6,000 ชนิด ไม่ว่าจะเป็นภาพสัตว์ขนาดเล็ก เช่น กบลูกศรพิษเขียวดำและแมลงวันเอลเซกุนโด สัตว์ขนาดใหญ่ เช่น หมีขั้วโลกและกวางคาริบูป่า สัตว์ทะเล เช่น ปลาสลิดทะเลหน้าหมาจิ้งจอกและหมึกการ์ตูนฮาวาย หรือนก เช่น ไก่ฟ้าเอดเวิร์ดและนกขมิ้นเกาะมอนต์เซอร์รัต และอื่นๆอีกมากมาย

สัตว์ส่วนใหญ่ในโครงการโฟโต้อาร์กซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ไม่เคยผ่านการบันทึกภาพอย่างชัดเจนเช่นนี้มาก่อน เด่นชัดทั้งลวดลายจุดแต้มและเส้นขน ถ้าพวกมันสูญพันธุ์ไป นี่คือวิธีที่เราจะจดจำพวกมัน เป้าหมายของซาร์โทรี “ไม่ใช่แค่ข่าวมรณกรรมของสิ่งมีชีวิตที่เราพร่าผลาญไปอย่างไม่ยั้งคิด” เขาบอก “เป้าหมายคือการได้เห็นว่าสัตว์เหล่านี้มีหน้าตาเป็นอย่างไรขณะพวกมันยังมีชีวิตอยู่ต่างหาก”

ปัจจุบัน ผู้คนนับล้านได้เห็นสัตว์ที่ซาร์โทรีถ่ายภาพ ได้สบตาพวกมันในอินสตาแกรม ในนิตยสารเล่มนี้ในภาพยนตร์สารคดี และในภาพที่ฉายไปบนผนังหรือกำแพงของสถานที่สำคัญบางแห่งของโลก เช่น ตึกเอ็มไพร์สเตต อาคารสำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ และล่าสุดคือมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์

วิธีถ่ายภาพสัตว์นั้นมีอยู่มากมายพอๆกับจำนวนสัตว์ แต่ซาร์โทรีเลือกถ่ายภาพด้วยวิธีการพื้นๆ กล่าวคือ ทุกภาพล้วนมีฉากหลังสีดำหรือสีขาว “วิธีนี้ทำให้ทุกอย่างเท่าเทียมกันได้อย่างยอดเยี่ยมครับ” เขาทิ้งท้าย

เรื่อง เรเชล ฮาร์ติแกน เชีย

ภาพถ่าย โจเอล ซาร์โทรี

 

อ่านเพิ่มเติม

คืนชีพเสือทัสมาเนียหลังสูญพันธุ์ไปแล้ว 38 ปี

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.