เมื่อฉลามสิ้นลายในถ้วยซุป

เมื่อ ฉลาม สิ้นลายในถ้วยซุป

นับตั้งแต่ยุคทศวรรษ 1970  เป็นต้นมา  ฉลาม “เปิดตัว” สู่สายตาชาวโลกด้วยบทบาท “นักฆ่าผู้กระหายเลือด” ในภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดชื่อดังที่สร้างต่อเนื่องหลายภาคอย่าง จอว์ส (Jaws) ซึ่งกลายเป็นต้นแบบให้ภาพยนตร์ที่มีฉลามเป็นวายร้ายของเรื่อง  นับจากนั้นเป็นต้นมา  คนทั้งชั่วรุ่นกระทั่งถึงปัจจุบันยังคงฝังใจกับภาพอันน่าพรั่นพรึงเหล่านั้นไม่มากก็น้อย   ทว่าในความเป็นจริง ในแต่ละปีมีมนุษย์ถูกฉลามทำร้ายน้อยมาก สถิติจากฐานข้อมูลระดับโลกที่เรียกย่อๆ ว่า  ไอแซฟ (International Shark Attack File: ISAF) ระบุว่า  เฉลี่ยแล้วในปีหนึ่งๆ มีเหตุการณ์มนุษย์เสียชีวิตจากฉลามทั่วโลกไม่ถึง 10 คน  เรียกได้ว่าน้อยกว่าอุบัติเหตุบนท้องถนนชนิดเทียบกันไม่ติด  อีกทั้งยังมีฉลามเพียงไม่กี่ชนิดที่อาจเป็นภัยคุกคามหรือมีโอกาสทำอันตรายต่อมนุษย์  เช่น ฉลามหัวบาตร ฉลามเสือ และฉลามขาว เป็นต้น  ซึ่งทั้งหมดล้วนพบเห็นได้ยาก ไม่เว้นแม้แต่สำหรับนักประดาน้ำหรือกระทั่งนักวิจัยฉลามเอง

บอริส เวิร์ม ผู้เชี่ยวชาญด้านฉลามจากสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์หรือไอยูซีเอ็น (IUCN) ประเมินว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ฉลามถูกจับขึ้นมาราว 100 ล้านตัวต่อปี  ภัยคุกคามหลักคืออุตสาหกรรมประมง  ประชากรฉลามในธรรมชาติเหลือน้อยมาก  จนถูกจัดให้เป็นกลุ่มสัตว์มีกระดูกสันหลังที่ถูกคุกคามจนเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากที่สุดกลุ่มหนึ่ง  สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย  มีรายงานจากกรมประมงว่า  ในช่วงระยะเวลาระหว่าง พ.ศ. 2547 – พ.ศ. 2555 จำนวนฉลามที่อุตสาหกรรมประมงไทยจับได้ลดลงถึงร้อยละ 90  สอดคล้องกับรายงานที่เกิดขึ้นทั่วโลก

(บันทึกภาคสนามนักอนุรักษ์: “ฉลาม” นักล่าผู้ตกเป็นเหยื่อ)

นักท่องเที่ยวถ่ายรูปคู่กับภาพฉลามขาวยักษ์ที่ภูเก็ตทริกอายมิวเซียม พิพิธภัณฑ์ภาพวาดสามมิติในจังหวัดภูเก็ต แม้ทุกวันนี้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับฉลามจะดีขึ้นมาก แต่ภาพลักษณ์อันน่าพรั่นพรึงของฉลามจากภาพยนตร์และสื่อกระแสหลักยังคงมีอิทธิพลต่อสังคมไม่เสื่อมคลาย

ปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ฉลามลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว คือลักษณะทางชีววิทยาที่แตกต่างจากปลาชนิดอื่นๆ โดยภาพรวมฉลามแทบทุกชนิดเติบโตช้า อายุยืนยาว และออกลูกในจำนวนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับปลามากมายหลายชนิดที่วางไข่ได้คราวละนับแสนนับล้านฟอง นอกจากนี้  ฉลามหลายชนิดยังตั้งท้องและออกลูกเป็นตัว ดังนั้น การจัดการการประมงที่ออกแบบมาสำหรับจัดการปลาทั่วไป  จึงไม่สามารถนำมาใช้กับฉลามซึ่งเป็นปลาที่ฟื้นจำนวนช้าได้เลย

ในบรรดาเมนูขึ้นโต๊ะจีนทั้งหมด  “ซุปหูฉลาม” เคยครองตำแหน่งเมนูชูโรงอันดับหนึ่ง  ไม่ว่าจะด้วยความเชื่อด้านสรรพคุณบำรุงร่างกาย  หรือภาพลักษณ์อันหรูหรา  ซุปหูฉลามเป็นเมนูอาหารราคาสูงลิ่ว และยังบ่งบอกถึงฐานะอันมั่งคั่งของเจ้าภาพ  รวมทั้งเป็นการให้เกียรติแก่แขกผู้มาร่วมงาน  ธรรมเนียมนี้มีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิงของจีน

ด้วยสนนราคาหลักหมื่นบาทต่อกิโลกรัม (ของแห้ง)  ทำให้ฉลามถูกล่าสังหารอย่างหนักเพื่อเอา “ครีบ” ซึ่งเป็นส่วนที่นำมาบริโภค   โดยตลาดสำคัญอยู่ที่ประเทศจีน  และเมื่อเศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาทำให้ชาวจีนมีรายได้มากขึ้น  กองเรือประมงจึงออกล่าฉลามกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดที่โตวันโตคืน บอริส เวิร์มและคณะจากไอยูซีเอ็นประเมินว่า  ตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา  ฉลามราว 73 ล้านตัวถูกล่าในแต่ละปีเพื่อเอาครีบเพียงอย่างเดียว

พ่อครัวกำลังนำหูฉลามแห้งที่ได้รับการจัดเตรียมอย่างดีไปประกอบอาหารเป็นซุปหูฉลามในภัตตาคารแห่งหนึ่งกลางกรุงเทพฯ อุตสาหกรรมหูฉลามเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ฉลามถูกล่าอย่างเป็นล่ำเป็นสันเนื่องจากมีราคาสูง

กรรมวิธีล่าฉลามไม่เคยถูกเปิดเผยมาก่อน  จนกระทั่งเมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมา องค์กรอนุรักษ์แห่งหนึ่งเปิดโปงกรรมวิธีล่าฉลามอันโหดร้าย  โดยชาวประมงจะจับฉลามขึ้นจากทะเล  เลือกตัดเฉพาะครีบและหาง  ก่อนจะโยนร่างที่เหลือทิ้งลงทะเลทั้งๆ ที่ยังมีชีวิต  ภาพความโหดเหี้ยมนั้นปลุกกระแสเสียงเรียกร้องให้สังคมทบทวนธรรมเนียมการบริโภคหูฉลามซึ่งเป็นตลาดหล่อเลี้ยงการทำประมงที่ไร้ความรับผิดชอบ

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา กระแสต่อต้านการบริโภคหูฉลามเริ่มเห็นชัดเจน ไม่เว้นแม้กระทั่งในประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้บริโภครายใหญ่และขึ้นชื่อว่าเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมหูฉลามของโลก  มีการโฆษณารณรงค์ปฏิเสธการบริโภคหูฉลามนำโดยเหยา หมิง นักบาสเก็ตบอลชื่อดังของจีน  ขณะที่สายการบินใหญ่หลายสายปฏิเสธการขนส่งหูฉลาม โรงแรม หลายแห่งยกเลิกการเสิร์ฟเมนูหูฉลาม  หรือแม้กระทั่งรัฐบาลจีนมีคำสั่งห้ามเสิร์ฟหูฉลามในงานเลี้ยงของข้าราชการ ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ส่งผลให้มูลค่าตลาดหูฉลามลดฮวบลงมากกว่าครึ่ง

 

“ปัจจุบันข้อมูลเรื่องฉลามในประเทศไทยยังมีน้อยมาก เพราะพวกมันไม่ใช่ปลาเศรษฐกิจที่คนสนใจ” ดร.เจมส์ ทรูแห่งสถาบันวิจัยความเป็นเลิศความหลากหลายทางชีวภาพแห่งคาบสมุทรไทย (Excellence Center for Biodiversity of Peninsular Thailand) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวและเสริมว่า ตลอดกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ฉลามในน่านน้ำไทยถูกจับเกินขนาดที่ประชากรจะรองรับได้  จนพูดได้ว่าเกือบสูญสิ้นไปจากระบบนิเวศแล้ว

ครีบหรือ “หู” ของฉลามหูดำและส่วนร่างกายที่หายไปนี้ คือตัวแทนของฉลามมากมายที่กำลังถูกคุกคามจนจำนวนลดลงมาก คาดว่าบางชนิดประชากรอาจลดลงมากกว่าร้อยละ 90 ภัยคุกคามหลักมาจากการทำประมง

ทว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทิศทางของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแนวใหม่ อาจเป็นความหวังเล็กๆ ของการอนุรักษ์ฉลามก็เป็นได้ การสำรวจเกี่ยวกับฉลามสีเทา (Carcharhinus amblyrhynchos) ตามจุดดำน้ำหลายแห่งในประเทศปาเลา (Palau) ซึ่งเป็นประเทศหมู่เกาะเล็กๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิก พบว่า ตลอดช่วงชีวิตของฉลามตัวหนึ่งสามารถสร้างเม็ดเงินได้ถึงเกือบสองล้านเหรียญสหรัฐให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของหมู่เกาะที่โด่งดังเรื่องการดำน้ำชมฉลามแห่งนี้

“นักดำน้ำส่วนมากอยากเห็นฉลามในท้องทะเล  พวกเขายอมจ่ายมากขึ้นเพื่ออนุรักษ์พวกมันไว้  และปรากฏว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวเชิงนิเวศตรงนั้นกลับใหญ่โตกว่ารายได้จากการประมง ปลาฉลาม เสียอีก” ดร.เจมส์อธิบายและชี้ว่า นั่นอาจทำให้การอนุรักษ์ฉลามมีความหวังขึ้นมาได้  “ตอนนี้ประเด็นคือผู้คนเริ่มเข้าใจถึงความสำคัญของฉลามต่อระบบนิเวศทางทะเล ทั้งในแง่การเป็นตัวชี้วัดความสมบูรณ์และการควบคุมสิ่งมีชีวิตต่างๆ ในห่วงโซ่อาหาร แถมยังมีเรื่องมูลค่าทางเศรษฐกิจต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอีกด้วย”

เรื่องและภาพถ่าย ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย

 

อ่านเพิ่มเติม

ฉลามวาฬ ยักษ์ใหญ่ผู้ใกล้สูญพันธุ์

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.