หนึ่งศตวรรษแห่งการอนุรักษ์

เรื่อง เดวิด ควาเมน
ภาพถ่าย สตีเฟน วิลก์ส

นช่วงต้นปี 1916 สหรัฐฯมีแนวคิดอันบรรเจิดและเปี่ยมวิสัยทัศน์ แม้จะยังมีความสับสนและไม่เป็นรูปเป็นร่างนักก็ตาม นั่นคือการก่อตั้งอุทยานแห่งชาติ (National Park) ซึ่งจะเป็นอุทยานสำหรับชาวอเมริกันทุกคน เป็นอุทยานที่ใช้ร่วมกัน แม้กระทั่งกับผู้มาเยือนจากทั่วทุกมุมโลก

เวลานั้นมีอุทยานแห่งชาติเกิดขึ้นแล้ว 14 แห่งทั่วสหรัฐฯ อุทยานเก่าแก่ที่สุดคือเยลโลว์สโตน ซึ่งได้รับการสงวนไว้ภายใต้กฎหมายของรัฐบาลกลางเมื่อปี 1872 ให้เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของโลก ส่วนอุทยานแห่งอื่นๆของสหรัฐฯซึ่งเป็นตัวอย่างอันหลากหลายของภูมิทัศน์ที่ยิ่งใหญ่ ล้วนตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำมิสซิสซิปปี เช่น โยเซมิทีในรัฐแคลิฟอร์เนีย วินด์เคฟในรัฐเซาท์ดาโคตา เกลเชียร์ในรัฐมอนแทนา และร็อกกีเมาน์เทนในรัฐโคโลราโด  นอกจากนี้ยังมีอนุสรณ์สถานแห่งชาติ (National Monument) อีก 21 แห่ง ซึ่งเป็นรูปแบบการคุ้มครองที่เกิดขึ้นได้ง่ายกว่า เพราะสามารถกำหนดโดยกฤษฎีกาที่ประธานาธิบดีเป็นผู้ลงนามภายใต้รัฐบัญญัติว่าด้วยการคุ้มครองทรัพย์สินทางโบราณคดี (กฎหมายฉบับนี้ผ่านรัฐสภาเมื่อปี 1906) ซึ่งประธานาธิบดีทีโอดอร์ โรสเวลต์ นำมาใช้อย่างแข็งขันในช่วงสามปีสุดท้ายของการดำรงตำแหน่ง รายชื่ออนุสรณ์สถานแห่งชาติรุ่นแรก ได้แก่ เดวิลส์ทาวเวอร์ ชาโกแคนยอน มิวเออร์วูดส์ และแกรนด์แคนยอน

เมื่อปี 1868 จอห์น มิวเออร์ วัย 29 ปี แวะถามทางไปนอกเมืองกับคนที่สัญจรผ่านมาในแซนแฟรนซิสโก ชายผู้นั้นถามด้วยความฉงนว่า “คุณอยากไปไหนล่ะ” มิวเออร์ตอบว่า “ที่ไหนก็ได้ที่เป็นธรรมชาติ” และแล้วเขาก็เดินทางไปถึงหุบเขา โยเซมิทีในรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งกลายมาเป็นที่พักพิงทางจิตวิญญาณในการเคลื่อนไหวด้านอนุรักษ์ของมิวเออร์ ก่อนจะกลาย เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งที่สามของสหรัฐฯ

สิ่งที่ประเทศนี้ยังไม่มีเมื่อปี 1916 แต่ตระหนักดีว่าเป็นสิ่งจำเป็นในเวลานั้นก็คือ นิยามที่เห็นพ้องต้องกันของคำว่าอุทยานแห่งชาติ ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานเพียงหนึ่งเดียว ในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน รัฐสภาได้ผ่านรัฐบัญญัติซึ่งประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน เป็นผู้ลงนาม ให้จัดตั้งกรมอุทยานแห่งชาติ (National Park Service) ขึ้นภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทย สตีเฟน แมเทอร์ ชาวแคลิฟอร์เนียผู้ร่ำรวยจากการขายบอแรกซ์หรือน้ำประสานทอง แต่มีความห่วงใยเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง กลายเป็นผู้อำนวยการกรมอุทยานแห่งชาติคนแรก ผู้ช่วยของเขาคือทนายความหนุ่มฐานะยากจนชื่อ ฮอเรซ อัลไบรต์ ลูกชายของวิศวกรเหมืองแร่ เขาเป็นผู้ควบคุมดูแลเยลโลว์สโตนมาตั้งแต่ปี 1919 และได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการกรมอุทยานแห่งชาติต่อจากแมเทอร์ในที่สุด หัวหอกคนสำคัญทั้งสองกับพันธมิตรของพวกเขาระดมกำลังสนับสนุนระบบอุทยานและการขยายหน่วยงานใหม่ๆเพิ่มเติม

“วันนี้ผมอยู่ที่อุทยานเยลโลว์สโตน และผมอยากจะตายเสียให้รู้แล้วรู้รอด” รัดยาร์ด คิปลิง เปิดฉากเล่าเรื่องราวการท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติเก่าแก่ที่สุดของสหรัฐฯไว้อย่างนั้นเมื่อปี 1889 สิ่งที่เขาไม่ปลาบปลื้มอย่างมากคือ “ฝูงชนที่ส่งเสียงอื้ออึง” จุดดึงดูดนักท่องเที่ยว เช่น กีย์เซอร์โอลด์เฟทฟุลยังคงดึงดูดผู้คนปีละกว่าสามล้านคนให้มาเยือนเยลโลว์สโตน

อุทยานรุ่นแรกทางภาคตะวันตกของสหรัฐฯก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์หลักในการปกปักรักษาสิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติ ความงดงามของผาหิน น้ำตกและน้ำแข็งถาวร  ความรักและความหวงแหน “มหาวิหาร” ทางธรรมชาติของชาวอเมริกัน ทำให้การก่อตั้งอุทยานในสมัยนั้นง่ายกว่าในภายหลัง  อีกปัจจัยหนึ่งคือตัวอย่างเชิงลบกรณีน้ำตกไนแอการาซึ่งจุดชมวิวที่ดีที่สุดหลายๆจุดถูกผู้ประกอบการเอกชนกว้านซื้อไปและล้อมรั้ว  ทำให้สัญลักษณ์ของชาติกลายเป็นสถานที่จัดการแสดงไร้รสนิยมเพื่อหากำไร การปกป้องคุ้มครองสิ่งมีชีวิต เช่น ไบซันในเยลโลว์สโตนหรือสนซีคัวยายักษ์ กลายเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดนี้เช่นกัน ทว่ากว่าจะมีการอนุมัติให้จัดตั้งอุทยานแห่งชาติของสหรัฐฯเพื่อจุดประสงค์ในการคุ้มครองสัตว์ป่าเป็นหลักเวลาก็ล่วงเลยมาถึงปี 1947 นั่นคืออุทยานแห่งชาติเอเวอร์เกลดส์ พื้นที่ชุ่มน้ำกว้างใหญ่ไพศาลในรัฐฟลอริดา ซึ่งปราศจากภูเขาหรือหุบผาชัน แต่มีนกและอัลลิเกเตอร์ชุกชุม

 แกรนด์แคนยอนยืนหยัดต้านทานภัยคุกคามจากการทำฟาร์ม การทำเหมือง และการทำไม้ รวมทั้งโครงการสร้างเขื่อนของรัฐบาลกลางมาแล้ว ความท้าทายในวันนี้ยังรวมถึงการเสนอโครงการพัฒนาเมืองบนพื้นที่ทางฝั่งใต้หรือเซาท์ริม และเส้นทางรถรางที่จะนำนักท่องเที่ยววันละ 10,000 คนเข้ามายังก้นหุบผาชัน

นับแต่นั้นมา อุทยานแห่งชาติของสหรัฐฯก็ค่อยๆดำเนินตามวัตถุประสงค์อันซับซ้อนมากขึ้นเป็นลำดับในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นพรรณพืชและพรรณสัตว์ในท้องถิ่น  ระบบนิเวศ  แหล่งน้ำที่ไหลรินอย่างอิสระ หรือลักษณะทางธรณีวิทยาที่งดงามตามธรรมชาติ  ในฐานะตัวอย่างโครงสร้างอันซับซ้อนของโลกที่มีความเชื่อมโยงกันอยู่ใช่เพียงในฐานะดินแดนมหัศจรรย์ที่มีทิวทัศน์สวยงาม อุทยานยังช่วยให้เรามองเห็นภาพภูมิทัศน์ของดินแดนและสิ่งมีชีวิตที่อาศัยพักพิง  ก่อนหน้าที่ทางรถไฟ รถยนต์ และโรงแรมที่พักจะเข้ามา อุทยานถ่ายทอดภาพจากอดีตมาสู่ปัจจุบัน และถ้าเรามีจุดยืนที่แน่วแน่และปัญญาที่หลักแหลมยิ่งขึ้น อุทยานจะถ่ายทอดภาพในปัจจุบันไปสู่อนาคตได้เช่นกัน

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.