ขบวนการปล้นอดีต

ขบวนการปล้นอดีต

ารขุดอดีตขึ้นมาเพื่อแสวงกำไรเป็นอาชีพที่มีมานานหลายพันปีแล้ว การดำเนินคดีโจรปล้นสมบัติครั้งแรกสุดเท่าที่ทราบกันในอียิปต์เกิดขึ้นในเมืองทีบส์เมื่อ 1113 ปีก่อนคริสต์ศักราช  โจรปล้นสมบัติกลุ่มหนึ่งนำโดยคนงานเหมืองหินหัวใสชื่อ อเมนพาเนเฟอร์ ลักลอบปล้นสมบัติจากหลุมศพที่สกัดเข้าไปในผาหิน สุดท้ายคนงานเหมืองหินคนนั้นกับผู้สมรู้ร่วมคิดถูกตัดสินว่ามีความผิดจริง และน่าจะต้องโทษประหารชีวิตด้วยการเสียบกับหลาวทั้งเป็น

กองทัพผู้รุกรานเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ฉกชิงโบราณวัตถุไปจากอียิปต์  ผู้พิชิตชาวโรมันส่งเสาโอเบลิสก์ลงเรือกลับบ้านไปทั้งต้น จากศตวรรษที่สิบหกถึงกลางศตวรรษที่ยี่สิบซึ่งเป็นช่วงที่อียิปต์ตกอยู่ใต้อำนาจต่างชาติ ศิลปวัตจำนวนนับไม่ถ้วนถูกส่งไปยังศูนย์วัฒนธรรมหลายแห่งในต่างประเทศเพื่อเป็นของขวัญ การแลกเปลี่ยน และเป็นเครื่องมือบีบบังคับ นักโบราณคดีต่างชาติได้รับส่วนแบ่งศิลปวัตถุที่พวกเขาขุดพบตามข้อตกลงอย่างเป็นทางการกับเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของอียิปต์ นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวยังซื้อโบราณวัตถุจากผู้ค้าที่มีใบอนุญาตทั้งในไคโร ลักซอร์ และเมืองอื่นๆ

การเปลี่ยนแปลงในอียิปต์และประเทศอื่นๆเริ่มต้นขึ้นในช่วงทศวรรษ 1950 เมื่อจักรวรรดิอาณานิคมต่างๆสลายตัวและอดีตประเทศเมืองขึ้นกลับมาปกครองตนเองอีกครั้ง แรงบันดาลใจที่ก่อเกิดจากความตระหนักถึงอัตลักษณ์ของชาติระลอกใหม่ ส่งผลให้หลายประเทศปรับปรุงกฎหมายที่มีอยู่แล้วให้เข้มงวดยิ่งขึ้น หรือไม่ก็ออกกฎหมายฉบับใหม่ๆเพื่อคุ้มครองอดีตของชาติ ซึ่งรวมถึงศิลปวัตถุที่ยังฝังอยู่ในดินด้วย เมื่อปี 1983 อียิปต์ประกาศว่า วัตถุทุกชิ้นที่มีความสำคัญทางวัฒนธรรมและมีอายุมากกว่าหนึ่งร้อยปีถือเป็นสมบัติของรัฐ ก่อนหน้านั้นเมื่อปี 1970 องค์การยูเนสโกออกอนุสัญญาว่าด้วยวิธีการห้ามและป้องกันการนำเข้า การส่งออก และการโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินทางวัฒนธรรมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจนถึงปัจจุบันมีประเทศร่วมลงนามแล้ว 131 ประเทศ

อำนาจสามารถชี้ผิดเป็นถูกได้ในพื้นที่ซึ่งขาดเสถียรภาพ โดยเฉพาะในยามศึกสงคราม ระหว่างสงครามกลางเมืองในกัมพูชา  เขมรแดงและกลุ่มกองกำลังอื่นๆมักกำกับดูแลโจรปล้นสมบัติที่ทำงานอยู่ในอาณาเขตของตน ในทำนองเดียวกัน ทุกวันนี้ในซีเรีย กลุ่มไอซิส (ISIS) ได้ส่วนแบ่งกำไรจากการปล้นโบราณวัตถุ แต่กลุ่มต่างๆที่ เข้าร่วมกับกองทัพของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซัด กลุ่มกองกำลังชาวเคิร์ด และฝ่ายตรงข้าม ก็ล้วนทำเช่นเดียวกัน

ในอียิปต์เช่นเดียวกับในประเทศต้นทางอื่นๆ อัตรากำไรจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆเมื่อศิลปวัตถุเลื่อนลำดับขึ้นไปตามห่วงโซ่อุปทาน  มีรายงานว่าโจรในลำดับชั้นที่สองอาจขายศิลปวัตถุต่างๆในราคาสูงกว่าที่จ่ายให้นักขุดถึง 10 เท่า ในพื้นที่ขาดเสถียรภาพ โบราณวัตถุอาจซื้อขายผ่านเครือข่ายการจัดจำหน่ายเดียวกันกับที่พวกลักลอบค้าอาวุธใช้กัน “ผมมักจะพบคลังโบราณวัตถุคู่กับเครื่องยิงจรวดอาร์พีจีและอาวุธอื่นๆครับ” แมตทิว บอกดานอส เล่า เขาเป็นพนักงานอัยการเขตนิวยอร์กและนาวาเอกหน่วยนาวิกโยธินที่ออกรบในอิรักช่วงต้นศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด

โบราณวัตถุที่ปล้นมาเริ่มต้นอย่างสกปรก  แต่ลงท้ายอย่างขาวสะอาด (อย่างน้อยก็เท่าที่เห็นจากเปลือกนอก) เมื่อที่มาอันผิดกฎหมายได้รับการฟอกระหว่างเดินทางผ่านเครือข่ายขบวนการค้าโบราณวัตถุ หากปราศจากประวัติแหล่งที่มาอันละเอียดลออ เช่น ลำดับความเป็นเจ้าของที่เป็นลายลักษณ์อักษร ย่อมไม่อาจรู้ได้ว่าวัตถุชิ้นใดได้มาโดยชอบธรรมหรือไม่ กระนั้น แม้แต่โบราณวัตถุที่เก็บสะสมกันอย่างถูกต้องตามกฎหมายจำนวนมากก็ไม่มีประวัติแหล่งที่มาอันชัดแจ้ง

การปล้นหลุมศพในอียิปต์เป็นเรื่องเก่าแก่พอๆกับองค์ฟาโรห์ หลุมพระศพของรามเสสที่ห้าและรามเสสที่หกใน หุบผากษัตริย์ใกล้เมืองลักซอร์ถูกปล้นเมื่อราว 3,000 ปีก่อน ระหว่างที่เกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจและการรุกรานจากต่างชาติ

โจเซฟ ลูอิส นักสะสมโบราณวัตถุ เชื่อว่า การร่วมมือกันมากขึ้นระหว่างแวดวงนักสะสมกับนักวิชาการจะนำไปสู่การจัดทำทะเบียนสากลของโบราณวัตถุถูกกฎหมาย อันจะเป็นเครื่องมือทรงพลังในการต่อต้านการปล้นสมบัติ “ถ้าไม่อยู่ในบัญชี ใครจะซื้อหรือขายไม่ได้” เขาพูดถึงฐานข้อมูลสมมุติ “ถ้าไม่ใช่ของมีทะเบียน ก็ต้องเป็นของที่ปล้นมา จบ!”

ลูอิสไม่ใช่ผู้สนับสนุนนักสะสมฝีปากกล้าเพียงผู้เดียว เจมส์ คูโน ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของกองทุน เจ. พอลเกตตี กล่าวว่า การส่งโบราณวัตถุคืนประเทศต้นทางหลายกรณีเมื่อไม่นานมานี้นับเป็นความผิดพลาด เพราะภารกิจของพิพิธภัณฑ์คือการรวบรวม อนุรักษ์ และแบ่งปันมรดกทางวัฒนธรรมของโลกต่างหาก ขณะเดียวกัน โบราณวัตถุที่ส่งกลับไปยังพื้นที่ซึ่งมีความขัดแย้งก็มักตกอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยง เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ เขาบอกว่า เราไม่ควรห้ามซื้อศิลปวัตถุที่ปล้นมาเสียทีเดียว หากการซื้อไว้จะช่วยรักษาศิลปวัตถุเหล่านั้นจากการสูญหายหรือการถูกทำลายได้

ขณะที่การค้าโบราณวัตถุอาจช่วยรักษาผลงานชิ้นเอกจำนวนมาก พื้นที่สีเทาซึ่งกิจการนี้ดำเนินอยู่ก็เปิดช่องว่างให้เกิดข้อกล่าวหาว่า นี่คือธุรกิจที่กระตุ้นให้เกิดการปล้นสมบัติ และดูเหมือนจะส่งเสริมให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลอกตัวเองเรื่องแหล่งที่มาของของรักของหวงของตน

สัญญาณความหวังเริ่มปรากฏให้เห็นเมื่อปี 2010 หลังพิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์บอสตันสร้างงานใหม่ขึ้นมาหนึ่งตำแหน่งคือ “ภัณฑารักษ์ฝ่ายประวัติแหล่งที่มา” ซึ่งเป็นตำแหน่งแรกและมีเพียงแห่งเดียวเท่านั้นในสหรัฐฯ ต่อมาในปี 2013 เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์เมโทรโพลิแทนสมัครใจส่งรูปสลักขอมที่โดดเด่นสองชิ้นกลับประเทศต้นทาง อันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะคลีฟแลนด์และพิพิธภัณฑ์อื่นๆในสหรัฐฯปฏิบัติตามในเวลาต่อมา ถัดจากนั้น พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิแทนยังจัดแสดงงานศิลปะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครั้งใหญ่ โดยได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลกัมพูชาอีกด้วย

ขณะเดียวกัน ภัณฑารักษ์พิพิธภัณฑ์และกลุ่มนักสะสมเช่นลูอิสก็ร่วมกันเรียกร้องให้มีการจัดทำฐานข้อมูลโบราณวัตถุเพื่อช่วยป้องปรามการปล้นสมบัติ และเสนอให้นัดประชุมหารือกับกลุ่มนักโบราณคดีเพื่อหาข้อตกลงร่วมกันต่อไป

เรื่อง ทอม มึลเลอร์

ภาพถ่าย โรเบิร์ต คลาร์ก

 

อ่านเพิ่มเติม

แผนที่เก่าแก่ของชาวแอซเท็กฉายภาพวิถีชีวิตในอดีต

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.